เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | ช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น

ไม่ไวแต่ไม่ช้านะ ชั่ว “ช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น” นี้

อู่ฮั่นถึงโควิด-19 จากจีนถึงยุโรป ถึงอเมริกา ใช้เวลาเหมือนแค่ชั่วช้างกระดิกหู งูแลบลิ้นจริงๆ

ไทยเราเช่นกัน แม้มาตรการจะดูละล้าละลัง แต่ก็ทยอยเข้มงวดขึ้นตามลำดับ แรงกระพือข่าวจริงไม่จริงนี่แหละที่ทั้งกระดิกหูและแลบลิ้นให้คนต้องทั้งตื่นตระหนกและตื่นตระหนักไปพร้อมกัน

ก่อนห่าจะมาเรากำลังตระหนกเรื่องฝุ่น PM 2.5 ไม่ทันไรดูซิวันนี้ฟ้าสะอาด ถนนว่างปล่อยให้เจ้าห่าเป็นวายร้ายล่องหนเข้าครองเมืองเรียบร้อย

ชั่วช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น

เรื่องพึงตระหนักต่อไป คือต่อนี้ไปเราจะใช้ชีวิตอยู่กันอย่างไร

จะต่อยอดวิถีเดิม หรือจะเริ่มทบทวนวิถีใหม่

วิถีเดิมก็คือใช้ชีวิตแบบเดิม ผู้เสียเปรียบก็ตะเกียกตะกายไปตามยถากรรม ผู้ได้เปรียบก็กอบโกยสาวได้สาวเอากันไป ปัญญาชนคนชั้นกลางก็อย่างว่า คือ “ยโส-โลเล-เสรี” ราชการก็เป็นหุ่นยนต์กลไก ขึ้นสนิม เคาะสนิมกันไป นักการเมืองก็เขื่องอำนาจ รัฐบาลก็เหมือนวัวสันหลังหวะ

กี่ยุคกี่สมัยก็เหมือนเดิม วิถีเดิม

ก็วิถีเดิมนี่แหละที่เป็นเหตุแห่งมหันตภัยทั้งฝุ่นพิษและห่าอำมหิต

วิถีใหม่พึงทบทวนคือการกลับมา “ดูตัวเองด้วยตัวเอง” ศัพท์บาลีว่า “สิกขา” คำเดียวกับ “ศึกษา” นั่นเอง รากศัพท์จากคำ สะ+อิกขะ สมเด็จพระพุทธาโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ท่านอธิบายว่า สะ-คือตัวเอง อิกขะ-คือการดู สิกขะจึงหมายถึงการดูตัวเอง

ดูตัวเองด้วยตัวเอง

นี้แหละคือ หัวใจของการศึกษา ที่เหมือนเราจะให้ความสำคัญน้อยนัก

ครั้นโลกก้าวสู่ยุค GLOBALIZATION (โลกาภิวัตน์) เราก็เลยรู้สึกเหมือนว่าเป็นยุค “ก่อบรรลัยแก่ฉัน” ไปด้วยประการฉะนี้

ด้วยการศึกษาตามระบบยิ่งก้าวล้ำก็ยิ่งทำให้เราก้าวห่างก้าวไกลไปจากตัวเอง ยิ่งไม่รู้จักตัวเองมากขึ้น

เมื่อไม่รู้จักตัวเองก็ตกเป็นเหยื่อของความทันสมัย กระทั่งตกเป็นเหยื่อข่าวเละเฟะกันอยู่นี่

วิถีใหม่จึงต้องเริ่มด้วยการรู้จักตัวเอง ที่เป็นตัวเราจริงๆ เริ่มด้วยการ “ช่วยตัวได้-ใช้ตัวเป็น”

สิกขาคือรู้เรียนรู้เพียรเพ่ง

ดูตัวเองด้วยตัวเองเร่งฝึกฝน

เรียนรู้ตนจนตระหนักรู้จักตน

รู้ตั้งต้นช่วยตัวได้ใช้ตัวเป็น

เอาง่ายๆ ถ้าไม่มีไฟฟ้าใช้ เราจะหุงข้าวเป็นไหม

คือเริ่มง่ายๆ ตรงนี้ก่อน ไม่ใช่คิดแต่ไปซื้อหรือยกมือถือสั่งซื้อลูกเดียว

ยกตัวอย่างตื้นๆ นี่ก็เพื่อโยงไปถึงประเทศเราว่าสามารถยืนอยู่ได้ด้วยตัวเองจริงๆ ไหม

ประเด็นนี้นึกถึงที่อาจารย์เสน่ห์ จามริก เคยว่าประเทศบริเวณเส้นศูนย์สูตรที่มีอาณาอยู่ราวเจ็ดเปอร์เซ็นของพื้นที่โลกนี่แหละมีภูมิศาสตร์ดีที่สามารถผลิตทรัพยากรได้ถึงเจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์ของทรัพยากรโลก

ประเทศไทยเราเป็นหนึ่งอยู่ในบริเวณนี้ ยิ่งกว่านั้น จุดที่ประเทศไทยเราตั้งอยู่ก็วิเศษสุดด้วยเราห้อมล้อมด้วยประเทศอื่นที่เป็นดั่งปราการด่านภัยธรรมชาติ กระทั่งสองฝั่งทะเลตะวันออกตะวันตกก็มีขนาดเหมาะสมแก่การอำนวยสินทรัพยากรธรรมชาติ

เปรียบเสมือนเรามีข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์พร้อมสรรพอยู่แล้ว

แต่เราหุงข้าวเป็นไหม ถ้าไม่มีไฟฟ้าใช้

สรุปวิถีใหม่ที่เราต้องช่วยกันทบทวนศึกษาก็คือ

ระหว่างทำมาหากินกับทำมาค้าขาย

เราจะมุ่งเอาอะไรเป็นหลัก อะไรเป็นรอง หรือจะผสานกันอย่างไรให้สมกับศักยภาพ “ช่วยตัวได้ ใช้ตัวเป็น”

ท่านเจ้าคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ท่านให้แง่คิดว่า เมื่อใดคนเริ่มคิดว่าจะต้องรักษาดูแลสิ่งแวดล้อม เมื่อนั้นเรากำลังแยกตัวเองออกมาจากสิ่งแวดล้อม ซึ่งแท้จริงแล้วเราต่างเป็นสิ่งเดียวกัน อาหารที่เรากิน อากาศเราหายใจ คือสิ่งที่เราเรียกว่า สิ่งแวดล้อม แท้คือเราทั้งสิ้น

ศิลปะของการอยู่อย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนี่แหละคือวิถีใหม่ที่ท้าทายให้คิด

โควิด-19 หรือห่าวายร้ายมันมาเป็นสัญญาณเตือนภัยให้มนุษย์ต้องตระหนักถึงสิ่งนี้ คือดุลยภาพของพัฒนาการระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม

มิฉะนั้นก็จะเกิดสภาวะที่โลกกำลังเป็นอยู่วันนี้คือ

ทันสมัยแต่ไม่พัฒนา

ธรรมสำคัญในภาวะเช่นนี้คือการเจริญสติ

ท่านโกวิท เขมานันทะ ศิลปินแห่งชาติ ผู้ล่วงลับเคยอธิบายดังนี้

“การเจริญสติ เราจะเห็นความจริง ไม่ใช่มัวนั่งนึกถึงตัวความจริง คิดเรื่องความจริง นั้นห่างไกลความจริงราวฟ้ากับดิน”

เจริญสติ คือระลึกตัวในทุกขณะจนเป็นสมาธิ ไม่วอกแวกหวั่นไหว จะเห็นความจริงตามที่เป็นจริง

เห็นความจริงตามเป็นจริง แล้วจึงไปหยั่งรู้ความจริงนั้น อันเป็นอีกขั้นที่เรียกว่าเจริญวิปัสสนา

“อาจารย์ยุคโบราณได้กล่าวไว้ว่า ผู้ใดที่เจริญวิปัสสนา คือรู้ตัว ชั่วช้างสะบัดหู งูแลบลิ้น อานิสงส์นี้เหลือที่จะประมาณได้”

ชั่วช้างสะบัดหู งูแลบลิ้น นี่แหละเป็นทั้งวิกฤตและโอกาสให้เราพึงได้เห็นความจริงคือมหันตภัยพิบัติตามที่มันเป็นจริง เพื่อช่วยกันหาทางขจัดภัยด้วยความรู้ตามเป็นจริงนั้น

นี้คือความหมายแท้จริงของคำเจริญสติ เพื่อเห็นจริง และเจริญวิปัสสนา เพื่อรู้จริง

ด้วยตัวเราเองจริง

ฝ่าวิกฤต

๏ ยามโลกวิกฤตร้าย

ต้องรวมใจเป็นหนึ่งเดียว

ผูกพันผสานเกลียว

เกี่ยวกระหวัดเป็นมัดหวาย

๏ เช็ดน้ำตาให้ผู้ทุกข์

ปลุกน้ำใจไม่แพ้พ่าย

กำจัดศัตรูร้าย

ด้วยพลังแห่งความดี

๏ วิกฤตเป็นโอกาส

เอาสามารถอันเรามี

“รู้รักสามัคคี”

เพื่อสังคมได้มั่นคง

๏ ตื่นรู้ไม่ตื่นตระหนก

แต่ตื่นตระหนักไปปักธง

ร่วมใจเป็นใจตรง

ไม่ประมาทไม่ขลาดกลัว

๏ ดูจริงให้เห็นจริง

และรู้จริงทั้งดีชั่ว

รู้รับรู้ปรับตัว

ด้วยสติและปัญญา

๏ ต้องยอมรับยอมรู้ดูห่าฝน

แต่อย่ายอมจำนนกับฝนห่า

บางครั้งอาจต้องถอยคอยฝนซา

แต่บางครั้งต้องกล้าฝ่าฝนซัด!