หนุ่มเมืองจันท์ | ต้นไม้ต้นใหม่

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

นานครั้งที่จะรู้สึกว่าตัวเอง “โชคดี”

วิกฤต “ไวรัสโควิด-19” ครั้งนี้ รุนแรงไม่แพ้วิกฤต “ต้มยำกุ้ง” เมื่อปี 2540

ครั้งนั้น ผมอายุประมาณ 30 ต้นๆ เป็นบรรณาธิการบริหาร “ประชาชาติธุรกิจ”

“มติชน” ก็เหมือนองค์กรอื่นทั่วไปที่เจอมรสุมครั้งใหญ่

ยิ่งทำธุรกิจสิ่งพิมพ์ กระดาษหนังสือพิมพ์ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

ค่าเงินบาทลอยตัวปั๊บ

ต้นทุนกระดาษทะยานขึ้นทันที

องค์กรต้องปรับลดค่าใช้จ่ายทุกอย่าง

เงินประจำตำแหน่ง ค่ารถ ค่าเวร ฯลฯ ถูกปรับลดลง

แม้จะเป็นเรื่องที่ทุกคนเข้าใจได้

แต่เป็นปัญหาที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน

ผมซื้อบ้านที่หมู่บ้านชัยพฤกษ์ แถวลำลูกกา

อยู่ในช่วงการผ่อนดาวน์

เหลือไม่กี่งวดก็จะโอนแล้ว

บ้านหลังเก่าก็ยังผ่อนไม่หมด แต่วางแผนไว้แล้วว่าบ้านใหม่เสร็จเมื่อไรจะรีบประกาศขายบ้านหลังเก่าทันที

กะว่าจะแบกค่าผ่อน 2 บ้านสัก 6 เดือนคงขายได้

แต่พอลอยตัวค่าเงินบาทปั๊บ

รายได้ที่ฝันว่าจะเพิ่มขึ้นทุกปีกลับลดน้อยลง

ผมตัดสินใจทิ้งดาวน์บ้านหลังนั้นทันที

นึกถึงตัวเลขเงินดาวน์ 4-5 แสนแล้วน้ำตาจะไหล

เหมือนเผาเงินทิ้งเลยครับ

แต่ก็ต้องยอมรับความจริง

ยอมรับความพ่ายแพ้

ช่วงนั้นผมวางแผนเรื่องการเงินละเอียดมาก

มีรายได้เดือนละเท่าไร จ่ายค่าผ่อนบ้านเท่าไร

เหลือใช้จ่ายในบ้านวันละเท่าไร

หลายปีทีเดียวครับที่จะเริ่มลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง

แต่เมื่อเราผ่านช่วงเวลานั้นมาได้

เวลาที่มองย้อนกลับไปจะรู้สึกชื่นชมตัวเอง

เราเก่งมากที่ผ่านไปได้

และทุกครั้งที่เจอปัญหาหนักๆ

ประสบการณ์ครั้งนั้นเป็นเหมือน “วัคซีน” ป้องกัน “ความท้อแท้”

“วัคซีน” นั้นชื่อว่า “ความหวัง”

ครั้งก่อนยังผ่านไปได้

ครั้งนี้ก็ต้องได้

แต่วันนี้ผมอยู่ในช่วงที่ต้องวางแผนเรื่องการเกษียณแม้จะไม่ได้เป็นพนักงานประจำแล้วก็ตาม

ตั้งโจทย์ให้ตัวเองมานานแล้วว่า ถ้าวันหนึ่งไม่มีงาน ไม่มีรายได้ เราจะเลี้ยงชีพและใช้ชีวิตอย่างไร

หลักคิดของผมคือ ต้องคิดในจุดต่ำสุดไว้ก่อน

ถ้าความจริงไม่แย่ขนาดนั้นก็ถือว่า “กำไร”

บังเอิญแผนที่วางไว้ค่อนข้างดี และช่วงที่ผ่านมาโชคดีกว่าที่คิดในหลายเรื่อง

พอเกิดเหตุโควิด-19 ต้องทำงานที่บ้าน

ห้ามเดินทางไปไหน

ผมจึงไม่ค่อยมีปัญหา เหมือนได้ทดลองการใช้ชีวิตรูปแบบหนึ่ง

นั่นคือเหตุผลที่ผมรู้สึกว่า “โชคดี”

และเข้าใจความรู้สึกของคนจำนวนมากที่ต้องเผชิญกับปัญหาเหมือนที่ผมเคยเจอเมื่อปี 2540

เป็นปัญหาที่หนักหน่วงชนิดที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน

เวลาที่ใครรณรงค์ให้อยู่บ้านเพื่อชาติ

ให้เว้นระยะห่างแม้อยู่ในบ้านเดียวกัน

แม้จะเป็นความจำเป็นที่ทุกคนต้องช่วยกัน ต้องเสียสละ

แต่น้ำเสียงของบางคนพูดเหมือนกับว่าเรื่องแค่นี้ทำไมทำไม่ได้

อดทนนิดเดียวเอง

ผมจะนึกถึงตอนที่เรียนและพักอยู่กับพี่ชาย 2 คนที่หอพักแถวประตูน้ำ

3 คนในห้องแคบๆ

พี่ 2 คนนอนเตียง

ผมนอนพื้น

บางคืนมีอะไรวิ่งผ่านตัว

เปิดไฟดู

“หนู” ครับ

มันชื่อหนู มากับหนู แล้วก็มากับหนู

เป็นความทรงจำที่จำได้ถึงทุกวันนี้

ดังนั้น เวลาพูดว่าแค่อยู่กับบ้าน

บางทีเราต้องเข้าใจคนส่วนใหญ่ในประเทศด้วย

“บ้าน” ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน

คนที่อยู่บ้านมีรั้วแบบผม

กับคนที่อยู่หอพักแคบๆ ไม่มีเครื่องปรับอากาศ

อยู่ในบ้านหลังคาสังกะสี

เราต้องใช้ “ความอดทน” ในการอยู่บ้านไม่เท่ากัน

นึกถึงเพลงของ “พี่จิก” ประภาส ชลศรานนท์

…อื่นๆ อีกมากมาย มากมาย

มากมาย ที่ไม่รู้

อาจจะจริง เราเห็นอยู่

เผื่อใจไว้ที่ยังไม่เห็น…

ช่วงที่ผมใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านกับ “ความว่าง”

เหมือนกับเป็นการทดลองใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านช่วงเกษียณ

ทั้งการใช้จ่าย และใช้ชีวิต

ผ่านไป 2 สัปดาห์ ผมเริ่มมีความมั่นใจในตัวเอง

อยู่ได้สบายมาก

ได้เห็นรายละเอียดในบ้านหลายอย่างที่ไม่เคยเห็น

ตอนที่ทำงานนอกบ้าน เราจะไม่เห็นสิ่งเหล่านี้

ทั้ง “ปัญหา” และ “ความงดงาม”

ตอนนี้อยู่กับบ้าน ไม่ต้องออกไปพบใคร

ผมเลยเริ่มคิดกิจกรรมใหม่

ทดลองไว้หนวดครับ

ในชีวิตไม่เคยไว้หนวดเลย

อย่างมากก็ทิ้งไว้แค่วันหรือสองวันก็โกนแล้ว

แต่พอว่างจัด ไม่ต้องพบใคร

ผมเลยทดลองไว้หนวด

อยากรู้ว่าหนวดจะทำให้หน้าตาจะคมเข้มแค่ไหน

วันแรกที่เห็นหน้าตัวเองในกระจกรู้สึกแปลกดี

วันที่สองก็ขำๆ

ผ่านไปแค่ 5 วัน ผมก็ค้นพบสัจธรรม

มีบางคนเท่านั้นที่เหมาะกับการไว้หนวด

…ไม่ใช่ทุกคน

ผมโกนหนวดทิ้ง แต่ยังรักษาเคราใต้คางไว้

อยากทดลองทฤษฎีบางอย่างที่เก็บไว้ในใจมาตั้งแต่เด็กตอนที่ดูหนังจีนกำลังภายใน

ผมสังเกตว่าคนที่ไว้เคราส่วนมากจะเป็นนักปราชญ์

“เครา” ทำให้เขาน่าเชื่อถือและน่าเลื่อมใส

และเมื่อต้องครุ่นคิดเพื่อแก้ปัญหายากๆ

ปราชญ์เหล่านั้นไม่ได้เกาหัว

ไม่ได้เกาก้น

แต่เขาจะลูบเครา

ไม่น่าเชื่อว่าพอลูบเคราเล่นสักพักหนึ่ง

เขาจะคิดออก

ดูหนังจีนทุกเรื่องก็เป็นแบบนี้ตลอด

ผมตั้งสมมุติฐานว่า “เครา” น่าจะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการแก้ปัญหา

ลูบเคราแล้วเกิดความคิดสร้างสรรค์

ดังนั้น ถ้าผมไว้เคราบ้าง

มีปัญหาเมื่อไร ไม่ต้องทำอะไร

ลูบเคราอย่างเดียว

ถ้าลูบเคราแล้วคิดทางออกได้

หรือเกิดความคิดสร้างสรรค์ดีๆ ขึ้นมา

มันจะกลายเป็นทฤษฎีใหม่ในการแก้ปัญหาแบบง่ายๆ

ต่อไปใครมาปรึกษาหรือมีความทุกข์มากๆ

ผมจะบอกว่าไม่ต้องคิดอะไรมาก

“ไว้เครา”

เครายาวเมื่อไร ให้ลูบเครา

เดี๋ยวก็แก้ปัญหาได้

คิดในเชิงกลยุทธ์มันก็เป็นกุศโลบายอย่างหนึ่ง

เพราะกว่าเคราจะยาวก็ใช้เวลาหลายสัปดาห์

ช่วงที่รอคอย อารมณ์ก็คงจะนิ่งแล้ว

พอนิ่งเมื่อไร ก็คงคิดแก้ปัญหาได้เอง

หรือไม่ก็ลืมไปแล้วว่าเคยมีปัญหา

แต่ถ้าไม่ลืม บางคนพอเห็นเคราในกระจกแล้วทนใบหน้าตัวเองไม่ได้

โกนเคราทิ้ง

พอมองกระจกอีกครั้ง

เราจะรู้สึกขึ้นมาทันทีว่าชีวิตดีขึ้นแล้ว