หลังเลนส์ในดงลึก/ ปริญญากร วรวรรณ / ‘ภาษา’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
ช้างแอฟริกา - สัตว์ป่ามี "ภาษา" สำหรับใช้ในการสื่อสารกัน ทั้งด้วยเสียง และภาษากาย แต่กับคน พวกมันจะใช้แววตา และนี่คือปัญหา เพราะคนจะเข้าใจต่อเมื่อใช้วิธีมองโดยผ่านหัวใจ

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

‘ภาษา’

 

มีสิ่งที่ “พ่วง” มากับการทำงานของผม ที่เลือกวิธี “ฝังตัว” อยู่ในป่าใดป่าหนึ่งนานไม่ต่ำกว่า 4 ปี นั่นคือ ความรู้ภาษาถิ่น อันหมายถึงภาษาที่ชนเผ่าต่างๆ ในประเทศใช้กันด้วย

บนดอยม่อนจอง ผมเข้าใจภาษามูเซอ

ที่ดอยอินทนนท์ หน่อเย้งสอนภาษาม้งให้ เพื่อจะได้สื่อสารกัน

ที่ทิวเขาบูโด ผมมีอาแซและอูมา เป็นคนสอนภาษายาวี

ในป่าด้านตะวันตก โดยเฉพาะป่าทุ่งใหญ่นเรศวรที่ผมทำงาน เจ้าหน้าที่ราว 98% คือชาวกะเหรี่ยงจากหมู่บ้านรอบๆ ป่า บางหมู่บ้านอยู่มาก่อนพื้นที่จะได้รับการประกาศทับเป็นผืนป่าอนุรักษ์

ในป่าทุ่งใหญ่ ไม่ผิดนักหากจะบอกว่า ที่นี่ใช้ภาษากะเหรี่ยงเป็นภาษากลางอยู่บนดอย ในป่าใต้สุดชายแดน หรือป่าชายแดนประเทศพม่า อยู่ในผืนแผ่นดินประเทศไทย แต่บางครั้ง ผมรู้สึกราวกับอยู่ต่างประเทศ นั่งฟังภาษาที่ไม่เข้าใจ

แต่ข้อดีอย่างยิ่งคือ ทำให้เรียนรู้ได้เร็ว ไม่นานผมก็เข้าใจเรื่องราวที่พวกเขากำลังพูด ไม่เข้าใจทุกคำหรอก แต่จับใจความได้

“นินทาผมไม่ได้แล้วนะ” ไม่นานผมก็บอกกับพวกเขาเช่นนี้

 

ภาษากะเหรี่ยงในพื้นที่ต่างกัน ก็มีถ้อยคำและสำเนียงแตกต่างบ้าง

ไม่ว่าจะเป็นภาษาใด มูเซอ, ม้ง, ยาวี หรือกะเหรี่ยง ผมเริ่มพูดคำแรก อันมีความหมายเหมือนกัน นั่นคือคำว่า “กินข้าว”

เพื่อนๆ กะเหรี่ยงในป่าทุ่งใหญ่ พูดคำนี้ว่า “ออหมี่”

 

ก่อนจะฝังตัวอย่างจริงจังในป่าทุ่งใหญ่ ผมร่วมทีมมากับทีมสำรวจประชากรเสือโคร่ง ของสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำหลายครั้ง การสำรวจใช้วิธีวางกล้องดักถ่ายภาพ ในพื้นที่อันค่อนข้างละเอียด ได้เดินป่า ทำงานร่วมกับชุดลาดตระเวนของหน่วยพิทักษ์ป่า เป็นการทำงานร่วมกัน ทีมจากเขานางรำนั้น ทุกคนใช้ภาษาไทย อยู่ในป่าผมไม่มีปัญหา พูดคุยกัน ได้ดี

แต่ครั้นมาอยู่จริงๆ การเรียนรู้ภาษาจำเป็น เพราะผมจะเป็นคนเดียวที่ใช้ภาษาไม่เหมือนพวกเขา

ไม่นานผมก็อยู่ร่วมในวงสนทนาได้ แม้ว่าจะต้องพูดปนๆ ไปทั้งไทยกับกะเหรี่ยง แต่เนื้อหาในการฟังก็รู้เรื่องมากขึ้น

อดิเทพคู่หูผู้ร่วมงานกับผมตลอด คือครู เขาเป็นครูที่เข้มงวด ต้องออกเสียงให้ถูกต้อง

แม้ว่าเวลาพูดภาษาไทย อดิเทพใช้ภาษาได้ไม่แข็งแรงเลย

“ยิ่งอยู่กันนาน ยิ่งพูดกันไม่ค่อยรู้เรื่องนะหม่องโจ” อดิเทพบ่นถึงการพูดภาษาไทยของตัวเอง

เขาจ้ำจี้จ้ำไชกับผมให้ใช้ภาษากะเหรี่ยงให้ได้เร็วๆ เพื่อที่เขาจะได้ไม่ต้องพูดภาษาไทยกับผม

 

เพราะความช่างพูด อดิเทพเล่าเรื่องโน้นเรื่องนี้ให้ผมฟังเสมอ นี่คือข้อดีอีกข้อ ทำให้ผมเรียนได้เร็ว เรื่องไม่แปลกใหม่หรอก เล่าซ้ำๆ เรื่องหนึ่ง ที่เขาเล่าบ่อยคือ การที่เขากล้า “หือ” กับภรรยา

“ผมบอกว่า ถ้าจะหาได้ดีกว่านี้ก็ไปเลย” เขาพูดไม่สนใจอาการยิ้มๆ ของผม

ภรรยาเขาบ่นๆ เรื่องที่เขาไม่ค่อยกลับไปช่วยงานที่บ้าน จึงบอกว่าจะเข้าไปหางานทำในเมืองในหมู่บ้าน รอบๆ ป่าทุ่งใหญ่นั้น ถ้าดูจากภายนอกจะเห็นว่า สังคมที่นี่ผู้ชายเป็นใหญ่ แต่แท้จริง ทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกการตัดสินใจ ถูกกำหนดโดยผู้หญิง พวกเธอฉลาดเลือกที่จะให้ผู้ชายแสดงบทนำเท่านั้น

กระนั้นก็เถอะ อดิเทพคุยว่า การหือของเขาได้ผล

ภรรยาเขาไม่เคยพูดว่าจะไปหางานทำในเมืองอีกเลย

 

ที่จริงก็น่าเห็นใจอดิเทพ เหตุผลเพราะการเดินทางในป่าทุ่งใหญ่ โดยเฉพาะในฤดูฝน ไม่ง่าย มีเวลาพัก 7 วัน ต้องใช้ในการเดินทางไป-กลับ 6 วันแล้ว เหลือเวลาอยู่บ้านแค่วันเดียว เขาเลือกการอยู่ในป่าดีกว่า

ช่วงฤดูฝน บางวันเราลืมไปเลยว่า วันเวลาซึ่งท้องฟ้าแจ่มใส และแสงแดดเป็นอย่างไร

แต่มีข้อดีอยู่บ้าง ฝนตกหนักๆ ช่วยให้ได้งาน สายฝนกลบกลิ่นกายให้น้อยลง รวมทั้งช่วยกลบเสียงด้วย

ฝนทำให้สภาพโป่งดินแข็งๆ เปลี่ยนเป็นคล้ายปลักโคลน กระทิงเดินเข้ามาจมลงไปถึงหน้าแข้ง เก้งไม่มีโอกาสเดินเข้ามากลางโป่ง ได้แต่เดินวนเวียนรอบๆ กวางตัวผู้เขาใหญ่ พวกมันยังไม่ถึงเวลาผลัดเขา นอนกลิ้งเกลือกโคลนจับตัวแข็ง เป็นคล้ายเกราะกันแมลง หมูป่านอนกลิ้งโคลนด้วย ต้องการเกราะกันแมลงเช่นกัน

ฤดูฝนคือ ฤดูแมลง ยืนนิ่งๆ อยู่กับที่ไม่ได้นาน เพราะแมลงเข้ารุมตอม

 

ใบไม้ฉ่ำน้ำ เสียงกิ่งไม้หัก ต้นไม้ล้ม เกิดขึ้นบ่อย บางคืนขณะพายุฝนต่อเนื่อง เสียงไม้ล้มแทรกมา

อดิเทพปลุกให้ผมตื่นเพื่อย้ายเต็นท์ เพราะไม่วางใจกิ่งไม้ข้างบน

“วันพรุ่งนี้ถ้าฝนไม่หยุด ย้ายแคมป์นะหม่องโจ ไม่น่าวางใจแล้ว” เขาเริ่มกังวลกับระดับน้ำ คืนนั้นยังปกติ แต่เขารู้ว่าไม่นาน ลำห้วยเล็กๆ สายนี้จะเปลี่ยนไป

เหนือกองไฟ อดิเทพขึงผ้ายาง กลางวันเขาหาฟืนมาวางไว้ข้างกองไฟ ไล่ความชื้นให้ฟืนที่ฉ่ำฝนแห้ง

อยู่นอกเต็นท์ เราเปิดไฟคาดหัวไม่ได้ เพราะแมลงจำนวนมากจะเข้ารุมตอม

หลังกินข้าว ฝนตกเบาๆ สลับหนัก หัวค่ำเกินกว่าจะเข้านอนรายล้อมด้วยความมืด กิจกรรมของผมคือ นั่งบนเก้าอี้พับเรียนภาษากะเหรี่ยง ฟังอดิเทพคุยเรื่องซ้ำๆ ตามองเปลวไฟร่ายรำ

 

ว่าตามจริง “ออหมี่” ดูเหมือนจะเป็นคำง่ายๆ คนในป่าส่วนใหญ่เข้าใจดีว่าหมายถึงอะไร ใครๆ ก็พูดไม่ว่าจะอยู่ป่าไหน ผมจะเรียนรู้คำว่ากินข้าว เป็นคำแรกเสมอ

คนในป่าพบเจอกัน จะต้องชักชวนกันกินข้าว อยู่ในป่า เมื่อทำกับข้าวเสร็จ พ่อครัวจะตะโกนดังๆ ว่า “ออหมี่ๆ”

ผมนึกเหตุผลหนึ่งได้ว่า ทำไมจึงรู้จักคำว่ากินข้าวก่อนคำอื่นๆ

ชักชวนกันกินข้าว

ความหมายที่อยู่ในคำชวนนั้น ในป่าหาได้ง่าย คือสิ่งที่เรียกว่า “น้ำใจ”

เป็นความหมายเดียวกัน ไม่ว่าจะพูดด้วย “ภาษา” ใด…