รายงานพิเศษ / One Man Show ‘บิ๊กตู่’ ยึดอำนาจ-รัฐประหาร ครม. ยึดงบฯ กองทัพ-ดับฝันทหารเรือ ชะลอเรือดำน้ำ-เครื่องบินฝึก จับตาบทบาท ‘บิ๊กป้อม’

รายงานพิเศษ

 

One Man Show

‘บิ๊กตู่’ ยึดอำนาจ-รัฐประหาร ครม.

ยึดงบฯ กองทัพ-ดับฝันทหารเรือ

ชะลอเรือดำน้ำ-เครื่องบินฝึก

จับตาบทบาท ‘บิ๊กป้อม’

 

บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เหมือนจะมากับดวง

เดิมทีเหมือนจะดูเพราะเป็นปีชง เหมือนจะโชคไม่ดี ที่เข้ามาบริหารประเทศไม่กี่เดือนก็มีแต่เรื่องใหญ่ๆ ทั้งปล้นทองลพบุรี กราดยิงที่โคราช ฝุ่น PM 2.5 จนมาเจอโรคระบาดโควิด-19

แต่ในอีกมุมหนึ่ง ก็เป็นความโชคดีของ พล.อ.ประยุทธ์ที่มีโควิด-19 จึงทำให้สถานการณ์ทางการเมืองแผ่วเบา และนักการเมืองเคลื่อนไหวอะไรมากไม่ได้ ประชาชนไม่ค่อยสนใจ เพราะกลัวโควิด-19 กันมากกว่า

แม้ก่อนหน้านั้นส่อเค้าจะวุ่น หลังการยุบพรรคอนาคตใหม่ ตัดสิทธิ์ทางการเมือง แกนนำพรรค จนเกิดแฟลชม็อบของนักเรียน นิสิต นักศึกษาทั่วประเทศ ที่ดูเหมือนจะเริ่มจุดติด

แต่ทว่าการแพร่ระบาดที่หนักขึ้นของโควิด-19 ก็ทำให้สถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลาย

ที่สำคัญ ยังเอื้อให้ พล.อ.ประยุทธ์บริหารประเทศง่ายขึ้น ด้วยการประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548

ที่เปรียบเสมือนการมีอำนาจมาตรา 44 มาอยู่ในมือ เหมือนตลอด 5 ปีของการเป็นนายกฯ รัฐบาล คสช. ควบหัวหน้า คสช. ที่บริหารบ้านเมืองด้วยกฎหมายพิเศษ อำนาจพิเศษตลอดมา

พอเข้าสู่รัฐบาลเลือกตั้ง ได้ใช้ กม.ปกติแค่ไม่กี่เดือน พล.อ.ประยุทธ์ที่เป็นทั้งนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ที่คุมทหาร คุมตำรวจเองหมด ก็ยิ่งกลายเป็นผู้มีอำนาจมากที่สุด ด้วย พ.ร.ก.ฉุกเฉินในมือ

ด้วยอำนาจที่รวมศูนย์ในฐานะ “ผอ.ศบค.” ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เพียงคนเดียว รวบอำนาจจาก รมต.ทุกกระทรวง จากกฎหมายที่มีอยู่เกือบ 40 ฉบับ

จนถูกมองว่า นี่เป็นเสมือนการยึดอำนาจอีกครั้งของ พล.อ.ประยุทธ์ที่เสมือนมีมาตรา 44 กลับมาอีกครั้ง และเป็นการลดทอนอำนาจของรัฐมนตรี

อีกทั้งใน ศบค. พล.อ.ประยุทธ์ใช้กลไกของข้าราชการประจำเป็นหลัก โดยให้ปลัดกระทรวงต่างๆ มีอำนาจในการควบคุมสั่งการแทน รมต.

ถือเป็นรัฐประหารซ่อนรูป ในยุครัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยนายกฯ ที่เคยเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารมาก่อน และเคยเป็นนายกฯ ในรัฐบาลทหารมากว่า 5 ปี

 

เสียงวิจารณ์จากฝ่ายการเมืองว่าเป็นรัฐประหารโควิด-19 และนายกฯ ยึดอำนาจรัฐมนตรีดังกล่าว

ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องชี้แจงในที่ประชุมต่อหน้า รมต. ยืนยันว่าไม่ได้ลดทอนอำนาจรัฐมนตรี เพียงแต่ต้องการให้มีการบูรณาการการทำงานร่วมกัน และขอควบคุมภาพรวมการทำงานอย่างใกล้ชิดเท่านั้น

แต่โควิด-19 ก็เป็นคุณแก่ พล.อ.ประยุทธ์ ในการได้เป็น One Man Show เป็นนายกฯ ที่เป็นผู้นำคนเดียว

บรรดารองนายกฯ หรือ รมต.ที่เป็นหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลต่างๆ หมดโอกาสในการโชว์ความสามารถ ทำคะแนน เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับนายกฯ คนเดียว

แม้รองนายกฯ และ รมต.ต่างๆ จะอยู่ใน ศบค. แต่ก็เป็นแค่พระอันดับเท่านั้น เพราะ พล.อ.ประยุทธ์พยายามไม่ใช้นักการเมือง แต่ใช้ข้าราชการประจำ ปลัดกระทรวงต่างๆ เป็นหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการต่างๆ ในการเดินหน้างาน

เพื่อปิดโอกาสในการหาเสียง หรือทำงานเพื่อหวังคะแนนนิยม เช่นที่ พล.อ.ประยุทธ์เคยออกมาเตือนก่อนหน้านี้ว่า อย่าทำงานการเมือง อย่าทำงานแบบหวังผลทางการเมือง

แต่ไปๆ มาๆ พล.อ.ประยุทธ์ วันแมนโชว์ ได้แสดงฝีมือคนเดียว ด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จในมือ ที่ทำให้การบริหารสั่งการง่ายขึ้น และส่งผลให้คะแนนนิยมสูงขึ้น เสียงก่นด่าน้อยลง จากช่วงแรกที่ยังไม่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ที่ก็ยิ่งเป็นผลดีต่อพรรคพลังประชารัฐ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ก็คือนายกฯ ของพรรค และดูเหมือนจะเป็นหัวหน้าพรรคตัวจริงของพรรคเลยด้วยซ้ำ เพราะพรรคนี้ตั้งขึ้นโดยเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร 12 และแกนนำ คสช.

จนทุกวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ส่งบิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่เข้าไปคุมพรรค ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ ที่เป็นเสมือนหัวหน้าพรรคเงา ตัวแทน พล.อ.ประยุทธ์นั่นเอง

 

จึงไม่แปลกที่กลิ่นความขัดแย้งในรัฐบาล ใน ครม. จะโชยออกมาเป็นระยะๆ ทั้งการลดบทบาทของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่ถูกมองว่า จะเป็นแคนดิเดตนายกฯ ในอนาคต

รวมทั้งนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

จนทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องออกมาปรามว่า แม้สถานการณ์ฉุกเฉินจะมีปัญหา แต่เราต้องไม่ขัดแย้งกันเอง

ในขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ก็วางใจให้อำนาจพี่รอง บิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย อย่างเต็มที่ ได้มีบทบาทสำคัญในการคุมจังหวัดต่างๆ ด้วยอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัด และอำนาจปลัดมหาดไทย “ปลัดฉิ่ง” นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ที่ก็เป็นมือขวาของบิ๊กป๊อก

จนทำให้เกิดกระแสข่าวสะพัดว่า พล.อ.อนุพงษ์ขึ้นแท่นนายกฯ สำรอง หาก พล.อ.ประยุทธ์ไปไม่ไหว หรือเกิดอะไรขึ้นระหว่างทาง อันเป็นความไม่ประมาทของน้องเล็กที่ต้องเตรียมไว้ เพราะไม่มีใครหยั่งรู้อนาคต

ส่วน พล.อ.ประวิตรพี่ใหญ่นั้น อายุมากแล้ว สุขภาพก็ไม่แข็งแรงนัก และแถมมีปัญหาเรื่องคนรอบข้าง พล.อ.ประยุทธ์จึงมองข้ามไป

 

แต่ความตั้งใจของ พล.อ.ประยุทธ์แล้ว พร้อมที่จะเป็นนายกฯ ไปให้ครบ 4 ปีสมัยแรก และรวมทั้งสมัยที่ 2 อีก 4 ปี เพราะด้วยวัย 66 ปี และยังแข็งแรง อีกทั้งสมัยหน้ายังมีสมาชิกวุฒิสภา 250 คนที่แต่งตั้งไว้ตอน คสช. มีอายุ 5 ปี ยังสามารถโหวตเลือกนายกฯ ได้อีกสมัย

อีกทั้งหาก พล.อ.ประยุทธ์นำพาประเทศชนะศึกโควิด-19 ได้อย่างไม่บอบช้ำมากนัก ตัวเลขคนเสียชีวิตไม่สูงเกินไป ก็จะเป็นผลงานที่ทำให้ได้ไปต่อ และพิสูจน์ความเป็นผู้นำในช่วงวิกฤตได้

แม้ว่าจะเป็นวิกฤตที่มีตัวช่วยมากมาย ทั้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กฎหมายคำสั่งพิเศษ และกองทัพ ตำรวจ ก็ตามที

แต่เรียกได้ว่าดวงชะตา พล.อ.ประยุทธ์ยังอยู่ในเกณฑ์ดี

อำนาจที่เต็มมือ รวมทั้งบารมีที่สั่งสมมาตั้งแต่เป็น ผบ.ทบ.นาน 4 ปี จนเป็นหัวหน้า คสช. และนายกฯ 5 ปีนั้น ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์แทบจะไม่ต้องพึ่งพา พล.อ.ประวิตรมากนัก

โดยเฉพาะเมื่อให้พี่ใหญ่เป็นรองนายกฯ เก้าอี้เดียว เพื่อเปิดทางให้ไปดูแลพรรคพลังประชารัฐ คุมเกมการเมือง แล้ว พล.อ.ประยุทธ์คุมตำรวจและทหารเอง

เพราะ ผบ.เหล่าทัพชุดนี้ และที่จ่อเตรียมขึ้นมาใหม่ก็ล้วนเป็นน้องๆ ที่ตนเองตั้งมากับมือทั้งสิ้น

อีกทั้งการวางตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ก็มีระยะห่างกับ ผบ.เหล่าทัพ และแสดงทีท่าให้หวั่นเกรงอยู่เสมอๆ เพื่อให้ ผบ.เหล่าทัพยำเกรง

แตกต่างจาก พล.อ.ประวิตรที่ใจดี ผบ.เหล่าทัพเข้าถึงได้ง่ายกว่าและเป็นกันเองกว่า จน ผบ.เหล่าทัพและน้องๆ ทหารเรียกติดปากว่าพี่ป้อม มากกว่าที่จะเรียก พล.อ.ประยุทธ์ว่าพี่ตู่ แต่ต้องเรียกว่า ท่านนายกฯ

 

จึงไม่แปลกที่เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ต้องมีค่าใช้จ่ายในการแก้ปัญหาจำนวนมหาศาล จนต้องออก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท แต่ก็ไม่เพียงพอ

พล.อ.ประยุทธ์จึงต้องใช้การตัดงบประมาณทุกกระทรวงทบวงกรม ไม่ใช่แค่ 10% แต่สูงสุดถึง 20% ที่จะถูกเรียกเงินคืนคลัง เพื่อให้รัฐบาลนำมาใช้ในการแก้ปัญหา รวมทั้งการตัดงบฯ กองทัพด้วย ที่ไม่ใช่แค่ 10%

กระทรวงกลาโหมได้งบประมาณปี 2563 ไปราว 2.3 แสนล้าน และตกเป็นเป้าของสังคมในเรื่องการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ เป็นพันล้าน หมื่นล้าน

ยิ่งในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 เช่นนี้ กระแสสังคมเรียกร้องให้มีการยกเลิกหรือชะลอการจัดซื้ออาวุธ

พล.อ.ประยุทธ์ซึ่งเป็น รมว.กลาโหม และเป็นนายกฯ ที่เป็นทหารเก่า จึงไม่ลังเลที่จะหั่นงบฯ ซื้ออาวุธของกองทัพ

เพราะจะยิ่งทำให้ได้คะแนนนิยมจากประชาชน ตามประสานักการเมืองเต็มตัว

อีกทั้งเพราะมั่นใจว่า ผบ.เหล่าทัพไม่มีใครกล้าหือ

ถ้าเป็นสมัยก่อน รัฐบาลเลือกตั้ง รัฐบาลพลเรือน จะไม่ค่อยกล้าแตะงบฯ ทหาร เพราะจะทำให้ขัดแย้งกับกองทัพได้

แต่ทว่าสถานการณ์เอื้ออำนวยให้ พล.อ.ประยุทธ์กล้าทำแบบนั้น เพราะ ผบ.เหล่าทัพก็เป็นน้องๆ ที่ตั้งมากับมือ

แถมล้วนจะเกษียณราชการในอีกไม่กี่เดือนนี้แล้ว ยกชุด ทั้ง ผบ.ทหารสูงสุด ผบ.ทบ. ผบ.ทร. และ ผบ.ทอ.

ทุกเหล่าทัพจึงยึดหลักการเดียวกันคือ ยอมถูกตัดงบฯ แต่โดยดี โดยโครงการใดที่ทำสัญญากับต่างประเทศไปแล้ว จะเจรจากับประเทศคู่สัญญาในการขอปรับลดวงเงินค่างวดผ่อนชำระให้น้อยลง อย่างน้อย 10% ในหลายๆ โครงการ เพื่อนำเงินส่วนนี้ส่งคืนคลัง

ส่วนโครงการที่ยังไม่ได้เซ็นสัญญาก็จะให้ชะลอไปก่อน ยกเว้นโครงการที่จำเป็น และหากไม่ทำสัญญาจะเกิดความเสียหาย หรือหากยิ่งทอดเวลาออกไป ราคาจะสูงขึ้น ใช้งบฯ มากขึ้น

รวมทั้งตัดงบฯ การอบรม สัมมนา การฝึก การดูงานในต่างประเทศ และชะลอโครงการก่อสร้างต่างๆ เอาไว้ก่อน

 

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่บิ๊กช้าง พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม เข้าพบหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อ 10 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา ก็ดูเหมือนจะเต็มไปด้วยข่าวร้ายของกองทัพ

เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่พอใจกับตัวเลขที่แต่ละเหล่าทัพตัดงบฯ มาในเบื้องแรก 10-15% แต่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องการมากกว่า 20%

พร้อมบัญชาการให้ชะลอโครงการจัดซื้อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ยังไม่ได้ลงนามในสัญญาทั้งหมด

โดยเฉพาะโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2 และลำที่ 3 ของกองทัพเรือ ทั้งๆ ที่บรรจุอยู่ใน พ.ร.บ.งบประมาณ 2563 ที่ผ่านการพิจารณาของสภาเรียบร้อยหมดแล้ว

แต่ยังไม่ได้ทำสัญญากับจีน เพราะงบประมาณเพิ่งผ่านมาให้เบิกจ่ายได้ไม่นาน อีกทั้งมีปัญหาโควิด-19 ในเมืองอู่ฮั่นของจีน ที่เป็นเมืองต่อเรือดำน้ำเลยด้วย

จึงกลายเป็นที่ฮือฮา ที่ พล.อ.ประยุทธ์สั่งชะลอจัดซื้อเริอดำน้ำลำที่ 2 และ 3 วงเงินงบประมาณ 2.2 หมื่นล้าน โดยที่ไม่ถามไถ่กองทัพเรือเลยว่า จะเกิดปัญหาอะไรตามมาหรือไม่

แต่ให้ พล.อ.ชัยชาญไปแจ้ง ผบ.เหล่าทัพให้ปฏิบัติตามนั้น เพราะในสถานการณ์แบบนี้ ไม่มี ผบ.เหล่าทัพคนใดที่กล้าไม่ยอมทำตามหรอก

เพราะกระแสสังคมหนุนให้ชะลอออกไปก่อน

 

ไม่ว่าจะเป็นการจัดซื้อเครื่องบินฝึก T-50 จากเกาหลีใต้เพิ่มเติม งบฯ 2.4 พันล้านบาท และการอัพเกรดเครื่องบินลำเลียง C-130 รวมแล้วกว่า 3 พันล้านบาท

แต่ยังได้เดินหน้าอัพเกรดเครื่องบินอัลฟ่าเจ๊ต แต่ก็ตัดเงินงวดงบประมาณให้ลดน้อยลงราว 10%

รวมแล้ว ทอ.ถูกตัดไป 23% แต่ปีงบประมาณ 2564 นั้น พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ ผบ.ทอ. ระบุว่า จะได้ดำเนินการ โดยมีการปรับแผนไม่ให้เกิดความเสียหาย โดยรักษาระดับความพร้อมได้ในส่วนหนึ่ง แต่ที่เหลือต้องมีการวางแผน ทบทวนกันอีกนิดหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก แค่เลื่อนไปไม่กี่เดือน ปีงบฯ 2564 ก็สามารถเริ่มต้นได้ทันที ถ้าแบบฝรั่ง ก็คือง่ายๆ ใช้ปีปฏิทินเดียวกัน ใช้ทั้งปี 2563-2564

ขณะที่ ทบ. โครงการรถถัง VT4 และรถเกราะ VN1 จากจีน และรถเกราะ Stryker ของ ทบ. ที่เป็นโครงการที่ พล.อ.ประยุทธ์สนับสนุน โดยให้บิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ดำเนินการ ถึงขั้นให้นำงบฯ กลางมาซื้อนั้นก็ยังคงเดินหน้าต่อ

แม้แต่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ที่ ทบ.ดูแล มี พล.อ.อภิรัชต์เป็นรอง ผอ.รมน. ก็ไม่ถูกตัดงบฯ แต่ให้มีการปรับงบฯ ให้สอดรับกับสถานการณ์โควิด-19 แทน

 

จึงทำให้โครงการเรือดำน้ำกลายเป็นโครงการใหญ่ที่สุดที่ถูกชะลอออกไปก่อน และยังไม่มีทีท่าว่าปี 2564 จะได้จัดซื้อหรือไม่

ทั้งๆ ที่กองทัพเรือใช้ความพยายามมาต่อเนื่องยาวนานกว่าจะมีฝันที่เป็นจริง การมีเรือดำน้ำ 3 ลำ ตามยุทธศาสตร์ทางทะเลที่ได้วางไว้

หลังจากที่เรือดำน้ำลำแรกทำสัญญาและอยู่ระหว่างการต่อเรือ ที่จะเสร็จในปลายปี 2566

บิ๊กลือ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผบ.ทร. พยายามบริหารจัดการงบประมาณของ ทร. เพื่อให้สามารถต่อเรือดำน้ำลำที่ 2-3 ในปีงบฯ 2563 นี้เลย เพื่อที่ว่า ทร.จะได้มีเรือดำน้ำลำที่ 2 และ 3 เข้าประจำการในระยะเวลาที่ไม่ทิ้งห่างกันมากนัก คือราวปี 2567-2568 ที่จะเป็นไปตามแผนที่จะมีเรือดำน้ำ 3 ลำไว้ดูแล ทั้งด้านอ่าวไทย อันดามัน และใช้หมุนเวียนในการฝึก และการซ่อมบำรุง

แต่ทุกอย่างก็ต้องล่มสลาย เพราะการชะลอซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2-3 ออกไปครั้งนี้ แม้จะแค่งบฯ ปี 2563 เท่านั้น แต่ก็อาจจะส่งผลถึงงบฯ ปี 2564 ด้วย เพราะปัญหาโควิด-19 หนักหนา และคงทำให้เศรษฐกิจทรุดข้ามปี แถมต้องใช้หนี้เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทอีก

แถมทั้งเรือดำน้ำเป็นที่จับตามอง และมีการปลุกกระแสต้านทุกครั้ง

ที่สำคัญ พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่ได้ให้หลักประกันใดๆ เลยกับ ทร. ว่าจะได้จัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2-3 เมื่อใด

เพราะผ่านทั้ง ครม. และผ่านอยู่ใน พ.ร.บ.งบฯ ปี 2563 แล้ว

ที่สำคัญคือ จะส่งผลต่อข้อตกลงที่ พล.ร.อ.ลือชัยได้พูดคุยเจรจาต่อรองกับจีนไว้แล้ว เช่น อาวุธที่จีนจะแถมให้ หรือขายให้ในราคาถูก รวมทั้งการฝึกศึกษา และของแถมหลากหลายที่ พล.ร.อ.ลือชัยใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวเจรจามา ต้องแสดงความจริงใจให้จีนเห็น โดยเฉพาะการดื่มเหล้าเหมาไถแบบชนแก้ว หมดจอกกับผู้นำทหารจีน จนได้ส่วนลดและของแถมมาตลอด ทั้งๆ ที่ พล.ร.อ.ลือชัย ปกติไม่ดื่มเหล้า แต่ก็อดทนเพื่อการเจรจาต่อรองให้ ทร.ได้ของเพิ่ม

ทั้งนี้เพราะจีนเองก็ย่ำแย่จากสถานการณ์โควิด-19 แถมมาเจอไทยชะลอซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำ ที่เปรียบเสมือนเป็นการยกเลิก ไม่มีหลักประกันใดว่าจะมีการจัดซื้อเมื่อใด

เพราะต้องมาเสนอใหม่ใน พ.ร.บ.งบประมาณปี 2564 ที่คาดว่าก็คงผ่านการพิจารณาได้ไม่ง่าย เพราะเศรษฐกิจหลังยุคโควิด-19 ยังคงย่ำแย่

งานนี้ แม้ ทร.จะสั่นสะเทือนแค่ไหนในการต้องมาบริหารจัดการงบฯ ใหม่ และต้องวางแผนรองรับการมีเรือดำน้ำล่าช้ากว่าแผนที่ได้วางไว้ ทั้งการเตรียมคัดเลือกกำลังพลและส่งไปฝึก

แต่ พล.ร.อ.ลือชัยที่เปรียบเสมือนเป็นแม่ทัพเรือ ผู้นำทัพเรือ ยังไม่อาจทำให้แผนเรือดำน้ำสมบูรณ์ ทั้งๆ ที่ผ่านสภาเรียบร้อยแล้ว แต่ก็ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากทำตามบัญชาของนายกฯ และแก้ปัญหาของ ทร.กันไป

 

แต่ก็มีการจับตามองไปที่พี่ใหญ่ พล.อ.ประวิตรที่เป็นคนผลักดันโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำจีนมาตั้งแต่ต้นเมื่อมาเป็น รมว.กลาโหมในยุค คสช.จนสำเร็จ

พล.อ.ประวิตรเลือกเดินเกมการเมืองระหว่างประเทศในยุค คสช. ด้วยการเอนเอียงไปทางจีนมากกว่าสหรัฐอเมริกา ที่มีปฏิกิริยาต่อต้านการรัฐประหารในเวลานั้น ด้วยการซื้อเรือดำน้ำจีน แม้ว่า ทร.อยากจะได้เรือดำน้ำของเยอรมันหรือเกาหลีใต้ก็ตาม รวมทั้ง ทบ.ที่ซื้อรถถังจีน รถเกราะจีน

ความสัมพันธ์ไทย-จีนเฟื่องฟูมากในยุค คสช. จนมาถึงปัจจุบัน ยิ่งในยุคโควิด-19

แต่ที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ก็ใช้สถานการณ์โควิด-19 นี้ดับฝันทหารเรือ และ พล.อ.ประวิตรที่ได้ฉายาว่า เป็นผู้ให้กำเนิดเรือดำน้ำ

กล่าวกันว่า งานนี้ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้หารือ พล.อ.ประวิตรก่อน เพราะตนเองเป็น รมว.กลาโหมเต็มตัว และมองว่ากระแสสังคมสนับสนุนให้ตัดงบฯ ซื้ออาวุธ

แม้จะสะเทือนงบฯ เหล่าทัพแค่ไหน แต่ ผบ.เหล่าทัพไม่อาจแข็งข้อได้ นอกจากบอกว่ายินดี

ทั้งบิ๊กกบ พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผบ.ทหารสูงสุด พล.ร.อ.ลือชัย และ พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ ผบ.ทอ. กำลังนับถอยหลังสู่วันเกษียณ 30 กันยายนนี้แล้ว ไม่มีอะไรที่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องเกรงใจ

คงมีแต่ พล.อ.อภิรัชต์ที่แม้จะเกษียณราชการเช่นกัน แต่ถูกคาดหมายว่าจะได้รับตำแหน่งสำคัญหลังเกษียณกันยายนนี้ ที่ยังคงจะมีเพาเวอร์ มีบทบาทอยู่ในแวดวงทหารต่อไป

 

ไม่ว่าจะถูกตัดงบฯ แค่ไหน แต่กองทัพก็ยังคงทำหน้าที่ตามคำสั่ง พล.อ.ประยุทธ์ ในการช่วยแก้ปัญหาโควิด-19 ตามเดิม

ทั้งการดูแลการกักตัวของคนไทยที่กลับจากต่างประเทศ ทั้ง State Quarantine ที่เป็นโรงแรม และในหน่วยทหารเอง โดยเฉพาะกองทัพเรือ ที่รับภารกิจตั้งแต่แรกๆ ที่อาคารรับรอง ทร.สัตหีบมาหลายชุด จนกลายเป็นโมเดลต้นแบบให้ทุกที่นำไปปรับใช้

รวมทั้งการเตรียมโรงพยาบาลทหารและโรงพยาบาลสนามไว้รองรับผู้ป่วยหากมีจำนวนมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ และการเสริมกำลังตำรวจในการตั้งด่านตรวจ สายตรวจในช่วงเคอร์ฟิว

  แต่ท้ายที่สุด ในยุค พล.อ.ประยุทธ์มีอำนาจเต็ม แถมแข็งแกร่ง กองทัพก็ต้อง yes, Sir อย่างเดียว แล้วแก้ปัญหาภายในกันเอาเอง