สมชัย ศรีสุทธิยากร | รัฐธรรมนูญเจ้าปัญหา (9) ยุทธศาสตร์ประเทศ เท่แต่กินไม่ได้

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ประเด็นหนึ่งที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 คือการกำหนดให้มียุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งฝ่ายการเมืองโดยเฉพาะในซีกพรรคฝ่ายค้านเห็นว่าเป็นการกำหนดทิศทางของประเทศที่แข็งตัว ขาดความยืดหยุ่น และอาจไม่ตอบสนองกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในอนาคตได้

แท้จริงแล้วประเด็นการให้มียุทธศาสตร์ชาตินั้น เป็นเพียงสิ่งที่อยู่ในหมวด 6 แนวนโยบายของรัฐ ที่มาตรา 65 เขียนไว้เพียงแค่ว่า

“รัฐพึงจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาลเพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนต่างๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการกันเพื่อให้เกิดเป็นพลังผลักดันร่วมกันไปสู่เป้าหมายดังกล่าว…”

การเขียนตามที่ระบุนั้นมีลักษณะเป็นเพียงแนวปฏิบัติทางนโยบาย (Policy Guideline) ซึ่งน่าจะหมายความเพียงแค่เป็นแนวสำหรับการกำหนดนโยบายของรัฐบาลแต่ละชุด

แต่มาตรา 162 ของรัฐธรรมนูญกลับมัดตราสังรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งว่าก่อนที่ ครม.จะเข้าบริหารราชการแผ่นดิน ต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา “ซึ่งต้องสอดคล้องกับหน้าที่ของรัฐ แนวนโยบายแห่งรัฐและยุทธศาสตร์ชาติ”

ดังนั้น ยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดจึงกลายเป็นกฎเหล็ก (Iron Law) ที่ใครจะมาเป็นรัฐบาลต้องศึกษาและเขียนคำแถลงนโยบายที่สอดคล้อง มิฉะนั้นอาจถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดรัฐธรรมนูญ

แล้วยุทธศาสตร์มาจากไหน

พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560 เป็นเหมือนกฎหมายลูกที่ตามมาติดๆหลังรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ประกาศใช้ราวกับเป็นแพ็กเกจที่มาพร้อมกัน โดยรัฐธรรมนูญนั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 6 เมษายน 2560 ส่วน พ.ร.บ.ก็ตามติดในวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 หลังเพียงแค่ 3 เดือนเศษ

สาระสำคัญคือ ให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีข้าราชการประจำที่คุมด้านความมั่นคงได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและสามเหล่าทัพ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นองค์ประกอบสำคัญ และมีภาคส่วนอื่นและผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งล้วนแล้วแต่แต่งตั้งจากบุคคลที่ใกล้ชิดกับคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติมาเป็นคณะกรรมการ

คณะกรรมการชุดนี้จะทำหน้าที่ร่างยุทธศาสตร์ชาติเสนอคณะรัฐมนตรี แล้วนำไปผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาซึ่งในขณะนั้นคือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้มีพระบรมราชโองการประกาศเป็นยุทธศาสตร์ชาติ

การทบทวนแก้ไขให้กระทำทุกห้าปี หรือหากในกรณีที่เห็นว่าสถานการณ์โลกหรือสถานการณ์ประเทศเปลี่ยนแปลง ก็อาจแก้ไขเพิ่มเติมได้ แต่การเสนอแก้ต้องมาจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์แล้วไปผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา

ข้อมูลจาก ฝ่ายสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร (CBC)

ยุทธศาสตร์ที่ดูเท่

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ประกาศเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ.2561 หลังจากที่มี พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติประกาศใช้ประมาณ 1 ปี 2 เดือน พร้อมวิสัยทัศน์คือ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” มีความยาวประมาณ 70 หน้า ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ที่สำคัญ 6 ด้าน โดยเชื่อว่าสิ่งที่ปรากฏในเอกสารดังกล่าวคือพิมพ์เขียวสำคัญที่นำไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วใน 20 ปีข้างหน้า และพรรคการเมืองใดก็ตามที่มาเป็นรัฐบาลต้องยึดเป็นหลักในการบริหารประเทศ

แนวคิดที่ดูทันสมัยหลายเรื่องถูกสอดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green economy)

กลายเป็นเรื่องที่ท่องจำขึ้นใจว่า หากยึด BCG Model นี้ ประเทศชาติจะพ้นกับดักความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และนำประเทศไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

มุมมองด้านการเกษตรที่ทันสมัย ไม่ว่าจะเป็นเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น เกษตรปลอดภัย เกษตรชีวภาพ เกษตรแปรรูป และเกษตรอัจฉริยะ ควบคู่ไปกับมุมมองของอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมชีวภาพ อุตสาหกรรมและบริการการแพทย์ครบวงจร การขนส่งและโลจิสติกส์ ดูเป็นยุทธศาสตร์ชาติในการสร้างความสามารถในการแข่งขันที่ดูดียิ่ง

หรือในเรื่องการเสริมสร้างให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดี การสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาวะ การป้องกันและควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่คุกคามสุขภาวะต่างๆ การพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขที่ทันสมัย การส่งเสริมให้ชุมชนเป็นฐานในการสร้างสุขภาวะที่ดีในทุกพื้นที่ ก็ดูเป็นความหวังของประชาชนว่าจากนี้โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ จะบรรเทาหรือได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดีจากภาครัฐ

อีกทั้งในยุทธศาสตร์ประการสุดท้ายก็ไม่ละเลยที่จะพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง สนองตอบความต้องการ ให้บริการอย่างรวดเร็วโปร่งใส ประชาชนมีส่วนร่วม ยึดหลักธรรมาภิบาล และเป็นมืออาชีพ

ทุกอย่างจึงดูดีราวกับว่าเป็นหมุดหมายของการพัฒนาประเทศที่สวยงาม

บททดสอบยุทธศาสตร์ ในภาวะวิกฤตของประเทศ

รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์มีโอกาสได้บริหารประเทศมาเป็นเวลา 8 เดือน แม้ไม่อาจกล่าวว่ากลไกตามยุทธศาสตร์ที่วาดหวังไว้ได้เดินหน้าอย่างเต็มที่ แต่ในฐานะที่เคยบริหารประเทศก่อนหน้ามาเกือบ 5 ปีและเป็นรัฐบาลที่ริเริ่มออกแบบให้มียุทธศาสตร์ชาติในรัฐธรรมนูญและเป็นผู้อำนวยการในการร่างยุทธศาสตร์ชาติอย่างปฏิเสธไม่ได้

การทดสอบว่าเมื่อประเทศเจอกับภาวะวิกฤต สิ่งที่อยู่ในยุทธศาสตร์นั้นได้ช่วยผ่อนหนักเป็นเบา หรือสามารถแก้วิกฤตได้ดีเพียงไร จึงเป็นการพิสูจน์ถึงคุณค่าของยุทธศาสตร์ที่เป็นหลักของบ้านเมืองในขณะนี้

ความตื่นตระหนกของประชาชนต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรคร้ายในปัจจุบันถือเป็นวิกฤตที่ไม่สามารถหยั่งรู้ล่วงหน้า เป็นสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลก

ระบบสาธารณสุขที่พร้อมกับการรองรับสถานการณ์ในขั้นเลวร้ายสุดยังเป็นเครื่องหมายคำถามว่าเราจะมีความสามารถในการรักษาพยาบาลในสถานการณ์นั้นได้หรือไม่ เพราะลำพังแค่หน้ากากอนามัยสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่เพียงพอก็ยังเป็นประเด็นร้อนแล้ว ไม่นับกับที่ประชาชนทั่วประเทศไม่สามารถหาซื้อหน้ากากอนามัยไว้ป้องกันตนเองได้

ระบบราชการที่ตอบสนองทันกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่สนับสนุนการตัดสินใจทางการบริหารของฝ่ายการเมืองอย่างได้ผลก็ยังเป็นเครื่องหมายคำถามใหญ่มาก ทั้งในกรณีการควบคุมการส่งออกหน้ากากอนามัย การกระจายหน้ากากไปยังคนทั้งประเทศ การสื่อสารถึงข้อมูลที่ถูกต้องต่อประชาชนด้วยข้อมูลข่าวสารที่ตรงกันของหน่วยงานต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นต่อประชาชน การมีมาตรการรองรับผลที่ต่อเนื่องจากการตัดสินใจต่างๆ เช่น การปิดเมือง การให้ทำงานที่บ้าน ดูยังเป็นมาตรการที่วุ่นวายสับสน

กลไกระบบราชการของทุกกระทรวงยังมีลักษณะการวิ่งตามปัญหาและไม่มีความชัดเจนในมาตรการต่างๆ แกว่งไปมาตามกระแสการต่อว่าต่อขานของคนในสังคมจนกลายเป็นหลักลอยในการแก้วิกฤตของชาติ

วันนี้เมื่อเกิดวิกฤต คนที่โดนต่อว่าคือรัฐบาล แทบไม่มีใครนึกถึงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพราะยุทธศาสตร์นั้นเป็นเพียงข้อความที่สละสลวยดูดี แต่ไม่ทันกับวิกฤตที่เกิดขึ้นกับสถานการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดได้

รู้แล้วนะว่ายุทธศาสตร์สำคัญอย่างไร