ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3 - 9 เมษายน 2563 |
---|---|
คอลัมน์ | กาแฟดำ |
ผู้เขียน | สุทธิชัย หยุ่น |
เผยแพร่ |
ทุกวันนี้เราได้ยินคำว่า disruption จนกลายเป็นประเด็นที่ทุกวงการให้ความสนใจมากขึ้น
แต่น้อยคนจะรับรู้ว่ามันเกี่ยวกับตัวเองอย่างไร…จนถึงวันที่หัวหน้างานมาบอกว่าตำแหน่งที่ตนทำอยู่นั้นกำลังจะถูกยุบเพราะไม่มีความจำเป็นจะต้องมีอยู่อีกต่อไป!
แม้ความ “ป่วน” ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีจะปรากฏตัวให้เห็นชัดเจนมากขึ้นทุกวัน แต่ความตระหนักจริงๆ ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในวิธีคิด, วิธีการทำงานและการประเมินผลงานทั้งหลายทั้งปวงก็ยังอยู่ในระดับต่ำ…ถึงต่ำมาก
จึงเป็นที่มาของคำเตือนที่ว่า “ถ้าคุณไม่ป่วนตัวเอง คุณก็จะถูกป่วนคุณอยู่ดี”
Disrupt yourself, or you will be disrupted.
อีกนัยหนึ่ง “ถ้าคุณไม่เปลี่ยน, คุณก็จะถูกเปลี่ยน”
หลายคนบอกว่า ที่ไม่เปลี่ยนหรือเปลี่ยนไม่ทันนั้นเป็นเพราะตามไม่ทันเทคโนโลยี
ความจริงเทคโนโลยีเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของปรากฏการณ์ที่กำลังเขย่าโลกอย่างหนักหน่วงและรุนแรงเท่านั้น
สาเหตุที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ยากทั้งๆ ที่เห็นภัยคุกคามแห่งความผันแปรนั้นขยับเข้ามาอย่างชัดเจนคือเรื่องของ mindset
คำนี้แปลว่า “วิธีคิด” ก็ได้ หรือจะเรียกมันว่าเป็น “ทัศนคติก็ได้” แต่ไม่มีคำแปลภาษาไทยที่สะท้อนถึงความหมายที่แท้จริง
คำว่า mindset หมายถึงระบบความคิดและวิธีการมองสิ่งที่มาเกี่ยวข้องโยงใยกับชีวิตคุณ
ถ้าคุณอยู่ใน “ดินแดนที่คุ้นเคย” หรือ comfort zone มายาวนาน การตัดสินใจเปลี่ยนวิธีคิดและการทำงานเป็นเรื่องยากเย็นยิ่ง
ยากเกินกว่าที่ตัวเราเองจะยอมรับด้วยซ้ำไป
ดังนั้น โดยธรรมชาติของมนุษย์ ทันทีที่มีสิ่งใหม่ๆ ที่มาคุกคามวิถีชีวิตเดิมของตัวเอง ปฏิกิริยาแรกก็จะเป็นการปฏิเสธ, ไม่ยอมรับ และต่อต้าน
เพราะสัญชาตญาณของคนจะกลัวว่าอะไรที่มาใหม่จะมาทดแทนตัวเอง ทำให้ความสำคัญของตนน้อยลง และความกลัวลึกๆ ก็คือสิ่งที่ตัวเองทำ หรือบทบาทที่ตนมีมาตลอดนั้นจะถูกทดแทน
ดังนั้น บ่อยครั้งคนที่ต่อต้านสิ่งใหม่ๆ ไม่จำเป็นต้องเห็นว่าของใหม่นั้นๆ ดีหรือไม่ดีกว่าของเดิม
แต่ที่คัดค้านนั้นมาจากความกลัวที่ตนเองจะถูกเบียดตกไปจากบทบาทเดิมมากกว่า
จึงเป็นที่มาของการหาข้ออ้างที่จะไม่เปลี่ยนไม่ปรับมากกว่าที่จะหาเหตุผลที่จะละทิ้งของเดิมเพื่อแสวงหาสิ่งใหม่ๆ ที่อาจจะทำให้ประสิทธิภาพดีขึ้นหรือสร้างคุณภาพใหม่ที่ดีกว่าของเดิม
ไม่ต้องมองย้อนกลับไปยาวนานนักก็จะเห็นยักษ์ใหญ่ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นผู้ครองตลาดอย่างมั่นคงยั่งยืนถูกโค่นโดย startup เล็กๆ ที่มีคนทำงานเพียงไม่กี่คนภายในไม่กี่ปี
ตัวอย่างของโกดัก, ฟูจิ, โซนี, ไอบีเอ็ม, อิริเดียม, บริเตนนิก้า, โนเกีย…
ล้วนแล้วแต่เป็นตัวอย่างของ “ยักษ์อหังการ” ที่ไม่ยอมรับว่ากำลังถูกท้าทายโดยเทคโนโลยีและนวัตกรรมของคนรุ่นใหม่ที่ถาโถมเข้ามาแบบ Perfect Storm ที่โหมกระหน่ำอย่างรุนแรงจนอยู่ไม่รอด
ปี 2007 บริษัทที่มีมูลค่าสูงสุดของโลกเรียงตามลำดับคือ
ExxonMobil, GE, Microsoft, PetroChina, Shell, Citigroup, AT&T, Gazprom, BP, Toyota, Bank of America, China Mobile, HSBC, ICBC, Walmart
ผ่านมาเพียงสิบปีในปี 2017 ลำดับของบริษัทที่มีมูลค่าสูงสุดเรียงใหม่เป็นอย่างนี้
Apple, Alphabet, Microsoft, Facebook, Amazon, Berkshire Hathaway, Alibaba, Tencent, Johnson-Johnson, ExxonMibil, JP Morgan, ICBC, Samsung, Nestle, Wells Fargo
เห็นชัดเจนว่าบริษัทที่แซงหน้าธุรกิจดั้งเดิมมายืนตระหง่านอยู่แถวหน้านั้นเป็นบริษัทประเภท Tech
และธุรกิจที่นำโดยเทคโนโลยีเหล่านี้ได้เขย่าหรือ transform รูปแบบของธุรกิจไปโดยสิ้นเชิง
Alphabet ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Google ทำธุรกิจอะไร?
ธุรกิจบริการค้นหาข้อมูลหรือ Search Engine นั้นก่อนหน้าไม่กี่ปียังไม่มีตัวตนในแวดวงอุตสาหกรรมใด ใครต้องการข้อมูลต้องไปค้นในเว็บไซต์ของเรื่องนั้นๆ หรือก่อนหน้านั้นการจะได้ข้อมูลลึกๆ ต้องไปค้นในสารานุกรมหรือ encyclopedia ซึ่งออกปีละครั้ง เป็นชุดหลายสิบเล่ม ซื้อขายกันในราคาหลายหมื่นบาท
สมัยนั้น สารานุกรมคือสุดยอดแห่งความน่าเชื่อถือ คนเขียนเป็นคณะนักวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านนั้นๆ …และจะมีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมหรือ update ข้อมูลปีละครั้งเดียวเท่านั้น
ขอย้ำว่าปีละครั้งเท่านั้น!
แต่สารานุกรมก็ถูก “โค่น” จนกลายเป็นวัตถุโบราณเกือบจะชั่วข้ามคืนเมื่อเกิดเว็บไซต์ที่ชื่อว่า Wikipedia ซึ่งประกาศตนเป็นศูนย์รวมข้อมูลของประชาชนทั่วโลก
Wikipedia เปิดให้ทุกคนที่มีความรู้ด้านใดด้านหนึ่งมาร่วมกันเขียน, เพิ่มเติม, แลกเปลี่ยนและตรวจสอบแก้ไขจนได้เนื้อหาครบถ้วนเพราะมีการวิเคราะห์และวิพากษ์วิจารณ์โดยคนต่างๆ ที่มีความรู้และประสบการณ์ของตน
เขาเรียกมันว่า crowdsourcing หรือการให้ฝูงชนเป็นผู้นำเสนอ, ตรวจตรา, แก้ไขและเพิ่มเติมเสริมแต่งให้สมบูรณ์
ที่สำคัญคือเนื้อหาสาระของ Wikipedia มีการแก้ไขปรับปรุงกันตลอดเวลา บางครั้งนาทีต่อนาทีด้วยซ้ำไป ขณะที่สารานุกรมนั้นเมื่อตีพิมพ์จำหน่ายแล้วก็แก้ไขอะไรไม่ได้ ต้องรอให้มีการออกหนังสือเล่มใหม่เป็นการ “ปรับปรุงให้ทันสมัย” หรือ update ในปีถัดไปเท่านั้น
ความแตกต่างประการสำคัญกว่าเรื่องเนื้อหาที่หลากหลายและ “มวลชน” สามารถตรวจสอบแก้ไขได้ก็คือ
มันเป็นบริการฟรี
รูปแบบเก่าต้องใช้เวลา, ต้องเป็นกระดาษ, ต้องหาซื้อ, ต้องรอให้ตีพิมพ์เสร็จก่อน
รูปแบบใหม่ไม่ใช้กระดาษ, อ่านได้จากคอมพิวเตอร์ (และต่อมาในมือถือ) ได้ตลอด 24 ชั่วโมง, มีการปรับแก้ให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา…และไม่มีค่าบริการใดๆ เลย
นี่คือตัวอย่างยืนยันว่าไม่ว่าคุณจะเคยเป็นยักษ์ใหญ่แค่ไหนคุณก็ล่มสลายได้ต่อหน้าต่อตา
ไม่ว่าคุณจะเคยประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่มาก่อน เคยครองตลาดไร้คู่แข่ง ทุกคนที่ต้องการบริการอย่างนี้ต้องมาหาคุณแต่หากคุณไม่คอยเกาะติดสัญญาณที่อาจจะมีคู่แข่งโผล่มาจากทุกทิศทางได้ คุณก็มีสิทธิที่จะกลายเป็นประวัติศาสตร์ได้ในฉับพลัน
ที่สำคัญคือการลงทุนของธุรกิจเก่าสูงมาก…ต้องใช้คนมาก…และมีขั้นตอนกระบวนการที่ยุ่งยากซับซ้อน
แต่ในยุคสมัยดิจิตอล การลงทุนต่ำ ใช้คนน้อย มุ่งแสวงหาเทคโนโลยีที่สามารถ disrupt ธุรกิจเก่าได้อย่างได้ผล
และที่สำคัญที่สุดคือการสามารถตอบโจทย์ของผู้บริโภคในยุคสมัยใหม่…คือสนองความต้องการที่ได้ของดีราคาถูก anywhere, anytime
นั่นหมายถึงการเข้าถึงผู้บริโภคทุกสถานที่, ตลอดเวลาโดยไม่มีข้อจำกัดทางด้านเวลา, สถานที่และราคา
ทั้ง Google และ Facebook ได้เข้ามาสร้างความปั่นป่วนให้กับอุตสาหกรรมมีเดียและโฆษณาแบบดั้งเดิมอย่างรุนแรง จนส่วนแบ่งการตลาดในอุตสาหกรรมสองด้านนี้ระดับโลกรวมกันสูงถึง 25% จากมูลค่ารวมเกือบ 20 ล้านล้านบาท
นั่นเท่ากับ 61% ของมูลค่าตลาดโฆษณาออนไลน์ของโลก
ผลกระทบโดยตรงคือรายได้ของทีวี, หนังสือพิมพ์, วิทยุ, เอเจนซี่โฆษณาและบริษัทโทรคมนาคมที่ต้องค่อยๆ ลดขนาด, ล้มหายตายจาก, ล้มละลายและปิดกิจการไป
ที่ผมประสบด้วยตนเองในแวดวงการทำทีวีก็คือการถูก disrupt โดย Facebook
แต่ก่อนนี้ สถานทีโทรทัศน์ใดจะ “ถ่ายทอดสด” นอกสถานที่จะต้องมีรถคันใหญ่ที่เรียกว่า OB (Outdoor Broadcasting) ซึ่งอุปกรณ์และบุคลากรมากมาย
ไม่ว่าจะเป็นกล้องทีวีไม่น้อยกว่า 3 กล้องและอุปกรณ์ตัดต่อ สายไฟ ระบบเสียง สายเคเบิล และบุคลากร เช่น ช่างภาพ, ช่างตัดต่อ, ผู้กำกับ, ช่างเสียง, ช่างแสง, คนขับ, นักข่าว, พิธีกร …รวมกันแล้วโดยเฉลี่ยทีมละไม่ต่ำกว่า 15 คน
การถ่ายทอดสดแม้จะเพียง 2-3 นาทีจะต้องซื้อเวลาดาวเทียม จ่ายกันเป็นนาทีเพื่อส่งสัญญาณกลับเข้าห้องส่งก่อนจะออกอากาศสดๆ ได้
ถือเป็นความตื่นตาตื่นใจสำหรับคนดูทีวีที่ได้เห็น “ภาพเหตุการณ์สดๆ”
การถ่ายทอดสดจึงเป็นการแข่งขันที่ดุเดือดเลือดพล่านในหมู่คนทำทีวี
น้อยคนจะรู้ว่าค่าใช้จ่ายแต่ละครั้งในการถ่ายทอดสดเช่นนั้น รวมถึงซื้อเวลาดาวเทียม และค่าโสหุ้ยทั้งสิ้นทั้งปวงนั้นไม่น้อยกว่า 200,000-300,000 บาท
ยิ่งถ้าถ่ายทอดสดยาว ต้องเกาะติดข่าวร้อนๆ กันครึ่งค่อนวัน ก็ยิ่งจะต้องเตรียมจ่ายเงินเพิ่มอีกเป็นเงาตามตัว
วันดีคืนดีหลังจากมี Facebook ธรรมดามาได้สามสี่ปี มีนักข่าวคนหนึ่งยื่นมือถือมาให้ผมดูแล้วบอกว่า
“ตอนนี้ Facebook สามารถ Live ได้แล้ว….ถ่ายทอดสดได้ทันทีจากมือถือ”
ได้ยินครั้งแรก ผมไม่เชื่อหูตัวเอง จึงให้นักข่าวคนนั้นทำให้ดู…และมันทำได้จริงๆ
นาทีนั้นผมบอกตัวเองว่า “คนทำทีวีเตรียมตัวรับพายุครั้งใหญ่ได้แล้ว”!
ต่อมาอีกไม่กี่ปี พายุหนักหน่วงรุนแรงก็ถาโถมมาจริงๆ
พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 31 พ.ค. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่