เทศมองไทย : เมื่อเศรษฐกิจโลก กำลังล่มสลาย

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) แถลงภาพรวมเศรษฐกิจโลกครั้งล่าสุดเมื่อ 14 เมษายน พอถึงวันที่ 15 เมษายน มาร์ติน วูล์ฟ ก็เขียนบทความแสดงความคิดเห็นเผยแพร่ในไฟแนนเชียลไทม์ส แบบทันทีทันควัน

นอกจากจะให้รายละเอียดเกี่ยวกับถ้อยแถลงของไอเอ็มเอฟ ครบถ้วนในทุกแง่มุมแล้ว วูล์ฟยังแสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์วิกฤตนี้ไว้อย่างแหลมคมและท้าทายอย่างยิ่งอีกด้วย

ไอเอ็มเอฟเรียกวิกฤตครั้งนี้ว่าเกิดจาก “มหาล็อกดาวน์” แต่วูล์ฟอยากเรียกว่า “มหาชัตดาวน์” เสียมากกว่า

ด้วยเห็นว่า สัจจะแห่งโควิด-19 ก็คือ ไม่ว่าผู้กำหนดนโยบายในแต่ละประเทศจะประกาศใช้วิธีการล็อกดาวน์หรือไม่ เศรษฐกิจโลกก็กำลัง “ล่มสลาย” อยู่ดี และจะยังคงสภาพล่มสลายอยู่ต่อไปแม้ว่าล็อกดาวน์จะถูกยกเลิกไปแล้วก็ตาม

พูดเหมือนอยู่ดีๆ เศรษฐกิจของทั้งโลกก็ถูก “ปิดสวิตช์” หยุดการทำงานไปยังไงยังงั้น

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ วิกฤตครั้งใหญ่โตที่สุดเท่าที่โลกใบนี้เคยพานพบมานับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง และเป็นหายนะทางเศรษฐกิจครั้งมโหฬารที่สุดนับตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในทศวรรษ 1930

 

“เราจะผ่านสถานการณ์นี้ไป” วูล์ฟสรุปเอาไว้ ก่อนตั้งคำถามต่อว่า “แต่จะผ่านไปเจออะไรกัน?”

วูล์ฟชี้ให้เห็นว่า ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ไว้ว่า ผลผลิตทางเศรษฐกิจของทั้งโลกเมื่อคำนวณออกมาต่อหัวประชากรโลกแล้ว จะติดลบหดหายไป 4.2 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้

90 เปอร์เซ็นต์ของประเทศทั้งโลก จะประสบภาวะการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นลบ

ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่า ในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปีนี้ เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาทั้งหลายจะลดลงมากถึง 12 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับระดับการขยายตัวในไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมา และ 5 เปอร์เซ็นต์ในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย

หลังจากนั้น ไอเอ็มเอฟคาดว่าจะกระเตื้องขึ้นในครึ่งหลังของปี แต่ผลผลิตของเขตเศรษฐกิจก้าวหน้าทั้งหลายถูกพยากรณ์ว่า จะต่ำกว่าระดับที่เคยทำได้ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2019 ไปตลอดจนกระทั่งถึงปี 2022

การคาดการณ์สำหรับเป็นพื้นฐานเปรียบเทียบของไอเอ็มเอฟ ก็คือ เศรษฐกิจโลกจะหดตัวลง 3 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ ต่อด้วยการเติบโตสูงในปีถัดไป 5.8 เปอร์เซ็นต์

นั่นคือสถานการณ์ ณ ตอนนี้ แต่ในอนาคตอันใกล้ ไอเอ็มเอฟบอกไว้ว่า อาจจำแนกได้เป็น 3 สถานการณ์

ในสถานการณ์แรก ภาวะล็อกดาวน์ จะยืดยาวกว่าที่ประเมินไว้ในการคาดการณ์พื้นฐาน 50 เปอร์เซ็นต์ ไอเอ็มเอฟเชื่อว่า เศรษฐกิจโลกจะหดตัวเพิ่มมากขึ้นอีก 3 เปอร์เซ็นต์

สถานการณ์ที่ 2 เกิดการแพร่ระบาดระลอก 2 ขึ้นในปี 2021 ผลผลิตโลกจะหดต่อเนื่องจากระดับฐานมากยิ่งขึ้นเป็น 5 เปอร์เซ็นต์

สถานการณ์สุดท้ายคือ ล็อกดาวน์ก็ยืดเยื้อ การระบาดระลอก 2 ก็เกิดขึ้น ไอเอ็มเอฟคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะหดตัวรุนแรงที่สุด เพิ่มเติมจากระดับฐาน 3 เปอร์เซ็นต์อีกเกือบ 8 เปอร์เซ็นต์ รวมเป็นเกือบ 12 เปอร์เซ็นต์!

 

ไม่มีใครรู้ว่าการคาดการณ์ในสถานการณ์ไหนจะถูกต้องกันแน่ หรือจริงๆ แล้วจะแย่กว่าที่คาดการณ์ไว้ทั้งหมด วูล์ฟเองก็ไม่รู้

เขารู้เพียงว่า ไม่ว่าจะล็อกดาวน์หรือไม่ ตราบใดที่ไวรัสยังอยู่และกลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ จำนวนผู้เสียชีวิตยังมี ผลักดันจนระบบสาธารณสุขของประเทศล่มสลาย จะไม่มีวันมีใครกล้าออกจากบ้าน แม้จะได้รับอนุญาตให้ไปทำงาน หลายคนก็ไม่ไป

“เราไม่มีวันรู้ว่า โรคและการแพร่ระบาดจะยังมีอิทธิฤทธิ์อะไรมากกว่านี้หรือไม่ เราไม่มีทางรู้ว่าเศรษฐกิจจะตอบสนองต่อสถานการณ์อย่างไร

“เรารู้แต่ว่า เราต้องทำทุกอย่างเพื่อก้าวผ่านสถานการณ์น่ากลัวนี้ไปให้ได้ โดยที่เสียหายบาดเจ็บล้มตายน้อยที่สุด”

ทุกคน ทุกประเทศในโลกนี้ต้องร่วมมือกันจัดการให้โควิด-19 นี้อยู่ในความควบคุมให้ได้ ต้องลงทุนมหาศาลให้เกิดระบบบริหารจัดการสถานการณ์แพร่ระบาดให้ได้ หลังจากภาวะล็อกดาวน์หนนี้สิ้นสุดลง

ต้องไม่ลืมข้อเท็จจริงที่ว่า โควิด-19 ไม่ถูกจำกัดเพราะพรมแดน ไม่มีประเทศไหนรอดพ้นได้ ดังนั้น ทั้งโลกต้องร่วมมือกันทำสิ่งที่ต้องทำนี้

มาร์ติน วูล์ฟ ถามตบท้ายเอาไว้ว่า เราจะทำกันไหม? แล้วก็กลัวได้รับคำตอบของคำถามตัวเองครับ