นิธิ เอียวศรีวงศ์ | นักรบในชุดขาว

นิธิ เอียวศรีวงศ์

“นักรบในชุดขาว” หมายถึงบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งมีหมอเป็นนายพล ทำไมหมอจึงต้องเป็นนายพล เพราะสมัยหนึ่งหมอมักมาจากครอบครัวที่มีสถานภาพทางเศรษฐกิจและ/หรือสังคมสูงกว่าบุคลากรประเภทอื่น หมอจึงต้องเป็นนายพลตามธรรมเนียมไทยๆ

แต่ประเด็นที่ผมอยากชวนคุยมากกว่า ต้องถามว่าทำไมหมอและบุคลากรทางการแพทย์จึงต้องเป็น “นักรบ” คำตอบก็คือ เพราะความพยายามที่จะป้องกันมิให้โควิด-19 แพร่ระบาดในสังคมไทยถูกพูดถึงด้วยความเปรียบของ “สงคราม”

มนุษย์ทำความเข้าใจ, เผชิญ และตอบสนองต่อสถานการณ์ใหม่ๆ ด้วยการจำลองสถานการณ์นั้นให้สอดรับกับประสบการณ์จริงของตนเอง ดังนั้น การระบาดระดับโลกของโควิด-19 จะถูกจำลองให้สอดรับกับประสบการณ์จริงของคนไทยได้หลายอย่าง แต่สังคมไทยเลือกจำลองด้วย “สงคราม”

เพราะอะไรผมก็ไม่ทราบแน่ ระหว่างสมมุติฐานสองอย่างคือ เพราะเมืองไทยถูกทหารกลุ่มหนึ่งยึดอำนาจไปหลายปีแล้ว หรือเพราะคนไทย โดยเฉพาะที่ได้รับการศึกษาเป็นทางการ ถูกสอนให้จำลองสถานการณ์ใหม่ด้วยสงครามมานานแล้ว จึงยอมปล่อยให้ทหารครองเมืองอยู่เรื่อยๆ

แต่การจำลองสถานการณ์ใหม่ด้วยประสบการณ์จริงมีผลอย่างมากต่อเรา นับตั้งแต่การทำความเข้าใจต่อสิ่งนั้น ไปจนถึงวิธีจัดการกับปัญหาใหม่

เพราะเป็น “สงคราม” เราจึงจัดการกับโควิด-19 เหมือนเป็นการจัดการสงคราม เช่น ใช้อำนาจ “ในสถานการณ์ฉุกเฉิน” คือให้อำนาจ “แม่ทัพใหญ่” สูงสุดในการสั่งการได้ทุกอย่าง และแก่ทุกฝ่าย โดยไม่ต้องถูกตรวจสอบใดๆ ร้ายกว่านั้นคือไม่ถูกตรวจสอบด้วยเหตุผลใดๆ ด้วย เพราะคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยเหตุผลของแม่ทัพ อาจเป็น “ค่ายกล” ที่ไม่ควรเผยแพร่ให้ใครรู้เป็นอันขาด จนกว่าจะรบชนะแล้วก็เป็นได้

ผมขอยกตัวอย่างรูปธรรม เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดบางคนสั่งการให้ต้องสวมหน้ากากอนามัยทุกคน ผู้ใดฝ่าฝืนก็จะถูกปรับในอัตราสูงถึงไม่เกิน 20,000 บาท (ซึ่งแปลว่าตำรวจจะปรับ 20 บาท หรือ 200 บาทก็น่าเกลียดเกินไป) รวมทั้งโทษจำคุกอีกด้วย นี่เป็นโทษทางอาญา ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดไม่มีอำนาจทางนิติบัญญัติทำได้เลย และน่าจะมีใครสักคนในจังหวัดนั้นท้าให้จับ เพื่อปฏิเสธอำนาจอันไร้ขีดจำกัดของผู้ว่าฯ

แต่ก่อนที่ผู้ว่าฯ จะถูกประชาชนท้าทายเช่นนั้น “แม่ทัพใหญ่” ผู้ได้อำนาจเด็ดขาดในสถานการณ์ฉุกเฉินก็ออกคำสั่ง ให้ถือว่ามาตรการใดๆ ที่เข้มข้นกว่ามาตรการซึ่งส่วนกลางได้สั่งมาแล้ว ก็ถือเป็นคำสั่งของตนเช่นเดียวกัน พูดง่ายๆ ก็คือ ทำให้คำสั่งของ ผบ.พัน ซึ่งผิดกฎหมาย กลายเป็นถูกกฎหมายตามคำสั่งของ “แม่ทัพใหญ่”

จึงเดาไม่ออกว่า ถ้าอย่างนั้นจะมี “ศูนย์” บัญชาการไปทำไม

สงครามทำให้การใช้อำนาจเด็ดขาด, กำลัง และการบังคับให้เชื่อฟังอย่างไม่ต้องถาม กลายเป็นธรรมชาติของชีวิต

แน่นอนว่าความพยายามจะควบคุมการระบาดของโรคต้องการความพร้อมเพรียง เช่น ถ้าการเว้นระยะห่าง ทั้งทางกายภาพและทางสังคม จะช่วยให้โรคระบาดได้ยากขึ้น ทุกคนก็ควรเว้นระยะห่าง เพื่อป้องกันตนเองและป้องกันคนอื่นไปพร้อมกัน หยุดทำกิจกรรมทางสังคมซึ่งมักโน้มนำให้ผู้คนมารวมตัวกัน สถานบันเทิงซึ่งมักดึงคนให้มาอยู่ร่วมกันจำนวนมากควรถูกปิดด้วยตนเอง หรือตามคำสั่งของรัฐ เช่นเดียวกับทุกคนควรสวมหน้ากากหรือสิ่งป้องกันอื่นๆ ที่จะไม่ให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายผ่านตา, จมูก และปาก ทุกคนควรล้างมือและรักษาความสะอาดของร่างกายและที่อยู่อาศัย บ่อยและพิถีพิถันกว่าปรกติ ฯลฯ

แต่จะทำให้ทุกคนทำอย่างนี้ได้อย่างไรในสงคราม ไม่มีทางอื่นนอกจากออกคำสั่งพร้อมทั้งระบุโทษผู้ฝ่าฝืนคำสั่งไว้พร้อมเสร็จ และมักเป็นโทษรุนแรงด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนจะปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดทั้งกองทัพ

หากยังได้ผลไม่เป็นที่น่าพอใจก็ออกคำสั่งให้เข้มข้นขึ้น เช่น สั่งปิดโน่นปิดนี่ จนกิจกรรมในชีวิตตามปรกติทุกอย่างแทบจะเป็นไปไม่ได้ ทำความเสียหายแก่เศรษฐกิจที่ทรุดหนักอยู่แล้วให้ทรุดยิ่งขึ้นไปอีก จนไม่รู้ว่าจะต้องใช้เวลาอีกนานเท่าไรจึงจะกู้คืนได้

ขึ้นชื่อว่า “สงคราม” ราคาย่อมแพงเสมอ ถึงชนะก็ต้องสูญเสียอย่างมาก แต่มีสมมุติฐานว่าถ้าแพ้ยิ่งแพงกว่าหรือต้องสูญเสียมากกว่า ด้วยเหตุดังนั้น ผู้นำสงครามจึงไม่พะวงกับความสูญเสียที่เกิดขึ้นแก่ผู้คน ทั้งที่จำเป็นและไม่จำเป็น

เช่น จะประกาศเคอร์ฟิวในช่วงกลางดึก ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่ออกจากบ้านไปทำไม ผลกระทบต่อคนเล็กคนน้อยที่ต้องทำมาหากินในช่วงนั้นจึงยิ่งแผ่ไพศาลออกไปโดยไม่จำเป็น นอกจากเป็นการแสดง “ท่าที” ของแม่ทัพว่า เอาจริงนะโว้ย อันเป็นท่าทีซึ่งจำเป็นต้องแสดงแก่กองทัพในยามสงครามแน่

หมอกระทรวงสาธารณสุขประกาศว่า ส่วนใหญ่ของการติดเชื้อมาจากครอบครัวหรือบ้านเรือน แต่ในท่ามกลางความสำเร็จตามเป้าหมายหลายอย่าง (เช่น สัดส่วนของผู้ใช้หน้ากากที่สูงเกิน 80%) การเว้นระยะห่างในบ้านเรือนกลับไม่สำเร็จตามเป้า และกำลังคิดหามาตรการเด็ดขาดเพื่อทำให้เกิดขึ้นให้ได้

จะทำอย่างไรผมก็เดาไม่ออก แต่คิดว่าเมืองไทยน่าจะมีตัวเลขเฉลี่ยของพื้นที่เป็นตารางเมตรของแต่ละคนในอาคารบ้านเรือน ที่อาจพบเห็นได้เองจำนวนไม่น้อย อยู่กัน 4-6 คนในห้องเช่าไม่เกิน 25 ตารางเมตร จะเอาระยะห่าง 2 เมตรตามต้องการมาจากไหน?

แต่ในสงคราม ทหารทุกคนต้องทำตามคำสั่งได้เสมอ ไม่ว่าคำสั่งนั้นจะสมเหตุสมผลตามความเป็นจริงมากน้อยเพียงไร เพื่อเป้าหมายเดียวกันคือชัยชนะ

แม้แต่ “ชัยชนะ” ก็ไม่ใช่สิ่งเดียวกันในความพยายามต่างๆ ของมนุษย์ สงครามนิยาม “ชัยชนะ” ของตนไว้อย่างหนึ่ง ซึ่งมีผลต่อปฏิบัติการเพื่อบรรลุเป้าหมายด้วย แต่ธุรกิจ, การแพทย์, การศึกษา, การพยากรณ์อากาศ ฯลฯ ล้วนนิยาม “ชัยชนะ” ของตนต่างออกไป ซึ่งแน่นอนว่าย่อมมีผลต่อปฏิบัติการของตนด้วย เช่น ต้องคำนึงถึง “ต้นทุน” ที่ต้องจ่ายเพื่อบรรลุผลเสมอ

ตรงกันข้ามกับ “สงคราม” ถ้าเราจำลองประสบการณ์อื่นที่ไม่ใช่สงครามในการเผชิญกับโควิด-19 ครั้งนี้ การจัดการทั้งหมดก็จะแตกต่างไปจากความเด็ดขาด ความบ้าเลือดอย่างไม่ต้องคำนึงถึงต้นทุน ไร้การตรวจสอบและไร้เหตุผล

ผมขอยกตัวอย่างเช่น ใช้ความเปรียบว่าเป็นอุบัติเหตุที่ควายหรือช้างของเราตกไปในหล่มโคลน จะช่วยควายหรือช้างของเราให้รอดตายได้อย่างไร แม้สามารถระดมรถเครน รถแบ๊กโฮ รถดัมพ์ ฯลฯ มาพร้อมสรรพแล้วก็ตาม

ลากขามันขึ้นมา ก็อาจถึงขาขาดหรือกระดูกเคลื่อนจนพิการใช้งานไม่ได้ตลอดไป ลากคอก็อาจถึงตายคาที่หรือพิการชนิดที่สมองสั่งการอวัยวะอื่นไม่ได้อีกเลยตลอดชีวิต วิธีเดียวคือเอาสายพานผ้าใบลอดใต้ท้องของสัตว์แล้วยกขึ้นพร้อมกันทั้งตัว แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าจะเอาสายพานไปลอดใต้ท้องของมันได้อย่างไร

คงต้องประชุมปรึกษาหารือกันอย่างรวดเร็วก่อนที่มันจะจมโคลนไปมากกว่านี้ และคงต้องฟังคำแนะนำจากผู้คนอย่างกว้างขวาง ทั้งชาวนาและ/หรือควาญช้าง ตลอดไปจนถึงคนดูดส้วม ในที่สุดก็ต้องเลือกเอาวิธีใดวิธีหนึ่ง และลำดับก่อนหลังให้ชัดเจนว่าจะเริ่มที่วิธีใดจึงจะช่วยสัตว์นั้นได้

โดยสรุปก็คือ ช้างหรือควายนั้นควรรอดตาย แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องใช้วิธีที่ทะนุถนอมให้มันรอดตายได้โดยไม่พิการไปพร้อมกัน ชัยชนะของความพยายามนี้มีมากกว่าเอาสัตว์ขึ้นมาจากหล่มโคลน (ซึ่งเป็นชัยชนะของสงคราม คือทำให้ข้าศึกแพ้ด้วยวิธีใดก็ได้) แต่ต้องรวมถึงสวัสดิภาพของทุกฝ่ายไว้ในชัยชนะด้วย

ต้องคิดให้รอบคอบว่ามาตรการแต่ละอย่างที่จะใช้จำเป็นจริงหรือไม่ การตั้งเงื่อนไขว่าคนไทยจะกลับบ้านจากต่างประเทศต้องมีเอกสารรับรองทางการแพทย์ก็ตาม การเคอร์ฟิวกลางดึกก็ตาม การปิดห้างก็ตาม ฯลฯ ล้วนเป็นการเอารถเครนไปดึงอวัยวะบางอย่างของสัตว์ขึ้นจากหล่มโคลน ถึงได้สัตว์กลับคืนมาก็กลายเป็นสัตว์พิการหรือเป็นซากศพเท่านั้น แต่มาตรการที่จำเป็นอย่างแท้จริง เช่น การกักตัวผู้เดินทางจากประเทศกลุ่มเสี่ยงที่ได้ผลจริงต้องทำให้สำเร็จ และจะสำเร็จได้ก็ต้องได้รับความร่วมมืออย่างเต็มใจจากผู้ถูกกักตัว

เช่นเดียวกับต้องทำให้ควายหรือช้างที่ตกหล่มโคลนสงบลงไม่ตื่นตระหนก เพราะจะยิ่งทำให้จมลงไปเร็วขึ้น การสร้างความสงบแก่ “เหยื่อ” จึงมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการตัดวงจรการแพร่เชื้อ

ดังที่กล่าวในตอนต้นแล้วว่า ผมไม่ทราบว่าภาพจำลองของ “สงคราม” เคลื่อนเข้ามาครอบงำการบรรเทาการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างไร เพราะทหารครองเมือง หรือเพราะจิตใต้สำนึกของเมืองเองชอบการครองของทหาร

โดยส่วนตัว ผมออกจะให้น้ำหนักแก่อย่างหลังมากกว่า เพราะการศึกษาไทยตั้งอยู่บนไม้เรียว (การลงโทษ – ทางกาย, ทางสังคม เช่น การประณาม, ทางเศรษฐกิจเช่น ริบเงินริบสมบัติส่วนตัว ฯลฯ) และ “เนื้อหา” ของการสอนซึ่งรวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์ด้วย ล้วนสอนให้คนไทยเชื่ออย่างแน่นแฟ้นว่า อำนาจแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง และอำนาจนำไปสู่ความสำเร็จตามความปรารถนาได้ทุกอย่าง

นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ได้เป็นแม่ทัพใน “สงคราม” โควิดระยะแรกๆ ล้วนเปลี่ยนตนเองจากนักหาเสียง กลายเป็นนักเลงกร่างปากซอยไปทันที จนกระทั่ง พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินนี่แหละ ที่ปลดพวกเขาไปเป็นแค่เสมียนตรา จึงสงบปากสงบคำลงได้

เหตุใดแม่ทัพจึงต้องกร่าง ก็เพราะอาการกร่างคืออาการของอำนาจ ปราศจากอำนาจจะนำทัพได้อย่างไรเล่า แต่ทำไมภัยทางสาธารณสุขจึงกลายเป็นสงครามไปได้

ระวัง “นักรบในชุดขาว” ด้วย บัดนี้ “สงคราม” ได้นำพวกเขาเคลื่อนเข้ามาอยู่ใกล้แม่ทัพใหญ่แล้ว