มุกดา สุวรรณชาติ : ถ้าไม่ช่วย SME ด้วยยาแรง เจ๊ง…แสนแห่ง…ตกงานเป็นล้านแน่

มุกดา สุวรรณชาติ

แม้ Covid-19 จะระบาดแค่ไหน แต่โลกก็ไม่หยุดหมุน ชีวิตทั้งหลายยังต้องดำเนินต่อไป นั่นหมายถึงผู้คนจะต้องกินต้องอยู่ ต้องบริโภคทรัพยากรต่างๆ การใช้ชีวิตในยุคปัจจุบันจะต้องมีเงินเพื่อจะซื้อหาของที่จำเป็น

เมื่อสังคมเป็นเช่นนี้ การปิดห้ามเดินทาง ห้ามเปิดร้านค้าและสถานที่บริการ จึงเป็นการปิดกั้นกลไกระบบเศรษฐกิจที่เคยดำเนินอยู่ตามปกติ ให้หยุดเดิน

สิ่งที่เกิดขึ้นคือความยากจน หลังโรคระบาด เพราะระบบการผลิต การค้าหรือการบริการหยุดชะงัก หรือเสียหายไปจำนวนหนึ่ง มากน้อยแล้วแต่ความเข้มแข็งของแต่ละชาติ

องค์กรธุรกิจในไทยส่วนใหญ่เป็น SME ซึ่งมีกว่า 3 ล้านราย กว่า 99% เป็นวิสาหกิจขนาดเล็ก มี 1% ที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลาง ทั้งหมดมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ผลผลิตจาก SME คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 42 ของ GDP ของประเทศ ผู้ประกอบการ 74% เป็นบุคคลธรรมดา 26% จดเป็นนิติบุคคล SME เป็นหน่วยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เป็นห่วงโซ่เชื่อมธุรกิจต่างๆ ไว้ด้วยกัน และผูกโยงไปถึงลูกค้าทั้งในประเทศและทั้งโลก

จำนวนเจ้าของธุรกิจ และลูกจ้างต่างๆ แม้แต่ละแห่งอาจมีไม่มากตั้งแต่ 1-10 คน จนถึง 100 คน แต่เมื่อคูณจำนวนบริษัทเข้าไปแล้วจะก่อให้เกิดการจ้างงานถึง 11 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 80 ของการจ้างแรงงานทั่วประเทศ

แต่ตอนนี้เศรษฐกิจแต่ละประเทศเหมือนรถที่เครื่องดับ มันจะต้องออกแรงเข็นให้แรงพอ ต้องใช้คนที่ยังมีแรงหลายคนและต้องวิ่งไปหลายสิบเมตร จึงจะสตาร์ตเครื่องติด

ถ้าออกแรงน้อยเกินไป คนช่วยกันเข็นน้อยเกินไป เครื่องยนต์จะไม่ติด

นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมหลายชาติต้องอัดเงินถึง 10% ของ GDP และจะต้องช่วยให้ตรงจุด ในเวลาที่รวดเร็ว ไม่มีใครอยากให้ Covid-19 มาทำลายอนาคตตั้งแต่ปี 2020

 

ต้องช่วยเหลือใครบ้าง ประเทศจึงจะไปรอด

พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน และพรรคการเมืองกว่า 230 พรรคจาก 100 กว่าประเทศทั่วโลก ออกแถลงการณ์ร่วมเรียกร้องให้มีการร่วมมือระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิดมากขึ้นเพื่อเอาชนะโควิด-19

จะเห็นว่าในแถลงการณ์ของพรรคการเมืองทั้งโลกได้ระบุไว้อย่างชัดเจน ในข้อ 5 ว่า

เราสนับสนุนให้ทุกประเทศ ในขณะที่พยายามควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ใช้วิธีการแบบบูรณาการเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ต่อเนื่อง รวมทั้งใช้มาตรการแบบมีเป้าหมายในการปกป้องกลุ่มผู้เปราะบางและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

ในระบบเศรษฐกิจทั้งโลกที่คล้ายกัน กลุ่มที่เปราะบางเป็นคนจนที่ยากลำบากมาก ในขณะที่ควบคุมการแพร่ของโรคระบาด ก็ยังต้องแก้ปัญหาเศรษฐกิจเพื่อไปช่วยเหลือคนเหล่านั้น มิฉะนั้นจะเกิดปัญหาทางสังคมมากมายตามมา นี่เป็นจุดที่เปราะบางที่สุด

อีกจุดหนึ่งคือ SME เพราะเป็นพื้นฐานทางธุรกิจที่เกี่ยวพันกับคนจำนวนมาก ถ้าธุรกิจเหล่านี้ล้มลง ไม่เพียงฐานการผลิตและการค้าจะล้มลง แต่ชนชั้นกลางและชั้นกลางระดับล่างจะทรุดลงตาม สำหรับในไทยจะมีผลให้มีคนเปลี่ยนฐานะจากผู้ใช้บัตรเครดิต ไปเป็นบัตรคนจนจำนวนมาก

นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมในหลายประเทศจึงจ่ายเงินช่วยให้บริษัทต่างๆ ให้จ้างพนักงานต่อไป เพื่อไม่ให้เลิกจ้างคนงานบางส่วน หรืออย่าปิดกิจการ เพราะจะทำให้คนตกงานมหาศาลและกำลังการผลิตการบริการของประเทศจะลดลงทันที อาจเกิดปัญหาขาดแคลนสินค้าจำเป็น

แต่ในประเทศเราผู้ที่ยังอดทนทำกิจการต่อ ก็ยังไม่เห็นแนวทางการช่วยเหลือชัดเจน ถ้ายังทำต่อไปได้ก็ส่งเงินภาษีให้รัฐ ถ้าขาดทุน เจ๊ง เจ้าของและพนักงานก็รับกรรมไปกันเอง

ตอนนี้ความช่วยเหลือที่จำเป็นมีอยู่ 2 อย่าง

1. ช่วยคนที่กำลังลำบาก กำลังอดไม่มีกินให้มีชีวิตรอด

2. ช่วยคนที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่ให้ล้มลง เพราะถ้าคนเหล่านี้ล้มลง เศรษฐกิจที่ทรุดอยู่แล้วจะพังลงโดยส่วนใหญ่ ยากจะฟื้นฟู

 

ขณะนี้สภาพของประเทศเหมือนกับครอบครัวใหญ่ที่มีคนอาศัยอยู่ 10 คน เป็นเด็ก 1 คนชรา 1 และมีคนตกงานอีก 2 คน

เมื่อ Covid-19 ระบาดเข้ามาก็มีคนป่วยอีก 2 คน เหลือออกไปทำงานได้แค่ 4 คน จะต้องหาเลี้ยง 10 ชีวิต

4 คนนี้จึงจะต้องทำงานหนักมาก ในภาวะเช่นนี้ค่าแรงก็ได้น้อยลงแถมยังมีเจ้าหนี้มาทวงเงิน ถ้าใน 4 คนต้องหยุดทำงานไป 2 คน 2 คนสุดท้ายจะไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายของคนทั้งครอบครัว 10 คนได้

ในภาวะที่ Covid ระบาด รัฐบาลอาจช่วยอาหาร เงินชดเชยแก่คนตกงานได้ชั่วคราวเท่านั้น การประคองให้คน 4 คนที่เหลือมีงานทำ จึงเป็นเรื่องจำเป็น เพราะเป็นความสามารถที่จะรักษากลไกการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ โดยให้มีการผลิตและการบริการเดินต่อ เพื่อสร้างรายได้มาช่วยเหลือตนเองและคนอื่น

ขณะนี้ธุรกิจ SME ก็เหมือนคน 2 คนใน 4 คนที่เหลืออยู่

ในต่างประเทศ ทางรัฐบาลได้มีโครงการที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจและช่วยเหลือ SME เหล่านี้ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมแล้ว (เป็นการรวบรวมของธนาคารแห่งประเทศไทย มากพอควร แต่เอามาให้ดูเป็นตัวอย่างบางส่วน)

 

ต่างประเทศทุ่มช่วยสุดตัว
กลัว…จะพากันตายหมด


เยอรมนี

รัฐบาลเยอรมนีให้เงินสนับสนุนพนักงานที่สูญเสียรายได้จากชั่วโมงการทำงานที่ลดลง (short hours โดยบริษัทไม่ layoff และพนักงานยังคงได้รับค่าจ้างคงเดิม ทั้งนี้ เป็นหนึ่งใน short-time work scheme ที่ใช้ในหลายประเทศในยุโรป (เริ่มบังคับใช้ 1 เมษายน 2563) – ภายใต้ scheme นี้ รัฐบาลจะจ่ายเงินเป็นสัดส่วน 67% ของค่าจ้างในชั่วโมงการทำงานที่ลดลงให้แก่พนักงานของบริษัทเอกชน รัฐบาลจะจ่าย social security contributions เต็มจำนวนให้กับพนักงาน แทนบริษัทโดยกำหนดสิ้นสุดภายในสิ้นปี 2564

ปล่อยสินเชื่อเพิ่มเติมให้บริษัทเอกชนที่ได้รับผลกระทบ ขยายการค้ำประกันสินเชื่อโดย German Guarantee Banks

เลื่อนการจ่ายภาษีออกไปได้ เบี้ยปรับทางภาษี (tax penalties) จะไม่บังคับใช้จนกว่าจะถึงสิ้นปีนี้

สนับสนุนด้านสภาพคล่องให้กับบริษัทเอกชน ฯลฯ

 

ออสเตรเลีย

ให้เงินทุนแก่ธุรกิจ SMEs และ NGOs สูงสุด 100,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย โดยวงเงินที่ธุรกิจได้รับ จะขึ้นอยู่กับค่าใช้จ่ายพนักงานของแต่ละบริษัทเพื่อจูงใจให้ธุรกิจรักษาระดับการจ้างงานไว้ (วงเงิน 31.9 พันล้าน)

รัฐบาลมีมาตรการค้ำประกันสินเชื่อ SME สำหรับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 จำนวน 50% ของวงเงินสินเชื่อ พร้อมทั้งเร่งกระบวนการพิจารณาสินเชื่อให้เร็วขึ้น

สนับสนุนค่าจ้างแก่ SMEs เป็นจำนวนเงิน 50% ของค่าใช้จ่ายพนักงาน เป็นระยะเวลา 9 เดือน เริ่มจาก 1 มกราคม-30 กันยายน 2563

 

สเปน

รัฐบาลสเปนประกาศมาตรการเพื่อเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 ในหลักการ เป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 32 พันล้านยูโร (คิดเป็น 2.6% ของ GDP สเปน) รัฐบาลสเปนจะจ่าย social contribution ให้กับพนักงานเต็มจำนวน ในกรณีที่เป็น SMEs แต่จะจ่ายเป็นสัดส่วน 75% ของ social contribution ให้กับพนักงาน ในกรณีที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่กว่า SMEs

รัฐบาลสเปนจะจัดสรรงบประมาณมูลค่ากว่า 4 พันล้านยูโรให้แก่หน่วยงาน SACE เพื่อสนับสนุน SMEs ที่เป็นธุรกิจส่งออกและขาดสภาพคล่อง

มาตรการดูแลครัวเรือนและการจ้างงาน Extra support for workers affected : รัฐบาลสเปนจะสนับสนุนการจ่ายเงินเดือนพนักงานของบริษัทที่ได้รับผลกระทบเป็นมูลค่า 75% ของเงินเดือนพนักงาน

 

อังกฤษ

รัฐบาลได้ประกาศมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจและครัวเรือนเพิ่มเติมมูลค่ารวม 350 พันล้านปอนด์ (คิดเป็นสัดส่วน 15% ของ GDP) โดยธุรกิจขนาดใหญ่สามารถได้สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำจาก BoE ขณะที่ธุรกิจขนาดเล็กได้รับสินเชื่อสูงสุดถึง 5 ล้านปอนด์ ไม่คิดดอกเบี้ย 6 เดือน และยกเว้นการเก็บ Business rate tax เป็นเวลา 1 ปี

กระตุ้นให้ธนาคารต่างๆ ปรับเพิ่มปริมาณการปล่อยสินเชื่อให้แก่ภาคธุรกิจ โดยเน้นไปที่ SMEs ทั้งนี้ BoE จะเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนต้นทุนต่ำให้แก่ธนาคารเพื่อ ที่เน้นการปล่อยสินเชื่อให้แก่ธุรกิจ SME จะสามารถยืมเงินจาก BoE ได้ถึง 5 เท่า แต่หากให้แก่ non-SME จะได้เพียง 1 เท่า

– Small Business Rate Relief (SBRR) มูลค่า 2.2 พันล้านปอนด์ โดยเป็นการให้เงินจำนวน 3,000 ปอนด์กับธุรกิจขนาดเล็กประมาณ 7 แสนบริษัท

ขณะที่ร้านอาหารและผับบาร์ จะได้รับเงินสดไม่เกิน 25,000 ปอนด์ สำหรับภาคครัวเรือนที่มีการกู้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สามารถขอยกเว้นการผ่อนชำระได้ 3 เดือน รับการเลื่อนชำระ VAT

ให้เงินกู้ 0% ระยะเวลา 12 เดือน

รัฐบาลประกาศแผน “Job Retention Scheme” โดยจะจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับบริษัทที่ไม่ได้เลิกจ้างพนักงานสูงสุดถึง 80% หรือเดือนละ 2,500 ปอนด์ต่อคน ตั้งแต่ 1 มีนาคม 2563 เป็นระยะเวลา 3 เดือน หรืออาจมีการขยายเวลาเพิ่มเติม เพื่อช่วยเหลือไม่ให้ลูกจ้างตกงาน

ยังมีอีกหลายประเทศ เช่น อเมริกา เกาหลีใต้ จีน ฯลฯ ที่กำหนดมาตรการช่วยเหลือ และมีเป้าหมาย มีตารางเวลา กำหนดยอดเงินแต่ละโครงการ เพื่อประคองและฟื้นฟู SME ให้ได้

 

สภาพ SME ไทยกำลังไข้ขึ้น เหมือนกับทั่วโลก

ขณะนี้ไม่ใช่กลุ่มคนที่ตกงานหรือคนจนเท่านั้นที่รอความช่วยเหลือ แต่เป็นกลุ่มคนและบริษัทที่ยังดำเนินธุรกิจอยู่แม้ประสบความยากลำบากแต่ก็ไม่ได้เลิกจ้างคนงาน อาจมีบางแห่งบางธุรกิจที่ทำกำไรได้เช่นบริษัทที่ผลิตยา ผลิตหน้ากาก ผลิตเครื่องมือทางด้านการแพทย์ แต่บริษัทส่วนใหญ่ประสบปัญหาทางธุรกิจซึ่งแต่เดิมก็ตกต่ำลงมาหลายปีติดต่อกัน อยู่ในสภาพที่ขาดทุน ลดขนาดกิจการลงบ้างแล้ว บางแห่งเป็นหนี้ธนาคารจนต้องปรับโครงสร้างหนี้ บ้างก็ถูกฟ้อง

ธุรกิจ SME ซึ่งขณะนี้อยู่ในหัวเลี้ยวหัวต่อว่าจะอยู่ต่อได้หรือไม่เมื่อเกิดปัญหาโควิด-19 ขึ้นยิ่งไปกระหน่ำซ้ำเติม หนี้สินที่เคยผ่อนธนาคารได้ นับแต่นี้ไปก็อาจจะทำไม่ได้แล้ว

แต่ในสภาพที่เป็นจริงบริษัทก็ยังพอผลิตและพอมีลูกค้าอยู่ถ้าทำต่อไปอาจจะขาดทุนบ้างไม่มากแต่พวกเขาจะทนได้นานกี่เดือน

ตอนนี้การตัดสินใจขึ้นอยู่กับเจ้าของบริษัทที่มองอนาคตและดูกำลังความสามารถว่าจะเผชิญกับแรงกดดันได้แค่ไหน เช่นที่บริษัท ABCZ (เราสมมติชื่อขึ้น) ทำการผลิตอุปกรณ์ส่งโรงงานหลายแห่ง วันนี้ยอดขายลดลงมากมีคนงานเหลือประมาณ 30 คน ในยุคที่รุ่งเรืองมีคนงานเป็นร้อย

สภาพการเงินขณะนี้คือ กำลังปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคาร แล้วก็ยังต้องผ่อนต่อ แต่ถ้าทำต่อไปจะขาดทุนเดือนละประมาณ 2-300,000 บาท สำหรับ SME ขณะนี้ถือว่าเป็นเงินมาก เจ้าของกำลังลังเลว่าจะทำต่อหรือไม่

หลายปีมานี้ที่ทำอยู่ก็ยังมีเงินส่งภาษี Vat แต่ภาษีเงินได้ประจำปีกลายเป็นขาดทุนไปแล้ว แต่ถ้าปิดกิจการคนจะตกงาน 30 คน มีครอบครัวเดือดร้อน 30 ครอบครัว บริษัทจะถูกฟ้องและอาจต้องปล่อยให้ล้มละลาย จะเริ่มใหม่หรือไม่ก็ต้องแล้วแต่อนาคตในหลายปีข้างหน้า

บริษัทนี้เปิดกิจการมาแล้วเป็น 20 ปี จ่ายเงินภาษีให้รัฐในรูปแบบต่างๆ หลายสิบล้านแต่ไม่เคยได้รับความช่วยเหลืออะไรโดยตรงจากรัฐเลยจนถึงวันนี้

ถ้าไม่ปิดกิจการ เขาอาจจะปลดคนงานออก ลดวันทำงานและลดเงินของพนักงานลงซึ่งจะเจ็บด้วยกันทั้งคู่

แต่จะไปขอเงินชดเชย 5,000 บาทก็ไม่ได้ เพราะไม่ได้เลิกจ้าง ในขณะเดียวกันก็ยังต้องส่งหนี้ธนาคารอยู่เหมือนเดิม

การส่งแต่ดอกเบี้ยไม่ต้องส่งเงินต้น ภาระก็ยังกลับมาอยู่เหมือนเดิม

ปัจจุบันดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารมีต้นทุนต่ำอยู่แล้ว ธนาคารเองก็มีลูกหนี้แบบนี้อยู่เป็นแสนราย เป็นเงินหลายหมื่นล้าน

ถ้าไม่ช่วยครั้งนี้บริษัทต่างๆ ก็จะต้องปิดตัวลงแน่นอน เพียงแต่จะเป็นเดือนไหนเท่านั้น

รัฐบาลลองมองมาตรการของประเทศต่างๆ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเปรียบเทียบให้ดู แล้วคิดว่าจะช่วยอะไรให้แก่ผู้ที่เสียภาษีได้บ้าง

 

อนาคต SME ไทย คนป่วยที่ต้องการออกซิเจน

เสาค้ำเล็กๆ จำนวนมากเหล่านี้แบกรับภาระมานานหลายปีแล้ว โรคระบาด Covid-19 เหมือนกับกระแสน้ำป่าที่ไหลบ่ามาอย่างรวดเร็ว โอกาสที่เสาเหล่านั้นจะหักโค่นลงมีสูงมากและจะมีผลกระทบต่อตัวบ้านแน่นอน เมื่อบริษัทเหล่านี้ปิดตัวลง จากผู้ที่เคยทำเงินส่งรัฐด้วยภาษีรูปแบบต่างๆ ก็จะกลายเป็นภาระ กลายเป็นคนว่างงานที่ต้องมาขอรับความช่วยเหลือ

ภาพที่มองเห็นในอนาคต คือการทยอยปิดตัวของบริษัท SME จำนวนมากแม้เมื่อสถานการณ์โควิด-19 เบาบางลงไปแล้ว แต่บริษัทเหล่านั้นเหมือนคนไข้ที่ได้รับเชื้อมาเป็นเวลาหลายเดือน ไม่มีหน้ากาก ไม่มีเครื่องช่วยหายใจและยารักษา เมื่ออาการหนักมากก็ไม่สามารถฝืนทนต่อไปได้ ความแข็งแรงของแต่ละบริษัทจะทำให้พวกเขายืดชีวิต บริษัทและลูกจ้างในระยะที่ต่างกันอาจจะตั้งแต่ 2-4 เดือน หรือ 5-8 เดือน การล้มต่อเนื่องจะทำให้เศรษฐกิจประเทศฟื้นยากเข้าไปอีก

อีก 3-6 เดือนก็รอให้ธนาคารฟ้อง และยึดทรัพย์สิน โรงงาน ที่ดิน เครื่องจักรเป็นพันเป็นหมื่นแห่งจะเอาไปทำอะไร ธนาคารก็ทำอะไรไม่เป็น ลักษณะของทรัพย์สินจำนวนมากเป็นการใช้งานเฉพาะทาง ถ้านำไปขายก็เป็นแค่เศษเหล็ก ในขณะที่นำไปผลิตสินค้ากลับมีมูลค่ามากมาย

นั่นหมายความว่าประเทศจะเสียกำลังการผลิตมหาศาลและจะต้องไปเริ่มใหม่ด้วยเงินอีกมหาศาล ยิ่งยืดนานออกไปแรงงานจำนวนมากที่มีความชำนาญอาจเปลี่ยนอาชีพกระจัดกระจาย ต้องมาเริ่มฝึกคนใหม่ คู่แข่งต่างประเทศที่ออกตัวได้ก่อนก็จะแย่งลูกค้าไป

นี่คือยุทธศาสตร์ 20 ปีของจริง ถ้าวางแผนไม่ดี แม้รอดจาก Covid-19 แต่จะพบกับหายนะทางเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2020 จะอยู่กันอย่างยากจนทั้งประเทศ และจะหาเงินมาแจกไม่ได้อีกแล้ว เพราะคนหาเงินก็บาดเจ็บเอาตัวเองไม่รอด