ต่างประเทศ : องค์การอนามัยโลก กับท่าทีใกล้ชิด “จีน”

โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์องค์การอนามัยโลกอย่างตรงไปตรงมา โดยเฉพาะตัวผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกอย่าง “ด๊อกเตอร์ทีดรอส อัดฮานอม กีเบรเยซุส” เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่ามีท่าทีราวกับ “จีนเป็นศูนย์กลาง”

ทรัมป์ประกาศว่า จะทำการตรวจสอบในเรื่องนี้ โดยโจมตีองค์การอนามัยโลกว่าปกปิดข้อมูลการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาชนิดใหม่ พร้อมกับประกาศจะตัดงบฯ สนับสนุนฮูลงด้วย

ความเกรี้ยวกราดของทรัมป์ในเรื่องนี้ดูจะไม่ได้ถูกโต้แย้ง แต่กลับมีเสียงสนับสนุนคล้อยตามไปในทางเดียวกัน

 

เสียงวิพากษ์วิจารณ์องค์การอนามัยโลกเกี่ยวกับการรับมือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสที่คร่าชีวิตคนทั่วโลกไปมากกว่า 117,000 คน รวมไปถึงความไม่พอใจท่าทีของด๊อกเตอร์ทีดรอสที่ชื่นชมรัฐบาลจีน ประเทศต้นตอการแพร่ระบาดอย่างออกนอกหน้า เริ่มอื้ออึงขึ้นเรื่อยๆ

ด๊อกเตอร์ทีดรอส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ชาวเอธิโอเปีย เพิ่งจะแสดงความชื่นชมรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนในเรื่องความโปร่งใสของข้อมูลการแพร่ระบาด รวมไปถึงชื่นชมความรวดเร็วในการตรวจพบเชื้อไวรัสของจีนว่า “เหนือคำบรรยาย”

แม้ว่าจะมีข้อเท็จจริงหลายประการที่ชี้ว่าการแพร่ระบาดนั้นเกิดจากการบริหารจัดการที่ผิดพลาดของรัฐบาลจีนก็ตาม

ความใกล้ชิดรัฐบาลจีนของด๊อกเตอร์ทีดรอสไม่ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นเป็นครั้งแรก ย้อนไปไม่นานเมื่อปี 2017 หลังจากด๊อกเตอร์ทีดรอสได้รับเลือกตั้งเป็นผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกคนใหม่

รายงานจากสื่อในอังกฤษระบุว่า นักการทูตจีนใช้วิธีการล็อบบี้ตัวแทนกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากเพื่อให้ลงคะแนนสนับสนุนด๊อกเตอร์ทีดรอส

 

ทีดรอสจบปริญญาตรีด้านชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยเอธิโอเปีย ปริญญาโทด้านภูมิคุ้มกันวิทยาและโรคติดเชื้อจากมหาวิทยาลัยการแพทย์ในประเทศอังกฤษ ก่อนจบปริญญาโทด้านสุขภาพชุมชนจากมหาวิทยาลัยน็อตติ้งแฮม ในปี 2000

ด๊อกเตอร์ทีดรอสในฐานะนักการเมืองอาชีพก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีสาธารณสุขคนแรกของประเทศ ก่อนก้าวขึ้นเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศเอธิโอเปียได้ในปี 2012

จากข้อมูลงบประมาณช่วยเหลือของสหประชาชาติพบว่าในช่วงเวลานี้เอธิโอเปียได้รับงบประมาณช่วยเหลือจำนวนมากอย่างมีนัยสำคัญจากจีน ชาติซึ่งแทบจะไม่เคยให้งบฯ สนับสนุนเอธิโอเปียมาก่อนหน้านี้เลย

ในช่วงปี 2011 และช่วงปี 2017 ช่วงก่อนและหลังดำรงตำแหน่งในรัฐบาลเอธิโอเปียของด๊อกเตอร์ทีดรอสเล็กน้อย จีนมอบงบฯ ช่วยเหลือเอธิโอเปียเป็นเงินรวม 44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากงบฯ ก้อนล่าสุดย้อนไปเมื่อปี 2000 ที่จำนวน 345,000 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น

หลังพ้นตำแหน่ง ด๊อกเตอร์ทีดรอสเดินหน้าลงชิงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกในปี 2017 หลังจาก “ด๊อกเตอร์มาร์กาเร็ต ชาน” แพทย์ชาวจีนเชื้อสายแคนาดากำลังจะหมดวาระลง

 

การเลือกตั้งผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกในครั้งนั้น นับเป็นครั้งแรกที่มีการลงคะแนนเสียงจากสมาชิกองค์การสหประชาชาติทั้งหมด เปลี่ยนจากการลงคะแนนเสียงลับของคณะกรรมาธิการบริหารจำนวนหนึ่ง

การชิงตำแหน่งงวดเข้ามาจนเหลือด๊อกเตอร์ทีดรอส และ “ด๊อกเตอร์เดวิด นาบาร์โร” นายแพทย์ผู้มีประสบการณ์ช่วยองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) รับมือกับการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกในเอเชีย อหิวาตกโรคในเฮติ รวมไปถึงรับมือการแพร่ระบาดของเชื้ออีโบลาในแอฟริกาตะวันตกมาแล้ว

แต่เป็นฝ่ายด๊อกเตอร์ทีดรอสที่ได้รับชัยชนะด้วยเสียงสนับสนุน 133 ต่อ 50 เสียง ขึ้นนั่งตำแหน่ง ผอ.องค์การอนามัยโลกคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้เป็นแพทย์โดยตรง

 

ไม่นานหลังรับตำแหน่ง ด๊อกเตอร์ทีดรอสก็ตกเป็นเป้าวิพากษ์วิจารณ์ในทันที ด้วยความพยายามที่จะสนับสนุนให้ “โรเบิร์ต มูกาเบ” ผู้นำเผด็จการซิมบับเว ขึ้นนั่งเป็นทูตสันถวไมตรีขององค์การอนามัยโลก ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นความพยายามในการตอบแทนจีน ชาติซึ่งสนับสนุนมูกาเบมาอย่างยาวนาน ที่สนับสนุนให้ตนได้ขึ้นสู่ตำแหน่ง

รายงานระบุว่า มีเสียงต่อต้านการดำรงตำแหน่งของด๊อกเตอร์ทีดรอสในเอธิโอเปียเองจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศ รวมไปถึงข้อกล่าวหาว่าด๊อกเตอร์ทีดรอสเคยบริหารจัดการการแพร่ระบาดของอหิวาตกโรคในเอธิโอเปียผิดพลาดมาแล้วถึง 3 ครั้ง

จากข้อมูลงบประมาณยูเอ็น พบด้วยว่าเงินสนับสนุนที่องค์การอนามัยโลกได้รับจากจีนในช่วงที่ด๊อกเตอร์ทีดรอสดำรงตำแหน่งนั้นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน โดยเพิ่มขึ้นจาก 23 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2016 เป็น 38 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2019 นอกจากนี้ จีนยังประกาศจะให้งบฯ สนับสนุนองค์การอนามัยโลกในปี 2020 เพิ่มขึ้นเป็น 57 ล้านดอลลาร์สหรัฐด้วย

ในช่วงดำรงตำแหน่ง ผอ.องค์การอนามัยโลก ด๊อกเตอร์ทีดรอสถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าแสดงออกใกล้ชิดกับรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนเป็นพิเศษ

เช่น การเดินทางไปหารือกับสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ก่อนจะกลับมาแถลงชื่นชมจีนเกี่ยวกับการรับมือการแพร่ระบาด

 

ท่าทีดังกล่าวสวนทางกับท่าทีของด๊อกเตอร์ทีดรอสที่มีกับ “ไต้หวัน” ชาติที่ได้รับเสียงชื่นชมว่ารับมือกับการแพร่ระบาดได้ดีที่สุดชาติหนึ่ง

โดยไต้หวันเป็นประเทศแรกในโลกที่เริ่มคัดกรองผู้โดยสารจากเมืองอู่ฮั่น หลังจากมีรายงานการพบโรคปอดชนิดใหม่ในจีนตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคมปีก่อน ส่งผลให้ล่าสุดยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไต้หวันมีเพียง 393 ราย เสียชีวิตเพียง 6 รายเท่านั้น แม้จะเป็นชาติที่มีพรมแดนใกล้จีนมากๆ ก็ตาม

ถึงกระนั้น ไต้หวันก็ยังคงถูกกีดกันจากการเป็นส่วนหนึ่งขององค์การอนามัยโลกมาโดยตลอด เหตุผลเพราะอิทธิพลของจีนที่ยังคงอ้างสิทธิอธิปไตยเหนือไต้หวันอยู่นั่นเอง

การถูกกีดกันดังกล่าวสร้างความไม่พอใจกับทางการไต้หวัน ที่ไม่ได้ร่วมประชุมฉุกเฉินและรับข้อมูลเกี่ยวกับโรคและการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างทันท่วงที ขณะที่ประชาชนชาวไต้หวันต่างตั้งแคมเปญล่ารายชื่อเรียกร้องให้ด๊อกเตอร์ทีดรอสลาออกจากตำแหน่ง

นั่นกลับกลายเป็นว่า ด๊อกเตอร์ทีดรอสออกมากล่าวหาไต้หวันว่าทำให้ตนถูกโจมตีเหยียดผิวในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่กระทรวงต่างประเทศไต้หวันระบุว่า คำพูดดังกล่าวของผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกนั้นเป็นคำกล่าวหาที่เลื่อนลอย

พร้อมทั้งเรียกร้องให้ด๊อกเตอร์ทีดรอสออกมาขอโทษไต้หวันในกรณีนี้

 

นั่นเป็นส่วนหนึ่งของท่าทีขององค์การอนามัยโลก ที่ดูจะเอาใจรัฐบาลจีนเป็นพิเศษ จนส่งผลให้ทรัมป์วิพากษ์วิจารณ์องค์การอนามัยโลกอย่างตรงไปตรงมาในเวลาต่อมา

น่าเศร้าที่ยังคงมีความขัดแย้งทางการเมืองผุดขึ้นมาให้เห็น โดยเฉพาะในองค์กรระบบโลกที่ทำหน้าที่รับมือกับการแพร่ระบาดโดยตรง

และยิ่งน่าเศร้าเข้าไปใหญ่เมื่อความขัดแย้งนี้เกิดขึ้นในห้วงเวลาวิกฤตที่มีชีวิตมนุษย์เป็นเดิมพันเช่นเวลานี้