เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์ / ความเป็นส่วนตัว กับความปลอดภัย

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์

ความเป็นส่วนตัว กับความปลอดภัย

 

บนเวทีประกวดมิสยูนิเวิร์สปีล่าสุด ที่น้องฟ้าใส-ประวีณสุดา ดรูอิ้น ตัวแทนสาวไทยได้พาตัวเองเข้าถึงรอบ 10 คนสุดท้าย และต้องตอบคำถามตามกระบวนการคัดเลือกของการประกวด

คำถามที่น้องฟ้าใสได้รับคือ “หลายรัฐบาลต้องการสร้างมาตรการความปลอดภัยซึ่งอาจจะรุกล้ำความเป็นส่วนตัวของประชาชน คุณคิดว่าอะไรสำคัญกว่ากันระหว่างความปลอดภัยหรือความเป็นส่วนตัว”

หลายคนบอกว่าเป็นคำถามที่ยาก จะตอบอย่างไรดีที่จะดูฉลาด จะตอบอย่างไรดีที่จะถูกใจกรรมการ และที่สำคัญ จะตอบอย่างไรดีที่ไม่เสแสร้ง และบ่งบอกความเป็นตัวเรา

เจ้าของบริษัทมิสยูนิเวิร์สเป็นชาวอเมริกัน หลายประเด็นคำถามบนเวทีนี้จึงมาจากมุมมองของสังคมชาวอเมริกัน ที่เหมาเอาเองว่าเป็นความสนใจของคนทั้งโลก และที่มาของคำถามนี้เพราะในสังคมอเมริกันถกเถียงกันอย่างมากในเรื่องนี้ ที่มีการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลด้วยการนำข้อมูลของเราไปใช้ประโยชน์ต่อ ไม่ว่าจะเพื่อผลประโยขน์ทางการค้า ด้านสังคม และด้านการเมือง

ซึ่งกรณีของประธานาธิบดีทรัมป์นั้นก็ถูกตั้งคำถามว่า มีส่วนต่อการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่ได้รับอนุญาตจนทำให้ชนะการเลือกตั้งตามที่ปรากฏเป็นข่าว

สำหรับน้องฟ้าใส เธอตอบเป็นกลางๆ ว่า

“ฉันเชื่อว่าทุกๆ ประเทศนั้น รัฐบาลจะมีมาตรการหรือนโยบายที่จะรักษาความปลอดภัยของพวกเรา และฉันก็ยังเชื่อมั่นว่าความปลอดภัยนี้ไม่ควรข้ามเส้นของความเป็นส่วนตัว เพราะว่าเราทุกคนเองมีสิทธิ์ที่จะปกป้องความเป็นส่วนตัวของเราเอง อย่างไรก็ตาม ความปลอดภัยนั้นก็จำเป็นและสำคัญ ดังนั้น ฉันจึงเชื่อมั่นว่า การที่เราทุกคนจะสามารถอยู่ในสังคมที่ดีขึ้นได้นั้น รัฐบาลควรจะพิจารณาเรื่องขอบเขตของความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยให้พอเหมาะพอดีเพื่อความสงบสุขของสังคม”

ซึ่งไม่ได้บอกว่าที่เธอตอบไปนั้นดีไม่ดี ผิดหรือถูก เป็นหนึ่งในความคิดเห็นที่แสดงทัศนคติของผู้เข้าประกวดนั่นเอง

บางคนบอกว่าเพราะการตอบคำถามที่ไม่ดีพอนี้ของเธอ ทำให้เธออดก้าวลึกเข้าไปในรอบ 5 คนสุดท้าย

แต่หลายคนก็ให้กำลังใจว่าเธอทำดีที่สุดแล้ว และคนไทยก็ภาคภูมิใจในตัวเธอ

 

ทําไมผมถึงหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาพูด เพราะในกรณีของโควิด-19 ได้มีการจัดการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวที่ผมกำลังจะเล่าให้ฟัง

ในกระบวนการรับมือกับไวรัสร้ายนี้ ประเทศเกาหลีใต้เป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลกว่ามีการจัดการที่ได้ผลดีเยี่ยม สะท้อนได้จากยอดของผู้เสียชีวิตคือ 177 คน ซึ่งเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ติดเชื้อ 10,062 คนแล้วถือว่าต่ำมาก คือประมาณ 1.7% เท่านั้น (ข้อมูล ณ วันที่ 4 เมษายน)

ที่เป็นอย่างนี้เพราะผู้นำของเกาหลีใต้ได้ให้ความสำคัญกับโรคนี้ไวเป็นพิเศษ มีการเตรียมแผนในการรับมืออย่างเป็นระบบ และยุทธศาสตร์ที่นำมาใช้อย่างได้ผลคือ “ติดตาม ตรวจเชื้อ และรักษา”

ที่เกาหลีใต้ให้ความสำคัญกับความเร็วในการ “ตรวจเชื้อ” เป็นอย่างมาก เพราะจะได้ทราบจำนวนผู้ติดเชื้ออย่างแท้จริง และได้จัดกระบวนการรักษาได้ทันทีทันควัน

ดังนั้น กระบวนการแรกคือ “การติดตาม” จึงสำคัญมาก ซึ่งในการสืบหาผู้ติดเชื้อนี้ ได้ใช้ข้อมูลจากการใช้โทรศัพท์มือถือ การใช้จ่ายบัตรเครดิต ร่วมกับข้อมูลจากภาพวงจรปิด ทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเสี่ยงและควบคุมการแพร่เชื้อได้

สำหรับประเทศเยอรมนีแล้ว ก็ได้นำยุทธศาสตร์เดียวกับเกาหลีใต้มาใช้ จึงทำให้อัตราการเสียชีวิตของเยอรมนีมีอัตราที่ต่ำมาก

ยิ่งเมื่อดูจากประเทศจีน ประเทศต้นทางไวรัสร้ายแล้ว ก็ได้ให้ความสำคัญกับการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนอย่างมาก โดยการใช้เทคโนโลยีทางการสื่อสารที่ทันสมัยเป็นอาวุธในการเข้าถึงข้อมูลดังกล่าว ทุกคนจะต้องเข้าสู่แอพพลิเคชั่นของทางการ เพื่อติดตามการเคลื่อนไหว และอัพเดตอาการป่วยตลอดเวลา

นั่นทำให้ “รู้เขารู้เรา” ตามสุภาษิตจีนที่ทำให้นักรบเอาชนะศัตรูมานักต่อนักในหลายๆ ศึกสงคราม

หากจะว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลก็คงไม่ผิด…แต่เวลานี้ใครแคร์

 

เราคงเคยดูคลิปโดรนสอดแนมของจีนที่บินร่อนไปในเมืองใหญ่ แล้วมีเสียงสั่งการควบคุมคนที่ทำผิดคำสั่งของทางการอยู่ ข้อมูลของบุคคลนั้นได้ถูกบันทึกแล้วเรียบร้อยใน

สารบบของหน่วยงานที่รับผิดชอบ

ดูแล้วเหมือนในหนังฮอลลีวู้ดหลายเรื่องที่ดาวเทียมได้ทำการสืบค้น ติดตามบุคคลเป้าหมาย จนสามารถรู้แหล่งที่กบดาน รู้ความเคลื่อนไหว และจากข้อมูลการใช้อินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียที่เป็นปัจจัยที่ 5 ของทุกคนไปแล้ว ก็ทำให้ “ข้อมูลส่วนบุคคล” ไม่เป็นเรื่องส่วนบุคคลอีกต่อไปแล้ว

หากในภาวะปกติ เรื่องอย่างนี้เป็นที่ถกเถียงและถูกโจมตีกันอย่างมากมาย นักสิทธิมนุษยชนพากันทวงถามถึง “สิทธิมนุษยชนและ เสรีภาพ” ในระดับปัจเจกชน

แต่ในภาวะที่ไม่ปกติ เช่นที่โลกทั้งใบกำลังร่วมกันต่อสู้กับไวรัสร้ายนี้อยู่ จึงเหมือนว่าการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลนี้เป็นสิ่งถูกต้องที่ควรกระทำอย่างยิ่ง

ในประเทศอิตาลีและสเปน ที่มียอดของผู้ติดเชื้อด้วยตัวเลขที่ก้าวกระโดดอย่างมาก ก็ด้วยความไม่ระวัง ปนระแวงมากพอตั้งแต่ต้นที่จะสกัดยับยั้ง ไม่มีกระบวนการเข้าถึงข้อมูลเพียงพอที่จะติดตามผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเพื่อจะรับมือได้อย่างทันท่วงที

รัฐบาลอิตาลีและสเปนถูกทวงถามถึงหน้าที่ความรับผิดชอบอันใหญ่หลวงและสาหัสนี้ เพราะไม่เตรียมรับมือได้ฉลาดและเท่าทันพอ

แน่นอน การเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลเป็นความฉลาดในการจัดการที่สำคัญ

 

ในเมืองไทยเราเอง ทางการก็มีการจัดการเรื่องข้อมูลไม่น้อย แม้จะไม่ทันท่วงที และไม่ได้มีแผนในการรองรับแต่แรก แต่ก็รีบไหวตัว และพยายามสร้างระบบให้รองรับเรื่องนี้ด้วยวิธีต่างๆ

มาถึงตอนนี้ หากถามประชาชนว่า ระหว่าง “ข้อมูลส่วนบุคคล” กับ “ความปลอดภัย” แล้ว เขาเลือกอย่างไหน เชื่อว่าคนส่วนมากคงเลือก “ความปลอดภัย” มากกว่าในยามนี้

ดังจะเห็นได้จากผู้คนต่างสนใจไทม์ไลน์ของผู้ติดเชื้อ ว่าไปทำอะไรที่ไหนเมื่อไหร่ วันไหน และมีความเสี่ยงกับใครมากน้อยแค่ไหนบ้าง

ซึ่งถ้าเป็นก่อนหน้านี้ เป็นโดนตอกกลับว่าละเมิดเรื่องส่วนตัวแน่นอน

ในกรณีล่าสุดที่มีกลุ่มคนไทยร่วม 300 คนได้เดินทางกลับประเทศในภาวะที่มีการประกาศห้ามเดินทางเข้า-ออกเด็ดขาด และหลีกเลี่ยงการกักตัวดังที่เป็นข่าว

วันรุ่งขึ้นก็มีข้อมูลส่วนบุคคลถึงรายชื่อของผู้โดยสารทั้งหมดปรากฏขึ้นมาให้สังคมได้รู้ และเหมือนจะเข้าทำนอง “ตามล่าหาคนผิด” อย่างนั้น

แต่นั่นคือการถามหา “ความปลอดภัย” ที่พวกเขาทั้งหมดอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ยอดผู้ป่วยไวรัสโคโรนาเพิ่มขึ้นก็ได้

หากย้อนกลับไปบนเวทีประกวดมิสยูสิเวิร์สอีกครั้ง บางทีน้องฟ้าใสอาจจะมีคำตอบอื่นที่เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันมากกว่าที่เคยตอบก็เป็นไปได้

เมื่อโลกเปลี่ยน ทุกอย่างก็เปลี่ยน

และตัวเปลี่ยนที่สำคัญก็คือ “โรคร้ายไวรัสโควิด-19” ตัวดีนี่เอง