แมลงวันในไร่ส้ม /ไวรัสโควิดไล่ทุบ ศก.-การเมือง เยียวยา 5 พัน ‘วุ่น’

แมลงวันในไร่ส้ม

ไวรัสโควิดไล่ทุบ

ศก.-การเมือง

เยียวยา 5 พัน ‘วุ่น’

 

กลายเป็นความโกลาหล ถึงขนาดประชาชนบุกไปที่กระทรวงการคลัง ทวงเงินเยียวยาเดือนละ 5 พันบาท

หลังจากรัฐบาลประกาศเยียวยาประชาชนกลุ่มอาชีพอิสระ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 ทำให้ตกงานขาดรายได้ โดยจ่ายผู้เข้าลงทะเบียนในเว็บไซต์เราไม่ทิ้งกัน

สำหรับการจ่ายเงินให้กลุ่มอาชีพอิสระ ทางรัฐบาลคาดว่ามีประมาณ 3 ล้านคน แต่เมื่อเปิดลงทะเบียน เมื่อวันที่ 28 มีนาคม เวลาผ่านไป 2-3 วัน ยอดผู้เข้ามาขอรับการเยียวยามีมากถึงกว่า 20 ล้านคน

รัฐบาลประกาศว่า จะเยียวยาทุกคนที่เข้าเกณฑ์ แต่ก็เกิดปัญหาขึ้นในขั้นตอนต่อมา

แม้ระบบไฟเขียวให้จ่ายเงินให้ประชาชนกลุ่มหนึ่ง แต่มีอีกกลุ่มที่ระบบไม่ให้ผ่าน และว่ากันว่า เป็นการคัดกรองด้วยระบบเอไอ หรือระบบปัญญาประดิษฐ์

รัฐบาลเริ่มจ่ายเงินรอบแรกวันที่ 8-10 เมษายน จำนวน 1.4 ล้านคน และทยอยจ่ายเพิ่ม

วันที่ 11-12 เมษายน ในเว็บบอร์ด และพื้นที่ในโซเชียลมีเดีย ประชาชนจำนวนมากร้องเรียนว่า ลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยาเดือนละ 5 พันบาท แต่ไม่ได้รับเงิน โดยระบบคัดกรองระบุว่าไม่ได้อยู่ในข่ายแรงงานอิสระที่รับผลกระทบจากโควิดจนตกงานขาดรายได้

กรณีที่วิจารณ์กันมากได้แก่ คุณแม่ลูก 1 วัย 30 เศษ ยังชีพด้วยเงินทิปจากอาชีพแคดดี้สนามกอล์ฟ ซึ่งถูกสั่งปิดไปแล้ว แต่เมื่อลงทะเบียนระบบคัดกรองบอกว่าเป็นนักศึกษา ไม่อยู่ในข่ายรับเยียวยา

ยังมีแดนเซอร์วงหมอลำ ถูกคัดกรองว่าประกอบธุรกิจช่างตัดผม กลายเป็นเกษตรกร รับจ้างเย็บผ้า ไม่มีประกันสังคม กลายเป็นเกษตรกรขายของตลาดนัด ระบบคัดกรองระบุว่า ยังทำอาชีพได้ สาวอายุ 28 อาชีพทำเล็บ ถูกคัดกรองระบุว่าเป็นเกษตรกร

อาชีพขายล็อตเตอรี่ คัดกรองตัดสิทธิเช่นกัน โดยระบุว่า ไม่มีข้อมูล ส่วนอาชีพนักดนตรีก็ไม่ได้รับสิทธิเช่นกัน

วันที่ 13-14 เมษายน ประชาชนจำนวนหนึ่งบุกไปที่กระทรวงการคลัง ขอพบนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ทำให้นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ต้องลงมาชี้แจงด้วยตนเอง

สรุปว่าทางกระทรวงจะเปิดให้ยื่นอุทธรณ์ได้ โดยเข้าไปคลิกในหน้าเว็บเราไม่ทิ้งกัน ที่จะขึ้นเป็นไอคอนไว้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน

 

เหตุการณ์ขลุกขลักที่เกิดขึ้น เป็นที่ห่วงใยของหลายฝ่าย เพราะประชาชนที่เดือดร้อน ไม่มีรายได้ ตั้งความหวังว่า จะได้เงินจำนวนนี้ไปต่อชีวิต เลี้ยงดูครอบครัว

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. กล่าวในรายการทางพีซทีวี ว่า ในสถานการณ์ที่ต้องต่อสู้กับไวรัสโควิด-19 แต่เรื่องใหญ่กว่าคือ เรื่องความอดอยาก จากมาตรการที่ป้องกันไม่ให้คนติดเชื้อ

เมื่อรัฐบาลตัดสินใจเยียวยาประชาชนตามข้อเรียกร้อง ประชาชนก็มีความหวัง มีผู้ลงทะเบียนขอรับการเยียวยากว่า 26 ล้านคน แต่รัฐบาลก็ให้ความช่วยเหลือเป็นจำนวนน้อย

กฎเกณฑ์ก็เป็นปัญหา อีกทั้งยังมีความล่าช้า คนที่ไม่สมควรได้รับการเยียวยากลับได้ แต่คนที่สมควรได้กลับไม่ได้ ตนค่อนข้างงงกับหลักเกณฑ์หลายเรื่องราวที่ยังไม่เข้าใจว่าเอาอะไรไปคิด เช่น อายุไม่ถึง 18 ปี ไม่อยู่ในวัยแรงงานเหล่านี้

วันนี้อยากจะพูดในหัวข้อที่ว่า ถ้าแจกเงินยังสอบตก ก็ไม่ไหวแล้ว รัฐบาลต้องฟังประชาชน เพราะประชาชนจะฟังรัฐบาลที่ฟังเสียงประชาชน เหล่านี้เป็นหัวใจหลักในการต่อสู้กับไวรัสโควิด-19

หากมนุษย์ในโลกนี้แจกเงินให้กับเจ้าของเงินคือประชาชนผู้เสียภาษีอากร ทั้งทางตรงและทางอ้อมยังสอบตก ยังผิดพลาด ก็ไม่ไหวแล้ว

วันนี้รัฐบาลต้องเข้าใจว่าเงินที่นำมาแจก คือเงินประชาชน เงิน 5,000 บาทไม่ได้มากมายอะไรในโลกแห่งความเป็นจริง เพราะตราบใดที่ประชาชนยังต้องจ่ายค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ

คนยากจนหาเช้ากินค่ำจึงอยู่ยาก แม้กระทั่งคนที่ผ่อนบ้าน บางธนาคารให้ส่งเฉพาะดอกเบี้ย แต่เงินต้นยังอยู่ เพียงแต่หากเรามีรัฐบาลที่เอาเงินของประชาชนไปแจกคืนให้ประชาชนยังล่าช้า ยังไร้ประสิทธิภาพและยังมีความผิดพลาด

อย่างเงื่อนไขที่บอกว่า อายุไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ ไม่อยู่ในวัยทำงาน แต่เขาก็อยู่ในมหาวิทยาลัยก็ต้องเช่าหอพัก แม้ว่าสถาบันการศึกษาจะหยุดแล้วก็ตาม ก็ต้องใช้ชีวิตอยู่เพื่อหาวิธีการเรียนให้รู้เท่าทันกัน

ต่อมาหลักเกณฑ์ที่บอกว่าไม่ได้ประกอบอาชีพหรือตกงานมาก่อน ก่อนที่เกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งแปลความกันว่า เป็นผลกระทบลูกโซ่ คือ หนึ่งครอบครัวหาเงินได้เพียงคนเดียวที่ต้องนำมาเลี้ยงดูคนในครอบครัว แต่ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้หาเงินได้น้อยลงหรือหาไม่ได้เลยจะทำอย่างไร

แม้กระทั่งอาชีพเกษตรกรที่บอกว่า มีมาตรการรองรับ ซึ่งความจริงแล้วประชาชนที่ประกอบอาชีพเกษตรกร ส่วนใหญ่ต่างก็รู้กันอย่างชัดเจนว่า ปีนี้ ถัดจากปีกลายเจอภัยแล้ง เจอน้ำท่วมแล้วมาเจอภัยแล้ง มีพืชบางชนิดเท่านั้นที่ปลูกได้

ทุกคนต่างพินาศย่อยยับทั้งหมดมีตัวเลขชัดเจน รัฐบาลไปถามหากับ ธ.ก.ส.ก็ทราบหมดว่า มีเกษตรกรจำนวนกี่ราย กลับบอกว่าเดี๋ยวจะมีมาตรการ วันนี้เราต้องการได้รัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่โอ้เอ้ลอยไปลอยมา มาตรการไม่อยู่กับร่องกับรอย โดยเฉพาะเรื่อง 5,000 บาท ตอนแรกบอก 3 เดือนบ้าง 6 เดือนบ้าง ก็กลับมา 3 เดือนอีก ทำยังกับขายหมากเก็บ

 

ที่น่าสนใจ คือกรณีพรรคก้าวไกลได้โพสต์เฟซบุ๊กเพจ พรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 14 เมษายน ระบุว่า จากการเยือนพื้นที่ต่างๆ ในประเทศของพรรคก้าวไกลตลอดรอบเดือนที่ผ่านมา

พบว่ายังมีประชาชนอีกจำนวนมากที่พบปัญหาจากการลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยา 5 พันบาท จากมาตรการภาครัฐผ่านเว็บไซต์ “เราไม่ทิ้งกัน.com” ทั้งในแง่ของการเข้าถึง การตรวจสอบคัดกรองโดย AI ความไม่เข้าใจ และอื่นๆ ที่ทำให้เงินไปไม่ทั่วถึงมือผู้ที่สมควรได้รับจริงๆ

พรรคก้าวไกลได้เปิดตัวเว็บไซต์ “ทำไมไม่ได้5พัน.com” ให้ประชาชนทุกคนที่ประสบปัญหาและอุปสรรคในการใช้งาน หรือเข้าไม่ถึงระบบลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 5 พันบาท ส่งเสียงสะท้อนไปให้ถึงรัฐบาลรับทราบและแก้ไขโดยด่วน

การแจกเงิน 5 พันบาท ที่รัฐบาลใช้กลไกราชการทำงาน เมื่อเกิดปัญหา จะเห็นความล่าช้าไม่ทันกับความเดือดร้อนของประชาชนอย่างชัดเจน

ขณะที่เศรษฐกิจในภาพรวมกำลังประสบปัญหา จนภาคเอกชนต้องเสนอว่า ควรกลับมา “รีสตาร์ต” เปิดให้ธุรกิจต่างๆ ได้ดำเนินการใหม่ โดยมีมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดอย่างเข้มข้น

เป็นสภาพที่ยังหนักหน่วง สำหรับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา