ลดเงินเดือนผู้บริหาร ก่อนปลดพนักงาน | ธุรกิจพอดีคำ

บริษัทเราจะทำอย่างไรดี?

เชื่อเหลือเกินว่า นี่เป็นเสียงในหัวของผู้บริหารและเจ้าของธุรกิจทุกคน

ในช่วงสถานการณ์ที่ยากลำบากของ COVID-19 แบบทุกวันนี้

รายได้ไม่เข้า ลูกค้ายกเลิกงาน

รายจ่ายเท่าเดิม

ค่าเช่า ค่าพนักงานที่ต้องดูแล ต่างๆ นานา ค่าดอกเบี้ยเงินกู้

ปวดสมอง นอนไม่หลับ

หันไปทางไหนก็เจอแต่ปัญหา

แล้ววิกฤตครั้งนี้จะยาวไปอีกแค่ไหนล่ะ

พนักงานของเรา เราก็อยากจะดูแลให้ดีที่สุด

ให้เขาพักงาน แล้วเราจะจ่ายเงินเดือนเขาอยู่มั้ย จ่ายเท่าไร

บริษัทของเราที่ไม่มีรายได้ ยังจะต้องจ่ายอีกจริงหรือ

แล้วถ้าไม่จ่ายล่ะ

พนักงานของเราจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายค่าอาหาร ค่าเทอมลูก

ตัวเองก็ลำบากอยู่แล้ว

พนักงานที่ช่วยกันสร้างบริษัทมาก็ทิ้งไม่ได้

ทั้งหมดนี้ เจ้าของบริษัทและผู้บริหารจะพอทำอะไรได้บ้าง

วันนี้ลองมาพูดคุยกันครับ

แน่นอนว่า สถานการณ์ COVID-19

ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดข้ามคืน แล้วหายไปสัปดาห์หน้า

วิกฤตนี้ยาวๆ ไปถึงสิ้นปีแน่นอน

บรรยากาศที่ผู้คนต้องอยู่บ้านนั้น

ส่งผลกระทบต่อธุรกิจมากมายหลายแขนง

เมื่อเดินทางออกนอกประเทศไม่ได้

บริษัททัวร์ สายการบิน โรงแรม รายได้จึงหายไป 90%

ต่อมาที่ร้านค้า ห้างร้านต่างๆ ร้านอาหารทั้งหลาย

มหรสพ สัมมนา ฝึกอบรม กิจกรรมนอกสถานที่

ทุกอย่างหายเกลี้ยง

ห่วงโซ่การบริการก็ได้รับการยกเลิกเป็นทอดๆ

อะไรที่มนุษย์จะต้องบริการมนุษย์

ช่วงนี้ถูกสั่งห้าม ทำให้รายได้ไม่เข้า

เมื่อรายได้ไม่เข้ามาตามแผน

แต่รายจ่ายเท่าเดิม

รายจ่ายที่ไม่ว่าจะขายของได้ ขายของไม่ได้ ก็ต้องจ่าย

เช่น ค่าเช่าที่ ดอกเบี้ย และเงินเดือนพนักงาน

สองอย่างแรก ช่วงนี้มีผู้ให้เช่า ธนาคาร ออกนโยบายมาช่วยบ้างแล้ว

ลดค่าเช่า พักดอกเบี้ย พักเงินต้นคืน ทำให้พอทุเลา

แต่ “เงินเดือน” พนักงานนี่สิ

หลายแห่งต้องเปิดอกคุยกับพนักงาน

ถ้าเราจะผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน เราก็ต้องช่วยกัน

พนักงานหลายแห่งเลือกที่จะลดเงินเดือนตัวเองลง ช่วยเหลือเถ้าแก่ของตน

หวังว่ามีงานทำอยู่ มีสวัสดิการ ลดความเสี่ยงของการใช้ชีวิตในช่วงนี้

ก็เป็นวิธีหนึ่งที่เถ้าแก่และพนักงานหลายที่ตกลงปลงใจร่วมกัน

องค์กรหลายแห่งเริ่มมีการ “ปลดพนักงาน” ออก

ใจก็ไม่อยากทำ แต่ก็กลัวบริษัทจะอยู่ไม่ได้

ก่อนเอาคนออก ซึ่งหลายแห่งบอกว่าเป็นสิ่งสุดท้ายที่จะทำ

อย่าลืมว่า ผู้บริหารทำได้หนึ่งอย่าง

นั่นคือ “ลดเงินเดือนตัวเอง”

แล้วเอาส่วนของเงินเดือนตัวเอง ตั้งเป็นกองทุน

เยียวยา “พนักงานระดับล่าง” ให้เขาสามารถฟันฝ่าช่วงนี้ไปได้

เชื่อว่า ผู้บริหาร เจ้าของส่วนใหญ่ ยังมีสินทรัพย์ที่เก็บไว้อยู่บ้าง

ธุรกิจจะเจ๊ง ยังไงก็ไม่มีอดตาย ยังมีกิน ยังออกไปห้าง ใช้ชีวิตได้

แต่ “พนักงาน” ระดับปฏิบัติการส่วนใหญ่นั้น

รายได้ รายจ่าย เดือนชนเดือน

การที่รายได้ขาดหายไป นั่นคือ “ออกซิเจน” ของชีวิตที่ถูกตัด

การช่วยเหลือเยียวยาจึงสำคัญ

จริงอยู่ว่า ในยามที่บริษัทลำบาก การลดค่าใช้จ่ายเป็นสิ่งสำคัญ

และ “เงินเดือน” พนักงานนี่แหละที่เป็นปัญหา

หากแต่ผู้บริหารท่านใดในช่วงนี้

ที่เป็นคนเคาะ “ปลดคนงาน” เพื่อหวังจะให้ผลประกอบการบริษัทยังพอไปได้

เพื่อจะมีคำตอบไปพูดกับคณะกรรมการบริษัท ให้เขาชื่นชมความสามารถในการบริหารตัวเลข

ได้โปรดพิจารณาลด “เงินเดือน” ก้อนโตของพวกท่าน

พร้อมตัดโบนัส ข้าบริวารของตัวเองออกให้หมดก่อน

ท่านอาจจะไม่ได้รายได้เท่าเดิม อาจจะรู้สึกไม่สะดวกสบายเหมือนเดิม

แต่ “พนักงานที่ถูกปลด” นี่แหละ ที่จะต้องลำบากออกไปหาเช้ากินค่ำ

ในภาวะแบบนี้ ยากมากที่จะหางานใหม่

คนจะตกงานกันมากมาย

เป็นภาระของภาครัฐที่จะต้องใช้งบประมาณของประเทศออกมาดูแลกันอีก

เพราะฉะนั้นแล้ว ก่อนจะตัดสินใจ “ลดค่าใช้จ่าย” ส่วนอื่นๆ ให้เต็มที่

อย่าลืมครับ อย่าลืม

ผู้บริหารที่เป็นฮีโร่ช่วงนี้คือ “ลำบาก” ไปพร้อมๆ กับลูกน้อง

ลำบากมากกว่าลูกน้อง

มิใช่ “บริหาร” บนตัวเลขตามสไตล์โรงเรียนบริหารธุรกิจ

บริหารแบบ “ไม่มีหัวใจ”

เชื่อเถอะครับ

วิกฤตนี้ถ้าคุณพาองค์กรคุณฟันฝ่ามันออกไปได้

ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับพนักงานของคุณ

โอกาสในการสร้าง “วัฒนธรรม” ที่ดีในองค์กร

ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ที่ไม่เคยเกิดขึ้น

ก็จะเกิดแก่องค์กรของคุณครับ

เป็นกำลังใจให้ทุกท่านครับ