บทเรียนคนไทยต้องได้กลับบ้าน กรณีศึกษาคนไทยในปากีสถาน

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

คนไทย 158 คนกลับจากต่างประเทศ ที่สนามบินสุวรรณภูมิวันที่ 3 เมษายน 2563 ก่อนทางการไทยปิดสนามบินอย่างเป็นทางการน่าจะเป็นข่าวดังและดราม่าที่สุด มีการตอบโต้จากทั้งสองฝ่าย

มีการเปิดรายชื่อ ที่อยู่ทั้งหมด 158 คนในหลายสื่อ

ทางการมีการกดดันใช้กฎหมายให้คนเหล่านี้ออกมารายงานตัว มิฉะนั้นจะใช้กฎหมายจัดการ

ความเป็นจริงแล้วการเดินทางกลับประเทศไทยของคนไทยมีมาตลอด ไม่นับรวมคนไทยอีกหลายเมืองหลายประเทศที่ใช้ทุกช่องทางอธิบายความเดือดร้อน หากไม่ได้กลับบ้าน

การเดินทางกลับของคนไทยจึงเป็นข่าวเกือบทุกวัน โดยเฉพาะคนชายแดนภาคใต้น่าจะมียอดอันดับต้นๆ ของประเทศไทย

ไม่ว่าจากมาเลเซีย (ส่วนใหญ่เป็นแรงงานเกือบห้าหมื่นคน และยังมีแรงงานที่รอคอยด้วยความยากลำบากอีกเป็นร้อยคน)

จากปากีสถานส่วนใหญ่เป็นนักเรียน เกือบสามร้อยคน

จากอินโดนีเซีย โดยเฉพาะที่จะกลับมา 100 คน โดยเครื่องบินเหมาลำ วันที่ 6 เมษายน 2563 ที่สนามบินหาดใหญ่ แม้รัฐบาลไทยจะประกาศปิดสนามบินไปแล้ว แต่ได้รับการอนุโลมจากรัฐบาลไทย)

สําหรับบทความนี้ขอนำเสนอบทเรียนการเดินทางกลับของคนไทยที่เป็นข่าวดัง

หนึ่งคือ น้องนักศึกษาไทยที่กลับจากปากีสถาน สอง การเดินทางกลับของลุงชาวสุไหงโก-ลก อายุ 57 ที่เสียชีวิตบนรถไฟ

น้องนักศึกษาไทยที่กลับจากปากีสถาน

น้องนักศึกษาไทยที่กลับจากปากีสถานเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งๆ ช่วงวันแรกที่นักศึกษาปากีสถานกลับนั้น หลังจากมีข่าวว่านักศึกษาไทยที่กำลังศึกษาอยู่ประเทศปากีสถานจะกลับไทยซึ่งภูมิลำเนาเขาส่วนใหญ่อยู่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทุกคนเป็นมุสลิม มีสื่อหนึ่งจากส่วนกลางพาดหัวข่าวอย่างไร้จรรยาบรรณยิ่งด้วยการใช้คำว่า

“ชายแดนใต้ขวัญผวา! กักตัว น.ศ. 111 ชีวิตกลับจากปากีสถาน หวั่นแพร่ระบาดโควิด-19”

ผลการพาดหัวข่าวดังกล่าวหากดูคอมเมนต์จำนวนมากทำให้คนไทยที่ไม่ใช่คนพื้นที่ (ไม่ใช่ทั้งหมด) กล่าวคำไม่สุภาพ ดูถูก เหยียดหยาม น.ศ.เหล่านี้ต่างๆ นานา

บางเพจบางคน พาดหัวข่าวว่า ไปเรียนวิชาอะไร ปากีสถานมีประโยชน์อะไรต่อประเทศบ้าง

แต่ส่วนใหญ่อีกหลายคนก็เข้าใจสถานการณ์ ไม่เหมารวม และกล่าวโทษการพาดหัวข่าวดังกล่าว รับฟังข่าวอย่างมีสติ รับทราบการรายงานข่าวจากส่วนราชการว่าได้มีมาตรการป้องกัน การกักตัวตามมาตรฐานทางการแพทย์ รับทราบข่าวที่น้องๆ น.ศ.ยอมปฏิบัติตามทุกขั้นตอนที่รัฐกำหนด

ผู้เขียนได้พูดคุยกับน้องนักศึกษาคนหนึ่งขอสงวนนามซึ่งกำลังศึกษาอยู่คณะอักษรศาสตร์ เอกภาษาอาหรับ มหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติ อิสลามาบัด (International islamamic university Islamabad, Pakistan -IIUI)

น้องได้อธิบายว่า ทำไม? อย่างไร? ที่ทำให้พวกเขาสามารถปฏิบัติตามทุกขั้นตอนอย่างน่าชื่นชมแม้จะถูกกล่าวหา ตีตราช่วงแรก “ไม่ต้องผวาพวกเราหรอกครับ พวกเรากลับมีหนังสือ Fit to fly และหนังสือรับรองจากสถานทูตก่อนจะบินกลับ กลับอย่างถูกกฎหมาย และทำตามมาตรการของรัฐบาลและทำตามคณะที่เกี่ยวข้องที่ได้เตรียมไว้

เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเท่านั้นแหละ ที่รู้ที่มาที่ไปของพวกเราดี ข่าวบางข่าว และเพจบางเพจ เขียนเชิงลบ ทำให้ผู้อ่านและฟังข่าวเข้าใจเราผิด

อยากจะแจ้งให้ทราบว่า ประเทศปากีสถานยังไม่ได้รุนแรง พอๆ กับประเทศไทยนี่แหละ และเมืองที่ผมเรียนอยู่ยังไม่ได้จัดเป็นเมืองที่เสี่ยง หลังจากที่รัฐบาลปากีสถานประกาศปิดเมือง Lockdown ทำให้มหาวิทยาลัย (University) ต้องปิดไปด้วย (ปิดยาว)

ทางมหาวิทยาลัยสั่งให้ น.ศ.ปากีสถานกลับบ้าน และให้ น.ศ.ต่างประเทศกักตัวอยู่ในหอพัก

กักตัวก่อนจะบินกลับนานกว่าสองสัปดาห์ ซึ่งมีทีมแพทย์คอยเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และมีผู้คุมหอพักโดยมีกฎห้ามออกไปข้างนอก และคนนอกก็ห้ามเข้า

น.ศ.ต้องสวม Mask หากมีอะไรต้องการ ให้แจ้งผู้คุมหอ แล้วเขาจะจัดมาให้ ก่อนบินกลับ ที่สนามบินปากีสถานมีการคัดกรอง ตรวจไข้ และตรวจหนังสือ Fit to fry

ถ้าใครไม่มีหนังสือนี้ เขาจะไม่ให้เช็กอิน ซึ่งที่ผมเห็นเจ้าหน้าที่เขาตรวจเข้มมากๆ มีชาวต่างชาติไม่มีหนังสือ Fit to Fly เข้าไม่ให้เช็กอิน พอถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ก็มีทีมแพทย์ไทยคัดกรองตรวจเข้มมาก ตรวจไข้ ตรวจเอกสาร ใครที่มีอุณหภูมิร่างกายสูง เจ้าหน้าที่ก็จะตรวจอย่างละเอียดอีกที ก่อนจะเข้า ตม.

จากนั้นก็มีทีมพี่ๆ จาก AOT บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) รอรับพวกเราที่ทางออกของสนามบินสุวรรณภูมิ แล้วไปส่งพวกเราที่สำนักงานบริษัท AOT เพื่อแยกส่งกลับตามจังหวัดต่างๆ โดยใช้รถบัสคันละ 20 คน ซึ่งบริษัท AOT พี่ๆ เจ้าหน้าที่ใจดีทุกคน ขนาดพาพวกเรากลับระหว่างทาง ยังจับดูติดตาม GPS ว่าคนขับรถบัสได้จอดที่ไหนบ้าง ขับเร็วไหม

คือผมจะบอกว่าเขาใส่ใจทุกรายละเอียด เพื่อความปลอดภัย

พอเข้าเขตจังหวัดปัตตานีก็มีพี่ๆ ตำรวจนำขบวน ส่งตามสถานที่ที่ทาง อบจ.ได้เตรียมที่คัดกรองไว้

และต่อมาส่งต่อที่สถานที่ที่ทางผู้ว่าราชการและทาง อบจ.ได้เตรียมไว้ เพื่อกักตัว 14 วันตามมาตราการ LOCAL QUARANTINE

และพวกเรา น.ศ.ไทยจากประเทศปากีสถาน ทั้งปัตตานี ยะลา นราธิวาส และจังหวัดอื่นๆ พร้อมปฏิบัติการตามมาตรการเพื่อความสบายใจทุกภาคส่วน ทั้งรัฐและประชาชนทั้งประเทศ แม้พวกเราไม่มีใครติดเชื้อก็ตาม

แต่ยินดีที่จะกักตัวเพื่อชาติ พวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งจากพ่อ-แม่ พี่-น้องรับข่าวข่าวดีๆ”

มีหลายคนเข้าใจผิด หลายคอมเมนต์มองว่า น.ศ.นี้ไปเรียนศาสนาเท่านั้น

น้องเขาได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ความเป็นจริง พวกเรา น.ศ.ไทย IIUI ไม่มีใครได้ทุนจากรัฐ เราเอาทุนจากพ่อ-แม่ อันนี้ที่เห็นในข่าว ไม่รู้เขาเขียนแบบนั้นไปทำไม

และพวกเราเรียนคณะแตกต่างกัน มีทั้ง Economic, Translation, Arabic Language, Education, Computer science, ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ, จิตวิทยา ฯลฯ

แต่ทุกศาสตร์จะบูรณาการกับอิสลามศึกษา ไม่ได้เรียนด้านศาสนาอย่างเดียวนะครับ ใครจะมองเราอย่างไรช่างเขา เราจะทำหน้าที่กักตัวตามที่รัฐวางไว้ให้ดีที่สุด

“พวกเราได้กลับบ้านก็จริง แต่ยังไม่ถึงบ้าน ยังไม่เจอพ่อกับแม่ และสมาชิกครอบครัวด้วย เรามากักตัว 14 วัน ด้วยความยินดี ก่อนกลับถึงบ้าน ครบกำหนดแล้วค่อยกลับบ้านกัน ขอขอบคุณอย่างยิ่งทุกๆ คณะที่ทำให้คนไทยได้กลับบ้าน”

“ขอบคุณ Royal Thai Embassy Islamabad ที่คอยชี้แนะว่าควรกลับบ้าน และอำนวยความสะดวกในการกลับบ้านครั้งนี้ ขอบคุณ Thai Airways ที่ยังเปิดโอกาสให้มีเที่ยวบิน”

“ขอบคุณศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่อำนวยความสะดวก และประสานงานกับทุกฝ่าย ขอบคุณองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี องค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา และองค์การบริหารส่วนจังหวัดนราธิวาส ที่เตรียมสถานที่สำหรับการกักตัวของพวกเราตามจังหวัดต่างๆ ขอบคุณกระทรวงสาธารณสุขที่ส่งทีมแพทย์คอยเฝ้าระวัง

และขอบคุณทุกๆ คณะผู้ที่เกี่ยวข้องไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย”

ที่น้องสามารถทำได้ถึงขนาดนี้ต้องยอมรับว่าได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนหลัก ไม่ว่ารัฐ ทั้งในประเทศไทยและปากีสถาน องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ส่วนหนึ่งของประชาสังคมในพื้นที่ ถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็นสมาคมศิษย์เก่านักศึกษาไทยปากีสถานกับภาคีที่เป็นโซ่ข้อกลาง

และที่สำคัญที่สุดคือน้องนักศึกษาหวังว่าบทเรียนครั้งนี้น่าจะเป็นโมเดลหนึ่งในการช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศที่จะกลับมาช่วง Covid-19 เพราะโดยสิทธิขั้นพื้นฐานคนไทยต้องได้กลับบ้านทุกคน

เพียงแต่เราจะร่วมมือวางแนวทางมาตรการอย่างไรต่างหาก

เรื่องที่สองการเดินทางกลับของลุงชาวสุไหงโก-ลก ที่เสียชีวิตบนรถไฟ

เมื่อ 31 มีนาคม 2563 จากกรณีที่เกิดเหตุผู้โดยสารรถไฟเสียชีวิตอย่างกะทันหัน (เพื่อนๆ เรียกเขาว่าเปาะยา) ระหว่างเดินทางไปสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส

ก่อนหน้านี้เขาโดยสารเครื่องบินมาจากปากีสถาน แล้วในวันต่อมานั่งรถไฟจากสถานีบางซื่อเพื่อจะไปสุไหงโก-ลก

ข่าวระบุว่า มีอาการไอตั้งแต่ก่อนขึ้นรถ มีผู้ใช้โซเชียลมีเดียเผยแพร่คลิปที่เป็นภาพของเขาเดินไออยู่ในระหว่างช่องเข้าคิวซื้อตั๋วซึ่งไม่มีผู้โดยสารอื่น

มีชายหนุ่มคนหนึ่งอยู่และถูกเขาไอใส่ ซึ่งก็มีผู้ใช้โซเชียลมีเดียหลายรายตำหนิว่าเป็นการกระทำโดยเจตนา ข่าวจากหลายสื่อระบุว่า ตลอดทางเขาไอ จนกระทั่งไปถึงสถานีทับสะแกจึงเข้าห้องน้ำและพบว่านอนเป็นลมและเสียชีวิตหน้าห้องน้ำ เจ้าหน้าที่กู้ภัยขึ้นไปช่วยเหลือ มีการนำศพส่งให้กับโรงพยาบาลชันสูตร และนำตัวอย่างส่งตรวจเชื้อโควิด-19 พบต่อมาว่าติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่เสียชีวิตเพราะโรคประจำตัว

และพบคลิปที่ถูกกล่าวหาว่าไอใส่ผู้อื่นนั้น ในช่วงเมื่อคืน (1/4/63) และวันนี้ทั้งวัน (2/4/63) มีการรายงานน่าจะทุกสำนักสื่อในประเทศไทยและเนื้อหาข่าวรวมทั้งคอมเมนต์นักเลงคีย์บอร์ดกล่าวร้ายเสียๆ หายๆ ต่อชายผู้นี้

อันส่งผลร้ายไม่เพียงต่อตัวเขา (แม้เสียชีวิตไปแล้ว) แต่ยังรวมถึงครอบครัวของเขา

จนช่วงบ่ายของวันนี้ (2/4/63) มีการแชร์ข้อมูลคนที่อ้างว่าเป็นเพื่อนเขาเรียกร้องความยุติธรรม เล่าประวัติเขาว่า เขามิใช่คนธรรมดา เป็นวิศวกรจบประเทศอเมริกา ทำงานบริษัทดังในต่างประเทศก่อนเกษียณอายุราชการทำงานเพื่อศาสนา เพียงแต่เขาแต่งและทำตัวธรรมดา (โปรดดูความจริงอีกด้านของเปาะยาชายที่ถูกสังคมตัดสินหลังท่านเสียชีวิต https://bit.ly/39A6j5k)

และอีกคนเขียนถึงเขาโดยตั้งข้อสังเกตเหมือนกับเพจ Patani Notes ว่ามิใช่ความผิดของเขาเพราะเขาทำทุกขั้นตอนตามกระบวนการคัดกรองจากรัฐ ซึ่งตรงนี้น่าจะผิดที่กระบวนการคัดกรองของรัฐมากกว่า?

กรณีติดเชื้อตายบนรถไฟ จุดคำถามกับวิธีคัดกรองดีพอหรือยัง?

กล่าวคือ

“เหตุผลเพราะเขาทำทุกขั้นตอนก่อนขึ้นเครื่องที่ปากีสถาน ผู้ป่วยรายนี้ผ่านระบบคัดกรองที่มีตั้งแต่ก่อนขึ้นเครื่องบินที่ปากีสถาน โดยในการขอเดินทางเข้าไทย ได้ทำตามระบบที่กระทรวงการต่างประเทศตั้งเงื่อนไข คือให้มีใบรับรองแพทย์ว่าสุขภาพอยู่ในขั้นสามารถเดินทางได้ หรือที่เรียกว่า Fit to fly เป็นใบรับรองที่ออกโดยแพทย์ปากีสถาน แล้วจึงได้หนังสือรับรองจากสถานทูตไทย ขึ้นเครื่อง ลงเครื่อง จนท.เองก็คัดกรองวัดอุณหภูมิไม่พบว่าเป็นไข้ ขณะถูกตรวจไม่มีไอจาม

ก่อให้เกิดคำถามกับระบบคัดกรองว่าวิธีที่ใช้อยู่ได้ผลแค่ไหน และการฝากความหวังกับระบบคัดกรองที่อาศัยอุณหภูมิเป็นหลักว่าใช้ได้จริงหรือไม่

ท่ามกลางข้อมูลที่เผยแพร่กันในระยะหลังว่า ผู้ติดเชื้อไม่จำเป็นต้องมีไข้หรือแสดงอาการ”

ท้ายสุดผู้ที่กล่าวหาว่าถูกไอใส่ ออกมายืนยันว่าเปาะยามิได้ไอใส่

ทั้งสองเรื่องมีบทเรียนเหมือนกันว่าสื่อ (บางสื่อ) ต้องไม่โหมกระแสในรายงานข่าว ไม่พยายามชี้นำ เร่งอารมณ์ผู้อ่าน ผู้ฟัง ในขณะที่ผู้อ่าน ผู้ฟังซึ่งอยู่ในภาวะที่เต็มไปด้วยการพาดหัวข่าวเอามันของบางสื่ออย่างขาดจรรยาบรรณ ไม่สนผลกระทบที่จะตามมาโดยเฉพาะช่วง Covid-19 และชายแดนภาคใต้ จึงอยากให้ทุกท่านกลับไปหาพระดำรัสของอัลลอฮ์ (พระเจ้า) ซึ่งได้ดำรัสในอัลกุรอานเมื่อ 1,400 กว่าปี ความว่า

“โอ้ศรัทธาชนทั้งหลาย! หากคนชั่วนำข่าวใดๆ มาแจ้งแก่พวกเจ้า พวกเจ้าก็จงสอบสวนให้แน่ชัด หาไม่แล้วพวกเจ้าก็จะก่อเคราะห์กรรมแก่พวกหนึ่งโดยไม่รู้ตัว แล้วพวกเจ้าจะกลายเป็นผู้เสียใจในสิ่งที่พวกเจ้าได้กระทำไป”

ดังนั้น เราต้องตรวจสอบข้อมูลข่าวสารที่ตัวเองได้รับจากบุคคลที่เรารับสารมาอย่างรอบด้าน

(ยิ่งหากไม่มั่นใจในความซื่อสัตย์ของเขา) จำเป็นต้องยิ่งต้องตรวจอย่างรอบด้าน รอบคอบ ฟังหลายๆ ช่องทาง อย่าด่วนสรุป เพราะถ้ารับข้อมูลข่าวสารโดยไม่มีการตรวจสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วน รอบด้าน ผลเสียที่จะตามมานั้นอาจมีอย่างมากมาย

โดยเฉพาะปัจจุบันที่ใครๆ ก็เป็นผู้รายงานข่าวได้ ทำข่าวได้ มีเครื่องไม้เครื่องมือมากมาย โลกโซเชียลอยู่ที่ปลายนิ้วมือ

บางทีด้วยข้อมูลที่ได้รับอาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิด และจากความเข้าใจผิดนั้นอาจจะเป็นสาเหตุที่นำมาสู่ความแตกแยก ความขัดแย้ง ความเกลียดชัง การประณาม

ไม่เพียงกระทบต่อตัวเขาแต่อาจจะลามไปถึงพ่อ-แม่ ภรรยา ลูกๆ กลุ่มคนที่เขาสังกัด ทำงานด้วย เลยเถิดไปสู่เชื้อชาติ ศาสนาอย่างเหมารวม

#สื่อรายงานข่าวได้แต่ต้องระมัดระวัง

#อ่านข่าวอย่างมีสติ รอบด้าน มีวิทยปัญญา

#ไม่ตีตราและเหมารวม