คนมองหนัง : รู้จักคนทำหนังกัมพูชา ผู้คว้ารางวัลสายนักวิจารณ์ที่คานส์

คนมองหนัง

ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ที่เพิ่งผ่านพ้นไป มีภาพยนตร์หนึ่งเรื่องของผู้กำกับฯ รุ่นใหม่ชาวกัมพูชาที่ได้รับรางวัล “เอสเอซีดี ไพรซ์” จากงานสัปดาห์นักวิจารณ์นานาชาติ ซึ่งเป็นงานคู่ขนานของเทศกาลหนังเมืองคานส์

ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวมีชื่อว่า “Diamond Island” ซึ่งเป็นหนังแนว “ข้ามวันพ้นวัย” ของวัยรุ่นวัย 18 ปี ที่เดินทางจากต่างจังหวัด เข้ามาทำงานในไซต์ก่อสร้างที่ “เกาะพิช” หรือ “เกาะเพชร” ย่านพัฒนาสุดทันสมัยใกล้กรุงพนมเปญ

ที่นั่น เขาได้พบกับพี่ชายแท้ๆ ที่ไม่สนิทสนมกันมากนัก แล้วเด็กหนุ่มก็ค่อยๆ ติดตามผู้เป็นพี่ เข้าสู่โลกของกลุ่มเยาวชนชั้นกลาง ซึ่งเพิ่งก่อตัวขึ้นในสังคมกัมพูชา

TO GO WITH AFP STORY by ELOI ROUYER - The French-Cambodian film director Davy Chou poses on the sidelines of the presentation of his film "Le Sommeil d'Or" (Golden Slumbers) at the Berlinale International Film Festival on February 13, 2012 in Berlin. The 62nd Berlinale, the first major European film festival of the year, kicked off on February 9, 2012, with 23 productions screening in the main showcase. Eighteen pictures will vie for the Golden Bear top prize at the event running to February 19. AFP PHOTO / GERARD JULIEN / AFP PHOTO / GERARD JULIEN
ดาวี่ ชู ภาพจากเอเอฟพี

ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้มีชื่อว่า “ดาวี่ ชู” (Davy Chou) เป็นชาวเขมรวัย 33 ปี ที่ไปใช้ชีวิตในประเทศฝรั่งเศส

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงทศวรรษ 1960-1970 ปู่ของดาวี่ คือ “วัน จัน” (Van Chann) ถือเป็นโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ชั้นนำ “คนสำคัญ” รายหนึ่งของประเทศกัมพูชา

ก่อนที่ วัน จัน จะหายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอย ใน ค.ศ.1969

ก่อนหน้านี้ ดาวี่ เคยมีผลงานการทำหนังสั้น หนังสารคดี และหนังขนาดกลาง จำนวนหนึ่ง

ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้แก่เขาพอสมควร ก็คือ “Golden Slumbers” ภาพยนตร์สารคดีความยาว 100 นาที ซึ่งถ่ายทำระหว่างปี 2010-2011

โดยดาวี่ได้เดินทางกลับมายังกัมพูชา เพื่อพูดคุยกับบรรดาบุคลากรในแวดวงภาพยนตร์ ที่เคยผ่านช่วงเวลา “ยุคทอง” ของวงการหนังเขมร ระหว่าง ค.ศ.1960-1975

“ยุคทอง” ดังกล่าวสิ้นสุดลง เมื่อ “เขมรแดง” ขึ้นครองอำนาจ และมีฟิล์มหนังถูกทำลายไปเกือบ 400 เรื่อง

“Diamond Island” ถือเป็นภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของ ดาวี่ ชู

หลังได้รับรางวัลที่คานส์ ดาวี่ให้สัมภาษณ์กับ “ฮอลลี่ โรเบิร์ตสัน” แห่ง “เซาธ์อีสต์ เอเชีย โกลบ”

นี่คือคำถาม-คำตอบน่าสนใจบางส่วน จากบทสัมภาษณ์ชิ้นนั้น

 

อยากให้คุณเล่าถึงผลงานชิ้นล่าสุด อะไรคือแรงบันดาลใจที่ทำคุณสร้างหนังเรื่องนี้ขึ้นมา?

ผมรู้สึกว่า “เกาะเพชร” ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆ กรุงพนมเปญ และเป็นสถานที่ที่มหาเศรษฐีจำนวนมากต่างทุ่มเงินลงไป เพื่อร่วมกันก่อสร้างย่านที่ทันสมัยที่สุดของประเทศแห่งนี้ ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความเปลี่ยนแปลงระลอกปัจจุบันของสังคมกัมพูชาในหลากหลายแง่มุม

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ดึงดูดใจผมมากที่สุด และดลใจให้ผมทำหนังเรื่องนี้ กลับเป็นประเด็นความสัมพันธ์อันเร่าร้อนรุนแรงระหว่างกลุ่มเยาวชนเขมร และมายาคติเรื่อง “ความเป็นสมัยใหม่” ซึ่งกำลังดำรงอยู่ในประเทศกัมพูชา

จุดเริ่มต้นของเรื่องราว ได้แก่ ความเชื่อมโยงระหว่างเกาะเพชร กับผู้คนที่มีส่วนร่วมในการก่อสร้างมันขึ้นมา ในด้านหนึ่ง และผู้คนที่มาพบปะกันบนเกาะแห่งนี้ยามค่ำคืน ในอีกด้าน

 

กระบวนการสร้างหนังเรื่องนี้แตกต่างจากการทำหนังสารคดีเรื่อง Golden Slumbers อย่างไรบ้าง?

สิ่งที่ผมได้เรียนรู้ ก็คือ หากเปรียบเทียบกับการทำหนังสารคดี การทำหนังจากเรื่องแต่ง จะเปิดช่องให้เรา “ด้นสด” ระหว่างถ่ายทำได้น้อยลง ด้วยตารางเวลาการทำงานที่เคร่งครัดกว่า ด้วยข้อจำกัดที่มีเยอะกว่า

ทว่า ภาวะจำกัดจำเขี่ยเช่นนั้น กลับจะยิ่งท้าทายให้เราพยายามแสวงหาช่องทางของการแสดงความคิดสร้างสรรค์ การด้นสด และการพลิกแพลงสถานการณ์ ในระหว่างกระบวนการถ่ายทำ

 

ทำไมคุณถึงเลือกเล่าเรื่องราวของเกาะเพชร ผ่านการสร้างสรรค์เรื่องแต่งขึ้นมาใหม่ แทนที่จะถ่ายทอดมันออกมาเป็นหนังสารคดี?

ทั้งในฐานะคนดูหนังและคนทำหนัง ผมมักถูกดึงดูดโดยพลังของหนังที่สร้างขึ้นมาจากเรื่องแต่ง

เสน่ห์ของหนังประเภทนี้ไม่ได้อยู่ที่การบอกเล่าเรื่องราว เพราะหนังสารคดีจำนวนมากสามารถทำหน้าที่ดังกล่าวได้อยู่แล้ว

แต่เสน่ห์ของมันอยู่ที่กรรมวิธีการสร้างสรรค์บุคลิกลักษณะและวิถีการดำเนินชีวิตของตัวละคร ตลอดจนการผูกเงื่อนปมปัญหาอันยุ่งยากต่างๆ นานา ให้ตัวละครในหนังต้องเผชิญ

ที่สำคัญ ผมไม่ได้ต้องการให้ “Diamond Island” ทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวของชนชั้นแรงงานในประเทศกัมพูชา

แต่ผมต้องการเล่าเรื่องราวของเหล่าตัวละคร ที่ต่างมีความเป็นปัจเจกบุคคล และล้วนมีวิถีการดำเนินชีวิตอันเป็นแบบฉบับเฉพาะของตนเอง

 

คุณอยากจะแนะนำอะไร เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนทำหนังชาวกัมพูชารายอื่นๆ บ้างไหม?

ปัจจุบัน มันไม่ใช่เรื่องยากเย็นแสนเข็ญอีกต่อไป ในการหากล้องถ่ายภาพยนตร์สักตัว, เรียนรู้วิธีใช้งานมัน แล้วก็ออกไปถ่ายหนัง

ดังนั้น ผมจึงไม่อยากเสียเวลาในการให้คำแนะนำเรื่องภาคปฏิบัติใดๆ แต่อยากเน้นย้ำให้ทุกคนมองเห็นความสำคัญของกระบวนการคิดงาน ที่อยู่เบื้องหลังการถ่ายทำภาพยนตร์มากกว่า

สำหรับผม เราต้องใช้เวลายาวนานอย่างยิ่ง เพื่อทำความเข้าใจลึกซึ้งในศิลปะภาพยนตร์ ผมมักจะคอยผลักดันคนทำหนังหลายๆ ราย ให้พวกเขามีความกระตือรือร้น ที่จะเสาะแสวงหาหมวดหมู่วิถีทางใหม่ๆ ในโลกของหนัง

ผมสนับสนุนให้พวกเขามุ่งมั่นพัฒนารสนิยมและความรู้สึกอันละเอียดอ่อนของตนเอง ซึ่งจะนำไปสู่การขยับขยายกรอบวิสัยทัศน์ส่วนบุคคล จนทำให้พวกเขาสามารถมองเห็นศักยภาพใหม่ๆ ของศิลปะภาพยนตร์ได้

ท้ายสุด ผมมักพยายามแนะนำบรรดาคนทำหนังว่า คุณจงอย่าเขียนเรื่องราว ที่คุณรู้สึกว่ากลุ่มคนดูน่าจะชื่นชอบ แต่จงเขียนมัน เพราะมันเป็นเรื่องราวที่ตัวคุณเองให้ความสนใจและมีความผูกพันเป็นการส่วนตัว

พวกคุณควรเขียนเรื่องราว ที่คุณต้องการจะเล่าออกมาจากมูลเหตุเบื้องลึกภายในจิตใจของตัวคุณเอง


แปลสรุปความและเรียบเรียงจาก
http://sea-globe.com/19223-2-interview-davy-chou
http://www.phnompenhpost.com/lifestyle/chous-diamond-island-wins-prize-cannes
https://en.wikipedia.org/wiki/Davy_Chou