คุยกับทูต อัลลัน แมคคินนอน ไทย-ออสเตรเลีย สัมพันธ์อันใกล้ชิดและราบรื่น (2)

คุยกับทูต อัลลัน แมคคินนอน ไทย-ออสเตรเลีย สัมพันธ์อันใกล้ชิดและราบรื่น (2)

การมีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เข้มแข็ง เป็นพื้นฐานต่อยอดและพัฒนาความร่วมมือเพื่อความมั่นคงและเศรษฐกิจที่เติบโตร่วมกัน

นายอัลลัน แมคคินนอน (H.E. Mr Allan McKinnon PSM) เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย เล่าถึงความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างประเทศไทยและออสเตรเลียว่าเป็นไปอย่างราบรื่น และมีความโดดเด่นทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ ความมั่นคงและการทหาร มีการส่งเสริมความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี รวมถึงการแลกเปลี่ยนการเยือนของผู้นำระดับสูงระหว่างกันอย่างสม่ำเสมอ

“ยิ่งไปกว่านั้น ชาวออสเตรเลียและชาวไทยยังมีความสัมพันธ์ที่ดีเยี่ยม มีชาวไทยประมาณ 100,000 คนไปพำนักอาศัย ทำงาน และเรียนอยู่ที่ออสเตรเลีย ส่วนชาวออสเตรเลียประมาณ 800,000 คนเดินทางมาท่องเที่ยวที่ประเทศไทยทุกปี”

“ความสัมพันธ์ทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างกันก็เพิ่มพูนยิ่งขึ้น นับตั้งแต่ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยและออสเตรเลีย (TAFTA) ในปี 2005 ได้มีผลบังคับใช้ ซึ่งเป็นข้อตกลงทางการค้าระดับทวิภาคีแรกที่ประเทศไทยได้ทำการเจรจาตกลงด้วย”

ไทยเป็นหนึ่งใน 9 ประเทศ (นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา ชิลี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน) ที่ลงนามความตกลงการค้าเสรีกับออสเตรเลีย และออสเตรเลียเป็นประเทศแรกที่ไทยลงนามความตกลงเขตการค้าเสรีเมื่อปีดังกล่าว

โดยหลังจากที่มีการบังคับใช้ความตกลง TAFTA จนถึงปัจจุบัน ปริมาณการค้าระหว่างไทยกับออสเตรเลียเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับก่อนที่ TAFTA จะมีผลบังคับใช้

“ปัจจุบันการค้ากับประเทศไทยมีขนาดใหญ่เป็นลำดับที่ 9 ส่วนการส่งออก การนำเข้าของสินค้าและบริการของออสเตรเลียประจำปีมีมูลค่า 25 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ได้แก่ สินค้าทางการเกษตรซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อทั้งสองประเทศ”

“หลังจากมีข้อตกลงการค้าเสรีแล้ว ไทยส่งออกสินค้าทางการเกษตรไปยังออสเตรเลียมากขึ้นถึง 130 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตอนนี้ไทยส่งออกสินค้าทางการเกษตรไปยังออสเตรเลียมากกว่าออสเตรเลียส่งออกมายังไทย”

“แต่การส่งออกสินค้าทางการเกษตรของออสเตรเลียมายังไทยก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน สินค้าของเราได้ถูกนำมาใช้ร่วมกับวัตถุดิบของไทยเพื่อใช้ในโรงงานผลิตอาหารในไทย”

“ความสนใจด้านธุรกิจในประเทศไทยของชาวออสเตรเลียก็มีความหลากหลาย และเกิดจากหลายปัจจัย เช่น ขนาดของเศรษฐกิจภายในประเทศ โอกาสในการจัดหาปัจจัยการผลิตและห่วงโซ่อุปทานจัดหาฐานการผลิตภายในประเทศ มีโครงสร้างพื้นฐานขั้นสูง และค่าใช้จ่ายในการลงทุนที่ไม่สูงนัก”

ท่านทูตยังได้กล่าวถึงนโยบายอื่นๆ ที่ช่วยเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างประเทศ

“เราต้องการทำงานร่วมกับประเทศไทยเพื่อเพิ่มจำนวนข้อตกลงทางการค้าในระดับพหุภาคี โดยเราทั้งสองประเทศเป็นสมาชิกของข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียน ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ (AANZFTA) ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อปี 2010 รวมทั้งเป็นสมาชิกของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) อันเป็นแผนความตกลงเกี่ยวกับเขตการค้าเสรีระหว่าง 10 ชาติสมาชิกอาเซียน และ 6 ชาติคู่เจรจา (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) ซึ่งจะมีการสรุปข้อตกลงในปีนี้”

“เราสนับสนุนประเทศไทยที่สมัครเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ซึ่งข้อตกลงเหล่านี้สามารถช่วยส่งเสริมการไหลเวียนของสินค้าและบริการที่นำมาซึ่งการพัฒนาและการเติบโตที่เป็นประโยชน์ต่อทุกคน”

ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) หรือที่อาจรู้จักกันในชื่อ TPP-11 มีสมาชิกทั้งหมด 11 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู เม็กซิโก ญี่ปุ่น บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม

สําหรับบทบาทของท่านทูตในหอการค้า ออสเตรเลีย-ไทย (Australian-Thai Chamber of Commerce : AustCham)

“พวกเราทำงานอย่างใกล้ชิดกับหอการค้าออสเตรเลีย-ไทยในหลายมิติ โดยผมเป็นทั้งผู้สนับสนุนและเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของหอการค้า ส่วนกรรมาธิการการค้าอาวุโสของเราอยู่ในคณะกรรมการในฐานะกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร”

“ผมได้พบกับสมาชิก AustCham เพื่อร่วมฟังประสบการณ์การทำธุรกิจในประเทศไทยของพวกเขา เช่นเมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมเข้าร่วมในการพูดคุยเกี่ยวกับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กับผู้บริหารธุรกิจชาวออสเตรเลียเกี่ยวกับโอกาสด้านธุรกิจในประเทศไทย รวมทั้งปัญหาที่ยังคงค้างคาอยู่”

“นอกจากนี้ เรามีส่วนให้ AustCham ช่วยส่งเสริมให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในข้อตกลงการค้าเสรี ดังเช่นที่เราได้ทำเมื่อไม่นานมานี้ ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียน ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ (AANZFTA) เรื่องการลดภาษีในเนื้อวัวจาก 50 เปอร์เซ็นต์เป็น 0 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งโดยทั่วไป AustCham ให้ความสำคัญในการมีปฏิสัมพันธ์กับธุรกิจของออสเตรเลีย”

ถามถึงปัญหาและอุปสรรคในประเทศไทย

“ไม่มีครับ แต่ผมก็ต้องยอมรับว่า ได้บ่นเรื่องปัญหารถติด หรือฝุ่น PM2.5 อยู่บ้าง แต่ก็เป็นเรื่องที่ผู้คนโดยทั่วไปในประเทศไทยมักพูดถึงกันเป็นปกติอยู่แล้ว” ท่านทูตอัลลัน แมคคินนอน ยิ้มแย้มอย่างผู้มองโลกในแง่ดีเสมอ ตลอดช่วงเวลาของการสนทนา

ออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีผืนป่าอุดมสมบูรณ์และสัตว์ป่าหายากหลากหลายชนิด บางชนิดไม่สามารถพบเห็นได้ในประเทศอื่นๆ ความสูญเสียบังเกิดเมื่อเปลวไฟได้เริ่มต้นขึ้น ณ รัฐนิวเซาธ์เวลส์ (NSW) และในหลายพื้นที่ เมื่อวันที่ 4-5 มกราคมที่ผ่านมา ไฟป่ามหากาฬนี้ได้สร้างความเสียหายครั้งใหญ่ โดยควันไฟป่าและมลพิษทางอากาศเข้าปกคลุมพื้นที่ตามบริเวณชายฝั่งและเมืองต่างๆ เป็นบริเวณกว้าง

แม้รายงานข่าวจะดูเหมือนเงียบไปนิด เพราะมีข่าวโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่จากอู่ฮั่นมาดึงความสนใจ แต่ไฟป่าออสเตรเลียยังไม่ได้ดับลง อุณหภูมิสูงและลมแรงเป็นปัจจัยหนุนให้เกิดไฟป่าขึ้นอีกครั้งเมื่อวันที่ 23 มกราคม ใกล้กรุงแคนเบอร์ราจนต้องปิดสนามบินในเมืองหลวง เพื่ออำนวยความสะดวกให้เครื่องบินดับเพลิง

“มีผู้คนอย่างน้อย 34 คนเสียชีวิต และเฉพาะในเขตนิวเซาธ์เวลส์เขตเดียว บ้านเรือนกว่า 3,000 หลังคาเรือนถูกไฟเผาไหม้”

“สัตว์กว่าหนึ่งพันล้านตัวโดนไฟคลอกตาย รวมถึงสัตว์เลี้ยงเพื่อการเกษตรและสัตว์ป่าที่หายาก พวกเราได้สูญเสียที่อยู่อาศัยเป็นมูลค่าสูงอีกด้วย”

ภัยพิบัติไฟป่าครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของออสเตรเลียได้เผาผลาญผืนป่า และคร่าชีวิตสัตว์ป่าเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะจิงโจ้และโคอาล่า ที่เป็นสัญลักษณ์ออสเตรเลีย

ภาพความสูญเสีย บาดเจ็บ และการเสียชีวิตของสัตว์ป่าถูกแชร์ไปทั่วโลก สร้างความสะเทือนใจ ทำให้หลายหน่วยงานทั่วโลกหาทางช่วยเหลือเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ในครั้งนั้น

จิงโจ้วิ่งผ่านบ้านที่ถูกไฟไหม้ในเมือง Conjola รัฐ New South Wales – ภาพ Matthew Abbott, New York Times, Redux, eyevine

ประเทศไทยมีแคมเปญรวมใจช่วยเหลือวิกฤตไฟป่าในออสเตรเลีย โดยชาวไทยทั้งในประเทศไทยและออสเตรเลียซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรัฐนิวเซาธ์เวลส์ รัฐที่มีคนไทยอยู่อาศัยมากที่สุดในออสเตรเลียราว 50,000 คน ร่วมแสดงพลังและความปรารถนาดี ด้วยการจัดอาหาร สิ่งของเครื่องใช้ และเงินเป็นขวัญกำลังใจแก่ผู้ประสบภัย รวมทั้งการช่วยเหลือสัตว์ป่าและพันธุ์พืชที่ได้รับผลกระทบ

ท่านทูตกล่าวว่า

“สิ่งหนึ่งที่พวกเราได้เห็นในระหว่างเกิดไฟป่านั้น คือความมีน้ำใจของคนไทยที่มีต่อออสเตรเลีย ผมขอขอบคุณคนไทยทุกคนที่ร่วมกันบริจาคและส่งข้อความไปให้กำลังใจพวกเราในขณะที่พวกเราประสบภัยในครั้งนั้น ถ้อยคำและการกระทำดังกล่าวได้ทำให้พวกเราชาวออสเตรเลียรู้สึกสบายใจขึ้นมากทีเดียว”