วัฒนธรรมสร้าง “ผู้ร้าย” เพื่อยกชูตัวเองเป็น “พระเอก” กลายเป็นกระแสครอบงำสังคม

จงช่วยรักษา “สื่อ” ไว้

ทุกวันนี้การทำหน้าที่สื่อมวลชน นอกจากเผชิญกับโลกใหม่ที่เทคโนโลยีการสื่อสารทำให้คนทั่วไปเกือบทุกคนสามารถทำหน้าที่สื่อมวลชนได้

โซเชียลมีเดียซึ่งเข้าถึงได้ง่ายทั้งเป็นผู้สื่อ และผู้รับสื่อ แค่มีโทรศัพท์มือถือที่เชื่อมต่อเครือข่ายอินเตอร์เน็ตได้เครื่องเดียว บทบาทเท่ากับคนอื่นทันที

สมาร์ตโฟนราคาถูกลงเรื่อยๆ ขณะที่แหล่งข่าวซึ่งครั้งก่อนกระทั่งสื่อมวลชนอาชีพเองยังเข้าถึงได้ยากเย็น มาถึงวันนี้เกือบทุกคนล้วนมีช่องทางออนไลน์ที่ใช้ได้ง่าย ได้สื่อสารเรื่องราวที่อยากจะสื่อได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องอาศัยสื่อมวลชนเป็นตัวกลางเช่นดังเก่าก่อน

ใครสักคนหนึ่งที่มีเวลาว่างพอ สามารถทำหน้าที่ส่งผ่านได้สะดวกดาย ด้วยโปรแกรมสื่อออนไลน์ที่ทำให้ง่ายขึ้นเรื่อย ทั้งที่เป็นตัวหนังสือ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว ต่อเติมเสริมแต่งได้ดังใจอยากให้เป็นด้วยโปรแกรมสำเร็จรูปที่ทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น

เมื่อทุกคนเป็นสื่อได้ง่ายๆ ความหลากหลายก็เกิด ใครอยากนำเสนออะไร เพื่ออะไรก็หาวิธีการให้เป็นไปตามนั้นได้ไม่ยาก

ยิ่งมาก ยิ่งง่าย การคุมให้เกิดคุณภาพ อย่างเช่นสื่อความจริง สื่ออย่างรับผิดชอบต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบ ยิ่งทำได้ยากขึ้น

ทั้งที่เพราะความอ่อนไหวในความเข้าใจความเดือดร้อนของคนอื่น หรือผลจากข่าวที่ไม่ได้ตรวจสอบให้แน่ชัด ไม่เท่านั้น บางคนหยาบ บางคนละเอียด

ทุกวันนี้สำนักข่าวเกิดขึ้นมากมาย ความหลากหลาย ความละเอียด ความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ประโยชน์ส่วนรวมที่แตกต่างกัน ควบคุมให้เป็นไปอย่างที่ผู้มีวุฒิภาวะของสื่อมืออาชีพทำได้ยาก

ด้วยเหตุนี้เอง “สื่อมวลชนปัจจุบันจึงตกเป็นจำเลยในข้อหาไร้จรรยาบรรณ” อยู่บ่อยๆ

ยิ่งในทุกที่ ผู้คน โดยเฉพาะผู้มีอำนาจ สะสมความถนัดในการสร้างคะแนนนิยมให้ตัวเอง ด้วยวิธีหาหรือสร้าง “ผู้ร้าย” ขึ้น แล้วลุกขึ้นมาชี้ให้เห็นความเลวร้าย

ขณะที่มีคนกลุ่มหนึ่งไวกับการเชิดชูฮีโร่ โดยเฉพาะคนที่รู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกัน จะมีเชิดชูให้คนที่แค่ชี้หน้าคนอื่นว่าผิด ว่าเลวร้าย ให้เป็น “พระเอก” โดยที่ “พระเอก” ของคนกลุ่มนี้ไม่ต้องทำอะไรมากกว่าชี้หน้าด่าคนอื่น

วัฒนธรรมสร้าง “ผู้ร้าย” เพื่อยกชูตัวเองเป็น “พระเอก” แบบนี้กลายเป็นกระแสครอบงำสังคม ผลที่ตามมาไม่ได้ช่วยให้ประเทศแก้ปัญหาอะไรได้ ด้วยไม่มีกิจกรรมใดที่สร้างสรรค์พอจะช่วยคลี่คลายปัญหา

สนองได้เพียงแค่ความสะใจที่เหยียบคนอื่นให้ต่ำกว่า และหา “พระเอก” มาเพื่อห้อยโหนเป็นคนดีงามตามกระแสไปได้เป็นคราวๆ

หลายครั้งที่มีความพยายามป้ายให้ “สื่อมวลชน” เป็นผู้ร้ายของสถานการณ์

บ่อยครั้งคล้ายว่าจะสำเร็จ สร้างกระแสขึ้นไปให้นักล่าแม่มดสนุกสนานกันได้ระยะหนึ่ง แต่แล้วก็ไปไม่ตลอด สถาปนาความเป็น “ผู้ร้ายถาวร” ไม่ได้

ทั้งนี้ก็เพราะส่วนหนึ่งประชาชนยังมีความเชื่อมั่นกับสื่อมวลชน โดยเฉพาะกลุ่มมืออาชีพ

“นิด้าโพล” สำรวจเรื่อง “เงาสะท้อนสื่อไทย”

ในคำถามที่ว่า “คิดว่าสื่อมวลชนไทยส่วนใหญ่มีจริยธรรม/จรรยาบรรณแค่ไหนในการทำข่าว/รายงานข่าว” คำตอบร้อยละ 11.91 เป็น มีมาก และร้อยละ 47.18 ยังเป็น ค่อนข้างมี

ที่ตอบว่าไม่ค่อยมี ร้อยละ 33.60 และที่ตอบว่าไม่มี ร้อยละ 6.36

แม้จะมีไม่น้อยที่คล้อยไปตามกระแส แต่ส่วนใหญ่ยังเชื่อมั่น

ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะ ไม่ว่าจะอย่างไร สื่อมวลชนมืออาชีพยังมีอยู่ไม่น้อยในวงการ

พวกเขาเหล่านั้นยังเป็นหลักที่จะประคับประคองความน่าเชื่อถือของสื่อ

เป็นผนังทองแดง กำแพงเหล็กที่จะคุ้มครองป้องกันการโจมตี

ทว่าท่ามกลางการโจมตีที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะ “ความอยู่รอดของวิชาชีพ” น่าสนใจยิ่งว่า หากสังคมไม่ช่วยประดับประคองให้ “สื่อมืออาชีพ” อยู่ได้

ในอนาคตสังคมจะพึ่งพาให้ประคับประคองการสื่อสารไม่ให้โกลาหล

“พระเอก” จอมปลอมจะเกิดขึ้นได้ง่ายดายแค่ไหน