คนมองหนัง | “Itaewon Class” : เรื่องของ “ลูกพี่-เถ้าแก่”

คนมองหนัง

Itaewon Class” เป็นซีรี่ส์เกาหลีเรื่องล่าสุด ซึ่งกำลังได้รับความนิยมจากคนดูบ้านเรา

ซีรี่ส์เรื่องนี้ถ่ายทอดเรื่องราวในกรอบระยะเวลายาวนาน 15 ปี ทุกอย่างเริ่มต้นขึ้นเมื่อ “พัคแซรอย” เด็กหนุ่มนิสัยดีและเต็มเปี่ยมความมุ่งมั่น ผู้ใฝ่ฝันจะเป็นตำรวจ ไปก่อเหตุชกต่อย “ชางกึนวอน” เพื่อนร่วมโรงเรียนนิสัยเกเร ผู้เป็นทายาทของท่านประธานแห่งบริษัทอาหารยักษ์ใหญ่ “ชางกา”

เหตุการณ์ครั้งนั้น ส่งผลให้พ่อของ “พัคแซรอย” ซึ่งทำงานอยู่ที่ “ชางกา” ต้องเลือกลาออกจากบริษัท แต่สถานการณ์เลวร้ายยังไม่ยอมยุติ เมื่อ “ชางกึนวอน” คนเดิมไปซิ่งรถสปอร์ตชนท้ายมอเตอร์ไซค์ของพ่อ “พัคแซรอย” กระทั่งบิดาคู่อริเสียชีวิต

ด้วยเครือข่ายอำนาจของท่านประธาน “ชางแดฮี” แห่ง “ชางกา” ลูกชายคนโตของเขาจึงไม่ต้องรับโทษทัณฑ์ใดๆ ผิดกับ “พัคแซรอย” ที่ไปลงมือแก้แค้นทำร้ายร่างกาย “ชางกึนวอน” ถึงในโรงพยาบาล ซึ่งต้องไปใช้ชีวิตในเรือนจำสองปี

หลังออกจากคุก “พัคแซรอย” ค่อยๆ ดำเนินชีวิตไปตามแผนการแก้แค้นของตนเอง โดยมีเป้าหมายสุดท้ายอยู่ที่การโค่นล้มประธานบริษัท “ชางกา” และบุตรคนโต

ระหว่างนั้นเขาเริ่มก่อร่างสร้างตัวผ่านการทำร้านอาหารเล็กๆ ชื่อ “ทันบัม” ซึ่งจะค่อยๆ เติบโตกลายเป็นบริษัท “ไอซี” (อิแทวอน คลาส) ด้วยความร่วมมือร่วมใจของเหล่าเพื่อนร่วมงาน-มิตรสหายรู้ใจ รวมถึง “โชอีซอ” เด็กสาวมาดมั่นหัวดีที่ผงาดขึ้นมาท้าทายตีคู่ “โอซูอา” หญิงผู้เป็นรักแรกพบของ “พัคแซรอย” ซึ่งปัจจุบันทำงานอยู่ข้างกายท่านประธาน “ชางแดฮี”

ตั้งแต่ต้นจนจบ ค่านิยมหลักประการหนึ่งที่ “Itaewon Class” นำเสนอก็คือ “วัฒนธรรมลูกพี่” (ในแบบเอเชียตะวันออก?)

สามารถกล่าวได้ว่า การแข่งขันขับเคี่ยวกันทางธุรกิจในระบบทุนนิยมผ่านกลไกตลาดหุ้นก็ดี การแสดงอำนาจบารมีแบบ “นักเลง” (ทั้งในแง่ “นักเลงใจใหญ่” หรือ “นักเลงหัวไม้”) ก็ดี การใช้อิทธิพลนอก-ในระบบกฎหมายก็ดี

ล้วนถูกห่อคลุมไว้ด้วย “วัฒนธรรมลูกพี่” ทั้งหมด

เพียงแต่อำนาจบารมีของ “ลูกพี่” รุ่นเก่าอย่าง “ประธานชางแดฮี” กำลังเสื่อมถอยลงตามลำดับ สวนทางกับอำนาจบารมีของ “ลูกพี่” รุ่นหลังอย่าง “เถ้าแก่พัคแซรอย” ที่กำลังพุ่งแรงเจิดจ้า

ที่เชื่อมโยงเป็นเนื้อเดียวกับวัฒนธรรมการปกครองคนแบบ “ลูกพี่” ก็คือการบริหารงานในระบบ “เถ้าแก่”

ไม่ว่าจะเป็นบริษัท “ไอซี” ของ “พัคแซรอย” หรือ “ชางกา” ของตระกูลชาง ทั้งสององค์กรธุรกิจล้วนดำเนินกิจการแบบยึดถือ “เถ้าแก่” (ซึ่งก็คือ “ลูกพี่” นั่นแหละ) เป็นศูนย์กลาง แล้วฉาบหน้าด้วยความเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์

ความล้มเหลวในเบื้องท้ายของ “ชางแดฮี” พิสูจน์แล้วว่าบริษัทไม่สามารถจะก้าวหน้าต่อไปได้ด้วยระบบบริหารงานแบบ “เถ้าแก่” ขณะที่ชัยชนะของ “พัคแซรอย” ก็เป็นเพียงความสำเร็จในขั้นแรก ซึ่งก่อให้เกิดคำถามตามมา (นอกเหนือจากเนื้อหาของซีรี่ส์) ว่า แล้ว “ไอซี” ที่ควบรวมกิจการ “ชางกา” เข้ามา จะมีทิศทางเช่นไรในอนาคต?

“เถ้าแก่พัค” และ “ลูกน้องคนสนิท” กลุ่มเดิม ที่บุกเบิกร้านอาหารเล็กๆ มาด้วยกัน ก่อนกลายสภาพเป็นคณะผู้บริหารกิจการใหญ่โต จะเอา “บริษัทมหาชน” แห่งนี้อยู่หรือไม่?

ภายใต้เงื่อนไขมากมายหลายอย่าง เช่น กรรมการผู้จัดการบริษัทไม่ได้มีหน้าที่หลักในการกระทืบคน เพื่อช่วยเหลือ “ลูกพี่คนปัจจุบัน” และสั่งสอน “อดีตลูกพี่” ตามวิถี “คุณธรรมน้ำมิตร”

สาวน้อยมหัศจรรย์ผู้มีไอคิวระดับอัจฉริยะอย่าง “โชอีซอ” อาจนำพา “ไอซี” ให้พุ่งผงาดผาดโผนด้วยความทะเยอทะยาน แต่เธอก็ไม่เคยเอาชนะคนตระกูลชางได้ด้วยศักยภาพของตัวเองแบบเต็มๆ หากต้องการความพลาดพลั้งของคู่แข่งและความอึดของ “ลูกพี่/เถ้าแก่” มาเป็นปัจจัยชี้ขาด

กระทั่ง “อีโฮจิน” ที่เป็นมันสมองด้านการลงทุนของ “พัคแซรอย” ก็ยังพลาดท่าเสียทีในเกมการแย่งชิงคะแนนเสียงของผู้ถือหุ้นอยู่บ่อยๆ

หรือเอาเข้าจริง การที่ไม่มีใครในกลุ่มผู้บริหารระดับนำของ “ไอซี” เรียนจบมหาวิทยาลัยเลย ก็อาจเป็นทั้งการพังทลายบรรทัดฐานคร่ำครึเดิมๆ และข้ออ่อนด้อยที่รอคอยวันถูกโจมตี

วิถีการนำองค์กรแบบ “ลูกพี่-เถ้าแก่” ใน “Itaewon Class” ยังถูกท้าทายจากความเปลี่ยนแปลงสำคัญอีกชุดหนึ่ง

น่าสนใจว่า แม้ซีรี่ส์เกาหลีเรื่องนี้จะพูดถึงความรักกะหนุงกะหนิง, มิตรภาพ, การสร้างตัว และการแข่งขันทางธุรกิจ

ทว่าประเด็นใกล้ตัวมนุษย์ ที่คนทำ (แทบ) ไม่แตะต้องเอาเลย ก็คือ การมีสัมพันธ์ลึกซึ้งระหว่างคู่รัก

กลายเป็นว่าตัวละครกลุ่มสุดท้ายที่เคยสานสายสัมพันธ์แบบนั้น อาจได้แก่บรรดาคนรุ่นพ่อ เช่น “ชางแดฮี” และพ่อของ “พัคแซรอย” ขณะที่ตัวละครนำและสมทบรุ่นลูกกลับคล้ายจะร้างไร้ประสบการณ์ดังกล่าวเกือบสิ้นเชิง

อย่างน้อยที่สุด “เถ้าแก่พัค” ก็ไม่เคยจูบผู้หญิงที่ไหน (แต่เคยถูกแอบจูบระหว่างนอนหลับ) มาจนถึงตอนอายุ 30 กลางๆ และมีความเป็นไปได้สูงว่าเขาอาจไม่เคยมีสัมพันธ์ลึกซึ้งกับใคร เพราะความหมกมุ่นจริงจัง เจ้าคิดเจ้าแค้นของเจ้าตัว

กระทั่งเพิ่งมารู้จักรักสาวน้อย “โชอีซอ” แบบ “ปั๊ปปี้เลิฟ” ในอีพีท้ายๆ

เช่นเดียวกับ “หัวหน้าโอซูอา” ที่พลาดโอกาสในการสานสัมพันธ์รักใคร่กับ “พัคแซรอย” ครั้งแล้วครั้งเล่า ตั้งแต่ก่อนจบมหาวิทยาลัย จนกลายมาเป็นผู้บริหารบริษัทใหญ่

ประเด็นหลักที่ถูกพูดถึงชัดๆ ในซีรี่ส์เรื่องนี้ นอกจากวัฒนธรรม “ลูกพี่-เถ้าแก่” ก็ได้แก่ การส่งมอบพันธกิจบางอย่างระหว่างพ่อ-ลูก ซึ่งมีทั้งกรณีล้มเหลว คือพ่อมีอำนาจ แต่ลูกไม่สามารถสืบทอดอำนาจดังกล่าวได้ และกรณีสำเร็จ คือ พ่อเหมือนจะพ่ายแพ้ ส่วนลูกกลายเป็นผู้ชนะ

อย่างไรก็ดี เมื่อ “เถ้าแก่/ลูกพี่” รุ่นใหม่ ซึ่งมีวัยขึ้นต้นด้วยเลข 3 เอาแต่มุมานะสร้างกิจการ, เอาใจใส่เพื่อนร่วมงานมิตรสหาย หรือสำมะเลเทเมาจนต้องติดคุกติดตะราง โดย (ยัง) ไม่มีครอบครัว-ทายาทสืบสกุล พวกเขาจึงต้องแบกรับสถานะความเป็น “ลูก” อยู่วันยังค่ำ

คำถามมีอยู่ว่า แล้ว “เถ้าแก่/ลูกพี่” เจเนอเรชั่น “พัคแซรอย” จะส่งมอบมรดก/ทรัพย์สิน/อุดมการณ์ไปให้ใครต่อ?

หรือหากมองอีกแง่หนึ่ง การสืบทอดพันธกิจจากพ่อสู่ลูกที่กำลังเลือนหายไป อาจเปิดโอกาสให้องค์กรเอกชนอย่าง “ไอซี-ชางกา” ได้ปรับเปลี่ยนตัวเองเป็นบริษัทมหาชนจริงๆ เสียที