เคน นครินทร์ : ถอดหน้ากาก

ถึงตอนนี้ ดราม่าหน้ากากจิงโจ้ของ “เป๊ก-ผลิตโชค อายนบุตร” คงซาลงไปบ้างแล้ว และน่าจะมีกระแสให้พูดถึงเป็นวงกว้างอีกครั้งจากตอน “แชมป์ออฟเดอะแชมป์” ในรายการ “The Mask Singer หน้ากากนักร้อง” ทางสถานีโทรทัศน์ Workpoint ที่ทำลายทุกสถิติของวงการโทรทัศน์ไทย

The Mask Singer คือรายการที่ Workpoint ซื้อฟอร์แมตรายการมาจากประเทศเกาหลี เป็นเกมโชว์ที่มีคอนเซ็ปต์ง่ายมาก แค่ให้ศิลปิน นักร้อง หรือคนดังมาสวมหน้ากาก แข่งกันร้องเพลง แล้วให้คณะกรรมการทายว่าคนที่ร้องคือใคร

สำหรับผม ความสำเร็จของ The Mask Singer ในวันนี้ต้องยกเครดิตให้กับ Workpoint เพราะเอาเข้าจริง รูปแบบรายการที่ซื้อมานั้นก็ไม่ได้แปลกใหม่อะไรมากนัก ยังคงเป็นรายการแข่งร้องเพลง

เพียงแต่พวกเขาปรุงรสชาติให้เหมาะกับรสนิยมแบบไทยๆ นำมาใส่หีบห่อให้น่าสนใจเหมาะกับคนยุคนี้มากขึ้น

 

ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับ คุณชลากรณ์ ปัญญาโฉม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานดิจิตอลทีวี บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ถึงเบื้องหลังความสำเร็จ The Mask Singer ซึ่งเขาสารภาพว่า ไม่ได้มีอะไรใหม่ หัวใจหลักยังคงเหมือนเดิมคือความสนุก

“จริงๆ แล้วเราอาจจะคิดเยอะกันไปเอง รายการที่ฮิตมากๆ ในโลกยังเหมือนเดิม ไม่ได้เปลี่ยนอะไรไปเยอะ คนทั้งโลกยังชอบเรื่องสนุกอยู่ ยังชอบเรื่องเศร้าอยู่ เรื่องสนุกทำยากที่สุด แต่ถ้าทำได้จะฮิตที่สุด

The Mask Singer ที่ชัดเจนที่สุดคือหีบห่อมันดึงสายตาเราตลอดเวลา แต่จริงๆ แล้วมันก็คือรายการที่มีคนมาร้องเพลงเพราะๆ แต่เราแทบจะละสายตาจากมันไม่ได้เลย มันจึงเป็นเรื่องของการผูกโบ อีดิตคำใหม่ ทำปกกันใหม่”

 

ส่วนตัวผมคิดว่า หีบห่อที่ทางเวิร์คพอยท์ทำขึ้น หรือปรุงรสให้เข้ากับจริตคนไทยมี 4 ข้อ

หนึ่ง ความบันเทิงเต็มรูปแบบจากแสงสีเสียงและเครื่องแต่งกายที่จัดเต็มเว่อร์วังอลังการ

สอง ความสนุก ตลก ขำขัน เฮฮา ของคณะกรรมการตอนที่ต้องถามผู้เข้าแข่งขันเพื่อเดาว่าเป็นใคร ไปจนถึงตอนที่หยอกล้อกันเอง ซึ่งต้องบอกว่าดูแล้วขำไม่หยุด ช่วยคลายเครียดได้จริงๆ

สาม ความเซอร์ไพรส์ ตอนที่เปิดหน้ากากออกมา อารมณ์ตื่นเต้น เหมือนได้ลุ้นยิงจุดโทษในเกมฟุตบอล ทำให้สามารถดูกันได้ทั้งครอบครัว และต้องดู “สด” เท่านั้น ไม่เช่นนั้นจะเหมือนโดนสปอยล์ และทำให้พรุ่งนี้จะคุยกับเขาไม่รู้เรื่อง

สี่ ดราม่าหลังจากจบแต่ละตอน ซึ่งคิดว่าทางทีมงานคงไม่ได้คิดมาว่าจะมีดราม่ามากขนาดนี้ แต่วิธีในการเลือกนักร้องมาสวมหน้ากากนั้นถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นได้ว่าไม่ธรรมดา เพราะผ่านการคิด การกลั่นกรองมาแล้วว่าต้องมี “เรื่องราว” ให้พูดถึงหลังจากนั้น เช่น ศิลปินบางคนไม่เคยได้รับโอกาสให้ร้องเพลงทั้งที่ใจรัก บางคนก็ถูกสื่อแปะป้ายมาตลอดหลายปี เป็นต้น

นอกจากจะมีเคสต่างๆ ให้เรียนรู้จากรายการนี้แล้ว สำหรับผม ด้วยเหตุที่มันได้รับความนิยมสูงมาก และเป็นที่ถกเถียงในสังคมไทยมาก จึงถือได้ว่ารายการนี้ยังเป็น “ภาพสะท้อน” ที่ดีมากของสังคมไทยและวงการบันเทิงไทย

โดยเฉพาะกรณีดราม่าของ “หน้ากากจิงโจ้” ที่เป็นเหมือนการได้ถอดหน้ากากสังคมไทยอีกครั้งหนึ่ง

 

หน้ากากที่หนึ่ง แบบไหนถึงเรียกว่าเหยียด?

อย่างที่ทราบกันดีว่า หลังจากมีการเปิดหน้ากากจิงโจ้ออกมา ความคิดเห็นที่เกิดขึ้นต่อเหตุการณ์ดังกล่าวกลับแตกเป็นสองฝั่งอย่างชัดเจน ฝั่งหนึ่งพากันตั้งข้อสังเกตเรื่อง “สำเนียง” พูดไทยไม่ชัด ขุดคุ้ยประเด็นการทำศัลยกรรม และฉายานักร้องหน้าใหม่ของเป๊ก-ผลิตโชค

ขณะที่อีกฝั่งก็แสดงความไม่เห็นด้วยต่อท่าที “เหยียด” ดังกล่าว โดยรู้สึกว่าทุกคนชื่นชอบตัวตนของจิงโจ้มากกว่าตัวตนของศิลปินที่อยู่ภายใน พร้อมตอกกลับว่า ควรมองเรื่องความสามารถมากกว่าเรื่องรูปลักษณ์ภายนอก และเรื่องส่วนตัว

 

คำถามสำคัญคือ แบบไหนถึงเรียกว่าเหยียด?

การแซว การล้อเลียนเรื่องการพูดไม่ชัด หรือศัลยกรรมกับบุคคลสาธารณะถือเป็นการเหยียดหรือไม่

ผมคิดว่าคนทุกคนล้วนมีสิทธิ์วิจารณ์ เพราะเป๊ก-ผลิตโชค ก็เป็นศิลปิน เป็นคนของประชาชน เพียงแต่หากพื้นที่ที่ใช้วิพากษ์วิจารณ์เป็นพื้นที่สาธารณะ ก็ต้องระวังเรื่องการทำให้อีกฝ่ายเสื่อมเสียชื่อเสียงหรือเสียหาย

ถามว่าผมเห็นด้วยกับการไปวิจารณ์รูปลักษณ์ภายนอกไหม ก็ไม่เห็นด้วย แต่ถามว่าการแซวขำๆ ว่า “ทำไมพูดไม่ชัด” หรือ “ศัลยกรรมมาอีกแล้วหรือ” นั้นรุนแรงถึงขั้นเป็นการเหยียดไหม ผมก็ไม่คิดว่ารุนแรงขนาดนั้น

กระแสในโลกโซเชียลมีเดียในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่า สังคมไทยยังคงระมัดระวังเรื่อง political correctness ค่อนข้างมาก (ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร) แต่ความน่ากลัวคือ การมองว่าทุกอย่างคือการเหยียดไปหมด อาจจะทำให้เราไม่กล้าที่จะวิพากษ์วิจารณ์อะไรเลยในครั้งต่อไปหรือไม่


หน้ากากที่สอง สื่อล้อเลียนได้ไหม?

หน้ากากนี้สืบเนื่องต่อมาจากข้อแรก นั่นคือการล้อเลียน วิพากษ์วิจารณ์รูปลักษณ์ภายนอกของบุคคลสาธารณะ ซึ่งอย่างที่บอกไปว่า หากเป็นผู้บริโภคทั่วไปอย่างเราออกมาพูดอะไรสักอย่าง แล้วยังอยู่ในขอบเขต ก็ถือว่าโอเค ไม่ได้รุนแรงขนาดนั้น เพราะอย่างน้อยก็ยังพูดกันในวงแคบๆ เม้าธ์ในพื้นที่ส่วนตัวที่ไม่ได้ชี้นำสังคม

แต่ถ้าหากเป็นสื่อที่มีพลังในการชี้นำแล้วละก็อันนี้อีกประเด็นหนึ่ง

หากยกเคสหน้ากากจิงโจ้ เรื่องนี้ต้องให้ความเป็นธรรมกับคุณเป๊ก-ผลิตโชค เพราะเมื่อไปค้นหาในกูเกิลย้อนหลังจะเห็นว่าเขาโดนสื่อเล่นเรื่องพวกนี้บ่อยมาก มากจนน่าเกลียด และมากจนเข้าข่ายว่า “ขุดเรื่องส่วนตัวมาขายข่าว” จนลืมจรรยาบรรณ

การที่สื่อเล่นเรื่องนี้มาตลอดสิบปีให้หลังทำให้ภาพลักษณ์ของคุณเป๊ก ไม่ค่อยดีนัก

ผมมีโอกาสได้คุยกับนักวิชาการด้านสื่อ ท่านก็เห็นด้วยว่า สื่อควรนำเสนอแต่ข้อมูลข้อเท็จจริงมากกว่าการไปตัดสินประณามว่าดาราแต่ละคนว่ามีพฤติกรรมอย่างไร และต้องคำนึงว่ารายงานข่าวคือข้อเท็จจริงไม่ใช่ความเห็น ถ้าสื่อมวลชนอยากแสดงความเห็นก็ไปแสดงในคอลัมน์หรือพื้นที่ของตัวเอง

กรณีหน้ากากจิงโจ้จึงถอดหน้ากากของสื่อบันเทิงไทยให้เราได้เห็นอีกครั้ง

 

หน้ากากที่สาม ดาราไทยต้องทำตัวดีทั้งในจอและนอกจอ

ดราม่าที่เป็นที่พูดถึงกันมากที่สุดของหน้ากากจิงโจ้คือประโยคที่ว่า “ดูที่ผลงานสิ อย่าตัดสินคนจากชีวิตส่วนตัว รูปลักษณ์ภายนอกหรือเพศสภาพ” ซึ่งส่วนตัว ผมคิดว่าเป็นประโยคที่ค่อนข้างจะ “ไร้เดียงสา”

ต้องย้ำก่อนว่า ผมเห็นด้วยกับประโยคดังกล่าวว่าเราไม่ควรตัดสินคนจากรูปลักษณ์ภายนอก เพียงแต่ว่าพอโฟกัสแค่วงการบันเทิง ประโยคดังกล่าวอาจจะใช้ไม่ค่อยได้

เหตุผลประการแรกที่ผมคิดเช่นนั้นเพราะคนที่พูดประโยคนั้นอาจจะลืมไปว่า นี่คือวงการบันเทิง วงการมายา ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “ภาพลักษณ์” สำคัญมากพอๆ กับความสามารถ

ภาพลักษณ์ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า สวย หล่อ ดูดีอย่างเดียว แต่คนที่ทำงานเบื้องหน้าของวงการบันเทิง หากอยากประสบความสำเร็จ แค่ความสามารถอาจไม่พอ (ร้องเพลงเก่งให้ตายก็ไม่ได้การันตีว่าจะดัง แสดงเก่งแค่ไหนก็ไม่ได้ต้องสำเร็จ) แต่พวกเขาจำเป็นต้องมี “เสน่ห์” หรือ “เอกลักษณ์” ให้คนจดจำได้อีกด้วย

นอกจากนี้ เหตุผลประการที่สองที่ผมคิดว่า ประโยค “ดูที่ผลงานสิ อย่าตัดสินคนจากชีวิตส่วนตัว รูปลักษณ์ภายนอกหรือเพศสภาพ” ค่อนข้างไร้เดียงสา เพราะมันย้อนแย้งกับความเป็นจริงในสังคมไทยที่มีต่อดารา

ต้องยอมรับความจริงว่า สังคมไทยในปัจจุบันมักจะมองดาราหรือศิลปินเป็นมากกว่า “เอ็นเตอร์เทนเนอร์” หรือผู้ให้ความสุข เพราะมองข้ามไปถึงการเป็น “แบบอย่างที่ดีต่อประชาชนและสังคม” ซึ่งคำว่า “ดี” ในที่นี่ก็เป็นความดีในแบบที่คนไทยเชิดชู เช่น เข้าวัด ทำบุญ ไม่สูบบุหรี่ รักเดียวใจเดียว

พูดง่ายๆ คือ สำหรับวงการบันเทิงไทยแล้ว พฤติกรรมนอกจอมีผลอย่างยิ่งกับความนิยมในจอ ต่างจากวงการบันเทิงในยุโรปหรืออเมริกาที่ไม่ค่อยซีเรียสเรื่องนี้เท่าไร

มีกรณีศึกษาเรื่องนี้มากมายจากข่าวดังในอดีต เช่น ดาราชายต้องออกมาขอโทษที่ไปทำผู้หญิงท้อง หรือไปมีอะไรกับผู้หญิงอื่น ดาราผู้หญิงก็เสียงาน โดนแบน ด้วยเหตุที่ตัวเองท้อง หรือศัลยกรรมมากเกินไปมาไม่รู้ต่อเท่าไร ซึ่งถ้าเป็นดาราในอเมริกาหรือยุโรป ถือเป็นเรื่องปกติทั่วไป ใครจะไปมีอะไรกับใคร ท้องมีลูกกี่คน ก็ยังคงมีพื้นที่ยืนอยู่ได้ในวงการบันเทิง หากคุณเจ๋งจริง

นั่นหมายความว่า คนที่จะเข้ามาเป็นดาราไทยจำเป็นต้องเข้าใจก่อนว่า “เงื่อนไข” หรือ “แพ็กเกจ” ที่มาคู่กัน คือ นอกจากคุณจะต้องทำผลงานในจอได้ดีแล้ว พฤติกรรมส่วนตัวนอกจอ หรือผลลัพธ์ของการทำศัลยกรรมมาแล้วก็ต้องทำให้ถูกใจประชาชนส่วนใหญ่ด้วย มิเช่นนั้นก็อาจจะไม่ได้รับความนิยม หรือค่ายก็อาจจะไม่ดันเท่าที่ควร

ผมคิดว่าประเทศที่มีค่านิยมใกล้เคียงกับประเทศไทยก็เช่นเกาหลีใต้ ที่ดาราจำเป็นต้องปฏิบัติตนอยู่ในกรอบอย่างยิ่ง ห้ามมีแฟน ห้ามเมาแล้วขับ พวกเขาถือว่าเรื่องนอกจอเป็นเรื่องใหญ่ที่จะกระทบกับความนิยมในจอ

ฉะนั้น เมื่อได้ยินประโยคที่ว่า “ดูที่ผลงานสิ อย่าตัดสินคนจากชีวิตส่วนตัว รูปลักษณ์ภายนอกหรือเพศสภาพ” ผมจึงมีความรู้สึกแปลกๆ และอดสงสัยไม่ได้ว่า ก็คนที่พูดประโยคเดียวกันนี้ไม่ใช่หรือที่ออกมา “แบน” ดาราคนนั้นคนนี้เป็นประจำด้วยเหตุที่ว่าพวกเขามีพฤติกรรมหรือเรื่องส่วนตัวที่คุณไม่ชอบ โดยมองข้ามผลงานของพวกเขาไป

นี่จึงเป็นความย้อนแย้งหนึ่งที่เราคงต้องอยู่กับมันต่อไป