คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : พราหมณ์พัทลุง และความหลากหลาย ของ “พราหมณ์พื้นเมือง” ในไทย

ผมเคยเขียนบทความไว้ว่า ปัจจุบันพราหมณ์ในบ้านเรามีสองพวกใหญ่

พวกแรกคือพราหมณ์สยามซึ่งมีเชื้อสายอินเดียจากบรรพบุรุษ แต่ระยะเวลาที่ยาวนานทำให้กลายเป็นคนท้องถิ่นไป ทั้งรูปร่างหน้าตาและวิถีชีวิต เราจะเห็นท่านเหล่านี้ได้ในงานพระราชพิธีต่างๆ บางคนก็เรียกพราหมณ์หลวงเพราะรับราชการในราชสำนักหรือเรียกว่าพราหมณ์ไทย

ส่วนอีกพวกคือพราหมณ์อินเดีย ท่านเหล่านี้เพิ่งเข้ามาในประเทศเราไม่นาน โดยมากเป็นคนอินเดียที่อพยพโยกย้ายมาใหม่ทั้งจากอินเดียภาคเหนือ เช่น รัฐอุตรประเทศหรือทางใต้อย่างทมิฬนาฑู ส่วนที่เกิดในไทยแต่สืบสายอินเดียเพียงรุ่นสองรุ่นก็มีอยู่บ้างเล็กน้อย พราหมณ์เหล่านี้ปฏิบัติตนอย่างคนอินเดีย และมีหน้าที่หลักคือทำศาสนบริการแด่ชุมชนชาวอินเดียในเมืองไทย

ท่านจะพบพราหมณ์เหล่านี้ได้ตามเทวสถานของชาวอินเดีย เช่น วัดแขกสีลม วัดเทพมณเฑียร วัดวิษณุยานนาวา ฯลฯ หรือในชุมชนชาวอินเดียอย่างพาหุรัด บ้านแขก ฯลฯ

ที่น่าสนใจคือ ในปัจจุบันคนไทยผู้มีศรัทธาเทพเจ้าฮินดู นิยมใช้พราหมณ์อินเดียประกอบพิธีกรรมต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ เช่น บูชาเทพ ขึ้นบ้านใหม่ เปิดกิจการ ฝังศิลาฤกษ์ (แขกเรียกศิลานยาส) แต่งงาน ฯลฯ

บางท่านบอกว่า การใช้พราหมณ์อินเดียนั้นมีค่าใช้จ่ายไม่มาก เพราะข้าวของบูชาแม้จะละเอียดลออแต่ก็ไม่มากมาย แถมยังสนุก

เพราะบางครั้งเจ้าภาพก็ขอให้พราหมณ์เอาคณะนักดนตรีไปด้วย ไปขับสวดกันเฮฮาอย่างที่คนไทยชอบ

 

ส่วนพราหมณ์ไทยนั้น ถ้าไม่นับเมืองในตำนานอย่าง “รามราช” ในอินเดียใต้แล้ว หากพอจะสืบสาวต้นตอกันไปได้ บรรพบุรุษของท่านโดยมากมาจากทางใต้บ้านเรา เช่น จังหวัดนครศรีธรรมราชหรือใกล้พระนครสุดก็จังหวัดเพชรบุรี

ที่จริงมีคนบอกผมว่ามีชุมชนพราหมณ์ในภาคตะวันออกของบ้านเราเช่นกันคือระยองหรือจันทบุรี ผมคิดว่าเพราะพราหมณ์จากใต้เดินทางผ่านอ่าวไทยไปยังภาคตะวันออกได้ไม่ยาก

ปัจจุบันในภาคตะวันออกนั้น เข้าใจว่ามีเพียงแต่ผู้สืบเชื้อสาย คือยังใช้นามสกุลพราหมณ์ เช่น สกุลจันทร์พราหมณ์ นักแสดงตลกอย่างคุณเสนาลิงก็เข้าใจว่าเป็นผู้มีเชื้อสายพราหมณ์ระยองเช่นกัน แต่ไม่มีพราหมณ์แล้ว

ผมมีเพื่อนคนหนึ่ง พื้นเพเป็นคนนครศรีธรรมราช ใช้นามสกุล “จันพราม” (เจ้าหน้าที่น่าจะจดตามคำบอก) เขายืนยันว่าทวดเป็นพราหมณ์นครฯ แต่ปู่ไม่ยอมบวชเป็นพราหมณ์จึงหมดวงศ์ไปโดยปริยาย น่าสนใจว่านามสกุลนี้เหมือนกันกับพวกเชื้อพราหมณ์ทางฝั่งตะวันออก

ส่วนทางอีสานและภาคเหนือมีชุมชนพราหมณ์พื้นเมืองไหม (ในความหมายถึงต้นตระกูลพราหมณ์อินเดียที่อพยพลงมาจนกลายเป็นคนท้องถิ่น) ผมเข้าใจว่าไม่มี เนื่องจากไม่มีเส้นทางการอพยพของชาวอินเดียแบบในภาคใต้ (ทางทะเล) มีแต่การอพยพทางบกผ่านพม่าในยุคหลังมากๆ แล้ว คือยุคการปกครองอินเดียของอังกฤษ พราหมณ์และคนอินเดียในภาคเหนือจึงเหมือนพวกพราหมณ์อินเดียในกรุงเทพฯ ปัจจุบัน สืบเชื้อสายกันไม่กี่รุ่น

แต่หากจะมีในสมัยโบราณหรือไม่นั้น ผมไม่มีความรู้ตรงนี้ ท่านใดมีแหล่งค้นคว้าหรือมีความรู้วานบอก

 

ส่วนพราหมณ์เพชรบุรี หรือ “พราหมณ์สมอพลือ” เข้าใจว่าในจังหวัดเพชรบุรีจะเหลือแต่ผู้สืบเชื้อสายพราหมณ์ แต่พราหมณ์เพชรบุรีเกี่ยวพันกับราชสำนักมานานตั้งแต่กรุงเก่า สุนทรภู่เองก็บอกว่าตัวท่านเองเป็นลูกหลานพราหมณ์ “รามราช” ในเพชรบุรีนี่เอง

พราหมณ์เพชรบุรีได้เข้ามารับราชการในราชสำนักกรุงเทพฯ โดยเฉพาะตระกูล “ภวังคนันท์” ซึ่งยังคงมีพราหมณ์รับราชการอยู่ในปัจจุบัน คือกลายมาเป็นพราหมณ์กรุงเทพฯ

เข้าใจว่าอัตลักษณ์ของพราหมณ์เพชรบุรี พราหมณ์กรุงเทพฯ และพราหมณ์นครฯ มิได้แตกต่างกันมากนัก เพราะต่างถือตำนานว่ามาจากรามราชด้วยกัน ไว้ผมมุ่นมวยท้ายทอย นุ่งขาว ไล้ทาโคมัยนับถือพระศิวะเป็นหลัก

และมี “โล้ชิงช้า” โดยชุมชนพราหมณ์ที่กล่าวมานั้นต่างมีเทวสถานและเสาชิงช้าทั้งสิ้น

 

เมื่อไม่นานนี้ผมเพิ่งได้รู้จักกับพราหมณ์พัทลุงท่านหนึ่ง คือพราหมณ์บุญเกียรติ เรารู้จักกันทางเฟซบุ๊ก แต่ด้วยความเป็นชาวใต้เหมือนกัน เลยทำให้คุ้นเคยกันได้ไว เพราะคุยกันเรื่องของกินทางใต้ เช่น แกงส้มอ้อดิบ เคยปลา แกงต่างๆ ฯลฯ และท่านเองก็พอรู้จักผมมาบ้าง

ผมจึงคิดได้ว่าก่อนคนเราจะคุยเรื่องความรู้ ควรคุยเรื่องอาหารการกินก่อน พอคุยเรื่องอาหารจนคุ้นเคยกันแล้ว ผมจึงได้โอกาสสอบหาความรู้จากพราหมณ์บุญเกียรติเกี่ยวกับพราหมณ์พัทลุง และก็ได้รับความรู้เป็นอย่างมากโดยไม่มีการปิดบังอำพรางอะไรเลย ขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้

ผมหวังใจว่า ในอนาคตจะได้ไปศึกษาค้นคว้าประเพณีและตำรับตำราของพราหมณ์พัทลุงที่น่าสนใจ และยังมีประเพณี มีชุมชน “เป็นๆ” ให้ได้ศึกษา

 

คุณบุญเกียรติบอกผมว่า ที่จริงพราหมณ์ในภาคใต้มีหลายพวก ที่มีชุมชนใหญ่ๆ ก็ได้แก่ พราหมณ์นครฯ พราหมณ์ตรัง พราหมณ์พัทลุง พราหมณ์สุราษฎร์ฯ ทำให้ผมนึกขึ้นมาได้ว่า สมัยก่อนท่านพุทธทาสเคยรับบทบาท “นักโบราณคดีสมัครเล่น” ท่านได้สำรวจชุมชนพราหมณ์ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และถ้าจำไม่ผิดท่านยังได้ถ่ายภาพพราหมณ์สุราษฎร์ฯ ไว้ด้วย

ส่วนที่ตรังนั้น พราหมณ์ตรังเคยมีชุมชนใหญ่ และในสมัยที่ภาคใต้ยังมีเจ้าผู้ครองนคร พราหมณ์ตรังเคยได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าพราหมณ์ของเมืองใกล้เคียง คุณบุญเกียรติเล่าว่า แม้แต่ในตรังเองพราหมณ์ก็มีหลายพวก ทั้งที่เหมือนพราหมณ์นครฯ และเหมือนกับพัทลุง

ที่ต้องเล่าแบบนี้ก็เพราะพราหมณ์ตรังบางส่วนย้ายไปจากพัทลุง และพราหมณ์พัทลุงมีรูปแบบประเพณีไม่เหมือนพราหมณ์กลุ่มอื่นๆ ในภาคใต้นั่นเอง

ปัจจุบันผมไม่แน่ใจว่าพราหมณ์สุราษฎร์ฯ และพราหมณ์ตรังจะยังมีอยู่ไหม ในสุราษฎร์ฯ ไม่น่าจะมีแล้ว ส่วนในตรังเหลือเพียงสองตระกูลคือตระกูลรังษีและตระกูลสังขพราหมณ์

จึงเป็นไปได้ว่าพราหมณ์อาจเหลือน้อยหรือไม่มีแล้ว

 

พราหมณ์พัทลุงที่ผมสนใจนั้น เดิมมีหลายตระกูล ที่ยังมีเหลือเป็นพราหมณ์อยู่ในปัจจุบันมีเพียงสามสี่ท่านเท่านั้น แต่ยังมีชุมชนพราหมณ์ที่ยังนับญาติพี่น้องและรู้จักกันว่ามีเชื้อสายพราหมณ์อยู่ ชุมชนนี้ยังคงประกอบพิธีกรรมตามประเพณีของพราหมณ์ เช่น ปีใหม่พราหมณ์

นอกจากนี้ คุณบุญเกียรติเล่าให้ผมฟังว่า พราหมณ์พัทลุงยังมี “สุสาน” ของตนเอง เรียกสุสานพราหมณ์ เพราะพราหมณ์พัทลุงนั้นไม่เผา แต่ “นั่งตาย” คือจัดศพในท่านั่งสมาธิ แล้ว “ฝัง” ในท่านั่ง ซึ่งปกติในอินเดียจะพุทธหรือพราหมณ์ก็ทำศพด้วยการเผาทั้งนั้น ผมจึงแปลกใจ แต่ก็นึกขึ้นมาได้ว่า มีคนบางประเภทในอินเดียที่ทำศพฝังแบบนั่งตายด้วย คือพวกนักบวชสันยาสี

เป็นไปได้ว่าในสมัยก่อนคงมีการบวชเป็นสันยาสีเมื่อมีอายุมากขึ้น แล้วทำศพตามแบบสันยาสีคือฝัง

 

คุณบุญเกียรติเล่าว่า พราหมณ์พัทลุงพออายุได้สี่สิบปีจะมีพิธีคล้ายๆ การเลื่อนขั้น แล้วจะสวมหมวกผ้าเหมือนถุงผ้าสีขาวแทนการโพกศีรษะ ก็เป็นไปได้ว่านี่คือสัญลักษณ์ในการบวชเป็นสันยาสีเหมือนในอินเดีย แม้จะไม่ได้ออกจากการครองเรือนจริงๆ ก็ตาม

อ่อ พอพูดถึงตรงนี้ พราหมณ์พัทลุงไม่ได้ไว้มวยผมทั้งศีรษะอย่างพราหมณ์พวกอื่นนะครับ แต่เขาโกนศีรษะและไว้เฉพาะปอยผมเล็กๆ ที่ท้ายทอยอย่างที่อินเดียเรียกว่าเจาตีหรือศิกขา แถมยังต้องการโกนผมส่วนอื่นอยู่บ่อยๆ ในขณะที่พราหมณ์หลวงนั้น การโกนผมหลังบวชนับเป็นสิ่งต้องห้ามเลยทีเดียว

การแต่งกายของพราหมณ์พัทลุงก็ต่างไปจากพราหมณ์อื่น คือปกติจะโพกศีรษะด้วยผ้าขาวเสมอ ส่วนพราหมณ์ที่เลื่อนขั้นแล้วจะสวมหมวกผ้าสี่เหลี่ยมสีขาว สวมโจงกระเบนแต่ใส่เสื้อตัวยาวเหมือนเสื้อของชาวอินเดีย สวมยัชโญปวีตอย่างพราหมณ์ทั่วไป สวมประคำทำจากเขาวัวและสวมแหวนโคนนทิ

มีสังข์ประจำตัวเป็นบริขารอีกสิ่ง

 

ปีใหม่พราหมณ์พัทลุงเป็นวันหนึ่งค่ำเดือนสี่ ไม่เหมือนปีใหม่ของพราหมณ์พวกไหนในสยาม จะบวชก็บวชได้แค่วันนี้ พิธีบวชต้องมีพระภิกษุที่มีเชื้อพราหมณ์มาทำพิธีให้ด้วย (อาจแทนสันยาสีแต่เดิม)

ตำแหน่งหัวหน้าพราหมณ์จะยกคนที่อาวุโสสุดให้เป็น เรียกว่า “สยมภู” ซึ่งมาจากตำแหน่งโบราณคือขุนศรีสยมภู นอกจากนี้เวลาไปทำพิธีบ้านคนที่ไม่ใช่พราหมณ์ จะไม่ขึ้นเรือนเขา แต่ต้องให้เจ้าภาพทำโรงพิธีแยก แม้แต่ชุมชนพราหมณ์ก็แยกกับชาวบ้านทั่วๆ ไป และผมเข้าใจว่าพราหมณ์พัทลุงไม่มีโล้ชิงช้า ไม่มีเสาชิงช้า มีแต่เสาหงส์

เห็นไหมล่ะครับว่าพราหมณ์พัทลุงนั้นน่าสนใจแค่ไหน เพราะความแตกต่างที่เห็นนั้น ผมเข้าใจว่ายังสะท้อนความใกล้ชิดกับอินเดียอยู่มากๆ และน่าสืบค้นว่า พราหมณ์เหล่านี้มีต้นตอมาจากไหน

ถามท่าน ท่านก็บอกตามตำนานว่า มาจาก “กลิงคราษฎร์” ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกโน่น

เอาไว้มีอะไรใหม่ๆ คงได้มาเล่าสู่กันฟังครับ