วรศักดิ์ มหัทธโนบล : ถังล่มสลาย

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เส้นทางการล่มสลายของถัง (ต่อ)

แต่กบฏฮว๋างเฉาก็ไม่ต่างกับกบฏอันสื่อที่ต่อมาได้เกิดความขัดแย้งภายในขึ้น จนทำให้คนสำคัญคนหนึ่งของขบวนการคือจูเวิน ได้เข้าไปสวามิภักดิ์ต่อราชวงศ์โดยแลกกับตำแหน่งขุนศึกใหญ่ ตราบจนวันที่กบฏจนตรอกใน ค.ศ.884 แล้วนั้น กล่าวกันว่า ฮว๋างเฉาน่าที่จะเชือดคอตนเองมากกว่าที่จะถูกสังหารโดยขุนศึกของราชวงศ์ ที่อ้างเช่นนั้นเพื่อหวังเอาความดีความชอบจากจักรพรรดิ

ส่วนสมัครพรรคพวกแต่ดั้งเดิมของฮว๋างเฉา ตลอดจนสมาชิกทุกคนในครอบครัวของเขาถูกสังหารโดยหลานคนหนึ่งของเขาจนสิ้น 1

แต่ดังได้กล่าวไปข้างต้นแล้วว่า นอกจากกบฏฮว๋างเฉาแล้วก็ยังมีกบฏขบวนการอื่นหลังจากนั้นอีกด้วย ซึ่งแม้กบฏฮว๋างเฉาจะสร้างความเสียหายให้แก่ราชวงศ์อย่างหนักก็ตาม

แต่ความเสียหายที่กบฏขบวนการอื่นสร้างขึ้นกลับซ้ำเติมราชวงศ์ให้ยิ่งอ่อนแอลง

 

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางวิกฤตที่ราชวงศ์กำลังประสบอย่างหนักนั้น ตัวละครสำคัญที่จะพลิกโฉมประวัติศาสตร์ไปสู่หน้าใหม่กลับคือ จูเวิน อดีตแกนนำกบฏฮว๋างเฉาที่สวามิภักดิ์ต่อราชสำนักถัง ซึ่งบัดนี้เขาคือขุนศึกใหญ่ที่ควบคุมทัพของราชวงศ์เอาไว้ในมือ

โดยภายหลังกบฏฮว๋างเฉาพ่ายแพ้ไปแล้วนั้น อิทธิพลของเขาก็ยิ่งสูงขึ้น

ส่วนจักรพรรดิถังในช่วงเวลาเดียวกันนี้กลับไร้ซึ่งความสามารถ ในช่วงนี้จักรพรรดิซึ่งแต่เดิมมีอุดมการณ์อันสูงส่งที่จะฟื้นฟูราชวงศ์ ครั้นเป็นจักรพรรดิแล้วก็กลับทรงท้อแท้พระทัย ไม่ใส่ใจในราชการงานเมือง ทรงใช้ชีวิตในแต่ละวันด้วยการเสวยน้ำจัณฑ์

จูเวินซึ่งรู้เห็นเรื่องราวเช่นนี้จึงบังเกิดความทะเยอทะยานทางการเมือง และได้ใช้อำนาจที่เขามีอยู่ปลงพระชนม์จักรพรรดิใน ค.ศ.904 แล้วอุปโลกน์บุคคลในราชสกุลหลี่ขึ้นเป็นจักรพรรดิ ซึ่งก็คือถังไอตี้ (ค.ศ.892-908)

ถังไอตี้เป็นจักรพรรดิที่ไร้อำนาจด้วยเป็นเพียงหุ่นเชิดของจูเวิน แต่จะด้วยเหตุใดก็ตามที ได้ปรากฏว่า คำว่า ไอ อันเป็นพระนามของจักรพรรดิพระองค์นี้กลับมีความหมายที่ไม่เป็นสิริมงคลนัก คือมีความหมายว่าโศกเศร้าเสียใจ และชีวิตทางการเมืองก็เป็นไปตามความหมายนั้นจริงๆ

เพราะราชโองการใดๆ ที่ถูกประกาศใช้ในรัชสมัยนี้ล้วนมาจากน้ำมือของจูเวินทั้งสิ้น

แต่ที่น่าเศร้าโศกเสียใจยิ่งไปกว่านั้นก็คือ จูเวินยังได้สังหารขุนนางที่ซื่อสัตย์สุจริตที่ต่อต้านเขาไป 13 คนอีกด้วย อำนาจของราชวงศ์จึงไม่มีอยู่จริง แต่อยู่โดยผ่านการแอบอ้างของจูเวิน ซึ่งเป็นเรื่องที่รู้กันโดยทั่วไป

เหตุดังนั้น หากไม่นับกลุ่มอำนาจของจูเวินแล้ว เวลานั้นก็ยังมีกลุ่มอำนาจอื่นๆ ที่ตั้งตนเป็นใหญ่โดยไม่ยอมขึ้นต่อราชสำนักรวมแล้วแปดกลุ่ม ทั้งแปดกลุ่มนี้ต่างยึดครองเมืองสำคัญเป็นของตนเอง และต่างก็มุ่งเอาชนะคะคานในระหว่างกัน ทั้งนี้ ยังมินับกลุ่มอำนาจที่เป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยอีกนับสิบกลุ่ม

เช่นนี้แล้วบ้านเมืองจีนเวลานั้นจึงเสื่อมถอยลงอย่างหนัก

 

เห็นได้ชัดว่าบ้านเมืองจีนที่เสื่อมถอยดังกล่าวหามีกลุ่มอำนาจใดที่มีอำนาจโดยเด็ดขาดไม่ จูเวินแม้จะมีอำนาจมากก็จริง แต่ก็เป็นอำนาจที่อ้างความชอบธรรมในนามจักรพรรดิ ในขณะที่กลุ่มอำนาจอื่นก็ท้าทายอำนาจของเขา และต่างก็เผชิญหน้าในระหว่างกัน

ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ผลักดันให้จูเวินไม่จำเป็นต้องอ้างความชอบธรรมที่ว่าอีกต่อไป จากเหตุนี้ หลังจากถังไอตี้ครองราชย์แต่เพียงในนามไปได้เพียงสามปี จูเวินก็บีบให้พระองค์ทรงสละราชสมบัติในปี ค.ศ.907

จากนั้นก็ตั้งตนเป็นจักรพรรดิภายใต้ราชวงศ์เหลียงหรือที่เรียกว่าโฮ่วเหลียงขึ้นมา เป็นอันปิดฉากราชวงศ์ถังที่ครองแผ่นดินจีนยาวนานกว่า 300 ปีโดยดุษณี ในส่วนจำนวนจักรพรรดิของราชวงศ์นั้น หากนับโดยละถังจงจงกับถังญุ่ยจงที่ครองราชย์สองครั้ง แต่นับรวมจักรพรรดินีอู่เจ๋อเทียนเข้าด้วยแล้ว

ราชวงศ์ถังมีจักรพรรดิทั้งสิ้น 21 องค์

 

การปกครองของจักรวรรดิสุย-ถัง

โดยทั่วไปแล้วการปกครองยังคงสืบทอดมาจากระบบที่ราชวงศ์ฮั่นได้สร้างขึ้นมา แต่ก็มีการปรับใช้และการสร้างขึ้นใหม่ให้เหมาะสมกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ทั้งในส่วนกลางและท้องถิ่นทั่วจักรวรรดิ

กล่าวเฉพาะการเปลี่ยนแปลงที่เป็นจุดเด่นในยุคนี้ก็คือ การเข้ามีอำนาจของทหารที่อยู่ในท้องถิ่นชายแดนกับกลุ่มขันที โดยกลุ่มหลังนั้นเข้ามามีอำนาจในช่วงครึ่งหลังของราชวงศ์นี้และเข้ามาด้วยความจำเป็น เพราะเวลานั้นอำนาจของกลุ่มแรกได้ทวีมากขึ้นจนไม่ฟังเสียงจากที่ส่วนกลางสั่งมา

กระนั้นก็ตาม การศึกษาประเด็นระบบการปกครองในที่นี้จะดำเนินไปทีละส่วนทีละประเด็น

 

การปฏิรูปและกำเนิดวนอักษราศรม

ภายหลังจากที่ราชวงศ์สุยสามารถรวบรวมแผ่นดินให้กลับคืนสู่เอกภาพอีกครั้งหนึ่งแล้วนั้น ก็ได้ยกเลิกระบบขุนนางบางระบบที่เกิดขึ้นในยุคราชวงศ์ใต้-เหนือ และฟื้นฟูระบบที่ฮั่นและจิ้นได้เริ่มเอาไว้กลับมาใช้

ระบบที่ว่านี้ก็คือระบบสามกรม (ซันเสิ่ง) อันประกอบไปด้วยกรมราชสำนัก (ซั่งซูเสิ่ง) กรมวัง (จงซูเสิ่ง) และกรมจางวาง (เหมินเซี่ยเสิ่ง) การฟื้นฟูของสุยในครั้งนี้ทำให้หน้าที่ของกรมวังและกรมจางวางเปลี่ยนไปจากยุคก่อนหน้านี้ ครั้นถึงสมัยถังก็ยังคงสืบทอดสิ่งที่สุยได้ฟื้นฟูนี้มาใช้ต่อ

ซึ่งโดยสรุปแล้วในยุคสุย-ถังนี้หน้าที่หลักของกรมวังคือการกำหนดนโยบายต่างๆ ร่วมกับจักรพรรดิและร่างราชโองการ หน้าที่ที่กว้างขวางและมีบทบาทเช่นนี้ทำให้กรมวังมีหน่วยงานในสังกัดอยู่จำนวนหนึ่ง เพื่อให้ทำหน้าที่ในแต่ละด้าน

ส่วนหน้าที่หลักของกรมจางวางคือตรวจสอบและอภิปราย หรือแม้กระทั่งให้ความเห็นโต้แย้งนโยบายที่ออกมาจากกรมวัง ยิ่งหากพบข้อผิดพลาดด้วยแล้วก็สามารถตีกลับร่างนโยบายนั้นได้

กรมทั้งสองจะประชุมกันในอาคารที่เรียกว่า สภารัฐกิจ (เจิ้งซื่อถัง) แล้วเรียกการประชุมนี้ ว่าการประชุมสภารัฐกิจ (เจิ้งซื่อถังฮุ่ยอี้)

ส่วนกรมราชสำนักนั้นในสมัยสุยมีความสำคัญมากกว่าสองกรมแรก แต่พอมาถึงสมัยถังจึงถูกลดความสำคัญลงเทียบเท่ากับสองกรมนั้น หน้าที่ของกรมราชสำนักนอกจากมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายแล้วก็ยังมีหน้าที่ทางการบริหารอีกด้วย

จะเห็นได้ว่าระบบสามกรมในยุคสุย-ถังนี้มีระบบการตรวจสอบถ่วงดุลโดยคณะบุคคลระดับบัณฑิต (ขุนนาง) นับว่ามีความก้าวหน้ากว่ายุคก่อนหน้าไม่น้อย

ที่น่าสนใจก็คือว่า ระบบสามกรมในยุคสุย-ถังนี้จะมีจักรพรรดิเป็นประธาน และมีวิธีการประชุมอยู่หลายวิธี ทั้งวาระการประชุมและบุคคลที่เข้าประชุม โดยวาระการประชุมจะมีทั้งทุกวันที่ 1 ของเดือน วันที่ 15 ของเดือน และทุกวันหรือวันเว้นวัน ในกรณีหลังนี้ถือเป็นการประชุมถาวร (ฉังชัน) ที่ผู้เข้าประชุมจะเป็นขุนนางระดับสูง

ส่วนเรื่องที่ประชุมจะมีทั้งกิจการทหารและพลเรือน แต่เนื่องจากสภานี้มีสมาชิกจำนวนมากจนทำให้ไม่อาจประชุมในเรื่องลับได้ ดังนั้น พอถึงช่วงกลางราชวงศ์ถังการประชุมของสภานี้จึงถูกลดลง คงเหลือแต่การประชุมที่เป็นเรื่องลับซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่า

อย่างไรก็ตาม นับจากช่วงครึ่งหลังของถัง สภารัฐกิจก็ถูกแทรกแซงโดยขันที นโยบายต่างๆ มักถูกกำหนดโดยคนกลุ่มนี้ ถึงตอนนั้นสภารัฐกิจก็ไร้ความหมาย

 

นอกจากระบบสามกรมที่มีการปฏิรูปอย่างมีนัยสำคัญแล้ว ในยุคนี้ยังมีการจัดตั้งองค์กรที่จะมีความสำคัญสืบต่อไปข้างหน้าอีกด้วย องค์กรนี้คือสำนักบัณฑิตฮั่นหลิน (ฮั่นหลินเสีว์ยซื่อย่วน)

สำนักนี้มีพัฒนาการมาจากชมรมอักษรศาสตร์ (เหวินเสีว์ยกว่าน) ที่ถังไท่จงทรงตั้งขึ้นตั้งแต่ครั้งที่ยังมิได้เป็นจักรพรรดิ ซึ่งในเวลานั้นชมรมนี้เป็นที่รวมของเหล่าบัณฑิตที่ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่ถังไท่จง และมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้พระองค์ได้เป็นจักรพรรดิ

การใช้บัณฑิตเพื่อการนี้ยังคงถูกสืบทอดต่อกันมา จนถึงในสมัยถังเสีว์ยนจงจึงได้ตั้งสำนักบัณฑิตฮั่นหลินขึ้นอย่างเป็นกิจจะลักษณะ โดยในชั้นหลังต่อมาสำนักนี้จะถูกเรียกกันในชื่อสั้นๆ ว่า สำนักฮั่นหลิน

อนึ่ง คำว่าฮั่นนั้นแปลว่า พู่กัน อักษร หนังสือ หรือจดหมาย ซึ่งมีนัยให้หมายถึงบัณฑิต ส่วนคำว่า หลิน แปลว่า ป่าไม้ ป่าดง หรือแมกไม้ คำว่าฮั่นหลิน จึงมีความหมายในเชิงอุปมาว่า ดงบัณฑิต ซึ่งอาจแปลเป็นไทยได้ว่า วนอักษร

และหากเป็นคำว่าสำนักฮั่นหลิน ก็แปลว่า วนอักษราศรม

 

———————————————————————————————

(1) มรณกรรมของฮว๋างเฉาเป็นเรื่องหนึ่งที่มีการว่ากันไปต่างๆ นานา บางที่ถึงกับว่าเขาไม่ได้ตายจริง หากแต่หนีไปบวชเป็นภิกษุในศาสนาพุทธ