คำ ผกา | โง่ บ้า ล่าแม่มด

คำ ผกา

คนไทยไม่มีความรับผิดชอบ

คนไทยไม่มีจิตสำนึก

คนไทยเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม

คนไทยไม่มีวินัย

เราคงได้ยินประโยคเหล่านี้กันครั้งแล้วครั้งเล่า ยิ่งในช่วงที่ทุกคนตระหนกกับการระบาดของโควิด-19 ตอนนี้คำว่า วินัย จิตสำนึก ก็ยิ่งถูกนำมาใช้อย่างเปล่าเปลืองขึ้นจนน่าตระหนก

และเราก็รู้สึกว่ามันจริง มันใช่ มันใช้อธิบายความล้าหลังไม่พัฒนาของประเทศไทย สังคมไทยได้จริงๆ

และทุกครั้งที่เกิดวิกฤตอะไรมาสักอย่างในประเทศไทย เราจะได้ยินผู้นำรัฐบาล สื่อ คนที่มีหน้ามีตาในสังคมร่วมกันประสานเสียงออกมาชี้แนะแก่สังคมว่า

“ขอเพียงแต่คนไทยร่วมแรงร่วมใจ สามัคคีกัน ให้ความร่วมมือกับรัฐบาล สละความสุข ความสบายส่วนตัวเพื่อส่วนรวม ช่วยกันคนละไม้คนละมือ เราก็จะผ่านวิกฤตนี้ไปได้ คนไทยเราไม่ทิ้งกัน คนไทยเรามีน้ำใจ ไม่เหมือนที่ไหนในโลก บลา บลา บลา”

จากนั้นเราก็จะเชื่อว่า ถ้าคนไทยเสียสละมากพอ ประเทศไทยต้องชนะแน่ๆ เลย

ในฐานะของคนที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในประเทศญี่ปุ่น ประเทศที่คนไทยมองว่า คนของเขามีระเบียบวินัยสุด เพราะคนมีวินัยเช่นนี้ประเทศเขาจึงเจริญก้าวหน้า

ในฐานะที่เคยอยู่ญี่ปุ่นมานาน ฉันพยายามจะอธิบายกับสังคมไทยมาโดยตลอดว่า วินัยของคนญี่ปุ่นนั้น ไม่ได้เกิดจากการที่คนญี่ปุ่นมีพันธุกรรมแห่งการมีวินัย หรือโรงเรียนญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการสอนคนญี่ปุ่นให้มีวินัย

แต่สังคมที่คนมีวินัย เคารพกฎ ระเบียบ ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น นั้นเกิดจากการออกแบบ “สิ่งแวดล้อม” ให้การทำตามกฎจะก่อให้เกิดประโยชน์และความสะดวกสบายแก่ชีวิตมากกว่าการฝ่าฝืนกฎ

เช่น ในญี่ปุ่น ไม่มีใครขี่รถมอเตอร์ไซค์ย้อนศร ไม่ใช่เพราะคนญี่ปุ่นมีวินัย เคารพกฎจราจร แต่เป็นเพราะเขาออกแบบถนน เมือง และการจราจรให้การขี่รถย้อนศรไม่มีประโยชน์ ไม่มีความจำเป็น

ในญี่ปุ่นทุกคนข้ามถนนบนทางข้ามหรือทางม้าลาย ไม่ใช่เพราะเขามีวินัย แต่เป็นเพราะเขาออกแบบถนน สี่แยก ให้การเคลื่อนตัวของรถ และการเดินเท้า รวมถึงการใช้จักรยานของผู้คนสัมพันธ์กันอย่างเป็นจังหวะจะโคน รวมไปถึงการออกแบบระยะของสี่แยกและทางข้าม ทางม้าลายต่างๆ

ดังนั้น การข้ามถนนที่ทางข้ามหรือทางม้าลาย จึงทั้งง่าย สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยเสียจนการไปวิ่งข้ามถนนที่ไม่ใช่ทางข้ามนั้นเป็นการกระทำที่โง่สิ้นดี ดังนั้น การที่เราไม่ละเมิดกฎ ไม่ใช่เพราะเรากลัวโดนจับ แต่เราไม่ทำ เพราะถ้าเราทำปุ๊บ เราจะดูโง่มาก บ้ามาก

และโอกาสที่จะตายมีสูงมาก

ตรงกันข้าม การข้ามถนนตรงทางข้าม ทางม้าลาย กับการข้ามถนนไปเรื่อยตามอำเภอใจในบ้านเรา แทบไม่มีความแตกต่างกันในเรื่องความสะดวก ความปลอดภัย

หนักไปกว่านั้น การพยายามข้ามถนนตรงทางม้าลายในเมืองไทย ยังทำให้เราเครียด

เครียดเพราะกูยืนอยู่ตรงทางม้าลายแล้ว ทำไมจึงไม่มีรถคันไหนเห็นหัวกูเลย

และการไปยักแย่ยักยันอยู่บนทางม้าลาย เสี่ยงตาย ก็ยิ่งทำให้เราสงสัยกับตัวเองว่า ไอ้การพยายามทำในสิ่งที่ถูกต้องนี่มัน “ถูก” แล้วเหรอวะ?

ในทางกลับกัน มองไปที่หัวอกคนขับรถ การที่เขาไม่จอดให้คนข้ามตรงทางม้าลาย

ก็เพราะเราไม่ได้ออกแบบถนนเพื่อให้คนจอดได้โดยไม่ต้องลังเล

การที่รถยนต์แทบจะจอดไม่ได้เมื่อเจอทางม้าลาย ก็เพราะรถถนนมันไหลอยู่ตลอดเวลาจนไม่มีจังหวะจะจอด

แล้วเมื่อไหร่ที่มี “ผู้กล้า” ตัดสินใจจอด จะสังเกตว่า พวกเขาต้องทำสัญญาณโบกมือให้คนข้ามรีบๆ ข้าม อย่าลังเล เพราะมีรถคันอื่นๆ กำลังสาปแช่งเขาอยู่ว่า “จะเสือกอยากเป็นคนดีจอดทำเพี้ยอะไร”

ส่วนคนข้ามถนนที่ทางม้าลาย พอมี “ผู้กล้า” กล้าจอดให้เราเดินข้าม เราก็จะอยากยกมือไหว้ปลกๆ ให้เขา ว่า โอ๊ยยย ทำไมเป็นคนดีมีน้ำใจขนาดนี้

และหากเราไม่โง่จนเกินไป เราย่อมคิดได้ว่า การที่สิ่งต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้น มันไม่ได้เกี่ยวกับการเป็นคนดี หรือการมีวินัย แต่มันแสดงให้เห็นว่าการออกแบบถนน ทางข้าม และการออกแบบความปลอดภัยให้คนใช้รถใช้ถนนบ้านเรามันห่วย

เพราะมันไม่เอื้อให้คนสามารถทำตามกฎจราจรหรือทำตามกฎหมายได้อย่าง make sense เลย

เพราะถ้าคุณออกแบบดีจริง เก่งจริง คุณต้องทำให้การกระทำที่ปลอดภัย และถูกกฎหมาย เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับสามัญสำนึก ปฏิบัติได้ง่าย และสะดวกกว่าการไปริแผลงทำในสิ่งที่มันอันตราย

เช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆ ถ้ารัฐอยากให้คนหันมาใช้จักรยานแทนรถยนต์ อันดับแรกคือออกแบบเมืองให้การใช้จักรยานเพื่อสัญจร สะดวก ปลอดภัย รื่นรมย์

ถ้าอยากให้คนหันมาใช้รถสาธารณะมากกว่าการใช้รถส่วนตัว ก็ต้องวางแผน ออกแบบ จัดระบบให้มีรถสาธารณะราคาประหยัด สะดวก ปลอดภัย สวยงาม

และนี่เป็นตรรกะที่ง่ายมาก นั่นคือ ถ้าเราอยากให้คนเลิกพฤติกรรมเอ แล้วหันไปทำพฤติกรรมบี สิ่งที่เราต้องทำให้การมีพฤติกรรมบี มันสะดวกกว่า มันดีกว่า มันสนุกกว่า มันสบายกว่า มากกว่าจะไปใช้อำนาจกำลังบังคับข่มขู่

สมมุติอยากให้คนเลิกเดินเท้าเปล่า หันมาใส่รองเท้า จะมาบอกว่า การใส่รองเท้ามันปลอดภัย สะอาด ป้องกันเชื้อโรค ถ้าใครไม่ทำตามถือว่าผิดกฎหมาย ไม่มีจิตสำนึก ไปเดินเหยียบตะปู เลือดไหล ไปโรงพยาบาล ก็ไปเป็นภาระหมอ พยาบาล มาดูแลคนที่ไม่รู้จักรับผิดชอบตัวเอง

แต่ขณะเดียวกัน ก็ไม่ผลิตรองเท้า ปล่อยให้รองเท้ามีราคาแพง ขาดแคลน และก็ไม่พยายามทำให้คนมี “เงิน” พอที่จะไปซื้อรองเท้ามาใส่

ตรงกันข้าม อยากให้คนใส่รองเท้า ก่อนจะออกกฎหมายลงโทษคนไม่ใส่รองเท้า รัฐก็ต้องมั่นใจว่า เราผลิตรองเท้าได้มากพอ เป็นรองเท้าที่มีคุณภาพ ใส่แล้วสบายตามอัตภาพ

ราคาไม่แพงจนคนส่วนใหญ่เอื้อมไม่ถึง

ที่สำคัญต้องทำให้คนมีเงินมีทอง อยู่ดีกินดี จนสามารถซื้อรองเท้าใส่ได้อย่างสบาย

เออ… ทำอย่างนี้แล้วยังมีคนอุตริไม่ยอมใส่รองเท้า อันนั้นก็ค่อยไปจับ ไปด่า

สิ่งที่ฉันอยากจะบอกมันง่ายมาก นั่นก็คือ กฎหมายและความเด็ดขาดในการบังคับใช้กฎหมาย อาจทำให้คนเกิดความ “กลัว” แล้วปฏิบัติตาม แต่นั่นไม่อาจเรียกได้ว่าคือ “วินัย”

ถ้าวินัย จะหมายถึง การไม่ละเมิดกติกาใดๆ ที่กำหนดขึ้นมาเพื่อให้ทุกคนในสังคมปฏิบัติตาม

ความมีวินัยจะเกิดขึ้นจากสองปัจจัยคือ

วินัยหรือกฎนั้น เมื่อทำตามแล้ว มีประโยชน์ และทำให้ชีวิตของทุกคนปลอดภัย ราบรื่น ทำแล้วชีวิตดีกว่าไม่ทำ

สอง ต้องมีการออกแบบสิ่งแวดล้อมเพื่อไปกำกับพฤติกรรมของคนให้เอื้อต่อการมีวินัย ไม่ใช่ไปบังคับให้คนข้ามทางม้าลาย แต่ทางม้าลายนั้นกลับอันตรายกว่าไปข้ามตรงที่ไม่ใช่ทางม้าลาย หรือออกแบบถนนให้การกลับรถมันไกลเกินกว่าเหตุ จนทำให้คนต้องลักไก่ ย้อนศร กลับรถในที่ที่ห้ามกลับ ฯลฯ

มีเรื่องที่ฉันคิดว่ามันจะเป็นตัวอย่างที่คลาสสิคมากสำหรับการปลุกให้คนไทยเข้าใจคำว่า “อำนาจ” นั่นคือหลายปีที่แล้ว ที่คนเริ่มใช้โทรศัพท์มือถือ เป็นสังคมก้มหน้า สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คนเดินดูโทรศัพท์กันจนไม่ยอมมองทาง ผลก็คือ มีคนถูกรถเฉี่ยวชนจากพฤติกรรมแบบนี้มากขึ้นอย่างชัดเจน

ถ้าเอาเรื่องนี้มาทดสอบกับสังคมไทย – คนไทยเยอะมากจะบอกว่า สมน้ำหน้าไอ้พวกไม่มีวินัย รู้ว่าเดินอยู่บนถนน ยังจะเสือกดูมือถือ ไอ้พวกสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น ไอ้พวกไม่มีจิตสำนึก ไอ้คนเหล่านี้ ถ้ามันเดินก้มดูมือถือจนถูกรถชน ควรไปลากพ่อ-แม่มันมาชดใช้ค่าเสียหายให้เจ้าของรถที่ชนมันด้วย ฯลฯ

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับหลายประเทศคือ ในขณะที่ออกกฎหมายห้ามใช้มือถือขณะขับรถ หรือเตือนให้คนเดินถนนอย่าก้มดูแต่มือถือจนไม่มองรถ

หลายประเทศได้พยายามออกแบบทางเดินให้คนสามารถเดินก้มหน้าดูมือถือไปด้วยได้ ขณะเดียวกันก็ไม่ถูกรถชน เพราะวัตถุประสงค์ของการออกแบบสาธารณูปโภคอย่างถนน คือ ทำให้ทุกคนปลอดภัย

และเวลาพูดว่าปลอดภัยคือ เราต้องคิดว่า แม้แต่คนที่ประมาทที่สุด เลินเล่อที่สุดยังปลอดภัย

ทำสิ่งนั้นได้ต่างหาก จึงเรียกว่าเป็นความสำเร็จ

หันกลับมามองเมืองไทย เวลาที่เราวัดความสำเร็จ เราไม่ได้วัดว่ามีความปลอดภัยมากขึ้นเท่าไหร่ มีคนตายน้อยลงเท่าไหร่ แต่เราชอบไปวัดว่า “เราจับคนมาดำเนินคดีได้กี่คน” “เราออกใบสั่งได้มากเท่าไหร่” “เราจับคนมาลงโทษได้มากขึ้นเรื่อยๆ ไหม”

สังคมไทยวัดความสำเร็จของอำนาจรัฐด้วยความสามารถในการ “ลงโทษ” คน มากกว่าวัดว่า รัฐบรรลุผลการทำงานตามวัตถุประสงค์หลักที่ได้ตั้งเอาไว้หรือไม่ เช่น ถ้ากฎหมายจราจรมีเพื่อสร้างความปลอดภัยแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน เรามักจะเชื่อไปโดยอัตโนมัติว่า ถ้ารัฐจับคนที่ทำผิดกฎจราจรได้มากเท่าไหร่ ความปลอดภัยมันจะมากขึ้นไปเอง

แต่เราไม่เคยจะคิดว่า ถ้ารัฐเอาแต่จับคนไปลงโทษ แต่ไม่ปรับปรุง พัฒนาเรื่องการออกแบบวิศวกรรมการจราจรเลย สถิติอุบัติเหตุจะลดลงหรือไม่? และหน้าที่ที่แท้จริงของรัฐ ไม่ใช่การจับคนมาลงโทษ แต่รัฐมีหน้าที่สร้างความผาสุก ปลอดภัยให้กับประชาชนทุกคนอย่างไม่มีเงื่อนไข ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นคนดี คนเลว คนที่ดูแลตัวเอง คนที่ไม่ดูแลตัวเอง รัฐไม่มีหน้าที่เลือกที่รักมักที่ชังว่า อ๋อ อีนี่ ขนาดตัวมันเองมันยังไม่รัก ไม่ดูแลตัวเอง เรื่องอะไรชั้นจะไปดูแลมัน

รัฐทำเช่นนั้นไม่ได้! นอกจากรัฐจะทำเช่นนั้นไม่ได้

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ประชาชนต้องไม่สนับสนุนให้รัฐทำเช่นนั้น

แต่เรื่องที่น่าเศร้าที่สุดคือ คนไทยจำนวนมากมีแนวโน้มจะเชื่อว่า อำนาจรัฐ เท่ากับ “อำนาจในการลงโทษ”

ยิ่งรัฐลงโทษคนได้มากเท่าไหร่ ยิ่งแปลว่า รัฐเก่ง รัฐเจ๋ง รัฐมีประสิทธิภาพยอดเยี่ยม และประเทศเราจะต้องดีวันดีคืน

อันเป็นแนวคิดที่โง่บัดซบน่าละอายที่สุดที่ประชาชนคือคนที่ไม่เห็น ไม่รู้จัก ไม่ตระหนักในสิทธิและคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ของตนเอง

ดังนั้น เขาจึงไม่เห็นคุณค่าในความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นด้วย

การกักตัวคนที่มาจากต่างประเทศ ตามมาตรการป้องกันการระบาดของโรค สิ่งที่รัฐพึงทำคือ การมีแผนงานที่รัดกุม ต้องรู้ว่าจะมีคนไทย คนต่างชาติ เดินมาในเที่ยวบินไหน กี่คน ต้องประสานงานกับสถานทูต กงสุล แจ้งให้คนเหล่านั้นรู้ว่าต้องเตรียมตัวอย่างไร จะต้องไปกักตัวที่ไหน เป็นเวลากี่วัน

ที่สำคัญต้องแจ้งล่วงหน้า คำนึงถึงความแตกต่างของไทม์โซน

สำคัญกว่านั้น รัฐต้องอำนวยให้การกักตัวนั้นเป็นไปอย่างมีคุณภาพ เพราะคนเหล่านี้ไม่ใช่อาชญากร

พวกเขาคือผู้คนที่มีสิทธิเดินทาง และการร่วมมือของพวกเขาในการกักตัวถือเป็นคุณูปการของประเทศชาติ สังคม วงการสาธารณสุข เพราะถ้าเขากักตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ก็เท่ากับเป็นการช่วยให้งานที่รัฐต้องรับผิดชอบ งบฯ ที่รัฐต้องแบกเอาไว้ ทุเลาเบาบางลง

รัฐไทย คนไทย ต้องมองว่า พวกเขาคือผู้มีคุณูปการ เช่น รัฐบาลออสเตรเลียให้คนที่ต้องกักตัวไปอยู่ที่โรงแรมห้าดาว มีอาหารสามมื้อบริการ

สถานที่กักตัวไม่จำเป็นต้องห้าดาว แต่ควรเป็นห้องหับส่วนตัว ไม่นอนร่วมกัน ไม่ใช้ห้องน้ำร่วมกัน

เพราะเป้าหมายของการกักตัวคือ isolate เพื่อดูอาการ ไม่ใช่เอาคนไปอยู่รวมกันให้ติดเชื้อเพิ่ม!

สถานที่สะอาดสะอ้าน มีสาธาณูปโภคที่จำเป็น เช่น สัญญารอินเตอร์เน็ต ไวไฟ

แทนการทวงถามหาจิตสำนึกหรือความรับผิดชอบ สังคมไทย คนไทย รัฐไทย ทำไมไม่คิดในทางตรงกันข้าม นั่นคือ ทำยังไงให้สิบสี่วันแห่งการกักตัว เป็นสิบสี่วันแห่งความสุขกาย สบายใจ ปลอดภัย เพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนให้ความร่วมมือกับรัฐ และอย่างน้อยๆ นี่คือความรัก ความห่วงใยต่อเพื่อนมนุษย์ที่เราพึงมีให้กันมิใช่หรือ

และอย่างน้อยที่สุด ผลประโยชน์ที่เราจะได้รับร่วมกันคือ เราจะหยุดยั้งการระบาดของไวรัสได้

และการที่เราเห็นคนกลับจากประเทศไปกักตัวในสถานที่อัน decent มันจะทำให้เราตายเลยหรือ?

การเห็นเพื่อนมนุษย์มีชีวิตที่ดีพอสมควร มันไม่ดีตรงไหน?

และอย่างที่บอกว่า คนเหล่านี้ก็แค่คนไทยที่เดินทางกลับมายังประเทศไทย ไม่ใช่อาชญากรผู้ร้ายไปก่อกรรมทำเข็ญอะไรมาสักหน่อย

มิพักต้องพูดว่า ต่อให้เป็น commit กับ crime ก็ไม่ใช่เหตุผลที่เขาจะไม่ได้รับการปฏิบัติเยี่ยงมนุษย์คนหนึ่ง

มันบัดซบมากกับการได้อ่านความเห็นประเภท

“เอาไปกักไว้บ้านมึงสิ”

“ไอ้พวกเชื้อโรค อย่าให้พวกมันเข้ามา”

“กักตัวก็คือกักตัว จะเอาความสบายไปทำไม ไม่ให้นอนลานจอดรถก็บุญแล้ว

ย้ำว่า เป้าประสงค์หลักของการกักตัวผู้ที่เดินทางเข้าประเทศก็เพื่อคัดกรองว่าเผื่อมีผู้ติดเชื้ออยู่ในกลุ่มผู้เดินทาง และการติดเชื้อไม่ใช่อาชญากรรม ดังนั้น รัฐมีหน้าที่อำนวยความสะดวกและดูแลผู้ที่จะต้องถูกกักตัวอย่างดีที่สุด อย่างวีไอพีที่สุดเท่าที่รัฐจะมีกำลังความสามารถจะดูได้ เพราะผลที่ได้รับหลังมาตรการกักตัวจะเป็นความสำเร็จของเราทุกคนคือ คัดกรอง หาผู้ติดเชื้อ พาผู้ติดเชื้อไปรักษาได้ ผู้ติดเชื้อ ไม่เอาเชื้อไปแพร่ต่อหมอ พยาบาล ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อย ไวรัสจบเร็ว ความเสียหายทางเศรษฐกิจก็น้อยลง – แฮปปี้ทุกฝ่าย – แล้วจะมารังแครังคัดอะไรกับเรื่อง “กักตัว ทำไมต้องกินดีอยู่ดี”

และการดูแลคนเหล่านี้ไม่จำเพาะต่อคนที่มาโดยเครื่องบินเท่านั้น แต่รวมถึงแรงงานที่มากับเรือ อันยิ่งเป็นกลุ่มเปราะบางที่จะถูกดูแลไปตามมีตามเกิด

หยุดบ้า หยุดโง่ เพราะถ้ายังบ้า ยังโง่ ก็ยิ่งเป็นเหยื่ออันโอชะของรัฐอำนาจนิยมที่สวมบทบาทสนองความบ้าสนองความโง่นั้นด้วยการทำแข็งขันไปไล่จับคนนั้นคนนี้มาลงโทษ ปล่อยให้ประชาชนล่าแม่มดกันไปมา สร้างแพะรับบาปแทนตัวเองไปวันๆ

แล้วก็ลืมไปเลยว่าใครกันแน่คือคนที่ต้องรับผิดชอบกับนานาหายนะที่เกิดขึ้น