ครบ 3 ปี รัฐธรรมนูญ 2560 ตีโจทย์สู้ “ผีทักษิณ” กลับเจอ “ธนาธรฟีเวอร์ – โควิด-19”

ครบรอบ 3 ปีกับการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 มรดกจากยุค คสช. กระบวนการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญในช่วงการเมืองปิด การร่างรัฐธรรมนูญถูกร่างโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. 21 คน นำโดย “มีชัย ฤชุพันธุ์” ประธาน กรธ. ซึ่ง 21 กรธ.มาจากการแต่งตั้งโดย คสช.ทั้งสิ้น แม้จะมีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญพร้อมกับคำถามพ่วง แต่บรรยากาศการทำประชามติกลับถูกมองว่า “ไม่เสรี-ไม่เป็นธรรม” เพราะมีการดำเนินคดีกับผู้ออกมารณรงค์ “โหวตโน”

โดยเฉพาะคำถามพ่วงที่ยาว จนถูกมองว่าโน้มน้าวและคลุมเครือ ถือเป็นอีกชนวนหนึ่งที่ทำให้รัฐธรรมนูญ 2560 ถูกวิจารณ์หนักขึ้น

ซึ่งคำถามพ่วงนี้เองที่เปิดประตูให้ ส.ว.มีสิทธิ์เลือก “นายกฯ” ไว้ในบทเฉพาะกาล แม้จะช่วง 5 ปีแรก หลังมีสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ตาม

ทั้งนี้ 250 ส.ว.ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ล้วนเป็นคนที่ผ่านการคัดเลือกจาก คสช. ยกเว้น 6 ผบ.เหล่าทัพกับปลัดกลาโหมที่เป็นโดยตำแหน่ง หากดูจากรายชื่อแล้วมี “อดีตนายทหาร” จำนวนมาก

จนสื่อมวลชนประจำรัฐสภาตั้งฉายา ส.ว. ว่า “สภาทหารเกณฑ์” นั่นเอง

การร่างรัฐธรรมนูญ 2560 เกิดในยุค คสช.ที่ทำรัฐประหารรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อีกมรดกที่ล้างไม่หมดตั้งแต่ยุค คมช. ที่ทำรัฐประหารรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2549 แต่กลับเสียของ จากการเกิดขึ้นของ “พรรคพลังประชาชน-พรรคเพื่อไทย” ที่ต่อท่ออำนาจให้กับขั้วทักษิณอีกครั้ง ผ่านมือ 2 อดีตนายกฯ ได้แก่ “สมัคร สุนทรเวช” และ “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” จนสุดท้ายอำนาจกลับมายังขั้วอำนาจเดิม ผ่านนอมินีอย่างพรรคประชาธิปัตย์ โดยมี “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เป็นนายกฯ ที่ต้องกรำศึกกับ “คนเสื้อแดง”

ย้อนไปเมื่อ 10 ปีก่อน ผู้มีอำนาจในยุค คสช. จนถึงปัจจุบันก็ล้วนผ่านเหตุการณ์ในยุค 10 ปีก่อนมาโดยเฉพาะ 3 ป.บูรพาพยัคฆ์ ทั้ง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็น รมว.กลาโหมในรัฐบาลอภิสิทธิ์ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็น ผบ.ทบ.ในขณะนั้น ส่วน “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะนั้นอยู่ในตำแหน่ง 5 เสือ ทบ. หากย้อนไปถึงยุคปี 2549 พล.อ.ประยุทธ์เป็นแม่ทัพภาคที่ 1 ที่ดูแลพื้นที่ภาคกลางและกรุงเทพฯ

ซึ่งทั้ง 3 ป.บูรพาพยัคฆ์ ผ่านการเมืองยุค “ขั้วอำนาจทักษิณ” มายาวนาน เห็นและกลัว “ผีทักษิณ” ที่ตามหลอกหลอน จนมาถึงยุคที่ พล.อ.ประยุทธ์ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ในวันที่ “ขั้วทักษิณ” กลับมาเรืองอำนาจ ผ่านรัฐบาลยิ่งลักษณ์

ที่สุดท้ายชะตากรรม “พี่ชาย-น้องสาวตระกูลชินวัตร” ก็ไม่ต่างกัน

การออกแบบรัฐธรรมนูญ 2560 โดย กรธ.ที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. ถูกวิจารณ์ตั้งแต่แรกว่า “ชนชั้นใดร่างกฎหมาย ก็เพื่อชนชั้นนั้น”

โดยเฉพาะระบบการเลือกตั้งที่ถูกจับตา เห็นได้ชัดว่าเป็นการ “บอนไซพรรคขนาดใหญ่”

และเปิดให้ “พรรคขนาดกลาง-ขนาดเล็ก” ได้ลืมตาอ้าปาก ท่ามกลางการจับตาในขณะนั้นว่า คสช.จะลงมาเป็นผู้เล่นเองหรือไม่

ภายหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ 6 เมษายน 2560 ผ่านมา 5-6 เดือน ช่วงพฤศจิกายน 2560 เป็นครั้งแรกๆ ที่ “บิ๊กป้อม” แง้มถึงการตั้งพรรคทหารว่า “หากจำเป็นก็ต้องตั้ง” ส่วน “บิ๊กตู่” ก็ไม่ได้ปฏิเสธ โดยให้ดูสถานการณ์ไปก่อน จนมาถึงต้นปี 2561 ได้ถือกำเนิดพรรคพลังประชารัฐขึ้นมา

แน่นอนว่าการร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ. ก็ต้องดูเหตุการณ์ในอดีตมาเป็นบทเรียนและป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ

แต่โจทย์ขณะร่างรัฐธรรมนูญยังไม่มีการเกิดขึ้นของ “อดีตพรรคอนาคตใหม่” หรือการออกมาของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ-ปิยบุตร แสงกนกกุล” จนเกิดปรากฏการณ์ “ธนาธรฟีเวอร์” ซึ่งถูกมองว่า “เหนือการควบคุม” จากระบบที่ออกแบบไว้

แต่สุดท้าย “อดีตพรรคอนาคตใหม่” ก็ต้องถูกยุบพรรคและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 10 ปี

อย่างไรก็ตาม ก่อนยุบพรรคอนาคตใหม่ “ปิยบุตร” ได้อ้างบทวิเคราะห์ของสื่อ ถึงความพยายามยื้อเวลาแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่หรือไม่ โดยได้ตั้งข้อสงสัยเหตุใดวุฒิสภาถึงเลื่อนการพิจารณาคุณสมบัติตุลาการศาลรัฐธรรมนูญถึง 4 ครั้ง

พร้อมตั้งข้อสังเกตการเร่งรัดตัดสินคดียุบพรรคอนาคตใหม่ 21 กุมภาพันธ์ เหมือนการให้ตุลาการเก่า 5 คน ตัดสินคดีนี้ทิ้งทวน เพราะหากช้ากว่านี้ก็จะไม่มีอำนาจตัดสินคดีเงินกู้ของพรรค

ล่าสุดเมื่อ 6 เมษายนที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาได้เผยประกาศแต่งตั้งนายวรวิทย์ กังศศิเทียม เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ, นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม, นายวิรุฬห์ แสงเทียน, นายจิรนิติ หะวานนท์, นายนภดล เทพพิทักษ์ นั่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแทนชุดเดิมที่ต่ออายุจนหมดวาระ

ทว่าก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า อดีตพรรคอนาคตใหม่ก็ได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่น้อย จึงเป็นที่มาของที่นั่ง 80 ส.ส. ที่มาพร้อมแนวคิดการเมืองที่ “ท้าทายอำนาจเดิม”

ในสภาวะที่ “ขั้วเพื่อไทย” บาดเจ็บจาก “บิ๊กเซอร์ไพรส์” หลังพรรคไทยรักษาชาติเสนอชื่อ “แคนดิเดตนายกฯ” ทำให้แผนของ “ขั้วทักษิณ” ล้มไม่เป็นท่า เพราะการตั้งพรรคไทยรักษาชาติขึ้นมาก็เพื่อแก้เกมรัฐธรรมนูญ 2560 ที่วางกลไกต่างๆ ไว้

แต่สิ่งที่ “บิ๊กตู่” ต้องเผชิญคือ การเป็นรัฐบาล 19 พรรค นำมาซึ่งความไม่เป็นเอกภาพ มีเรื่องการต่อรองอยู่ตลอด โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย เปรียบเป็นศึก 3 ก๊ก เป็นสิ่งที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องกรำศึกจากอิทธิฤทธิ์รัฐธรรมนูญ 2560

อีกสิ่งที่รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้ประเมินไว้คือ “อุดมการณ์-แนวคิด” ที่อดีตพรรคอนาคตใหม่วางไว้ ในการท้าทายกับ “โครงสร้างอำนาจ-วัฒนธรรม” ผ่านสังคมออนไลน์ที่อดีตพรรคอนาคตใหม่คุมพื้นที่ได้ กลายเป็นวาทะเชือดเฉือน ที่กลุ่มสนับสนุนอดีตพรรคอนาคตใหม่ถูกมองว่าเป็น “พวกชังชาติ”

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ 2560 ยังถูกท้าทายโดย “ไวรัสโควิด-19” ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า จึงเกิดคำถามกับรัฐธรรมนูญ 2560 หมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา 65 เป็นจุดเริ่มต้นของ “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ที่ออกมาในรูปของ พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560 ที่มีการตั้ง “คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ” ขึ้นมา ซึ่งมีทั้งที่เป็น “โดยตำแหน่ง” และ “ผู้ทรงคุณวุฒิ”

หากดูรายชื่อก็จะพบว่าส่วนใหญ่เป็น “เน็ตเวิร์ก คสช.เดิม” จึงเกิดคำถามถึงเรื่อง “ความหลากหลาย” อีกทั้ง “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” มีความยืดหยุ่นเพียงใดในการรับมือสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดในอนาคต

การแพร่ระบาดของ “โควิด-19” ท้าทายอำนาจรัฐในฐานะ “ภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่” ที่ไม่มีใครคาดคิด และกลไกการเมืองปกติไม่สามารถแก้ไขได้ จนไฟลามทุ่ง

ที่สุดท้ายแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ต้องเปิดทำเนียบให้ “คณาจารย์ทางการแพทย์” มาเป็น “ทัพหน้า” แก้ปัญหา พร้อมรวบอำนาจใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อแก้ปัญหา “ต่างคนต่างทำ” ของหน่วยงานต่างๆ ทำให้เป้านิ่งตกไปที่พรรคร่วมรัฐบาลทันที

เป็นที่ชัดเจนว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ตอบโจทย์ปัจจุบัน แถมมีระเบิดเวลาอีกหลายลูก รอเวลาปะทุออกมา

และที่แน่ๆ จากนี้ ทุกอย่างไม่เหมือนเดิม!!