สมชัย ศรีสุทธิยากร | การบริหารอารมณ์ประชาชน ในยุคโควิด-19

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ในวิกฤตมีโอกาส แต่หากในวิกฤตผู้บริหารไม่หยั่งถึงอารมณ์ของประชาชน และแทนที่จะใช้อารมณ์ความรู้สึกของประชาชนเป็นตัวสนับสนุนการทำงาน แต่ใช้อารมณ์ประชาชนเป็นเครื่องเล่นแบบสุ่มเสี่ยง วิกฤตที่เผชิญหน้ากลับยิ่งเพิ่มวิกฤต

นับแต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ความเครียดของประชาชนที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์ทั้งในด้ายความกลัวการแพร่กระจายที่นำไปสู่อันตรายถึงชีวิต

ความเครียดในด้านการป้องกันตนเองที่ไม่สามารถซื้อหาหน้ากากอนามัยที่มีมาตรฐานในราคาที่เหมาะสม

ความเครียดด้านการไม่มีงานทำ การขาดรายได้

ความเครียดที่ต้องปรับวิถีชีวิตต่างๆ ให้ห่างไกลจากสังคม

ทั้งหมดคือความเปราะบางของอารมณ์ผู้คนที่เพียงกระทบเล็กน้อยก็อาจลุกลามขยายใหญ่ได้

การบริหารอารมณ์ของประชาชนจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้บริหารประเทศต้องมีทั้งศาสตร์และศิลป์ที่จะนำพาอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนให้แปรเป็นพลังในการร่วมมือกันฟันฝ่าวิกฤต

เมื่อใดสังคมอยู่ด้วยเหตุผล มีสติ ความร่วมมือต่อสู้กับวิกฤตก็เกิดได้โดยง่าย

แต่เมื่อใดสังคมอยู่ด้วยอารมณ์ แถมรัฐยังไปกระตุ้นส่งเสริม สร้างวาทกรรมผิดๆ ที่ทำให้ผู้เห็นต่างจากวิธีการที่รัฐกำหนดเป็นผู้ร้าย สร้างความรู้สึกแบ่งแยกแบ่งฝ่าย ใครทำตามที่รัฐกำหนดเป็นคนดี ใครทำต่างเป็นผู้ผิด การปลูกฝังอารมณ์เช่นว่าเป็นความสุ่มเสี่ยงที่จะไปสู่สังคมที่อยู่ยากในอนาคต

บทเรียนของเหตุการณ์ทางการเมืองสำคัญของไทยในอดีตเมื่อ 6 ตุลาคม 2519 ที่ปลุกระดมความคิดในการเกลียดชังนักศึกษาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นผู้อาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันที่จบด้วยการล้อมปราบ การเสียชีวิต และกลายเป็นการจับอาวุธประหัตประหารกัน เป็นบทเรียนหนึ่งถึงการเล่นกับอารมณ์ของประชาชนในช่วงนั้น

ความขัดแย้งทางการเมืองของสีเสื้อในรอบกว่าสิบปีที่ผ่านมาของสังคมไทยก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ประชาชนผู้สนับสนุนฝ่ายที่ต่างกันพร้อมจะห้ำหั่นใช้กำลังรุนแรงเข้าหากัน และถึงจุดการปิดรับเหตุผลของแต่ละฝ่าย เมื่อฝ่ายตนพูดก็เชื่อว่าทุกสิ่งเป็นจริงแล้วพร้อมส่งต่อ เมื่ออีกฝ่ายหนึ่งพูดก็เชื่อว่าล้วนแล้วแต่เชื่อถือไม่ได้

อย่าบอกว่านี่ไม่ใช่ความจริงที่เกิดขึ้นในประเทศเรา

(Photo by Mladen ANTONOV / AFP)

อารมณ์ผู้คนในยุคโควิด-19

1)อารมณ์ตระหนักซึ่งแปรเปลี่ยนเป็นความตระหนก

โรคภัยเป็นเรื่องใหม่ คนอาจไม่รับรู้นักในระยะแรก แต่ความน่ากลัวจากการพยากรณ์ของผู้รู้บอกว่า หากไม่สร้างการตระหนักรู้แก่ประชาชน การแพร่กระจายขยายตัวของโรคจะถึงจุดที่เราไม่สามารถหยุดยั้งได้ รัฐจึงเป็นฝ่ายที่มีภาระในการสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชน สร้างวัฒนธรรมการการอยู่ร่วมกัน เช่น “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” และเปลี่ยนเป็น “ล้างมือ กินร้อน ช้อนใครช้อนมัน” จนถึงการขอให้อยู่ “ห่างจากกันในทางสังคม” (Social Distancing)

แต่การสร้างความตระหนักที่จะป้องกันตนเองเพื่อไม่ให้มีโอกาสติดเชื้อจากผู้อื่นโดยขาดความชัดเจนถึงรูปแบบการแพร่กระจายว่าส่วนใหญ่จะมาจากฝอยละอองขนาดเล็ก (Droplet) และมีโอกาสติดทางลมหายใจจากอนุภาคที่ล่องลอยในอากาศ (Airborne) ได้เฉพาะในห้องประชุมแบบปิด

ทำให้เกิดความตระหนกในหมู่ประชาชนถึงขนาด “คนตายห้ามเผา” วัดไม่กล้ารับศพผู้ป่วยมาทำพิธี

เกิดการขับไล่ต่อต้านไม่ให้รับ ติดเชื้อมากักตัวในพื้นที่ ไม่ให้มารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลที่ใกล้ชุมชนของตน

จนถึง “แม้หายแล้วก็ไม่ต้อนรับ” ทั้งๆ ที่คนเหล่านั้นมี antibody หรือภูมิคุ้มกันสูงกว่าผู้อื่นด้วยซ้ำ

รัฐที่พยายามสร้างความตระหนัก แต่กลับเป็นความตระหนกไปแล้ว

(Photo by Mladen ANTONOV / AFP)

2)อารมณ์ความร่วมมือที่กลายเป็นกระแสแห่งความวุ่นวาย

รัฐพยายามให้ข่าวสารที่เป็นลบต่อประชาชนที่ไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐ

เช่น การฝ่าฝืนการประกาศห้ามต่างๆ เช่น การให้ต้องมีการกักกันตนเอง (Self quarantine) หรือการกักกันโดยรัฐ (State quarantine) ของผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ในขณะที่รัฐมีความไม่พร้อมในการแจ้งข่าวสาร แผนการขนส่ง และการจัดเตรียมสถานที่รองรับ เนื่องจากปัญหาการประสานงานระหว่างส่วนราชการต่างๆ

ซึ่งเราจะเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นตลอดจากกรณีอพยพคนไทยจากอู่ฮั่น การกลับประเทศของแรงงานไทยจากเกาหลี และล่าสุดกลุ่มนักเรียนไทยที่กลับจากสหรัฐอเมริกา

ความขัดข้องของระบบราชการที่ไม่สามารถจัดการได้ดี กลับถูกป้ายสีไปยังกลุ่มบุคคลผู้เดินทางกลับว่าเป็นผู้หนีมาตรการการกักกัน นำไปสู่อารมณ์ระเบิดในสังคมไทยต่างๆ นานา ถึงขนาดกลายเป็นคำพูด “น่าจับไปขัง น่าจับไปยิงทิ้ง”

การปล่อยให้รายชื่อ ที่อยู่ ที่ติดต่อของผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศแพร่หลายในโลกออนไลน์โดยคนของรัฐ (ใครจะมีข้อมูลอีก นอกจากคนของรัฐ) กลายเป็นกระแส “ล่าแม่มด” ที่ “คนดีในสังคม” ช่วยกันแชร์ ช่วยกันล่า เพื่อ “จิกหัว” คนเหล่านี้กลับไปกักกันตามาตรการที่รัฐกำหนด

อารมณ์ร่วมของคนไปไกลแล้วในสถานการณ์แบบนี้

(Photo by Mladen ANTONOV / AFP)

3)อารมณ์แห่งความไม่เชื่อมั่นในศักยภาพของรัฐราชการ

รัฐที่มีมาตรการที่ถูกต้อง ชัดเจน และสอดคล้องกับสถานการณ์ย่อมสร้างความเชื่อมั่นและนำพาประชาชนใshเดินตามได้อย่างเป็นเอกภาพ

ในทางตรงกันข้าม หากรัฐบาลของประเทศใดที่มาตรการตามหลังสถานการณ์ กลับไปกลับมาเหมือนทดลองผิดทดลองถูก ขาดการคาดการณ์พยากรณ์และหามาตรการป้องกัน (Proactive) มากกว่าจะตามแก้ไข (Reactive) อารมณ์ของประชาชนก็จะกลายเป็นอารมณ์แห่งความไม่พอใจต่อรัฐ

ต้องยอมรับว่า ระยะแรกของการรับมือสถานการณ์โควิด-19 ของรัฐไทย เป็นสถานการณ์ของการตั้งรับมากกว่าการดำเนินการเชิงรุก และใช้กลไกของราชการภายใต้การกำกับของกระทรวงใครกระทรวงมันเป็นตัวนำในการแก้ปัญหา

ดังนั้น ไม่ต้องถามถึงเอกภาพ ไม่ต้องถามถึงประสิทธิผลในการทำงาน เพราะสิ่งที่รัฐบอกประชาชนกับสิ่งที่ประชาชนเห็นดูขัดกันอย่างเห็นได้ชัด

บอกมีหน้ากากอนามัยเพียงพอต่อประชาชน แต่ประชาชนหาซื้อราคาควบคุมไม่ได้

บอกว่ามีกลไกคัดกรองคนเข้าเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ก็เห็นความวุ่นวายในการจัดการเต็มไปหมด

จนเมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่มอบอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดให้แก่นายกรัฐมนตรี

วันนี้จึงเป็นอีกจังหวะหนึ่งที่ประชาชนจะให้โอกาสในการรอดูการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยฝากความหวังว่าศักยภาพแห่งการทำงานจะเกิดขึ้นอย่างจริงจังเสียที

(Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

4)อารมณ์แห่งความหดหู่ รอความหวัง และการเปลี่ยนแปลง

ในวันที่เกือบปิดเมือง ธุรกิจจำนวนมากถูกห้ามประกอบการ คนนับล้านที่ต้องหยุดงานและอีกนับสิบล้านที่ได้รับผลกระทบตามไปด้วย สำหรับคนที่พอมีเงินเก็บพอมีทางออกในการหารายได้อาจจะไม่เครียดมากนัก แต่เชื่อว่าคนส่วนมากคงอยู่ในอารมณ์ที่ยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เพราะไม่รู้ว่าสถานการณ์ร้ายจะสิ้นสุดเมื่อไร

หากสัญญาณในการเปลี่ยนแปลงเป็นความหวัง อารมณ์ดังกล่าวย่อมผ่อนคลายและพร้อมจะรอด้วยความอดทน ความร่วมมือที่มีต่อรัฐจะเป็นไปอย่างเข้มแข็ง พร้อมยอมเจ็บยอมปวดเพื่อผ่านวิกฤตไปด้วยกัน

แต่หากสัญญาณมาจากการปรุงแต่งเพื่อให้ดูดี แล้ววันหนึ่งพบว่ารัฐไม่ได้ให้ข้อมูลที่เป็นจริงต่อประชาชน หรือภายใต้สถานการณ์วิกฤตกลับมีคนของรัฐอาศัยวิกฤตเพื่อสร้างความมั่งคั่งร่ำรวยให้แก่ตัวเองและพวกพ้อง

คงประเมินการระเบิดของอารมณ์ในช่วงนั้นยากยิ่งแล้ว


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 31 พ.ค. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่