วางบิล / เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ /จากปณิธาน ‘เด็กคนนี้มีอะไรอีกหลายอย่าง’

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์    

จากปณิธาน ‘เด็กคนนี้มีอะไรอีกหลายอย่าง’

เมื่อครั้งที่เราสามคน–ขรรค์ชัย บุนปาน จากโรงเรียนวัดราชโอรส สุจิตต์ วงษ์เทศ จากโรงเรียนวัดมกุฏกษัตริยาราม และผม-เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ พบกันในชั้นเตรียมอุดมศึกษาปีที่ 1 ที่โรงเรียนวัดนวลนรดิศ ซึ่งผมเรียนจากชั้นมัธยมปีที่ 1 สอบคัดเลือกจากชั้นมัธยมปีที่ 6 โรงเรียนนั้นอยู่แล้ว เมื่อปีการศึกษา 2504 คือจุดเริ่มต้นของชีวิตการทำหนังสือ การเขียนหนังสือ ที่ทั้งสามคนกระทำอยู่ก่อนตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมศึกษา

ผมทำหนังสือโรงเรียนวัดนวลนรดิศขณะเรียนที่โรงเรียนนี้เป็นหลัก ขรรค์ชัยเขียนบทกลอนลงพิมพ์ในนิตยสารสองสามเล่ม สุจิตต์ทั้งอ่านหนังสือ ทั้งขยันเขียนกลอนในห้องเรียนและห้องสอบ

แล้วทั้งสามคนกับเพื่อนร่วมชั้นเตรียมอุดมศึกษาปีที่ 1 สอบตกแทบว่าครึ่งหนึ่งของทั้งสามห้อง คือห้องเตรียมอุดมศึกษาปีที่ 1 ก. และ ข. แผนกวิทยาศาสตร์ ที่ทั้งสามเรียน ส่วนอีกห้องคือแผนกอักษรศาสตร์

สุจิตต์ไปเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 (ม.ศ.4) โรงเรียนผะดุงศิษย์ศึกษา ผมไปสอบเข้าเรียนที่วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา แต่ไม่ได้ ต้องกลับมาเรียน ม.ศ.4 กับขรรรค์ชัย และเพื่อนอีกหลายคนที่ตก เรียนซ้ำชั้น หรือย้ายไปเรียนที่อื่นเช่นเดียวกับสุจิตต์

ระหว่างปิดภาคเรียนปีนั้น กลับมาเปิดภาคเรียนใหม่ ซ้ำชั้น ขรรค์ชัยมีเรื่องสั้นส่งให้ผมลงในหนังสือโรงเรียนชื่อ “แดงกับความเวิ้งว้าง” เป็นเรื่องของเขากับเพื่อนที่ตกด้วยกันอีกคนไปเที่ยวสระบุรี ก่อนที่เพื่อนคนนั้นจะไปเรียนที่โรงเรียนสมาคมโรงเรียนราษฎร์

เรียนที่โรงเรียนวัดนวลฯ ไปได้สักครึ่งปี ขรรค์ชัยก็หยุดเรียนกลางคัน ส่วนผมกับพันธ์ศักดิ์ ธีรศานต์จั่ว ม.ศ.4 อีกปี – ไม่จบ หลังจากนั้น ผมกับขรรค์ชัย และพันธ์ศักดิ์ ไปสอบเข้าวิทยาลัยครูสวนสุนันทา ด้วยความอนุเคราะห์ของขรรค์ชัย สุจิตต์ขึ้นเรียนชั้น ม.ศ.5

ปีรุ่งขึ้นสุจิตต์สอบคัดเลือกเข้าคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ผมกับขรรค์ชัย และพันธ์ศักดิ์ขึ้นชั้นปีสอง ต้องมีภาระออกไปฝึกสอน

 

ระหว่างนั้น ทั้งขรรค์ชัยกับสุจิตต์ขยันเขียนหนังสือโดยเฉพาะกลอนแปด แล้วได้นิราศมาคนละเรื่อง จึงสมคบกันทำหนังสือชื่อ “นิราศ” มีผมกับวันชาติ สุดจิตร เป็นผู้จัดทำและจัดจำหน่าย ราคาสี่บาทถ้วน พิมพ์ที่โรงพิมพ์ไทยแบบเรียน ถนนตีทอง พระนคร นายอาทร บรรณประดิษฐ์ ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา 2507 ผู้ออกแบบปกคืออังคาร กัลยาณพงศ์ คุ้นเคยกับสุจิตต์และขรรค์ชัยดี ฐานะที่เป็นกวี

ใน “คำนำ” ลงชื่อ เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ ที่สุจิตต์ขัดเกลาจนได้ที่ พร้อมแจ้งด้วยว่า

แม้นผู้ใหญ่ท่านใดจักเรียกไปสั่งสอนเป็นการส่วนตัวก็ขอให้ได้เรียกโดยตรงเถิด ตามสถานศึกษาของเด็กทั้งคู่ คือ

สุจิตต์ วงษ์เทศ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

ขรรค์ชัย บุนปาน วิทยาลัยครูสวนสุนันทา พระนคร

 

แล้วผมสร้างสถิติสอบตกฝึกสอน เห็นว่าตั้งแต่มีวิทยาลัยครูนี้มา ไม่มีใครตกฝึกสอน ก็ไม่เป็นไร

พันธ์ศักดิ์ไปสอนที่โรงเรียนอนุบาลการไฟฟ้าฝ่ายผลิต จังหวัดลำปาง

ขรรค์ชัยเขียนเรื่องสั้นให้ลงหนังสือที่ผมเป็นบรรณาธิการของวิทยาลัย “มิตรสุนันท์” ชื่อเรื่อง “ครูสุนันท์” (หากจำไม่ผิด) ลงท้ายด้วยตัวเอกของเรื่องคือครูผู้ชายจากโรงเรียนที่ “ครูสุนันท์” ไปฝึกสอนแล้วป่วยด้วยโรคมาลาเรีย นำลงเรือไปส่งที่โรงพยาบาลศิริราช

เสร็จแล้วออกมายืนหน้าพระรูปพระบิดา พลางรำพึงในใจว่า “ท่านครับ อุดมคติต้องกินหลังอาหารใช่ไหมครับ” ยังไม่ไปที่ไหนจนใกล้เข้าพรรษาจึงบวชให้แม่ 1 พรรษา

ผมเรียนซ้ำชั้นอีกปี เรียนไปทำหนังสือไปตามเรื่อง สนุกดี

เรียนซ้ำชั้นห้ามสอบตกแม้วิชาเดียว ภาคเรียนที่สองสอบวิชาภาษาอังกฤษตกเสียหยั่งงั้น แม้ได้ฝึกสอนใหม่ที่โรงเรียนประถมสาธิตวิทยาลัยสวนสุนันทา ขณะที่ “น้า” สำราญ ทรัพย์นิรันดร์ มอบหมายให้จัดทำนิตยสารช่อฟ้าของมูลนิธิอภิธรรมหาธาตุ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ พร้อมกับขรรค์ชัย สุจิตต์ จนภาคการศึกษาที่สามเป็นสาราณียากรให้น้องปีสองและพี่ปีสี่

ออกจากวิทยาลัยครูสวนสุนันทาไปเกณฑ์ทหาร เป็นทหารสื่อสารทหารบกอยู่ปีครึ่ง ทำนิตยสารช่อฟ้าต่อ

 

ในนิราศของสุจิตต์ จบลงด้วย

 

อธิษฐานสมทบจะจบเรื่อง             นิราศเฟื่องฝากไว้ในสวรรค์

ตายเมื่อไหร่อินทราเอามาพลัน                  จัดพิมพ์เป็นของขวัญในวันงาน

ที่สิบเจ็ดกันยาตกห้าทุ่ม                            นิราศหนุ่มถึงคราอาวสาน

ใช่แต่งเติมเหิมเห่อทะเยอทะยาน               เพียงต้องการกลอนตลาดสร้างชาติเอย

 

ของขรรค์ชัย บุนปาน จบลงด้วย

 

สองมือลูกต่างผกาบุปผาสวรรค์     บังคมคัลเคียมราบก้มกราบไหว้

แว่วเสียงหนึ่งจากแดนไกลแสนไกล           มีสิ่งใดลำบากเมื่อพากเพียร

เด็กคนนี้มีอะไรอีกหลายอย่าง                    จักต้องสร้างมโหฬารกว่างานเขียน

ตราบใดที่ชะตาคนยังวนเวียน                    มันคงเปลี่ยนสิ่งถ่อยถ่อยคอยดูเอย

 

วันที่ขรรค์ชัยจบนิราศ บอกว่า “จารไว้ ณ วันที่ 29 ตุลาคม พุทธศักราช 2507 ตรงกับวันพฤหัสบดี แรม 8 ค่ำ เดือน 11 ปีมะโรง ฉศก เป็นวันพระ จุลศักราช 1326 รัตนโกสินทร์ศก 183 ฯ”

 

เมื่อต่างคนต่างสำเร็จการศึกษา เป้าหมายของทั้งขรรค์ชัย สุจิตต์ คือการทำงานหนังสือพิมพ์ แม้จะต้องไปทำงานอื่นก่อน เช่น ขรรค์ชัยไปสอนหนังสือ สุจิตต์มุ่งเป็นนักข่าวที่หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

หลังจากนั้นขรรค์ชัย สุจิตต์ตั้งโรงพิมพ์พิฆเณศ ปี 2515 แล้วเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 สถานการณ์ทางการเมืองจึงหมุนกลับไปยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน จึงเกิดนิตยสารรายสัปดาห์ที่มีกลุ่มวีระประวัติ วงศ์พัวพันธ์ พิทักษ์ ธวัชชัยนันทน์ ร่วมกับกลุ่มเนชั่น สุทธิชัย หยุ่น พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร สุจิตต์ วงษ์เทศ และขรรค์ชัย บุนปาน ไปขอประทานชื่อประชาชาติจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านราธิปพงศ์ประพันธ์ ต่อมาถึงประชาชาติรายวัน ถึงรวมประชาชาติรายวันซึ่งถูกปิดเมื่อเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

วรรคสุดท้ายนิราศของขรรค์ชัยที่ว่า

“เด็กคนนี้มีอะไรอีกหลายอย่าง จักต้องสร้างมโหฬารกว่างานเขียน ตราบใดที่ชะตาคนยังวนเวียน มันคงเปลี่ยนสิ่งถ่อยถ่อยคอยดูเอย”

56 ปีที่ผ่านมา จึงเกิด “มติชนรายวัน” เมื่อ 9 มกราคม 2521