คนมองหนัง : อำลา “แซทแอนด์ซัน”

คนมองหนัง

“แซทแอนด์ซัน” เป็นรายการวิทยุ ที่ผู้ดำเนินรายการสามคน ประกอบด้วย “อุดม โพธิ์ทอง” (น้านัท) “ณรงค์ ลัมะกานนท์” (น้าณรงค์) และ “มาลี บุญยศรีสวัสดิ์” (น้ามาลี) มาล้อมวงคุยกันเรื่องหนังและเพลง รวมถึงนั่งอ่าน-ตอบจดหมายที่แฟนๆ จากทางบ้านเขียนส่งเข้ามายังตู้ไปรษณีย์เช่าของรายการ (ก่อนจะเปลี่ยนระบบเป็นอี-เมลเมื่อไม่นานมานี้)

“รากเดิม” ของแซทแอนด์ซัน เริ่มก่อตัวตั้งแต่ยุค “ไนท์สปอต” ก่อนจะมาลงหลักปักฐานที่คลื่น 90.5 เป็นเวลาหลายสิบปี

โดยส่วนตัว ผมฟังรายการแซทแอนด์ซันครั้งแรก ขณะเรียน ม.ปลาย ตอน พ.ศ.2540 แล้วก็ติดหนึบอยู่หลายปี

จากที่รายการตอนนั้น จัดวันอาทิตย์ ครั้งละ 3 ชั่วโมง มีช่วงหนึ่ง ก็เปลี่ยนไปเป็นออกอากาศทุกเสาร์-อาทิตย์ วันละ 2 ชั่วโมง ก่อนจะมาลงเอยที่วันอาทิตย์ ครั้งละ 2 ชั่วโมง ในกว่าสิบปีให้หลัง

ครั้นพอคลื่น “แฟท เรดิโอ” ถือกำเนิดขึ้น ผมก็หันไปฟังรายการ “หนังหน้าไมค์” ที่ออกอากาศทางคลื่นดังกล่าว ในเวลาเดียวกับแซทแอนด์ซัน

เพราะหนังหน้าไมค์มี “นรา” นักวิจารณ์หนังที่ตัวเองชื่นชอบ เป็นหนึ่งในผู้ดำเนินรายการ

ส่งผลให้ผมเริ่มติดตามฟังแซทแอนด์ซันน้อยลง

 

อย่างไรก็ดี ภาวะผลุบๆ โผล่ๆ ตลอดจนความไม่แน่นอนหลายๆ อย่างของหนังหน้าไมค์ ทำให้ผมหันกลับมาฟังรายการของน้านัท น้าณรงค์ น้ามาลี อีกเป็นระยะๆ (และสุดท้าย หนังหน้าไมค์ก็อำลาจาก “หน้าปัดวิทยุ” ไปก่อนแซทแอนด์ซัน)

2-3 ปีหลัง ผมยังติดตามฟังแซทแอนด์ซันเป็นครั้งคราว ตามแต่โอกาสจะเอื้ออำนวย เช่น เวลาออกไปเตร็ดเตร่ข้างนอกตอนวันอาทิตย์ และกำลังขับรถกลับบ้านพร้อมเปิดวิทยุฟัง ช่วง 3-4 ทุ่มพอดี

บางครั้ง ผมก็เก็บเอาเกร็ดสนุกๆ จากรายการ มาบอกเล่าในเฟซบุ๊กส่วนตัวอยู่เป็นระยะ เช่น ตอนที่น้าๆ จะชวนคนฟังให้เขียนอี-เมลมาหา เพราะตัดสินใจปิดตู้ ป.ณ. ที่ใช้บริการมาเนิ่นนานหลายปี แต่น้านัทดันลืมชื่ออี-เมลของรายการอย่างกะทันหัน หรือตอนที่น้าๆ ออกอาการ “เดดแอร์” เพราะนึกข้อมูลของหนังเก่าๆ ที่ต้องการจะกล่าวถึง ไม่ออก

เมื่อไม่กี่เดือนก่อน ผมยังเชื่อว่าแซทแอนด์ซันเป็นโมเดลของการทำกิจกรรมเล็กๆ ด้วยใจและความรัก ที่พอจะอยู่รอดได้ในเชิงพาณิชย์ ท่ามกลางลมหายใจอันแผ่วเบาของ “สื่อเก่า”

แต่สุดท้าย แซทแอนด์ซันก็ได้ฤกษ์อำลาหน้าปัดวิทยุเข้าจนได้

โดยวันที่ 26 มิถุนายน 2559 ถือเป็นวันออกอากาศครั้งสุดท้าย ของรายการวิทยุที่มีอายุเกินสามทศวรรษมาหนึ่งปีรายการนี้

ผมจึงอยากจะขออนุญาตเขียนเล่าเกร็ดความทรงจำส่วนตัวเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้ตนเองรู้สึกผูกพันกับ “แซทแอนด์ซัน” และน้าๆ ผู้ดำเนินรายการ

 

หนึ่ง ผมเผลอหมุนหน้าปัดเจอและฟังแซทแอนด์ซันครั้งแรก ตอนอ่านหนังสือสอบ ม.ปลาย

วันนั้น เป็นคืนวันอาทิตย์ ผมกำลังนอนอ่านหนังสือไปพลาง นอนฟังวิทยุจากซาวด์อะเบาต์ไปพลาง เพราะวันจันทร์ จะมีสอบหลายวิชา

ผมหมุนคลื่นวิทยุไปเรื่อยๆ แล้วก็เจอรายการของคลื่นหนึ่ง มีคน “ค่อนข้างแก่” สามคน มาคุยกันเรื่องหนังอย่างเจื้อยแจ้ว (นั่นเป็นช่วงเวลาที่ผมกำลังเริ่มสนใจ “หนังไทย” พอดี จากอิทธิพลของ “2499 อันธพาลครองเมือง” และ “ฝัน บ้า คาราโอเกะ”)

ที่ผมรู้สึกสะดุดใจเป็นพิเศษ คือ จู่ๆ คุณสุภาพสตรีผู้ดำเนินรายการ ก็พูดจิกกัดว่า “อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม” หนุ่มน้อยลูกครึ่งลาว-ออสเตรเลีย ที่แสดงนำในหนังเรื่อง “อันดากับฟ้าใส” ซึ่งเพิ่งลงโรงฉายนั้น มีหน้าตาเหมือน “มนุษย์หมาป่า”

ผมฟังไปก็หัวเราะไป และเริ่มทุ่มเทสมาธิทั้งหมดให้มาจดจ่อกับรายการวิทยุโปรแกรมนี้ แทนที่จะอ่านหนังสือสอบตามความตั้งใจเดิม

ผมฟังวิทยุจนจบรายการ กระทั่งทราบว่า นี่คือ “รายการแซทแอนด์ซัน” ออกอากาศทางคลื่น 90.5

หลายปีผ่านไป เข้าใจว่าในระยะหลังๆ “น้ามาลี” ก็คงกรี๊ดกร๊าด “อนันดา” เช่นเดียวกับสตรีส่วนใหญ่รายอื่นๆ

และเผลอๆ แกอาจลืมไปแล้วว่า ครั้งหนึ่ง

ตนเองเคยพูดออกอากาศว่าดาราชาย “เบอร์ต้นๆ” ในยุคปัจจุบันคนนี้ มีหน้าตาเหมือนมนุษย์หมาป่า

 

สอง น้าณรงค์เป็นพ่อของดาราสาว/เซเลบที่โด่งดังพอสมควรในยุคนี้ อย่าง “แป้งโกะ”

ช่วงกำลังเรียนมหาวิทยาลัยปีแรกๆ ผมเคยได้ยินน้าณรงค์พูดในรายการว่า แกมีลูกสาวเรียนมัธยมอยู่ประเทศนิวซีแลนด์ จากนั้น ผมก็ฝังใจมาเสมอว่า น้าณรงค์มีลูกสาวเป็น “เด็กนักเรียนนอกวัยยังไม่ถึงยี่สิบ”

กระทั่ง “แป้งโกะ” ลูกสาวน้าณรงค์ มาโด่งดังเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทั้งในฐานะดาราและเซเลบที่ชอบถ่ายรูป ผมก็ยังไปติดว่า เธอคงเพิ่งกลับมาจากนิวซีแลนด์ และน่าจะอายุเพียงยี่สิบนิดๆ

จนเมื่อมานั่งเช็กข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตช่วงต้นปีนี้ ผมจึงพบว่า “แป้งโกะ” อายุสามสิบแล้ว

กล่าวอีกอย่าง คือ ผมรู้จัก “แป้งโกะ” จากรายการแซทแอนด์ซัน เมื่อกว่าสิบปีก่อน แล้วก็ “หลงเวลา” คิดว่าเธอยังเป็นเด็กอยู่ตลอด

ทั้งที่ในความเป็นจริง วันเวลามันล่วงผ่านไปเรื่อยๆ มานานหลายปี

(น่าเสียดายที่ผมเคยไปนั่งกินข้าวที่ร้านอาหารของครอบครัวน้าณรงค์อยู่หลายครั้ง แต่ไม่เคยเจอตัวแกและลูกสาวแบบเป็นๆ เลยสักหน)


สาม ตอนผมเริ่มต้นสนใจดูหนัง (ไทย) ใหม่ๆ ผมมีหนังสือเล่มหนึ่งเป็น “คู่มือข้างกาย” นั่นคือ นิตยสาร “สารคดี” ฉบับ 100 ปี ภาพยนตร์ในประเทศไทย ซึ่งออกวางจำหน่ายเมื่อเดือนสิงหาคม 2540

ผมได้พบและอ่านนิตยสารสารคดีเล่มนั้น พร้อมๆ กับการได้เริ่มต้นฟังรายการแซทแอนด์ซันพอดี

มิหนำซ้ำ ในนิตยสารฉบับดังกล่าวยังมีบทสัมภาษณ์น้านัท เกี่ยวกับประเด็นหนังไทยอีกด้วย

นั่นส่งผลให้เด็กมัธยมที่เพิ่งสนใจเรื่องหนังอย่างผม ตัดสินใจติดตามฟังรายการวิทยุแซทแอนด์ซันต่อไป โดยไม่ลังเล

 

สี่ตอนฟังแซทแอนด์ซันช่วงแรกๆ น้าๆ จะชอบอ่านจดหมายของ “คุณอินทิรา” แฟนรายการรุ่นอาวุโส

แต่พอผมกลับมาฟังรายการบ่อยๆ ช่วง 2-3 ปีหลัง ก็สังเกตว่า คุณอินทิราไม่ได้เขียนจดหมายมาถึงรายการอีกแล้ว ฟังไปก็คิดไปว่า แกคงสูงวัยมากขึ้น จนสุขภาพไม่เอื้ออำนวยต่อการเขียนหนังสือ

กระทั่งมาพบเห็นข้อมูลจากเพจเฟซบุ๊ก SatnSun ในวันอำลารายการว่า คุณอินทิราได้เสียชีวิตไปแล้วเมื่อปีก่อน

 

ห้า น้าๆ สามคนเป็นสมาชิกชมรมวิจารณ์บันเทิง (เข้าใจว่าเป็นรุ่นก่อตั้งชมรมด้วย) และยังมีส่วนร่วมลงคะแนนเลือกหนังไทยที่ได้รับรางวัลในสาขาต่างๆ ของชมรม มาจนถึงปัจจุบัน

ผมเพิ่งมาตระหนักหลังรายการแซทแอนด์ซันอำลาหน้าปัดวิทยุไปนี่เองว่า ขณะที่สมาชิกชมรมวิจารณ์บันเทิง ทั้งในยุคก่อตั้ง เรื่อยมาจนถึงสมาชิกรุ่นใหม่ๆ ในยุคปัจจุบัน มักเป็นนักวิจารณ์ที่ “ทำงานเขียน” ในหน้ากระดาษ (รวมถึงสื่อออนไลน์)

แต่น้าๆ สามคน จากแซทแอนด์ซัน กลับมีสถานะเป็นนักวิจารณ์ ที่ทำงานด้วย “การพูด” ออกอากาศ ผ่านสถานีวิทยุ

นี่จึงเป็น “จุดแตกต่าง” ประการสำคัญ ระหว่างสามน้าและนักวิจารณ์บันเทิงส่วนใหญ่ของเมืองไทย

 

หก เชื่อว่าผู้ฟังรายการจำนวนไม่น้อยคงรู้สึกไม่ค่อยชอบใจ ที่น้าๆ แสดงทัศนะเรื่องการเมืองอย่าง “เลือกข้าง” ชัดเจน ในช่วงปี 2548 (ระลอกแรกของวิกฤตการเมืองไทยร่วมสมัย)

ต้องยอมรับว่า ณ ช่วงเวลานั้น ผมเองก็ไม่ชอบท่าทีดังกล่าว (ซึ่งเป็นลักษณะเชียร์นักการเมืองและพรรคการเมือง) เช่นกัน จนเลิกฟังรายการไปพักใหญ่

แต่ในระยะยาว (หลังผ่านเหตุการณ์นองเลือดใหญ่กลางเมืองหลวง และรัฐประหารสองหนซ้อนในรอบไม่ถึงสิบปี) ผมคงต้องยอมรับด้วยความเคารพเหมือนกันว่า ท่าทีทางการเมืองของน้าๆ ไม่ใช่เรื่อง “ผิด” แถมยังค่อนข้างสอดคล้องต้องตรงกับการตัดสินใจเลือกโดย “คนส่วนใหญ่” ของประเทศ

อย่างไรก็ดี ในช่วงหลังๆ จะสังเกตเห็นได้ว่า น้าๆ ไม่พยายามพูดแตะประเด็นการเมืองอย่างเด่นชัดโจ่งแจ้งนัก ออกรายการ

ซึ่งอาจถือเป็นทางเลือกที่ “ลงตัว” ที่สุดแล้ว สำหรับคนทำธุรกิจสื่อรายย่อยๆ ในบ้านเมืองนี้