คนมองหนัง : “ธุดงควัตร” “หนังศาสนา” ชวนขบคิด ของ “บุญส่ง นาคภู่”

คนมองหนัง

“ธุดงควัตร” เป็นผลงานภาพยนตร์ของ “บุญส่ง นาคภู่” ผู้เกิดในครอบครัวชาวนาที่จังหวัดสุโขทัย ต่อมาเขาบวชเป็นสามเณรเพื่อจะเข้าถึงโอกาสในการได้รับการศึกษา ก่อนจะเอ็นทรานซ์ติดคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

บุญส่งที่ชื่นชอบศิลปะภาพยนตร์ตั้งแต่ครั้งยังเป็นเณร ได้เริ่มศึกษาศิลปะการแสดงจากการเข้าไปข้องแวะกับแวดวงละครเวที จากนั้นเขาหันมาทำหนังสั้น จนได้รับรางวัลสำคัญระดับประเทศ

แล้วบุญส่งก็ก้าวเท้าเข้าสู่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ทั้งในฐานะนักแสดงสมทบ และผู้กำกับภาพยนตร์

ระยะแรกเขากำกับ “หนังตลาดฟอร์มเล็ก” ที่ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก คือ “191 ครึ่ง มือปราบทราบแล้วป่วน” และ “หลอน” ตอน “ผีปอบ”

เมื่อตั้งหลักได้ บุญส่งจึงเลือกและยืนหยัดจะกลับคืนสู่ “เรื่องราว” ที่เขาคุ้นชินและอยากบอกเล่า นั่นคือ เรื่องราวว่าด้วยวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมชนบท ซึ่งถูกถ่ายทอดผ่าน “นักแสดงสมัครเล่น” ที่มีชีวิตจริงสอดคล้องไปกับชีวิตในจอภาพยนตร์ และพึ่งพางบประมาณการถ่ายทำไม่สูงนัก

อาจกล่าวได้ว่า หนังของบุญส่งเป็นภาพยนตร์ในแนว “สัจนิยมใหม่แบบไทยๆ” อันได้รับอิทธิพลมาจากภาพยนตร์แนว “สัจนิยมใหม่” (นีโอเรียลลิสม์) ของอิตาลี ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ซึ่งมุ่งเน้นนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับคนยากจนหรือชนชั้นแรงงาน ที่ต้องเผชิญหน้ากับความยากลำบากในทางเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กับปัญหาท้าทายทางจริยธรรม

หนังเหล่านี้มักเล่าเรื่องราวของชีวิตประจำวันอันอดอยากปากแห้ง, ถูกกดขี่, ได้รับความอยุติธรรม และตรอมตรมสิ้นหวัง ผ่านการแสดงของชาวบ้านที่ไม่ใช่ดารามืออาชีพ รวมถึงถ่ายทำในสถานที่ “จริง” (ไม่ใช่ในโรงถ่ายหรือพื้นที่/บรรยากาศซึ่งถูกประดิดประดอยขึ้นมา)

ผลงานในแนว “สัจนิยมใหม่” ของบุญส่ง ได้แก่ “คนจนผู้ยิ่งใหญ่” (2553) “สถานี 4 ภาค” (2555) “วังพิกุล” (2556) และล่าสุด คือ “ธุดงควัตร” (2559)

“ธุดงควัตร” มีเส้นเรื่องที่ค่อนข้างเรียบง่ายไม่สลับซับซ้อน หนังเล่าเรื่องราวของชายชาวอีสานพลัดถิ่น ผู้เดินทางไปทำงานยังภาคใต้ (จังหวัดชุมพร) แต่สุดท้าย เขากลับถูกภรรยาทอดทิ้ง ส่วนลูกชายวัยเด็กก็มาเสียชีวิตจากไป

ชายวัยกลางคนจึงเปลี่ยนแปลงตนเองกลายเป็นคนกึ่งบ้ากึ่งเมา หางานหาการทำไม่ได้ แถมพอดื่มเหล้าจนไร้สติ ก็ไปแสดงพฤติกรรมกร่างใส่วัยรุ่นเจ้าถิ่น เลยถูกซ้อมจนหมดสภาพเข้าให้อีก

ทว่า ชีวิตอันเคว้งคว้างไร้ทิศทางของเขา กลับได้ประสบพบเจอกับพระป่าสายกัมมัฏฐาน ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย รูปหนึ่ง ซึ่งค่อยๆ ชักนำชายไร้หลักเข้าสู่พระพุทธศาสนา ด้วยการเชิญชวนเขาไปอาศัยอยู่ที่สำนักสงฆ์ด้วยกัน

ก่อนที่ชายผู้นี้จะตัดสินใจบวชอุทิศส่วนกุศลให้ลูกชาย นี่เป็น “จุดเปลี่ยนแรก”

“จุดเปลี่ยนต่อมา” คือ พระใหม่จำเป็นต้องต่อสู้ฟันฝ่าเพื่อเอาชนะกิเลสตัณหาในใจของตนเอง และตัดทิ้งซึ่ง “บ่วง” เก่าๆ เพื่อนำพาชีวิตไปสู่เส้นทางธรรมอันผ่องแผ้ว

หนังทิ้งท้ายด้วย “คำถามปลายเปิด” ณ จุดนี้ ว่าพระบวชใหม่จะสามารถสานต่อภารกิจดังกล่าวได้สำเร็จหรือไม่?

 

 

สําหรับผม หนังเรื่องนี้มีจุดน่าสนใจชวนขบคิดต่ออยู่หลายประการ

ข้อแรก หากพิจารณารายละเอียดอันเป็นภูมิหลังของตัวละคร นี่คือเรื่องราวว่าด้วย “คนอีสาน” ผู้ร่อนเร่พเนจรไปแสวงโชคและตกระกำลำบาก ก่อนจะบวชเรียนตามแนวทางของพระป่าสาย “หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต” ที่ “ภาคใต้”

ชะตาชีวิตของตัวละครเอกใน “ธุดงควัตร” จะน่าสนใจมากยิ่งขึ้นไปอีก หากถูกนำมาร้อยเรียงเชื่อมโยงกับชะตากรรมทางการเมืองของสังคมไทยร่วมสมัย

เพราะตั้งแต่วิกฤตการเมืองปี 2548 เป็นต้นมา โดยเฉพาะภายหลังระลอกความขัดแย้ง อันก่อให้เกิด “คนเสื้อแดง” และ “กปปส.”

สังคมไทยผลิตเรื่องเล่า “ชั้นดี” (ไม่ว่าจะผ่านศิลปะวรรณกรรมหรือภาพยนตร์ และอื่นๆ) ที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับสายสัมพันธ์ (ทางภูมิปัญญา/จิตวิญญาณ) ระหว่างสองภูมิภาคนี้ ออกมาไม่มากนัก

เมื่อ “ภาคอีสาน” (รวมทั้ง “ภาคเหนือ”) และ “ภาคใต้” กลายเป็นภาพแทนแบบเหมารวมของอุดมการณ์ทางการเมืองสองประเภท ที่แตกต่างขัดแย้ง และคล้ายจะไม่มีวันบรรจบกันได้ง่ายๆ

บุญส่งพยายามเติมเต็มกลบทับรูโหว่ดังกล่าว และเหมือนจะต้องการส่งเสียงสื่อสารว่า คนจากทั้งสองภูมิภาคยังคงเป็นเพื่อนสมาชิกร่วม “ชุมชนจินตกรรม” แห่งเดียวกันอยู่ (อย่างน้อย ก็ในทางความเชื่อ)

 

 

ข้อต่อมา คือ “ธุดงควัตร” อาจเป็นหนังยาวที่ใช้งบประมาณไม่มากนัก ทว่าคุณภาพด้านโปรดักชั่นของภาพยนตร์เรื่องนี้ กลับอยู่ในระดับ “ดีเยี่ยม” โดยเฉพาะงาน “ภาพ” และ “เสียง”

ในผลงานเรื่องล่าสุด บุญส่งได้ “อุรุพงษ์ รักษาสัตย์” ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีฝีมืออันดับต้นๆ ของประเทศ เจ้าของผลงานเด่นอย่าง “สวรรค์บ้านนา” และ “เพลงของข้าว” ซึ่งมีอีกหนึ่งสถานะเป็นอาจารย์สอนวิชาภาพยนตร์ ที่คณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาช่วยงาน ในฐานะ “ผู้กำกับภาพ”

แต่ไหนแต่ไรมา อุรุพงษ์มักได้ชื่อว่าเป็น “ผู้กำกับภาพ” ที่สร้างสรรค์ภาพเคลื่อนไหวผ่านศิลปะภาพยนตร์ได้อย่างงดงาม ดังราวบทกวีและงานจิตรกรรมชั้นยอด

กระทั่งผู้ชมบางส่วนรู้สึกว่างานกำกับภาพของเขานั้น “สวยเว่อร์” จนเกินไป หรือถ่ายทอดภาพ “สมจริง” ของสังคมชนบทในหนัง ออกมาอย่าง “โรแมนติก” เกินจริง

อย่างไรก็ดี งานภาพใน “ธุดงควัตร” กลับไม่ได้มีลักษณะ “สวยเกินไป” หากแต่งดงาม สงบนิ่ง ละเอียดลออ ดิบสด (เมื่อถึงคราวควรจะดิบ) และสามารถรับใช้เรื่องราวได้อย่างทรงพลัง

ที่โดดเด่นอีกส่วน คือ งานเสียงของภาพยนตร์ ซึ่งดูแลรับผิดชอบโดย “ไพสิฐ พันธุ์พฤกษชาติ”

โดยส่วนตัว ผมชื่นชอบบรรยากาศของเสียงในฉากจบ เมื่อพระบวชใหม่พยายามหลบหนี “สิ่งรบกวน” บางอย่าง จนต้องเดินทางปีนป่ายขึ้นเขาอย่างสมบุกสมบัน หลังผ่านพ้นความลำบากลำบน พระก็เดินทางไปถึงสถานที่แห่งหนึ่ง ซึ่งน่าจะ “สงบ” “เงียบ” และ “สงัด”

ทว่า สถานที่ปลีกวิเวกของพระบวชใหม่กลับอึงอลไปด้วยเสียงลมกระโชกแรง ซึ่งในแง่หนึ่ง อาจสื่อถึงความร่มเย็น ช่วยผ่อนคลายอารมณ์ความรู้สึก

แต่อีกด้าน พระอาจหนีเสือปะจระเข้มาเจอ “สภาวะรบกวน” ชนิดใหม่ เข้าทำนอง “มีลม เพราะใจไม่สงบ ถ้าใจสงบ ก็ปราศจากลม”

 


ข้อสุดท้าย ผมพบว่า บุญส่งทิ้ง “ช่องว่าง” บางประการ ที่มิอาจมองข้ามไป (ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม) เอาไว้ในหนังของเขา

น่าสังเกตว่าในช่วงเวลาที่ตัวละครเอื้อนเอ่ยบทสวดมนต์เป็น “ภาษาบาลี” หนังจะขึ้นซับไตเติ้ลคำแปลบทสวดเป็น “ภาษาอังกฤษ”

อย่างไรก็ตาม ภาษาที่หลุดลอยหายไปจากการพยายามถ่ายทอดความหมายทางธรรมะในส่วนนี้ กลับกลายเป็น “ภาษาไทย”

น่าสนใจว่า สำหรับผู้ชมชาวไทยที่ไม่ถนัดภาษาอังกฤษและไม่รู้ภาษาบาลี พวกเขาจะสามารถซึมซับ “สาร” ซึ่งแฝงไว้ในบทสวดมนต์ได้ดีเพียงใด?

“ช่องว่างเรื่องภาษา” อาจผูกโยงอยู่กับ “ช่องว่างอื่นๆ” อีก 1-2 เรื่อง

เรื่องแรก คือ บทบาทของ “ผู้หญิง” ในหนัง

มี “ผู้หญิง” อย่างน้อยสามคนที่โลดแล่นใน “ธุดงควัตร” อย่างสำคัญ รายแรก ได้แก่อดีตภรรยาของพระบวชใหม่ (ซึ่งปรากฏตนรางๆ ผ่านเสียงพูดคุยทางโทรศัพท์) รายที่สอง ได้แก่ สตรีชราผู้หมั่นปฏิบัติตนเป็นอุบาสิกา/พุทธศาสนิกชนที่ดี

แต่ “ผู้หญิง” ที่ปรากฏกายขึ้นมา เพื่อสร้างปัญหาท้าทายทางจริยธรรม ก็คือ หญิงสาวในตอนท้ายเรื่อง ซึ่งมีสถานะประหนึ่ง “ผู้ขัดขวาง” การเดินทางไปสู่ความสงบและใจกลางธรรมะของพระบวชใหม่

บุญส่งนำเสนอ “ตำแหน่งแห่งที่” อันเป็นปริศนาของหญิงสาวไว้อย่างเปี่ยมชั้นเชิง เพราะแรกๆ มีแนวโน้มว่า ตัวพระอาจนึกคิด (มโน) ไปเองว่าหญิงสาวคือ “อุปสรรค” ในการแสวงธรรม หรือกล่าวได้ว่า “ใจที่ยังไม่นิ่งสนิท” ของพระ มีส่วนประกอบสร้าง “สตรี” ผู้นี้ ให้กลายเป็นอุปสรรคขัดขวางตนเอง

แต่ไปๆ มาๆ หนังก็คล้ายจะบ่งบอกเช่นกันว่า การปรากฏตัวขึ้นของหญิงสาวเพื่อชี้ชวนให้พระบวชใหม่เถลไถลออกนอกลู่ทางนั้น คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรม และเกิดจากจิตเจตนาของฝ่ายหญิงเองด้วย (ไม่ว่าจะเพราะหวังดี/ไม่คิดอะไร หรือเพราะประสงค์ร้ายก็ตาม)

กระทั่งพระต้องบำเพ็ญทุกรกิริยา ด้วยการหลบลี้หนีหน้าเธอไปอย่างยากลำบาก

ขณะเดียวกัน การพยายามดั้นด้นค้นหาแก่นธรรม ก็อาจกลายสภาพเป็นการ “กีดกัน” หรือ “ละทิ้ง” คนบางกลุ่ม ออกจากเส้นทางโดยไม่รู้ตัว

 

สถานภาพของ “สตรี” ภายในหนัง ยังสื่อแสดงถึง “ช่องว่าง” อีกประการหนึ่ง

กล่าวคือ ท้ายสุด การพยายามเดินทางไปเสาะแสวงหาแก่นแท้ของหลักธรรมใน “ธุดงควัตร” ได้กลายเป็นการจาริกอันโดดเดี่ยว ที่ต้องเคี่ยวกรำตัวเองคนเดียว และต้องเผชิญหน้ากับสายลมกระโชกแรงในใจตนเพียงลำพัง เพื่อตัดขาดจากความยุ่งเหยิงวุ่นวายทางโลกย์

สำหรับบางคน หนังจึงคล้ายจะวิพากษ์พุทธศาสนาในยุคปัจจุบัน ด้วยข้อเสนอให้พระสงฆ์เดินทางกลับคืนสู่แก่นธรรมอัน “เที่ยงแท้” อย่างเป็นปัจเจก

มิได้เสนอให้ศาสนาพุทธปรับเปลี่ยนโลกทัศน์-หลักธรรมคำสอนไปสู่ความยืดหยุ่นและเท่าทันปัญหาของโลกร่วมสมัย

หรือมิได้ชี้แนะให้ผู้ชมครุ่นคำนึงถึงความทุกข์ร้อนหรือการถูกเอารัดเอาเปรียบของคนเล็กคนน้อยจำนวนมหาศาล แล้วจึงใช้ธรรมะเป็นเครื่องมือโอบอุ้มสนับสนุนยกระดับประชาชน เพื่อการต่อสู้ในระดับโครงสร้าง/มหภาค

แต่อีกแง่หนึ่ง ก็เป็นไปได้เหมือนกันว่า บุญส่งกำลังใช้ “ธุดงควัตร” เป็นเครื่องฉายภาพชีวิตหรือการเรียนรู้ขั้นต้นของพระสงฆ์บวชใหม่ ซึ่งต้องเคี่ยวกรำตนเองอย่างหนักหน่วงก่อน ณ เบื้องแรก

เพราะในขณะที่พระบวชใหม่กำลังมุ่งมั่นศึกษาต่อสู้กับจิตใจของตนอยู่เพียงผู้เดียว พระอาจารย์ของเขาก็เดินทางออกสู่โลกภายนอกอีกหน

อาจคาดเดาได้ว่า ท่านกำลังมุ่งหน้าไปช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์รายอื่นๆ เฉกเช่นเดียวกับที่เคยนำพาชายขี้เมาหันเหเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ได้สำเร็จมาครั้งหนึ่งแล้ว

ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม “ธุดงควัตร” นับเป็นหนังน่าดู เมื่อพิจารณาจากคุณภาพในการผลิต และความหนักแน่นของประเด็นที่นำเสนอ

หนังอาจมีหลากหลายแง่มุมที่ชวนให้ “เห็นด้วย” ระคนไปกับ “เห็นต่าง” ซึ่งนั่นก็ส่งผลให้ผลงานของบุญส่งสามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ “ภาพยนตร์” ได้อย่างสมบูรณ์แบบเพียบพร้อมมากขึ้น ทั้งต่อ “คนทำ” และ “คนดู”