ชีวิตดนตรีหลายทศวรรษของ “ตุ่น พนเทพ” (2) จาก “ยุคค่ายเพลง” ถึง “นั่งเล่น-ดึกดำบรรพ์ฯ”

การเสียชีวิตของ “เรวัต พุทธินันทน์” ในปี 2539 ส่งผลสะเทือนให้บุคลากรสายดนตรีของแกรมมี่หลายรายเลือกจะเดินออกไปเผชิญหน้าความท้าทายใหม่ๆ และ “พนเทพ สุวรรณะบุณย์” คือหนึ่งในนั้น

ย้อนอ่านตอน (1)

นอกจากเหตุผลหลักข้างต้น พนเทพและทีมยังเริ่มรู้สึกไม่สนุกกับการทำงานที่ต้องมีโจทย์ทางการตลาดบางอย่างมาคอยกำหนด

เวลานั้น กระแสดนตรีแบบอัลเทอร์เนทีฟกำลังมาแรงในบ้านเรา พนเทพจึงตัดสินใจทำเรื่องสนุกๆ ด้วยการทดลองผลิตผลงานแนวนี้ร่วมกับ “เดอะ มัสต์ กฤชยศ เลิศประไพ” อันนำมาสู่การก่อตั้งค่ายเพลงอินดี้ “โอ! มาย ก็อด”

ด้านหนึ่ง “โอ! มาย ก็อด” ก็เป็นพื้นที่ให้พนเทพได้ลงมือทำอะไรใหม่ๆ ทั้งในแง่การบริหารจัดการไปจนถึงการแต่งเพลงเจ้าพ่อเพลงรักฟังสบายอย่างตุ่น พนเทพ มีโอกาสแต่งทำนอง-เรียบเรียงเพลงแนวอัลเทอร์เนทีฟร็อกของ “เดอะ มัสต์” ภายใต้นามแฝงว่า “นพย์”

เขายังใช้นามปากกา “นพพล ดีประเสริฐ” ควบบทบาทคนแต่งคำร้อง-ทำนองของเพลงซึ้งๆ ชื่อ “อยู่เพื่อรักเธอ” ซึ่งขับร้องโดย “โจ๊กเกอร์-นพชัย มัททวีวงศ์”

อีกด้านหนึ่ง “โอ! มาย ก็อด” ก็ถือเป็นแหล่งพบปะของ “คนคุ้นเคย” ไม่ว่าจะเป็น “อัญชลี จงคดีกิจ” ซึ่งเคยร่วมงานกับพนเทพเมื่อปี 2531

“กุลวัฒน์ พรหมสถิต” เจ้าของเพลง “ไม่บังเอิญ” ก็เคยทำงานอยู่ในทีมของพนเทพที่ตึกแกรมมี่

ศิลปินเดี่ยวอย่าง “ป้อม-เกริกศักดิ์ ยุวะหงษ์” เจ้าของเพลง “อยากจะมีเธอ” นั้นเป็นอดีตนักร้องนำวง “แฟลช” ส่วนอดีตมือเบสของ “แฟลช” อย่าง “อนุสาร คุณะดิลก” (เหม วงพลอย) ก็มาทำงานเบื้องหลังให้ “โอ! มาย ก็อด” เช่นกัน

นอกจากนี้ “ชนินทร์ โปสาภิวัฒน์” ที่มาร่วมบริหารบริษัท ก็เป็นผู้บุกเบิกค่ายครีเอเทียฯ

แต่ท้ายสุด ค่ายเพลงอินดี้แห่งนี้กลับต้องปิดฉากลงอย่างน่าเสียดาย ทั้งที่ผลประกอบการยังอยู่ในระดับ “โอเค” ด้วยเหตุผลเรื่อง “ปัญหาความไม่เข้าใจกัน” ระหว่างคนทำงานข้างใน

การยุติกิจการของ “โอ! มาย ก็อด” ทำให้พนเทพรู้สึกเจ็บปวด เพราะนี่คือธุรกิจที่เขาลงมือสร้างทุกอย่างขึ้นมาจาก “ศูนย์” ด้วยความหวังจะดูแล “น้องๆ ทีมงาน” ให้มีชีวิตที่ดี

พนเทพเลือกใช้ชีวิตอยู่เฉยๆ ด้วยความผิดหวังนานร่วมปี ก่อนจะได้รับการทาบทามให้กลับเข้าไปทำงานในแกรมมี่เป็นรอบที่สอง

นั่นคือจุดเปลี่ยนสำคัญอีกหนสำหรับพนเทพ เมื่อเขาได้รับมอบหมายให้ดูแลทีมทำเพลงที่ชื่อว่า “C&D” ซึ่งมีที่มาจากคำว่า “creative” (สร้างสรรค์) และ “develop” (พัฒนา) ในยุคที่ยักษ์ใหญ่ย่านอโศกมีนโยบายเปิดค่ายเพลงย่อยๆ เต็มไปหมด

หน้าที่หลักของทีมงานชุดนี้คือการเข้าไปช่วยสร้างตัวตน ออกแบบแนวเพลง รวมทั้งวางโจทย์ทางการตลาดให้แก่ศิลปินวัยรุ่น ที่ทางแกรมมี่ยังไม่แน่ใจว่าพวกเขาเหมาะสมกับแนวทางการทำงานแบบไหนกันแน่

ผลผลิตที่โดดเด่นของทีม “C&D” เห็นจะได้แก่การปั้น “ลานนา คัมมินส์” และ “พั้นช์-วรกาญจน์ โรจนวัชร” จนมีชื่อเสียง

การทำงานตรงจุดนั้นได้มอบบทเรียนใหม่ๆ แก่คนดนตรีรุ่นเก๋า เช่นเมื่อทีมการตลาดของค่ายตั้งคำถามกับกลิ่นอายแบบเวิลด์มิวสิกในงานของลานนา ฝ่ายครีเอทีฟประจำทีมของพนเทพจึงแก้เกมด้วยการนำเสนอผลงานดังกล่าวให้ “เอ็มทีวี ประเทศไทย” พิจารณา

และนั่นก็กลายเป็นช่องทางการประชาสัมพันธ์ชนิดใหม่ ที่ช่วยให้งานเปิดตัวของศิลปินวัยรุ่นชาวเชียงใหม่ประสบความสำเร็จอย่างน่าทึ่ง

“ในฐานะที่เราเป็น creative and develop มันไม่ใช่แค่แต่งเพลง มันคือต้องคิดให้เข้ากับตัวศิลปิน แล้วไม่ใช่แค่เข้าอย่างเดียว เพราะเข้าอย่างเดียวมันเป็นตัวศิลปินอย่างเดียว บางทีมันก็ไม่เวิร์กกับแมส ตอนนั้นเราต้องคิดถึงตรงนี้ด้วย มันก็ต้องหาส่วนผสมที่พอดีๆ”

พนเทพทำงานที่แกรมมี่จนเกษียณ แต่ก่อนจะเปิดหมวกอำลาอุตสาหกรรมดนตรี เขาก็ได้พบกับความสนุกครั้งใหม่โดยบังเอิญ

เมื่อโปรดิวเซอร์อาวุโสไปเจอกีตาร์สายไนล่อนไม่ทราบเจ้าของถูกวางทิ้งไว้ในห้องอัดเสียง เขาจึงลองหยิบมันขึ้นมาบรรเลง ด้วยความรู้สึกว่า “มันจับได้เต็มมือดี เพราะว่ามันไม่ใช่สายเหล็ก แล้วมันไม่ต้องกลัวสายขาด แล้วสายเอ็นมันจะไม่ค่อยเพี้ยน”

ความบังเอิญครั้งนั้นทำให้พนเทพหันกลับมาฟื้นฟูทักษะการเล่นกีตาร์ของตนเอง หลังร้างลาจากเครื่องดนตรีชนิดนี้นานนับทศวรรษ ตั้งแต่เขาต้องเปลี่ยนตำแหน่งไปเป็นมือคีย์บอร์ดของวง “แฟลช” และต่อมา พอได้ทำงานเป็นคนเบื้องหลังเต็มตัว คีย์บอร์ดก็ยิ่งกลายเป็นเครื่องไม้เครื่องมือที่เหมาะสมกับการผลิตผลงานเพลงในสตูดิโอมากกว่า

พนเทพฝึกปรือฝีมือกับกีตาร์สายไนล่อนจนคล่องแคล่วอยู่คนเดียวที่บ้าน ก่อนจะคิดได้ว่าควรมีเพื่อนฝูงที่กิน-เที่ยวด้วยกันมาร่วมสนุกในกิจกรรมนี้

นั่นจึงเป็นที่มาของการก่อตั้ง “วงนั่งเล่น” ซึ่งประกอบด้วยมิตรสหายคนดนตรีอีกหลายชีวิต ได้แก่ “กมลศักดิ์ สุนทานนท์” (ร้องนำ) อดีตมือแต่งคำร้องเบอร์ต้นๆ ของแกรมมี่ “ปิติ ลิ้มเจริญ” (ร้องนำ-กีตาร์อะคูสติก) อีกหนึ่งนักแต่งคำร้อง (และทำนอง) ฝีมือดี “เศกสิทธิ์ ฟูเกียรติสุทธิ์” (คีย์บอร์ด) มือแต่งทำนอง-เรียบเรียงที่ทำงานใน “ทีมพนเทพ” มายาวนาน

“อิศรพงศ์ ชุมสาย ณ อยุธยา” (คีย์บอร์ด-เมโลดิก้า) อดีตหัวหน้าวงพลอยและคนเบื้องหลังค่ายแกรมมี่ “ณัฏฐ์ (เทิดไทย) ทองนาค” (กีตาร์ไฟฟ้า) อดีตสมาชิกวงพรรณนาและนักแต่งเพลงที่เคยทำงานกับทั้งฝั่งแกรมมี่-อาร์เอส “เกริกศักดิ์ ยุวะหงษ์” (เพอร์คัสชั่น) อดีตศิลปินค่าย “โอ! มาย ก็อด” และนักร้องนำวงแฟลช

“พรเทพ สุวรรณะบุณย์” (กลอง) มือกลอง-ซาวด์เอ็นจิเนียร์ ผู้เป็นน้องชายของพนเทพ และ “ศราวุธ ฤทธิ์นันท์” (เบส) ซาวด์เอ็นจิเนียร์คู่ใจของพนเทพในตลอดหลายปีหลัง

น่าเหลือเชื่อว่าเพลงแต่งใหม่ (ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา) ของ “วงนั่งเล่น” อาทิ สายลม, ขอคนใจ๋ดีเป็นเพื่อนปี้สักคน, ดอกไม้ในที่ลับตา, อกหักให้มันเท่ๆ หน่อย และ Something Good ล้วนได้รับการตอบรับที่ดีจากแฟนเพลงหลายรุ่น พิสูจน์จากยอดชมคลิปการแสดงสดเพลงเหล่านั้นในโซเชียลมีเดีย ที่ทะลุหลักล้านวิวอย่างสบายๆ

สำหรับพนเทพ จุดประสงค์หลักของ “วงนั่งเล่น” (ที่สมาชิกหลายรายอายุเกิน 60 ปี) ไม่ใช่ความสำเร็จทางธุรกิจ แต่คือการได้มีความสุขกับคนที่อยากจะมีความสุขด้วย การสื่อสารบทเพลงที่มีเนื้อหาเหมาะสมกับวัยของตัวเอง เป็นเนื้อหาที่มีประโยชน์ ให้กำลังใจ และกระตุ้นให้คนฟังสังเกตเห็นสิ่งที่พวกเขาอาจมองข้ามไปในชีวิตประจำวัน

หรือที่กมลศักดิ์นิยามว่าเป็น “เพลงเพ่งชีวิต”

ขณะเดียวกัน พนเทพยังก่อตั้งวง “ดึกดำบรรพ์บอยแบนด์” ร่วมกับเพื่อนเก่าแก่อย่าง “แต๋ม-ชรัส เฟื่องอารมย์” และ “ปั่น-ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว”

ในแง่การรวมกลุ่มเล่นดนตรี โปรเจ็กต์ดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นเมื่อทั้งหมดไปร่วมร้อง-เล่นเพลง “รักนิรันดร์” ที่เขาใหญ่ ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2558

ในแง่ชื่อเสียงเรียงนาม การเรียกขาน “แต๋ม-ปั่น” ว่าพวก “ดึกดำบรรพ์” นั้นหลุดออกมาจากปากพนเทพเมื่อครั้งคอนเสิร์ต “รักนิรันดร์” ปลายปี 2558 ก่อนจะได้รับเสียงเชียร์จาก “ธีร์ ไชยเดช” ศิลปินรุ่นน้อง และความเห็นชอบจากชรัสกับไพบูลย์เกียรติ

ถึงปัจจุบัน “ดึกดำบรรพ์บอยแบนด์” มีคอนเสิร์ตใหญ่และโชว์ย่อยๆ มาแล้วมากมายหลายครั้ง รวมทั้งมีคลิปการแสดงสด (ที่พวกเขามักเรียกว่า “การซ้อม”) ซึ่งเรียกยอดวิวจากผู้ชมคนฟังในโลกออนไลน์ได้ไม่น้อย

อย่างไรก็ดี พนเทพยอมรับว่ายังมีคนจำนวนมากที่อาจสับสนสงสัยว่า “วงนั่งเล่น” และ “ดึกดำบรรพ์บอยแบนด์” นั้นแตกต่างกันอย่างไร?

“จริงๆ แล้วเนื้อในมันต่างกันโดยชัดเจน คือ นั่งเล่น (ทำ) เพลงใหม่ เป็นเพลงใหม่ที่เราแต่ง ส่วนดึกดำบรรพ์ ถ้าไปเล่นที่ไหน ยังไงคนเห็นหน้าปั่น ก็ต้องขอรักนิรันดร์ รักล้นใจ อะไรพวกนี้ แต่แทนที่ว่าเราจะเล่นเพลงเก่าในรูปแบบเดิม มันเหมือนกับเราไม่ได้ทำการบ้านอะไรมาเลย (ก็) ทำให้มันดีหน่อย ก็เอาเพลงเก่าๆ ของพวกเรานี่แหละ มา (เรียบเรียง) ให้มันดูรู้สึกว่ามีอะไรที่คนดูเขาร่วมได้”

“อย่างดึกดำบรรพ์ฯ โดยตัวชรัสกับปั่น ปกติก็เป็นนักร้องที่รับงานทั่วไปอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น คืออาชีพเขาเลย เวลามาทำดึกดำบรรพ์ฯ ไปไหนก็เหมือนกับปกติ ก็คือว่าเป็นงานจ้างศิลปิน ด้วยตัวศิลปินเอง ด้วยตัวเพลง ไปเล่นที่ไหนคนเขาก็รู้จักอยู่แล้วแหละ เขาโอเค แฮปปี้ แต่อย่างนั่งเล่นเป็นเพลงที่สื่อสารเรื่องคอนเทนต์ เพราะฉะนั้น ก็เลยคิดว่านั่งเล่นเนี่ยขอเถอะ ถ้าจะเล่นงานไหน ขอให้เป็นที่ที่เราอยากไป แล้วเรารู้ว่ามีคนอยากฟัง ได้เงินไม่ได้เงินอีกเรื่องหนึ่ง”

ทุกวันนี้ นอกจากเล่นดนตรีกับพี่เพื่อนน้อง พนเทพยังชอบฟังเพลงของศิลปินต่างชาติรุ่นลูก-หลาน เช่น เดอะ เชนสโมกเกอร์ส, บิลลี่ ไอลิช และเจเรมี่ ซัคเกอร์ รวมทั้งชื่นชมเรื่องราวในบทเพลง “Memories” ของวงมารูนไฟว์

ในวัย 69 ปี เขายืนยันว่าการทำงานดนตรีไม่มีข้อจำกัดเรื่องอายุ และถ้าเราพร้อม “เปิดรับ” อะไรใหม่ๆ เราก็จะได้รับสิ่งดีๆ ย้อนกลับมาเป็นการตอบแทน

สอดคล้องกับที่ “กมลศักดิ์ สุนทานนท์” แห่ง “วงนั่งเล่น” กล่าวยกย่องเพื่อนรุ่นพี่ของเขาเอาไว้ว่า “ตุ่น-พนเทพ สุวรรณะบุณย์” อาจเป็นคนดนตรีรุ่นใกล้เจ็ดทศวรรษเพียงรายเดียว ที่ยังขยันขันแข็งและมุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงานใหม่ไม่ยอมหยุด

ไปพร้อมๆ กับการดำรงสถานะ “มือวางอันดับต้นๆ” ในวงการเพลงได้อย่างต่อเนื่อง