Covid-19 “ดะวะฮฺ” และมุสลิมไทยบทเรียนที่ต้องปรับปรุง

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่าน และสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่านปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมค่อนข้างมองในแง่ลบต่อกลุ่มพี่น้องมุสลิม “ดะวะฮฺ”

อาจจะเป็นเพราะผู้ที่ติดเชื้อ Covid-19 ชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มคนที่กลับจากการชุมนุมการเผยแผ่ศาสนาจากมาเลเซียในช่วงแรก

และยิ่งเป็นข่าวดังมากที่สุดคือดะวะฮฺที่กลับมาจากอินโดนีเซียโดยเครื่องบินเหมาลำอันทำให้จังหวัดสตูลที่ไม่มีป่วย Covid-19 เลยถูกเจาะไข่แดงถึง 15 คนแบบก้าวกระโดดแซงจังหวัดอื่น

หลังจากนั้นมีการรายงานข่าว มีการขุดคุ้ยเรื่องก่อนหน้านี้ของ “ดะวะฮฺ”

มีการนำเอาคลิปวิดีโอจากคลิปของบางคนในกลุ่มนี้ซึ่งดูแล้วค่อนข้างท้าทายโรคนี้ มีการนำคลิปการรวมตัวทำกิจกรรม ซึ่งแน่นอนเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะ ไม่ควรอย่างยิ่งในมุมมองของทุกคน จนไม่สามารถปฏิเสธการถูกตีตราแบบเหมารวม

ลามไปถึงภาพรวมมุสลิมทั้งประเทศที่มุสลิมยากที่จะปฏิเสธ

ถึงแม้บางคนอาจจะแย้งว่า สถิติภาพรวมประเทศไทยทั้งหมด เป็นคนมิใช่มุสลิม มิใช่คน “ดะวะฮฺ” เท่านั้น

เพราะปัจจุบัน 12 เมษายน 2563 ศบค.รายงานว่า ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่ม 33 ราย รวมสะสม 2,551 ราย ใน 68 จังหวัด แต่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยะลา นราธิวาส ปัตตานี สตูล จำนวน 204 คนเป็นมุสลิมทั้งหมด และมาจากเหตุคนของดะวะฮฺทั้งหมด

อะไรคือบทเรียนและทางออก

เมื่อปัญหาเกิดขึ้นมาแล้วมิสามารถปฏิเสธความรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะมุสลิมคือสมาชิกในพลเมืองไทย

ผู้เขียนได้สัมภาษณ์เชิงลึกต่อแกนนำ “ดะวะฮฺ” ผู้นำการจัดการศึกษามุสลิม และหมอสุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ที่สัมผัสคนไข้จาก “ดะวะฮฺ” โดยตรงเพื่อเป็นบทเรียนและทางออกร่วมกันในภายภาคหน้า

หนึ่งในแกนนำดะวะฮฺ (ท่านขออนุญาตสงวนนาม) กล่าวต่อผู้เขียนว่า

คำว่าดะวะฮฺมีชื่อเต็มว่า “ดะวะฮฺตับลีฆ” เป็นขบวนการเคลื่อนไหวฟื้นฟูสังคมมุสลิมระดับโลก มีสมาชิกนับหลายร้อยล้านคน

คำว่า “ดะวะฮฺตับลีฆ” เป็นคำที่เริ่มใช้โดยท่านเมาลานาอิลยาสผู้ก่อตั้งกลุ่มดะวะฮฺตับลีฆ อันหมายถึงกลุ่มที่ทำงานเชิญชวนมวลมนุษย์สู่พระองค์อัลลอฮฺและเผยแผ่สารของพระองค์อีกด้วย

กลุ่มดะวะฮฺตับลีฆเกิดขึ้นครั้งแรกในเขตเมวาต ประเทศอินเดีย เมื่อปี พ.ศ.2477 โดยอาศัยความรู้และประสบการณ์จากนักวิชาการมุสลิมดิวบาน ประเทศอินเดีย ผ่านท่านซาฮฺวลียยุลลอฮฺ อัลดะฮฺลาวี และโรงเรียนดารุลอุลูม ณ เมืองดิวบาน ประเทศอินเดีย

จากนั้นกลุ่มดะวะฮฺตับลีฆก็ได้แพร่หลายสู่ประเทศต่างๆ มากมาย ในปี พ.ศ.2508 กลุ่มดะวะฮฺตับลีฆก็เริ่มเข้าสู่ประเทศไทย

โดยมีศูนย์มัรกัสที่กรุงเทพฯ ที่มัสยิดหารูน บางรัก ภาคเหนือที่มัสยิดแม่สอด และภาคใต้ที่มัสยิดสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส

และในปี พ.ศ.2536 กลุ่มดะวะฮฺตับลีฆก็ได้สร้างมัสยิดอัลนูร-ศูนย์มัรกัสกลุ่มดะวะฮฺตับลีฆในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ จังหวัดยะลา

แม้คนที่ติดเชื้อในประเทศไทยก็ไม่ใช่มาจากดะวะฮฺตับลีฆทั้งหมด กอปรกับมีแค่บางคนเท่านั้นไม่ยอมรับในข้อแนะนำทางการแพทย์

อย่างไรก็แล้วแต่ เราพยายามอย่างมากเพื่อร่วมแก้วิกฤต เพราะเหตุการณ์นี้ 100 ปียังไม่เคยเจอ การจะปรับทัศนคติ วิถีชีวิตประจำวันคนมุสลิมทั่วไปมิใช่ง่าย

ดังนั้น มีการทำความเข้าใจร่วมกันจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะสมาคมแพทย์มุสลิมจันทร์เสี้ยวสำนักจุฬาราชมนตรี สำนักงานคณะกรรมการอิสลามีประจำจังหวัด สภาอุลามาอ์ปตานีดารุสลาม และบรรดาแกนนำดะวะฮฺตับลีฆ

จนสุดท้ายก็มีคำสั่งจากผู้นำกลุ่มตับลีฆแห่งประเทศไทยให้ปฏิบัติตามคำสั่งจุฬาราชมนตรี

ผลงานการปฏิรูปวิถีชีวิตมุสลิมชายแดนภาคใต้ที่เห็นได้ชัดในอดีตที่ผ่านมาปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากกลุ่มนี้ ไม่ว่าการปฏิบัติศาสนกิจเรื่องละหมาดรวมที่มัสยิด การแต่งกายที่ถูกต้องตามหลักศาสนาโดยเฉพาะสตรี การสามารถผลิตบุคลากรที่จำอัลกุรอานนับร้อย นับพันคน เป็นต้น

แม้ข้อดีของงานดะวะฮฺซึ่งเปรียบเป็นโรงงานรีไซเคิลคนไม่ดีสำมะเลเทเมา กลับเนื้อกลับตัวเป็นคนดีกลับมาหน้าทำหน้าที่ช่วยเหลือสังคมต่อไป

ดังนั้น ดะวะฮฺตับลีฆ โดยเฉพาะแกนนำ ผู้รู้ต้องไม่อยู่เฉย ทำหน้าที่เป็นคนสอแหละห์ เป็นคนดีและพร้อมปรับปรุง และอาจต้องร่วมปฏิรูปกระบวนจัดการเรียนรู้หลักศาสนาในภาวะปกติกับไม่ปกติ โดยเฉพาะในเรื่องหลักศรัทธาต่ออัลลอฮ์หลักกอดอกอดัร (การกำหนดสภาวการณ์) หลักการมอบหมายต่อพระองค์ การบูรณาการร่วมระหว่างศาสนากับการแพทย์ซึ่งไม่เฉพาะกลุ่มดะวะฮฺ แต่ในสังคมมุสลิมทั้งหมดให้เหมาะสมกับคำว่าปตานีคือระเบียงมักกะห์ (ด้านศาสนา) ร่วมผลิตคนดีทำหน้าที่เป็นจิตอาสาต่อไป

เพราะตรงนี้ งานนี้ช่วยประหยัดงบประมาณรัฐมหาศาล มิสามารถประเมินได้ #บาบอฮุสนีย์ บินหะยีคอเนาะ ผู้จัดการโรงเรียนศาสนบำรุง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลาให้ทัศนะว่า Covid-19 : อัลลอฮ์ มิได้ทดสอบเฉพาะกลุ่มดะวะฮฺแต่ทดสอบทุกกลุ่มให้กลับมาทบทวนตนเอง

โดยเฉพาะสังคมโรงเรียนและสถาบันสอนศาสนาบ้านเราเพราะส่วนใหญ่คนมุสลิมชายแดนใต้ถูกสอน ถูกผลิตจากพวกเรา เราต้องปฏิรูปการจัดการเรียนการสอนในสถาบันพวกเรา โดยเฉพาะผมมีโรงเรียนศาสนา ผมจะไปเริ่มก่อนโดยปฏิรูปการจัดการเรียนรู้ให้เด็กทั้งศาสนาและสามัญ สามารถบูรณาการได้ไม่แยกส่วน นอกจากความจำตัวบทต้องสร้างการจัดการเรียนรู้คิด วิเคราะห์มากขึ้น ไหนหลักการในภาวะปกติ ไหนหลักการศาสนาในภาวะวิกฤต หลักการเรื่องความเห็นต่าง แต่เมื่อผู้นำมุสลิมอย่างจุฬาราชมนตรีตัดสินต้องเชื่อ ต้องปฏิบัติ ซึ่งเป็นหลักการใหญ่กว่า

บทเรียนจากกลุ่มดะวะฮฺ Covid-19 กับคุณหมอสุภัทร

สิ่งที่น่าสนใจน่าศึกษาคือกลุ่มดะวะฮฺ Covid-19 ที่มาจากมาเลเซีย 6 คน ที่เข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา สามารถหายได้เป็นปกติกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านได้ ต้องยอมรับว่าเป็นความร่วมมือระหว่างดะวะฮฺทั้ง 6 คนนี้กับทีมบุคลากรทางการแพทย์จะนะ

บทเรียนครั้งนี้นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ กรุณาถ่ายทอดให้เราฟัง เพื่อเป็นบทเรียนและกำลังใจต่อทุกคน ไม่ว่ากลุ่มดะวะฮฺที่เขาติด Covid-19 บุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุข และประชาชนโดยเฉพาะที่สตูล

หมอสุภัทรให้ทัศนะว่า

โควิด ประสบการณ์ตรงเมื่อจะนะต้องรับผู้ป่วย 6 รายซึ่งความเป็นจริงผู้ป่วยโควิดแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือกลุ่มที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย ประมาณเป็นหวัด กับกลุ่มที่มีอาการมากเป็นปอดบวม ซึ่งการดูแลจะต่างกัน

ในกลุ่มปอดบวม ซึ่งไม่เกิน 5% แน่นอนว่าต้องการการดูแลจากอายุรแพทย์ซึ่งโรงพยาบาลจะนะไม่มี และอาจต้องการเครื่องช่วยหายใจและ ICU ซึ่งเราจะส่งต่อ แต่ในกลุ่มอาการเล็กน้อย เราโรงพยาบาลชุมชนสามารถดูแลได้

เป้าหมายการดูแลคนไข้โควิดในกลุ่มที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง (mild to moderate severity) คือการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อจากผู้ป่วยทั้งสู่ชุมชนและบุคลากรทางการแพทย์ และการ early detection หรือการประเมินผู้ป่วยให้เร็วว่าเขาแย่ลงจนเป็นปอดบวมแล้วหรือไม่ หากใช่ก็จะต้องรีบรักษาหรือส่งต่อไม่ให้ภาวะปอดบวมเป็นมาก คนไข้จะเป็น severe Pneumonia (ปอดบวมมาก) ได้ ก็ต้องมาจากการเป็น mild pneumonia (ปอดบวมน้อยๆ) มาก่อน

เนื่องจากผู้ป่วยทั้ง 6 คนนี้มีคนที่มีไข้สูง ไอมากอยู่ 1 คน ผู้ป่วยรายนี้จึงได้นำเข้าพักรักษาในห้องความดันลบ (ซึ่งมีเพียง 1 ห้อง) โดยได้ปรึกษาอายุรแพทย์ที่โรงพยาบาลสงขลา และเริ่มยาต้านไวรัสตามแนวทางการรักษา

ส่วนอีก 5 คนนั้นได้นอนห้องพิเศษแยกกันคนละห้อง ยกเว้นมี 1 ห้องที่ต้องนอน 2 คน ซึ่งเราก็เลือกคนที่ไม่มีอาการไปนอนรวมกัน ทั้ง 5 คนได้กินยาตามอาการ

ทุกคนได้รับคำแนะนำให้อยู่แต่ในห้องตนเอง แต่สามารถออกไประเบียงหลังห้อง (อยู่ชั้น 4) สูดอากาศคลายเครียดได้

โรงพยาบาลจัดพยาบาล 1 คนและลูกจ้าง 1 คนไว้เฉพาะในการดูแลผู้ป่วยชุดนี้ โดยไม่ต้องไปช่วยดูแลผู้ป่วยทั่วไป

การแต่งตัวระหว่างเดินที่ระเบียงหน้าห้องหรือทำงานทั่วไปนั้น คือใส่หมวกคลุมผม หน้ากากอนามัย เฟซชิลด์ กาวน์กันน้ำหรือเสื้อฝน ถุงมือ และรองเท้าบู๊ต จะใส่ชุด PPE และ N95 เฉพาะเมื่อเข้าห้องผู้ป่วยเท่านั้น

สำหรับแพทย์ จะ round ดูผู้ป่วยเตียงอื่นจนเสร็จแล้วจึงมา round ผู้ป่วยกลุ่มนี้

โรงพยาบาลวางระบบการดูแลผู้ป่วยที่ใช้หลัก social diatancing เช่นกัน ผู้ป่วยทุกคนต้องมีโทรศัพท์ ญาติต้องจัดหามาให้ และผู้ป่วยก็มีหมายเลขโทรศัพท์ของพยาบาลด้วย

ดังนั้น มีอาการอะไร ขาดเหลืออะไร โทร.บอกพยาบาลได้ เราเอาปรอทดิจิตอลไว้ประจำห้องผู้ป่วย ให้ผู้ป่วยวัดไข้เองและโทรศัพท์บอกพยาบาล

แต่มีผู้ป่วยหนึ่งรายที่อาการมากหน่อยและมีความดันโลหิตสูง เราก็ต้องเข้าไปดู

ส่วนญาติห้ามเยี่ยม ให้ใช้โทรศัพท์คุยกับผู้ป่วยเอา

อาหารผู้ป่วยจะถูกนำส่งตามมื้อ แต่ใส่กล่องที่ใช้แล้วทิ้งไม่ต้องนำกลับมาล้าง มีข้าว น้ำ ขนม และผลไม้ ญาติก็ฝากอาหารมาให้ผู้ป่วยเยอะมาก

เราใช้การส่งอาหาร เสื้อผ้าผู้ป่วยหรือทุกสิ่งอย่างโดยไม่เข้าห้องผู้ป่วย อาหารที่เหลือทิ้งลงถังขยะหลังห้อง เสื้อผ้าทิ้งในถังใส่ผ้า สองสามวันคนงานจะเข้าไปเก็บเอาขยะมากำจัดด้วยการฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อก่อนผูกถุง เป็นขยะติดเชื้อที่รอนำไปเผา

ส่วนเสื้อผ้าก็รวบรวมจากทั้ง 6 คนไปซักในคราวเดียวกันโดยไม่ปะปนเสื้อผ้าคนอื่น หลังจากผู้ป่วยมีของฝากเต็มห้องอยู่ช่วงหนึ่ง ทางโรงพยาบาลพบว่าถังขยะเต็มเร็วมาก อาหารบูดเน่า อาหารที่ญาตินำมาฝากก็กินไม่ทันเสี่ยงบูดเน่าทำให้ท้องเสีย ต่อมาจึงประกาศของดการฝากอาหารมาเยี่ยม ให้เยี่ยม ให้กำลังใจทางโทรศัพท์เท่านั้น

หลังนอนได้ 7 วันทุกคนต่างก็มีอาการดีแล้ว ก็เป็นการนอนเพื่อการกักตัวให้ครบ 14 วันเท่านั้น ในช่วง 7 วันหลัง จึงเป็นช่วงเวลาที่แพทย์แทบจะไม่ได้เข้าห้องไปดูผู้ป่วยเลย ทักทายทั่วไปและคุยทางโทรศัพท์ เพราะเขาสบายดีแล้ว และเป็นการประหยัดชุด PPE และหน้ากาก N95 ที่มีน้อยและสั่งซื้อได้ยากจริงๆ

ก่อนครบกำหนด 14 วันที่ผู้ป่วยจะกลับบ้าน สักราววันที่ 11 ทางโรงพยาบาลก็ได้ทำการวางแผนเพื่อให้ผู้ป่วยกลับบ้าน (discharge plan) กันเอง ระหว่างแพทย์ เภสัช พยาบาลและทีมชุมชน วันรุ่งขึ้นก็ได้เชิญเจ้าหน้าที่ ร.พ.สต.มาหารือเรื่องการกลับไปเตรียมบ้านของผู้ป่วย และการไปสร้างความเข้าใจในชุมชน

ซึ่งเป็นอีกโจทย์ที่ไม่ง่ายนัก

สิ่งที่พบเมื่อต้องให้ผู้ป่วยกลับบ้านคือ ครอบครัวก็มีความกังวลนิดๆ แต่ชุมชนนั้นมีความกังวลมากกว่า

ทางโรงพยาบาลจึงกำหนดแนวทางว่า ให้ผู้ป่วยกลับไปกักตัวที่บ้าน หรือ home quarantine อีก 7 วัน เพื่อความสบายใจของเพื่อนบ้าน

ครอบครัวจึงต้องไปจัดห้องนอนให้ผู้ป่วยแยกจากคนอื่นๆ ชุดอาหารที่แยกออกไป ใช้พื้นที่ส่วนกลางของบ้านร่วมกันได้บ้างแบบมีระยะห่าง ออกมาทำสวนขุดดินปลูกต้นไม้ได้ งดไปมัสยิด ตลาด หรือแหล่งชุมชนอีก 7 วัน

และทางโรงพยาบาลได้จัดหน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งไปให้อีกคนละ 10 แผ่น เมื่อครบ 14 วัน ทุกอย่างพร้อมก็ได้เวลาให้ญาติมารับผู้ป่วยกลับบ้านโดยที่โรงพยาบาลไม่ไปส่ง เพื่อให้เหมือนสภาพปกติของผู้ป่วยรายอื่นๆ ถ่ายรูปร่วมกัน เพื่อยืนยันว่าผู้ป่วยหายแล้ว ร่ำลากันด้วยรอยยิ้ม

หลังผู้ป่วยกลับ เราก็เข้าทำความสะอาดห้อง เปิดตากห้องให้ลมและแสงธรรมชาติเข้า รอผู้ป่วยรายใหม่ต่อไป กลับไปผู้ป่วยก็ยังมีการปรึกษาพยาบาลทางเบอร์มือถืออยู่บ้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีมาก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องวิตกกังวลทั่วไป

ในช่วง 14 วันที่ผู้ป่วยอยู่โรงพยาบาลนั้น มีข่าวลือมากมายในชุมชน ลือแม้กระทั่งว่าผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว มีแพทย์ติดเชื้อแล้ว มีคนติดเชื้อเต็มโรงพยาบาลแล้ว

การแก้ข่าวลือ การสื่อสารประชาสัมพันธ์จึงเป็นอีกบทบาทที่ท้าทายมากเช่นกัน

ผมเลือกที่จะออกคำชี้แจงทางสื่อออนไลน์แบบเป็นกันเองในจังหวะที่ข่าวลือลือกันเต็มที่แล้ว ไม่ได้ชี้แจงรายวัน ซึ่งก็คิดว่าได้ผลในการสยบข่าวลือได้มากทีเดียว

จะเห็นได้ว่า จากการถ่ายทอดของหมอสุภัทรพบว่าเป็นความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจริงๆ บุคลากรในโรงพยาบาลทั้งหมดจากหัวถึงคนเก็บกวาดทำความสะอาด จากคนไข้และญาติ จนเป็นที่ยอมรับของคนจะนะ เห็นได้จากน้ำใจจากทุกภาคส่วนร่วมบริจาค ไม่ว่าใครมีอะไร อาชีพอะไร ไม่มีเงินก็ช่วยแรง ช่วยอาหาร ข้าวปลา น้ำ ตามที่ท่านทั้งหลายเห็นในสื่อโซเชียล

นี่คือบทเรียน Covid-19 กับ “ดะวะฮฺ” และมุสลิมไทยในภาพต้องร่วมด้วยช่วยกันสรุปบทเรียนและปรับปรุงเพื่อสันติภาพ/สันติสุขในภาวะวิตกจริตโรค Covid-19