จิตต์สุภา ฉิน : ปรากฏการณ์ Zoombombing กับคลิปเต้นบน TikTok

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

สถานการณ์ไวรัสระบาดถือเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ แต่ผลกระทบของมันก็รุนแรงโหดร้ายชนิดที่ต่อให้ไม่ได้อยู่ในกลุ่มคนที่ติดเชื้อก็ต้องได้รับความเสียหายใหญ่หลวงและชีวิตอาจจะพลิกผันจากหน้ามือเป็นหลังมือ หรือเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง

อย่างไรก็ตาม ไวรัสก็ทำให้เกิดเหตุการณ์หลายอย่างที่ไม่คาดฝันมาก่อน การมาถึงของไวรัสกลับกลายเป็นโอกาสของบางแบรนด์ ซึ่งถ้ามีพื้นฐานที่แข็งแกร่งก็สามารถคว้าโอกาสนั้นและทำให้เติบโตต่อไปได้

แต่ถ้าพื้นฐานยวบยาบก็อาจทำให้โอกาสในวิกฤตนั้นย้อนกลับไปเป็นวิกฤตได้อีกรอบ

 

Zoom แอพพลิเคชั่นวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เป็นแบรนด์แรกๆ ที่ได้ลิ้มลองโอกาสอันหอมหวานที่มาจากการที่รัฐบาลของหลายประเทศสั่งล็อกดาวน์ให้ประชาชนอยู่แต่ภายในบ้านและเริ่มเทรนด์ของการทำงานจากบ้าน หรือ Work from Home ทำให้คนต้องเร่งหาทางเลือกในการวิดีโอคอลล์คุยงานกับเพื่อนร่วมงานและลูกค้า ซึ่ง Zoom เป็นแอพพ์ตัวเลือกแรกที่คนจำนวนมากนึกถึง โดยที่หลายๆ คนก็อาจจะไม่เคยได้ยินชื่อแอพพ์นี้มาก่อนเลยด้วยซ้ำ

Zoom เป็นแอพพ์ที่สร้างขึ้นโดยฝีมือของวิศวกรชื่อ Eric Yuan ในปี 2011 โดยมีเบสอยู่ที่ซิลิคอน วัลเลย์ ในสหรัฐอเมริกา เขาเล่าให้ฟังว่า ไอเดียของการสร้างแอพพ์นี้เกิดขึ้นครั้งแรกในยุคเก้าศูนย์ตอนที่เขายังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยในจีนและอยากเห็นหน้าแฟนสาวได้ตลอดเวลาโดยที่ไม่ต้องนั่งรถไฟไปหาหลายชั่วโมง

ทันทีที่เกิดการล็อกดาวน์ขึ้น Zoom ก็ถูกหยิบมาใช้เป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอก ไม่ว่าจะเป็นการประชุมงาน การเรียนออนไลน์ คลาสออกกำลังกาย การจัดงานรื่นเริงสังสรรค์ระยะไกล ไปจนถึงพิธีกรรมทางศาสนาต่างๆ ที่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบไปเพราะไม่สามารถเดินทางมารวมตัวอยู่ในที่เดียวกันได้อีกแล้ว

หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ Zoom กลายเป็นแอพพ์ยอดฮิต เนื่องจากการมีหน้าตาที่ใช้งานง่าย และมีเวอร์ชั่นให้ใช้ฟรีด้วย

จำนวนผู้ใช้งานของ Zoom ก็เลยกระโดดจาก 10 ล้านคนในช่วงปลายปีที่แล้ว กลายเป็น 200 ล้านคนในเดือนมีนาคม

แน่นอนว่าการก้าวกระโดดแบบนี้เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายที่น่ากลัวพอๆ กัน เพราะโครงสร้างของ Zoom ไม่ได้ถูกวางเอาไว้ให้มีจำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้นมหาศาลในเวลารวดเร็วปานนี้

สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้นคือหายนะ

 

ปรากฏการณ์ Zoombombing ทำให้ผู้ใช้ Zoom เริ่มตื่นตระหนกว่าเซสชั่นการประชุมออนไลน์ที่พวกเขาคิดว่าปลอดภัย

จริงๆ แล้วมันช่างหละหลวมยิ่งนัก จู่ๆ ก็จะมีใครก็ไม่รู้บุกรุกเข้ามาในห้องประชุมออนไลน์ที่เราได้สร้างเอาไว้แบบไม่มีใครเชื้อเชิญ มิไยว่าในห้องประชุมนั้นเขากำลังเรียนออนไลน์กันอย่างขะมักเขม้น หรือกำลังประกอบพิธีทางศาสนาอันเคร่งครัด

ผู้บุกรุกโลกเสมือนเหล่านั้นไม่ได้แค่เข้ามานั่งร่วมวงด้วยเฉยๆ แต่บางกรณียังเกรียนพอที่จะฉายภาพลามกขึ้นไปบนจอด้วย

อารมณ์คล้ายๆ เรากำลังนั่งประชุมหน้าดำคร่ำเครียดกันอยู่ในออฟฟิศ แล้วจู่ๆ ก็มีคนแปลกหน้าเปิดประตูเข้ามาแล้วลงมือก่อกวนไปรอบๆ ห้องจนวงแตก การประชุมไม่สามารถดำเนินต่อไปได้

การ Zoombombing กิจกรรมสบายๆ อย่างการฝึกโยคะไปพร้อมกั[ออนไลน์ ก็อาจจะไม่ได้เกิดความเสียหายมากเท่ากับการถูกบอมบ์ในระหว่างที่กำลังประชุมงบประมาณที่เป็นข้อมูลลับของบริษัท

ผู้ใช้ส่วนใหญ่คาดไม่ถึงว่าจะเกิดเหตุการณ์นี้ เนื่องจากเข้าใจ (ตามคำโฆษณาของ Zoom) ไปว่าทุกการวิดีโอคอลล์จะได้รับการเข้ารหัสเพื่อความปลอดภัย ซึ่งหลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น Eric Yuan ก็ต้องออกมายอมรับเสียงอ่อยว่าไม่ได้มีการเข้ารหัส end to end เหมือนที่บอก และเขาไม่ได้ออกแบบผลิตภัณฑ์นี้แบบที่คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าว่าคนจะแห่กันมาใช้อย่างรวดเร็วขนาดนั้น

แทนที่จะได้กลิ้งตัวไปมาอยู่บนความสำเร็จและรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้น ก็กลับกลายเป็นว่าต้องตกสวรรค์ แม้ Zoom จะยังมีคนใช้อยู่เยอะ แต่องค์กรใหญ่ๆ ที่ต้องระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลก็สั่งห้ามไม่ให้พนักงานใช้ Zoom ในการประชุมออนไลน์ไปแล้ว

 

คราวนี้มาดูอีกแบรนด์ที่แม้จะแจ้งเกิดไปนานแล้วตั้งแต่ก่อนไวรัสจะระบาด แต่ในช่วงนี้ก็ยิ่งเปรี้ยงปร้างหนักกว่าเดิมและได้กลุ่มผู้ใช้กลุ่มใหม่ที่ไม่เคยได้มาก่อนด้วย

TikTok กลายเป็นโซเชียลมีเดียที่เป็นดาวรุ่งพุ่งแรงในช่วงล็อกดาวน์อย่างแท้จริง

โดยธรรมชาติของแอพพ์นี้ก็คือการแชร์คลิปวิดีโอสั้นๆ ความยาวไม่เกิน 60 วินาที หรือจะสั้นแค่ 15 วินาทีก็ได้ เพื่อให้ผู้ใช้งานคนอื่นได้

ความที่เป็นวิดีโอสั้น จึงเหมาะเป็นอย่างมากสำหรับคอนเทนต์บางประเภทที่คนต้องการเสพเร็วๆ ได้ความบันเทิงมาง่ายๆ และพลิกไปต่อเพื่อดูคลิปถัดไป

ประเภทของคลิปที่ได้รับความนิยมบน TikTok อันดับแรกเลยก็คือคลิปเต้น ซึ่งก็น่าจะตามมาติดๆ ด้วยคลิปที่เป็นมุขตลกขบขัน นี่คือสาเหตุที่ทำไมตั้งแต่เราสเตย์โฮมเป็นต้นมา เพื่อนเราบนหน้าฟีดโซเชียลมีเดียถึงหันไปเต้นคัฟเวอร์เกาหลีกันหมด

ก่อนหน้านี้ TikTok เคยเป็นสถานที่แฮงก์เอาต์ยอดฮิตของบรรดาวัยรุ่นวัยใส และเป็นแพลตฟอร์มที่พ่อ-แม่ ญาติผู้ใหญ่แทบจะไม่เข้ามายุ่มย่ามอะไรมากมาย แต่เมื่อทุกคนต้องอยู่บ้าน TikTok จึงมีกลุ่มผู้ใช้ที่เป็นผู้ใหญ่เพิ่มขึ้น และยิ่งแอพพ์มีลูกเล่นต่างๆ เยอะแยะมากมายเต็มไปหมด เล่นได้ทุกวันไม่รู้จักเบื่อ

การทำคลิปสั้นๆ เพื่ออัพลง TikTok ก็เลยกลายเป็นกิจกรรมที่คนในครอบครัวทำด้วยกันได้ทุกวันโดยไม่จำกัดวัย

ยิ่งทุกวันนี้มีแต่ข่าวน่าหดหู่เกี่ยวกับไวรัสเรียงรายกันอยู่บนโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มอื่น การได้หลบเข้ามาอยู่บน TikTok ที่แทบจะเป็นโลกอีกใบที่ไม่มีใครต้องมานั่งเครียดเรื่องไวรัส ได้หนีจากโลกแห่งความเป็นจริงแม้เพียงสักชั่วโมงสองชั่วโมงก็ยังดี

 

TikTok อาศัยช่วงเวลานี้ในการเร่งโปรโมตทุกอย่างที่สามารถทำได้ อย่างการโปรโมตคอนเทนต์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับการอยู่บ้าน

การสร้างแฮชแท็ก #happyathome เพื่อกระตุ้นยอดวิว ทำให้ตอนนี้ TikTok กลายเป็นที่สนใจของนักโฆษณาจากหลากหลายแบรนด์ที่กำลังหาช่องทางเข้าถึงกลุ่มลูกค้าให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพในงบประมาณที่จำกัด

ตอนนี้เราน่าจะยังบอกไม่ได้ว่าหลังจากการระบาดของไวรัสจบลง ผู้ใช้ TikTok ที่เป็นกลุ่มใหม่ที่เพิ่งเข้ามาจะยังคงใช้งานต่อหรือไม่ หรือจะแยกย้ายกลับไปทำงานใช้ชีวิตตามเดิม แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่เป็นโอกาสอันดี

ที่ TikTok คว้าเอาไว้ได้อย่างสวยงาม