ิวิเคราะห์ : บันทึกการรับมือ “โควิด-19” ในยุโรป-อเมริกา

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

วิกฤตการณ์โควิด-19 ยังเป็นกระแสหลักที่ควรบันทึกเอาไว้ตรงนี้ เพราะแนวโน้มเชื้อไวรัสตัวนี้ไม่ได้ตายหายไปจากโลกในระยะอันใกล้แน่นอน ผู้เชี่ยวชาญบางคนทำนายทายทักว่า ชาวโลกใช้เวลาในการสู้รบปรบมือกับไวรัสโคโรนายาวไปถึงปีหน้าโน่นกว่าจะมีวัคซีนหรือร่างกายสร้างภูมิต้านทานขึ้นมาเอง

ระหว่างนี้ โควิด-19 จึงเป็นตัววายร้ายแพร่เชื้อคุกคามชาวโลกต่อไป ร่างกายใครมีภูมิต้านทานต่ำ ไม่หมั่นดูแลรักษาตัวเอง ไม่ล้างมือล้างหน้าให้สะอาด ชอบเข้าไปอยู่ในกลุ่มคนเยอะๆ ถ้าติดเชื้อแล้วทะลุทะลวงลงปอด เจาะไชไปถึงก้านสมองก็ต้องเผชิญกับชะตากรรมอันหฤโหด

จะว่าไปโรคโควิดอาจเป็นโรคเวรโรคกรรม ไม่รู้จะแจ๊กพ็อตติดเชื้อเมื่อไหร่เพราะมองไม่เห็นตัว

ถ้าเข้าไปดูศูนย์ติดตามข้อมูลโคโรนาไวรัสของมหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ จะเห็นชัดเลยว่า ยิ่งเวลาผ่านไปการแพร่กระจายของเชื้อยิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อพล็อตเป็นกราฟออกมา เริ่มจากวันที่ 22 มกราคมจนถึงเดือนเมษายน เส้นกราฟจำนวนคนติดเชื้อพุ่งขึ้นเป็นแนวดิ่ง

ณ ขณะที่กำลังเขียนบทความชิ้นนี้อยู่ คนติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกทะลุเกิน 1.8 ล้านคน เสียชีวิตกว่า 110,000 คน

เฉพาะคนอเมริกัน ชาติเดียวปาเข้าไป 550,000 คน ตาย 2 หมื่นคน ตามด้วยสเปน อิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมนี ซึ่งมีคนติดเชื้อหลักแสน แซงหน้าจีนจุดกำเนิดการแพร่เชื้อ ตอนนี้มีผู้ป่วยแค่ 83,000 คน และเสียชีวิตเพียง 3 พันกว่าคน

 

ข้อน่าสังเกต ในแถบยุโรปและสหรัฐอเมริกา ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม อากาศหนาวเย็นอุณหภูมิเฉลี่ย 7-10 องศาเซลเซียส การแพร่กระจายของเชื้อรุนแรงกว่าในซีกเอเชียที่มีสภาพอากาศร้อน

ผู้เชี่ยวชาญด้านการระบาดวิทยาพบว่า มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน เป็นพื้นที่แห่งแรกพบการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด ในช่วงเดือนมีนาคม อุณหภูมิสูงขึ้นทุกๆ 1 ํc จำนวนคนติดเชื้อลดลง 36-37 เปอร์เซ็นต์

ผู้ติดเชื้อในแถบอาเซียนอยู่ใกล้ๆ แนวเส้นศูนย์สูตร สภาพอากาศร้อนถึงร้อนจัดอย่างเช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย มียอดผู้ติดเชื้อโควิดสะสมไม่ถึง 5 พันคน

บ้านเราก็เช่นกัน อากาศร้อนอบอ้าวประกอบกับระบบจัดการด้านสาธารณสุขดี คุมการแพร่กระจายของโรคได้ผล มีคนติดเชื้อเพียง 2,500 คน เสียชีวิต 38 คน รักษาหายแล้วราว 1,200 คน

เหตุการณ์ในไทยจึงไม่ได้หนักหนาสาหัสเหมือนในยุโรป อเมริกาซึ่งมีอากาศเย็นๆ ชื้นๆ เหมาะกับการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 แถมลักษณะการอยู่อาศัยในอพาร์ตเมนต์แออัดและวัฒนธรรมที่ใช้การสัมผัสกอด จูบ จับมือกัน ยิ่งทำให้การแพร่ระบาดเป็นไปอย่างรวดเร็ว

ขณะเดียวกันการตั้งรับในซีกอเมริกายุโรปเป็นไปอย่างอืดอาดเชื่องช้า ทำให้เชื้อลุกลามอย่างรวดเร็ว คนป่วยมีมาก อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือในการรักษาและบุคลากรทางการแพทย์มีไม่เพียงพอ นำไปสู่ความทุกข์โศกอย่างมหันต์อย่างที่ปรากฏ

 

มีคำถามตามมาว่า เมื่อการแพร่ระบาดเชื้อโควิดในไทยไม่ได้รุนแรงมากนัก มาตรการล็อกดาวน์ปิดเมือง หยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม ควรยกเลิกหรือลดระดับลงได้แล้วหรือไม่ เพื่อให้ผู้คนกลับไปสู่การดำเนินชีวิตเป็นภาวะปกติ

ส่วนมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคที่ได้ผลดี เช่น บังคับให้ทุกคนใส่หน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ สถานที่ที่มีคนชุมนุมรวมตัวกันมากๆ ต้องมีแอลกอฮอล์ทำความสะอาด ยังคงเป็นมาตรการที่จำเป็น

ที่ตั้งคำถามนี้ เพราะเป็นห่วงว่า ถ้าการแพทย์นำหน้าหนักมากไปจะเกิดความไม่สมดุลระหว่างกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม

อย่าลืมว่าล็อกดาวน์ทำให้เศรษฐกิจที่พังอยู่แล้ว พังยับลงไปอีก คนไม่มีงานทำล้นบ้านล้นเมือง

เมื่องานไม่มี เงินไม่มา คนไม่มีอะไรจะกิน ความแร้นแค้นหิวโหยอดหยากจะบีบให้ผู้คนในสังคมเครียดจัดหาทางออกไม่เจอ จะนำไปสู่การปล้นจี้ แย่งชิงข้าวปลาอาหารกระทั่งลามเข้าขั้นกลียุคก็เป็นไปได้

แต่ถ้าคลายกฎปิดเมืองแล้วเอาไม่อยู่ เชื้อกลับมาแพร่ระบาดอีก ถึงเวลานั้นต้องใช้มาตรการเข้มอีกรอบ

 

ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤต “โควิด” ยังมีเรื่องดีๆ เกิดขึ้นในแง่มุมทางสิ่งแวดล้อมตามมาอีกเพียบ

รัฐบาลอินเดียสั่งล็อกดาวน์ ปิดเมืองสู้โควิด มลพิษทางอากาศลดลง ควันดำฝุ่นเขม่าที่เคยปิดฟ้าจางหายไป ชาวอินเดีย 84 เมืองสามารถมองเห็นยอดขุนเขาหิมาลัยอยู่ไกลกว่า 180 กิโลเมตรได้ชัดเจนในรอบหลายสิบปี

โรงงานในยุโรป อเมริกา จีนและภูมิภาคอื่นๆ ในเอเชียหยุดกิจการ การเดินทางสัญจรน้อยลง อากาศสะอาดขึ้น ผู้คนสูดลมหายใจได้ลึกเต็มปอด (ยกเว้นทางเหนือบ้านเราที่ยังมีฝุ่นควันจากไฟป่า) ช่วยลดอาการเสี่ยงจากโรคทางเดินหายใจ โรคปอด และโรคหัวใจได้เยอะ

แหล่งท่องเที่ยวระดับโลกที่เคยมีผู้คนหลั่งไหลเข้าไป เช่น นครเวนิส ประเทศอิตาลี เมื่อโควิดมา นักท่องเที่ยวหาย น้ำทะเลที่ล้อมรอบใสสะอาด

ชายหาดแถวภูเก็ตก็เช่นกัน ไม่มีนักท่องเที่ยว สปีดโบ๊ต เรือโดยสารหยุดวิ่ง ทะเลฟื้นคืนสู่ความเป็นธรรมชาติมากขึ้น

หมาป่าที่ไม่เคยได้เห็นมานาน โผล่ให้ชาวซานฟรานซิสโกได้เห็นใกล้ๆ สะพานโกลเด้นเกต รัฐแคลิฟอร์เนีย

หมีแถวริมภูเขาทางตอนเหนือของอิตาลีออกมาชื่นชมวิว นกยูงรำแพนหางสวยงามกลางป่าอังกฤษ

เต่าทะเลหวนกลับมาวางไข่ตามชายหาดแหล่งท่องเที่ยวทั่วโลก

โควิด-19 ช่วยปรับสมดุลสิ่งแวดล้อมทั่วโลก

 

พฤติกรรมของผู้คนเปลี่ยนไปมาก จากที่ต้องเดินทางไปทำงานด้วยรถยนต์ รถไฟ ตอนนี้ถูกบังคับให้อยู่ในบ้าน ทำงานจากที่บ้าน

แนวโน้มอนาคต รัฐบาลทั่วโลกจะมีคำแนะนำให้คนทำงานจากบ้านมากขึ้น ตัดลดงบประมาณการสร้างถนน ทางด่วน หันไปทุ่มเทพัฒนาระบบการสื่อสารโทรคมนาคม เช่น อินเตอร์เน็ต ไวไฟให้ใช้งานได้รวดเร็วเต็มประสิทธิภาพเพื่อรองรับพฤติกรรมคนยุค “โควิด-19”

การใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปจะทำให้ชาวโลกหันมาตระหนักว่า สิ่งแวดล้อมที่เลวร้าย อากาศเป็นพิษ เกิดปรากฏการณ์โลกร้อน เป็นผลจากฝีมือของพวกเราเองที่ใช้น้ำมัน ก๊าซอย่างไม่บันยะบันยัง

เมื่อโควิดมาบีบไม่ให้เราไปไหนมาไหนอย่างอิสรเสรีเหมือนก่อน อากาศสะอาดก็คืนกลับมา

แต่มุมสิ่งแวดล้อมดีๆ ที่เกิดจากวิกฤต “โควิด” เช่นนี้อาจเป็นแค่ชั่วครู่ชั่วยาม เพราะเมื่อโควิดหายไป ชาวโลกก็หวนกลับมาใช้พฤติกรรมเก่าๆ พากันเผาผลาญเชื้อเพลิงอย่างมโหฬาร

ผลบั้นปลาย มลพิษในชั้นบรรยากาศโลกสะสมจนเข้มข้นเป็นทวีคูณนำไปสู่ปรากฏการณ์โลกร้อน สภาวะภูมิอากาศแปรปรวนรุนแรงกว่าที่เห็นและเป็นอยู่