เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ : เริ่มงานหนังสือพิมพ์จากเงินกู้ 6 แสนบาท

ระหว่างเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ธีรยุทธ บุญมี กับพวกออกมาเรียกร้องรัฐธรรมนูญด้วยการหารายชื่อผู้สนับสนุน 100 รายชื่อ เป็นขณะที่โรงพิมพ์พิฆเณศจัดพิมพ์หนังสือรุ่นของนักเรียนตำรวจสามพราน จึงได้รายชื่อนายตำรวจรุ่นนั้นหลายคน กับ “นายพันอันตราย” – พันตำรวจตรีอนันต์ เสนาขันธ์ และผู้ที่อยู่ในโรงพิมพ์พิฆเณศสายวันนั้น มีผมร่วมเซ็นชื่อเป็นหนึ่งในร้อยคนด้วย

ระหว่างเหตุการณ์เขม็งเกลียว พันตำรวจตรีอนันต์ กับพวก ออกหนังสือรวมเหตุการณ์ให้ชื่อหนังสือว่า “ดับเทวดา” พิมพ์ที่โรงพิมพ์พิฆเณศหลายครั้ง ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ถึงขนาดว่าแผงหนังสือมารอรับซื้อเพื่อนำไปจำหน่ายถึงหน้าโรงพิมพ์

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ยุติจากการที่ จอมพลถนอม กิตติขจร กับพวกออกนอกประเทศ อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้น คนไทยเข้าใจกันว่าเป็นนายกรัฐมนตรีพระราชทาน ต่อมาภายหลัง ทรงมีพระราชดำรัสในเรื่องนี้ว่า ไม่ใช่นายกรัฐมนตรีพระราชทาน เพราะขณะนั้น ยังมีรองประธานรัฐสภารับสนองพระบรมราชโองการ

หนังสือพิมพ์ทุกฉบับต่างนำเสนอข่าวด้านการเมืองในความหมายของสิทธิและเสรีภาพเต็มที่ รวมถึงผู้จัดทำหนังสือพิมพ์และหนังสือเล่ม

 

การจัดตั้งโรงพิมพ์พิฆเณศ ขรรค์ชัยบอกไว้ในหนังสือ “เส้นทาง…คนหนังสือพิมพ์” ว่าตนกับสุจิตต์ ถูกไล่ออกจากหนังสือพิมพ์สยามรัฐ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานหนังสือพิมพ์อย่างจริงจัง ด้วยการระดมทุนจากพรรคพวกเพื่อนฝูงและคนรู้จัก (รวมทั้ง สุพล เตชะธาดา แห่งสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ที่คุ้นเคยและทำงานด้านหนังสือด้วยกัน) ซึ่งต้องใช้เงินมากอยู่

ขรรค์ชัย บุนปาน บอกกับ ชุติมา นุ่นมัน ผู้สัมภาษณ์ว่า “ตอนนั้นรู้จักกับ ท่านบุญชู โรจนเสถียร ท่านเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ เรารู้จักท่านแค่เป็นผู้ใหญ่คนหนึ่ง แต่ไม่รู้หรอกว่าใหญ่แค่ไหน ตอนไปขอเข้าพบท่านเพื่อขอกู้เงิน จึงรู้ว่าท่านใหญ่มาก พี่จำได้ว่านุ่งกางเกงยีนส์ ใส่เสื้อพับแขนสีขาว ไปนั่งรอหน้าห้อง ห้องก็ใหญ่มาก เพิ่งเคยไปครั้งแรก ท่านเปิดประตูออกมา คำแรกที่ทักพี่ก็คือ “ไง ได้ข่าวว่าลื้อเกเรมากใช่ไหม (หัวเราะ)” พี่ก็หัวเราะ แหะ แหะ แล้วบอกว่า “เขาลือกันครับ” ท่านก็หัวเราะกลับมา

วันนั้นนายบุญชูถามนายขรรค์ชัยในวัย 28 ปี ว่า “จะเอาเงินไปทำอะไร” ขรรค์ชัยบอกว่า “จะเอาเงินไปทำหนังสือพิมพ์” นายบุญชูยิ้ม แล้วเสนอว่า “ทำไมไม่ทำสายส่งด้วย รับจ้างส่งหนังสือด้วยจะได้มีสภาพคล่อง เดี๋ยวจะหาเงินกู้ให้สัก 30 ล้านบาท”

อาจารย์ช้างบอกว่า ได้ยินตัวเลข 30 ล้านบาท ตอน พ.ศ.2516 ในวัย 28 ปี ขณะนั้นรู้สึกโง่และงงมาก ทำไมเงินมันเยอะขนาดนั้น แต่พอได้สติก็ตอบท่านบุญชูไปว่า อยากจะทำโรงพิมพ์ก่อน จะขอกู้สัก 6 แสนบาทก็พอ แล้วจะผ่อนส่งให้

“พี่เข้าใจว่าท่านบุญชู ท่านมีประสบการณ์เรื่องการบริหาร การเงิน การธนาคารมาเยอะ เลยอยากให้คำแนะนำเรา แต่เรายังไม่พร้อมและตั้งใจจะทำในสิ่งที่ตัวเองถนัดมากกว่า”

งานพิมพ์ชิ้นแรกของโรงพิมพ์พิฆเณศคือ งานของกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค โดย พล.ต.ต. ท่านหนึ่งที่รู้จักกันมาจ้างให้พิมพ์ และหลังจากนั้นก็มีงานมาเรื่อยๆ โดยอาจารย์ช้างให้สุจิตต์เป็นผู้ดูแล

“พี่ก็ไปเป็นคอลัมนิสต์อยู่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ อยู่กับท่านกำพล วัชรพล อยู่ที่นี่ท่านสอนอะไรพี่เยอะ…”

 

ส่วน สุจิตต์ วงษ์เทศ ให้สัมภาษณ์ น.รินี เรืองหนู พันธ์ทิพย์ ธีระเนตร ว่า ทำงาน (สยามรัฐ) ได้ปีกว่าๆ ก็ขอลาไปดูงานหนังสือพิมพ์และการพิมพ์ที่นิวยอร์ก โดยไม่รู้ว่าต่อมาจะถูกไล่ออกอย่างไม่มีสาเหตุ!

สาเหตุการถูกไล่ออก สุจิตต์บอกว่า ชีวิตเริ่มเข้มข้นเมื่อกลับจากอเมริกา แล้วมีคนบอกว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ (ปราโมช) ไล่ออกแล้ว สุจิตต์จึงขอเข้าพบเพื่อทราบข้อหาจะได้จำไว้เป็นบทเรียน แต่คำตอบที่ได้รับกลับทำให้งงยิ่งกว่าตอนรู้ข่าวถูกไล่ออก

“ม.ร.ว.คึกฤทธิ์บอกว่าไม่รู้เรื่อง เลยนัดกองบรรณาธิการมาพูดกันต่อหน้าว่าไปไล่ออกกันเอง แล้วอ้างท่าน แต่เมื่อเขาไม่ชอบขี้หน้าแล้วก็ออกไปเถอะ ไปเขียนหนังสือด่าท่านได้ ผมเลยกราบลากลับบ้านโดยไม่เคยคิดเขียนละลาบละล้วง เพราะสำนึกดีว่าแค่รับเข้าทำงานก็นับเป็นบุญกะลาหัวล้นพ้นแล้ว”

ทว่า เพียงข้ามคืนถูกตามกลับมาทำงาน เพราะนักข่าวต่างแคลงใจ เกรงว่าจะถึงคิวตัวเองบ้างในวันข้างหน้า เขาจึงได้กลับมาทำงานที่นี่อีกครั้ง ทว่า ไม่นานก็มาถึงการถูกไล่ออกครั้งที่ 2 ด้วยข้อหา “คอมมิวนิสต์”

“พอกลับเข้าทำงานก็เอาเอกสารที่เขาแจกกันในมหาวิทยาลัยทั่วอเมริกา เกี่ยวกับฐานทัพอเมริกันในไทยส่งไปบอมบ์เวียดนาม ให้หัวหน้าข่าวต่างประเทศแปลแล้วตีพิมพ์ครั้งละฐานทัพ ทำได้ไม่นาน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์มีคำสั่งไล่ออก 3 คน คือนายสุจิตต์ นายขรรค์ชัย นายเสถียร (จันทิมาธร) ข้อหาไม่ชัดเจน แต่นักข่าวอาวุโสของสยามรัฐไปปล่อยข่าวที่สมาคมนักข่าวฯ ว่าข้อหาคอมมิวนิสต์ โดยผมเป็นหัวโจกรับแผนจากสวีเดน

“ขรรค์ชัยกับผมขอร้องรุ่นพี่นักข่าวอาชญากรรมจากเดลินิวส์พาเข้าพบผู้บัญชาการกองปราบฯ เพื่อรายงานตัวแก้ข้อกล่าวหา ผบ.กองปราบฯ หัวเราะขำๆ บอกว่ารู้แล้วว่าเป็นเรื่องกลั่นแกล้ง ไม่ต้องกังวล”

 

หนังสือ “เส้นทาง…นักหนังสือพิมพ์” ในส่วนของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ว่าถึงเรื่อง “เราจะออกหนังสือพิมพ์เอง” ว่า คือสิ่งที่คู่หูอย่างขรรค์ชัยมาพูดคุยกับสุจิตต์หลังถูกไล่ออก โดยบอกว่าต้องเปลี่ยนวิธีคิดการทำหนังสือพิมพ์ ซึ่งจากเดิม นักหนังสือพิมพ์เป็นแค่ “มือปืนรับจ้าง” โดยไม่รู้จักการบริหารจัดการทั้งระบบ จึงเริ่มจากการเปิดโรงพิมพ์ “พิฆเณศ” ย่านแพร่งสรรพศาสตร์ รับจ้างพิมพ์หนังสือทุกชนิด

ต่อมาหลัง 14 ตุลา 16 จึงออกหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติรายสัปดาห์” ร่วมกับเดอะ เนชั่น โดย สุทธิชัย หยุ่น แล้วมี พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ร่วมด้วยอีกราย ก่อนจะขยับขยายเป็นประชาชาติรายวัน ซึ่งมีขรรค์ชัย เป็นบรรณาธิการ เรืองชัย (ทรัพย์นิรันดร์) ควบคุมการผลิต สุจิตต์ เป็นบรรณาธิการบริหาร เป็นอันครบแก๊งเด็กวัดนวล!

นิตยสารประชาชาติรายสัปดาห์เริ่มต้นหลังเหตุการณ์ “14 ตุลา 16” ที่สำนักงานหนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น ถนนเดโช มีอาทิ สุทธิชัย หยุ่น พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ไชยวัฒน์ ยนเปี่ยม วีระประวัติ วงศ์พัวพันธ์ สมหมาย ปาริจฉัตต์ ชัยศิริ สมุทวณิช ภิภพ ธงชัย ธัญญา ผลอนันต์ มี นิวัติ กองเพียร เป็นช่างภาพ อรุณ วัชระสวัสดิ์ เขียนการ์ตูนการเมือง พิทักษ์ ธวัชชัยนันทน์ เป็นบรรณาธิกร หรือ Sub Editor

นิตยสารประชาติรายสัปดาห์ จัดพิมพ์ที่โรงพิมพ์พิฆเณศ แพร่งสรรพศาสตร์