ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ | อย่าให้ประชาชนถึงขั้นเดินไปให้รัฐบาลจับเพราะไม่มีกิน

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

สัปดาห์ที่แล้วผมเคยตั้งข้อสังเกตว่าประเทศไทยอาจเผชิญการระบาดของไวรัสขั้นสูงสุดไปแล้วในช่วงต้นเดือนเมษายน

และในที่สุดตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่วันสงกรานต์ก็ลดลงต่อเนื่องจนถึงจุดต่ำที่สุดในรอบหนึ่งเดือนไปเรียบร้อยแล้ว

สถานการณ์การระบาดของไวรัสในไทยจึงอาจผ่านจุดที่หนักหน่วงที่สุด (The Peak) และกำลังเข้าสู่ขาลงในระยะยาว

ไม่มีใครรู้ว่าการลดลงของผู้ติดเชื้อจะใช้เวลานานแค่ไหนเพื่อไปสู่จุดที่ไม่มีผู้ติดเชื้อใหม่เลย

เพราะในประเทศที่ผู้ติดเชื้อมากอย่างอิตาลีและสเปน การระบาดในช่วง “ขาลง” เป็นทางลาดที่องศาต่ำราวทางเลื่อนซึ่งยังไม่เห็นจุดสิ้นสุด

แต่ประเทศที่พบผู้ติดเชื้อและการตายน้อยอย่างไทยอาจมี “ขาลง” ซึ่งลากยาวหรือไม่ลากยาวก็ได้ทั้งสองกรณี

ขณะที่หมอซึ่งไม่ได้ทำเรื่องระบาดวิทยาเคยสร้างกระแสว่าวันที่ 15 เมษายน ประเทศไทยจะมีผู้ติดเชื้อ 351,984 และตาย 7,039 หรืออย่างดีที่สุดคือติดเชื้อ 24,269 และตาย 485 ตัวเลขผู้ติดเชื้อและตายซึ่งต่ำกว่าที่หมอประเมินถึงสิบเท่าคือหลักฐานของความสำเร็จของประเทศ

รวมทั้งหลักฐานว่าหมอไม่ควรใช้ความรู้บัญญัติไตรยางค์โดยปราศจากหลักวิชา

รัฐมนตรีสาธารณสุขเคยพูดไว้นานแล้วว่าระบบสาธารณสุขไทยแข็งแกร่งจนเราไม่มีวันเจอเหตุร้ายอย่างจีน, อิตาลี และสเปน และความจริงที่เกิดขึ้นตอนนี้ก็ยืนยันว่ารัฐมนตรีพูดเรื่องนี้ถูกทั้งหมด กระทรวงสาธารณสุขและกรมควบคุมโรคเป็นเสาหลักในการวางแผนสู้ศึกไวรัสได้อย่างดีเยี่ยม ถึงแม้คนจำนวนมากจะกระแหนะกระแหนกระทรวงตลอดมาก็ตาม

ประชาชนทั้งประเทศเห็นตรงกับแนวคิดของพรรคฝ่ายค้านอย่างเพื่อไทยและก้าวไกลที่เสนอว่ารัฐบาลควรตรวจเชื้อไวรัสประชาชนทุกคน แต่ตามที่หมอทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผู้ดำรงตำแหน่งโฆษกศูนย์โควิดระบุ ประเทศไทยไม่มีทางและไม่มีวันตรวจเชื้อประชาชนทุกคนแน่ๆ ด้วยเหตุผลที่โฆษกศูนย์แถลงว่าเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณจากภาษีประชาชนทุกคน

กระทรวงสาธารณสุขทำได้ดีที่บูรณาการห้องแล็บของรัฐและเอกชนจนสามารถเพิ่มการตรวจผู้ติดเชื้อในเดือนเมษายนได้มากกว่าเดือนมีนาคม แต่นโยบายของศูนย์โควิดที่ไม่ตรวจเชื้อประชาชนทุกคนคือหลักฐานว่าเราไม่ได้ชนะศึกไวรัสเพราะปราบเชื้อในผู้ติดเชื้อให้สิ้นซาก

หากมาจากการลดการระบาดของไวรัสจนผู้ติดเชื้อไม่สามารถกระจายเชื้อได้ต่อไป

กองเชียร์รัฐบาลชอบเปรียบเทียบไวรัสกับสงคราม และถ้าเป็นแบบนั้น ยุทธวิธีที่ประเทศไทยใช้สู้ศึกไวรัสก็เหมือนกรุงศรีอยุธยาสู้กับทัพพม่าซึ่งมีแสนยานุภาพเหนือกว่ามหาศาล

ยุคนั้นเราอยู่ในกำแพงเมืองเพื่อรอฤดูฝนนำน้ำหลากมาท่วมทุ่งจนทัพพม่าตั้งค่ายต่อไม่ได้

ขณะที่ยุคนี้เราสร้าง “ระยะห่างทางกายภาพ” จนไวรัสไม่สามารถแผลงฤทธิ์ทำร้ายคน

ประเทศไทยมีค่านิยมคร่ำครึเรื่องสดุดีคนชั้นสูงเป็นผู้พิชิตข้าศึกในสงคราม

แต่หากเปรียบสถานการณ์ไวรัสกับสงคราม วีรบุรุษที่แท้จริงของประเทศในยุทธศาสตร์สร้าง “ระยะห่างทางกายภาพ” คือประชาชนที่ตกงานทั้งโดยตรงและโดยอ้อมจนกักตัวแต่ในบ้านหลังวันที่ 18 มีนาคม

จนประเทศเป็นเสมือนพื้นที่โล่งที่ไม่มีชุมนุมชนให้ไวรัสแพร่เชื้อได้เลย

ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลและ ศบค.สู้ศึกไวรัสโดยไม่ตรวจเชื้ออย่างกว้างขวาง ต้นทุนในการปกป้องระบบสาธารณสุขไม่ให้เจอผู้ป่วยมากจนล่มสลายคือประชาชนที่สูญเสียโอกาสทำมาหากิน สูญเสียรายได้ ไม่มีงานทำ ถูกลดชั่วโมงการทำงาน สิ้นหวัง ไร้อนาคต อดอยาก ไม่มีเงินทองส่งเสียเลี้ยงดูพ่อแม่และลูกหลาน ฯลฯ ตลอดหนึ่งเดือน

อดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เคยเสนอความเห็นว่ารัฐต้องแก้ปัญหาไวรัสโดยสร้างดุลยภาพระหว่าง “สุขภาพ” กับ “เศรษฐกิจ” หรือสร้าง “ระยะห่างทางกายภาพ” โดยไม่ทำให้คนอดอยากและไม่มีกิน

แต่แนวคิดนี้ยากเกินกว่าคนแบบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเข้าใจ เราจึงได้นายกฯ ที่คิดได้แค่สร้างสุขภาพโดยจำกัดเสรีภาพและแทบไม่คำนึงถึงปากท้องประชาชน

แน่นอนว่าไทยไม่ใช่ประเทศเดียวในโลกที่ใช้แนวคิดสร้าง “ระยะห่างทางกายภาพ” เพื่อไม่ให้ไวรัสระบาดจนเกินกำลังหมอและพยาบาล

แต่ไทยน่าจะเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ดำเนินนโยบายนี้โดยไม่มีมาตรการรองรับผลที่เกิดขึ้นกับประชาชนทั้งหมด

เพราะหนึ่งเดือนที่ประชาชนตกงานผ่านไปโดยมีคนเพียงแค่เศษเสี้ยวที่ได้รับการเยียวยาจากรัฐบาล

ขณะที่รัฐบาลและ ศบค.ยืนยันว่ารัฐบาลดูแลประชาชนอย่างดี ความล่าช้าในการเยียวยาคือใบเสร็จของความไม่รับผิดชอบที่รัฐบาลมีต่อประชาชนทั้งหมด

การเยียวยาที่ไม่ครอบคลุมคนทุกกลุ่มคือใบเสร็จของมาตรการเยียวยาที่ผิดพลาด

และการตัดสิทธิคนจำนวนมากจากการเยียวยาคือหลักฐานของนโยบายที่ไม่ใส่ใจต่อความเดือดร้อนของประชาชน

ภาพประชาชนบุกกระทรวงการคลังเพื่อทวงเงินเยียวยา 5,000 แสดงความคับแค้นใจของประชาชนอย่างถึงขีดสุด เพราะประชาชนรู้ว่าการรวมกลุ่มเสี่ยงต่อการเจอไวรัสระบาด รู้ว่าการรวมตัวเกินห้าคนในเวลาที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินคือความเสี่ยงต่อการถูกจับติดคุก การบุกคลังจึงเป็นภาพสะท้อนของความกลัวไม่มีกินยิ่งกว่าติดไวรัสและติดตะราง

รัฐบาลอ้างว่ามีมาตรการหลายอย่างเยียวยาประชาชน แต่ทิศทางการดำเนินมาตรการต่างๆ กลับนำไปสู่ความรู้สึกว่ารัฐ อยุติธรรมทั้งหมด รัฐผลักภาระในการสู้ศึกไวรัสโดยทำให้ประชาชนตกงานอย่างไม่เลือกหน้า แต่เมื่อถึงเวลาเยียวยา รัฐกลับใช้วิธีให้ประชาชนแสดงตัวขอความช่วยเหลือ จากนั้นรัฐก็ทำหน้าที่เป็นกรรมการว่าจะช่วยใครและไม่ช่วยใคร

ในประเทศที่มีปิดงานและให้ประชาชนอยู่บ้านเพื่อสร้าง “ระยะห่างทางกายภาพ” จนไวรัสไม่ลุกลาม รัฐที่ทำให้ประเทศเดือดร้อนถ้วนหน้าย่อมมีภาระดูแลประชาชนโดยไม่มีข้อยกเว้น

ส่วนรัฐบาลประยุทธ์โยนความทุกข์แสนสาหัสให้ประชาชนถ้วนหน้า

แต่เมื่อถึงเวลาเยียวยา ประชาชนกลับต้องรับภาระในการพิสูจน์ให้รัฐเชื่อว่าเดือดร้อนจริงๆ

รัฐบาลอ้างว่ากลไกในการคัดกรองความเดือดร้อนของประชาชนคือปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI

แต่นับจากวันแรกเยียวยา AI ของรัฐบาลแสดงให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพตั้งแต่ต้น ระบบคัดกรองแย่จนหมอทวีศิลป์และผู้ช่วยรัฐมนตรีคลังช่วยคัดกรองโดยขู่จับคนกรอกข้อมูลเท็จติดคุก และเมื่อถึงเวลาจัดสรรเงิน AI รัฐบาลก็ทำให้คนจำนวนมากไม่ได้เงิน

เป้าหมายของเงินเยียวยาห้าพันคือการบรรเทาความเดือนร้อนของประชาชนจากนโยบายรัฐบาล

แต่วิธีจัดสรรเงินผ่าน AI กลับทำให้ประชาชนเสียโอกาสได้เงินเยียวยามหาศาล

เรื่องที่เหลือเชื่อคือรัฐบาลบอกว่า AI ไม่ผิด สั่งคนซึ่งไม่ได้เงินเพราะถูกยัดเยียดเป็นเกษตรกรและนักศึกษาไปรออุทธรณ์

ทั้งที่ความจริงคือรัฐควรเป็นฝ่ายปรับระบบ AI

รัฐบาลประยุทธ์ชอบเปรียบเหตุไวรัสระบาดเป็นสงคราม แต่ถ้าไวรัสเป็นสงครามจริงๆ รัฐบาลก็คือแม่ทัพที่ทำสงครามโดยคำนึงถึงความสูญเสียของประชาชนน้อยมาก รัฐบาลสู้ไวรัสโดยวิธีสั่งประชาชนหยุดงานจนไม่มีรายได้หนึ่งเดือน

แต่เมื่อถึงช่วงรักษาพยาบาลความสูญเสีย รัฐกลับให้ประชาชนรับภาระในการได้มาซึ่งการเยียวยาและการอุทธรณ์

มีประเทศในโลกมหาศาลที่เยียวยาประชาชนดีกว่ารัฐบาลไทย นิวซีแลนด์จัดอาหารการกินให้ประชาชนที่ต้องหยุดงาน

อเมริกาจัดเงินให้ประชาชนทุกคนที่อยู่ในพื้นที่ซึ่งมีการระบาด ยิ่งมีลูกยิ่งได้เพิ่ม

ขณะที่ของไทยทำให้ประชาชนเดือดร้อนตอนสั่งให้หยุดงาน จากนั้นเดือดร้อนต่อตอนไม่ได้เงินเยียวยาที่ควรได้ และเดือดร้อนอีกตอนต้องทำเรื่องอุทธรณ์

ไม่มีใครที่ตกงานและไม่ได้ค้าขายแล้วไม่ใช่เป็นผู้เดือดร้อนจากนโยบายรัฐบาล ปรัชญาที่รัฐต้องทำคือเยียวยาประชาชนให้ครบทั้งหมด จะจ่ายทุกคนที่ถือบัตรประชาชนก็ได้ หรือจะจ่ายทุกคนที่เงินในบัญชีธนาคารรวมกันไม่ถึงแสนก็ได้อีก แต่หลักการสำคัญคือรัฐต้องนำเงินให้ประชาชนที่เดือดร้อน ไม่ใช่ประชาชนมีหน้าที่แสดงความเดือดร้อนให้รัฐเมตตา

รัฐบาลรู้อยู่แก่ใจว่าคนไทยส่วนใหญ่ไม่มีเงินออม รายได้น้อย ใช้เงินเดือนชนเดือน การผลักภาระให้ประชาชนหยุดงานเพื่อสู้ศึกไวรัสจึงเป็นมาตรการที่ประชาชนสูญเสียเพื่อความอยู่รอดของประเทศ รัฐบาลที่ดีได้แก่รัฐบาลที่ทำทุกวิถีทางเพื่อให้ประชาชนยังมีชีวิต ไม่ใช่รัฐบาลที่ทำจนประชาชนรู้สึกว่ายอมเสี่ยงชีวิตเพราะโควิดดีกว่าตายเพราะไม่มีจะกิน

อย่าบีบคั้นจนประชาชนต้องฝ่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปให้รัฐบาลจับเพียงเพื่อจะได้มีข้าวกินอย่างที่ทุกวันนี้พูดกัน