ยกเลิก ส.ว. ข้อเสนอ ไอติม “พริษฐ์ วัชรสินธุ” แก้กติกากลาง ให้ประชาชนมีส่วนร่วม คือทางออกยั่งยืน

หมายเหตุสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2563

พริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม. ที่ปัจจุบันผันตัวมาทำงานด้านการศึกษา แล้วใช้เวลาว่างไปร่วมทำงานกับกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า มองถึงความไม่พอใจผลงานและการทำงานของรัฐบาลที่กระหน่ำถาโถมในเวลานี้ มาจากหลายมุม

ประการแรกคือ ความไม่พอใจเกี่ยวกับระบบการเมืองปัจจุบัน หลายคนมองที่มาของรัฐบาลนี้ไม่ได้เข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ ยังอยู่ในยุคที่สืบทอดอำนาจอยู่

แถมมีระบบสองมาตรฐาน ที่สุดท้ายแล้วใครจะทำถูก-ทำผิด ไม่ได้อยู่ที่ว่าเขาทำอะไร แต่ขึ้นอยู่กับว่าเขาเป็นคนของใคร

รวมถึงที่มาจากการรัฐประหารและการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เนื้อหาสาระห่างจากความเป็นประชาธิปไตย

ไอติมชวนคิดคณิตศาสตร์ง่ายๆ การเลือกนายกรัฐมนตรี 750 เสียง (ส.ส. 500+ส.ว. 250) 500 เสียง ส.ส.มาจากประชาชนประมาณ 38 ล้านคนที่ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง แสดงว่าถ้าคิดเป็นตัวเลขแล้วประชาชนทุกคนมีโอกาสกำหนดว่าใครจะเป็นนายกฯ 0.0000017% จากที่มีจำนวนประชากรที่ 60 กว่าล้านคน

แต่เมื่อเราหันไปดู ส.ว.ที่ดันมาจากคณะกรรมการสรรหาแค่ 10 คน ซึ่ง 3 คนใน 250 ก็มีการแต่งตั้งพี่น้องตัวเองเข้ามา อีก 5-6 คนแต่งตั้งตัวเองเข้ามาเป็นสมาชิกวุฒิสภา ถ้าคิดตัวเลขตาม เท่ากับว่าคณะกรรมการสรรหา ส.ว. 1 คนมีสิทธิ์กำหนดนายกรัฐมนตรี 3.3% เมื่อเทียบกับ 0.0000017% ของประชาชน ห่างกันสองล้านเท่า นั่นหมายความว่าคณะกรรมการสรรหา 1 คนมีอำนาจมากกว่าประชาชน 1 คนถึงสองล้านเท่า

ซึ่ง 5-6 ปีนี้ความไม่พอใจกับระบบที่ท้ายที่สุดแล้วเรายังไม่ได้ก้าวเข้าสู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง แล้วมีฟางเส้นสุดท้ายคือการยุบพรรคการเมืองที่ทำให้คนรุ่นใหม่ต้องออกมาแสดงพลังมากขึ้น

หากเราดูป้ายข้อความข้อเรียกร้องจากคนรุ่นใหม่มันไปไกลกว่าแค่เรื่องยุบพรรค

มันย้อนไปตั้งแต่เรื่องสองมาตรฐาน ความไม่ชอบธรรมทั้งหมดที่เคยมีมา โดยเฉพาะในช่วง 2-3 เดือนหลัง

มันมีอีก 2 มุมที่คนไม่พอใจรัฐบาล มุมแรกคือ ความไม่มั่นใจในความสุจริตของรัฐบาลนี้หลายกรณี เช่น เรื่องมูลนิธิป่ารอยต่อฯ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกักตุนหน้ากากอนามัยในปัจจุบัน ทำให้หลายคนมองว่ารัฐบาลอาจจะไม่มีความโปร่งใส บริหารไม่ถูกต้องตามหลักธรรมาภิบาล

และความไม่พอใจประการต่อมาคือ การบริหารจัดการวิกฤต ที่ผ่านมาวิกฤตเศรษฐกิจที่เราเห็นว่าเจริญเติบโต ทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง ทั้งการแข็งตัวค่าเงินบาททำให้การส่งออกสะดุด หรือการเจริญเติบโต GDP ที่ไม่กระจายไปสู่ทุกระดับรายได้

แล้วมีจุดตอกย้ำ คือการบริหารวิกฤตจัดการปัญหาไวรัสโควิด-19 ที่มองว่ารัฐบาลมีประสิทธิภาพไม่พอ

พอนำเอาข้อครหาเรื่องประชาธิปไตยมาบวกกับข้อครหาเรื่องการทุจริต+กับคำถามถึงประสิทธิภาพการบริหารเศรษฐกิจและวิกฤตต่างๆ มันเลยกลายเป็น 3 มุมของความไม่พอใจ ที่มาขมวดลงให้เราเห็นในปัจจุบัน

ทำให้มีการแสดงออกถึงความต้องการการเปลี่ยนแปลง

พริษฐ์บอกว่า ถ้าหากผมเป็น พล.อ.ประยุทธ์ ผมมองว่าเราต้องเข้าใจก่อนว่าในประเทศหนึ่งเราไม่ได้ต้องการที่จะเห็นประชาชนทุกคนมีความคิดเหมือนกัน

แต่คำถามคือ จะทำอย่างไรให้ประชาชนที่คิดแตกต่างกัน ชอบการเมืองคนละพรรค สามารถอยู่ร่วมกันได้

การอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความแตกต่างทางความคิดมันเกิดขึ้นได้อย่างเดียว คือต้องมีกติกาที่เป็นกลาง และทุกคนยอมรับ

เราก็ยอมรับผลความพ่ายแพ้ได้ ถ้าเราอยู่ภายใต้กติกาที่เป็นกลาง

รัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับมีกลุ่มที่สนับสนุนแล้วได้ประโยชน์ กล้าพูดกันอย่างเปิดเผยว่าเขียนขึ้นมาเพื่อเรา เขาภูมิใจมากกับประโยคนี้ที่ได้พูดออกมา

แต่บางคนบางกลุ่มที่คัดค้านหรือไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับถูกจับกุม เพียงเพราะว่าแสดงความเห็นต่าง

เราจะเห็นว่าพอใครพูดเรื่องแก้รัฐธรรมนูญขึ้นมาก็จะถูกตีตราว่าเป็นคนชังชาติ

ในขณะที่คนที่ลุกขึ้นมาฉีกรัฐธรรมนูญ กลับถูกมองว่าเสียสละเพื่อแผ่นดิน

มันกลายเป็นว่ามันมีระบบสองมาตรฐาน ที่ท้ายที่สุดแล้วมันไม่ได้มีกติกาจะเป็นกลางเลย

ยิ่งถ้าเราลงไปดูในรายละเอียด เช่น เรื่องของการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาที่ฝ่ายการเมืองฝ่ายหนึ่งที่มีอดีตนายกฯ แต่งตั้งคณะสรรหากลุ่มหนึ่ง เพื่อให้เลือก ส.ว.แล้วเลือกตัวเองกลับเข้ามาเป็นนายกฯ มันก็คือผลประโยชน์ทับซ้อนที่ตอกย้ำกติกาที่ไม่เป็นกลาง

อันนี้คือหัวใจสำคัญของการที่รัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่งจะมีความชอบธรรมในการเข้าสู่อำนาจ

รัฐบาลนั้นต้องยึดโยงกับเสียงของประชาชนและต้องมาจากกติกาที่เป็นกลาง

ถ้าเกิดขึ้นแบบนี้ และมีการปรับกติกา ผมว่าอย่างน้อยพวกเราก็ยอมรับกันได้แล้วก็ไปสู้กันใหม่อีก 4 ปีในสนามเลือกตั้ง

แต่ถ้ารัฐบาลนี้ปิดประตูไม่ยอมลดราวาศอกสักนิดนึง ไม่ยอมแก้ ไม่ยอมปรับ มันคืออันตราย

ซึ่งการแก้รัฐธรรมนูญต้องแก้ที่เนื้อหาสาระจริงๆ ไม่ใช่แก้อะไรยิบย่อยเพียงเพื่อให้บอกได้ว่าแก้ไปแล้ว

ส่วนตัวมองว่า ความจริงต้องแก้เยอะมากๆ สุดท้ายต้องร่างใหม่ โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามาเสนอความเห็นของเขาแล้วต้องทำคู่ขนาน ทั้งเวทีในรัฐสภาและภาคประชาชน

กลไกที่สำคัญในรัฐสภาคือการพยายามรวบรวมข้อมูล

โดยผมและกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้าก็พยายามทำอยู่เพื่อรวบรวมความคิดเห็นของประชาชนและนำเสนอให้กับรัฐสภาผ่านกลไกของกรรมาธิการว่าปัจจุบันประชาชนคิดแบบนี้ คนช่วงอายุแบบนี้คิดแบบนี้กี่เปอร์เซ็นต์

โดยผ่านการจัดกิจกรรมทุกเสาร์-อาทิตย์ก็เดินสายทั่วประเทศ จัดกิจกรรมให้คนเข้ามาร่างรัฐธรรมนูญฉบับในฝันของเขา เราก็ออกแบบเป็นเกม ให้เป็นกลุ่มระดมไอเดียกัน ครบทุกด้าน

แต่ถ้าเราไม่แก้ มันจะยิ่งทำให้ความศรัทธาและความชอบธรรมของรัฐบาลมันลดน้อยลงไปเรื่อยๆ

ยิ่งพอมาเจอกับวิกฤตในการบริหารเศรษฐกิจและการจัดการปัญหาบวกกับข้อครหาเรื่องความทุจริต ความศรัทธาก็ดิ่งลงมาเรื่อยๆ ฉะนั้น ทางออกที่ยั่งยืนคือการแก้รัฐธรรมนูญ

สําหรับ “สมาชิกวุฒิสภา” พริษฐ์บอกว่า ผมมีความเชื่อว่าไม่มีความจำเป็นแล้วในสังคมไทย ถามว่าทำไม? ปัจจุบันปัญหาของวุฒิสภาคืออำนาจและที่มามันไม่สอดคล้องกัน หมายความว่าวุฒิสภาไทยมีอำนาจเยอะมาก สามารถเลือกนายกฯ ได้ สามารถแต่งตั้งบุคลากรในองค์กรอิสระได้

แต่ที่มาไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนเลย ไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง แต่กระบวนการของการแต่งตั้ง เกณฑ์ที่เอามาใช้ ว่าใครควรแต่งตั้งเข้ามา กลับไม่ถูกเปิดเผย โดยที่ใช้งบประมาณมากถึง 1,300 ล้านบาทในการสรรหาวุฒิสภา 250 คน มันจึงเกิดความไม่สมดุล คืออำนาจสูงมาก แต่ที่มาด้อยมาก

กรณีนี้จึงมีทางออกอยู่ 3 อย่าง ถ้าเราจะแก้สมการนี้

สมการแรก คือการลดอำนาจ ส.ว.ลง คืออยากแต่งตั้งก็ตั้งไป แต่อย่ามีอำนาจเยอะ เช่น ห้ามเลือกนายกฯ ห้ามเป็นคนมาชี้ว่าใครควรเป็นบุคลากรในองค์กรอิสระ

นี่เป็นโมเดลเดียวกับสหราชอาณาจักร ส.ว.มาจากการแต่งตั้ง แต่เขามีความพยายามมากกว่าที่ไทย โดยการนำผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในหลากหลายวิชาชีพเข้ามา สุดท้ายแล้วทำอะไรมากไม่ได้ ทำได้มากที่สุดคือการทักท้วงหรือว่าให้คำแนะนำเกี่ยวกับกฎหมาย มากสุดจริงๆ คือการยับยั้งกฎหมายไว้ 1 ปี

สมมุติสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผ่านกฎหมายมา แล้วไม่เห็นด้วยสามารถระงับยับยั้งไว้ได้ 1 ปี แต่ถ้าผ่านไป 1 ปีแล้ว ส.ส.ยังยืนยันคำเดิม กฎหมายนั้นก็ผ่าน นี่คือสมการที่ 1 คือลดอำนาจลง

สมการที่ 2 คือการเพิ่มที่มา ให้ยึดโยงประชาชนมากขึ้น ก็คือการเป็น ส.ว.เลือกตั้ง

คำถามที่ตามมาก็จะเกิดขึ้นว่า ถ้าเรามี ส.ว.เลือกตั้งแล้ว โดยที่มี ส.ส.เลือกตั้ง เราจะใช้ระบบแบบไหนที่จะได้สภาหน้าตาแตกต่างกัน ไม่ให้การทำงานที่เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน

อาจจะใช้แบบสหรัฐอเมริกา เขาบอกว่า จำนวน ส.ส.ในแต่ละรัฐ มันยึดโยงกับจำนวนประชากร รัฐที่มีประชากรเยอะก็มีจำนวน ส.ส.เยอะ รัฐที่มีประชากรน้อยมี ส.ส.ไม่กี่คน เหมือนกับที่กรุงเทพฯ มี ส.ส. 33 คน ระนองมี ส.ส. 1 คน ทางออกของเขาก็คือ ทุกจังหวัดมี ส.ส. หรือ ส.ว. อย่างละ 1-2 คนเท่ากัน เพื่อจะได้เพิ่มพื้นที่ให้ ส.ว.เข้ามาปกป้องประโยชน์ของจังหวัดที่มีประชากรน้อย

แต่ผมก็ตั้งคำถามว่า ถ้าโจทย์ของเราคือการช่วยให้จังหวัดสามารถจัดการตัวเองได้ มันไม่ได้ช่วยได้ดีเท่ากับการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น

ถ้าเราเปิดโอกาสให้เขาเลือกผู้ว่าราชการจังหวัดได้เองทุกจังหวัด และคนทำหน้าที่อยู่ในส่วนกลาง ไปสู่ท้องถิ่นให้เขาสามารถบริหารจัดการในจังหวัดตัวเองได้มากขึ้น พัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ มีตำรวจของตัวเอง ไม่ต้องพึ่งส่วนกลาง

ทางออกที่ดีที่สุดคือสมการที่ 3 ที่ผมมองว่านำมาสร้างสมดุลได้ คือยกเลิก ส.ว.ไปเลยดีกว่า

เราเรียกระบบนี้ว่าสภาเดี่ยว แต่มาพูดกับประเทศไทยหลายคนอาจจะฟังแล้วตกใจ ถ้ามองทั่วโลกแล้วเปรียบเทียบกับประเทศที่เหมือนกับประเทศไทย คือเป็นประชาธิปไตย แล้วใช้ระบบรัฐสภา 31 ประเทศที่เป็นรัฐเดี่ยว โดยที่มี 20 ประเทศใช้ระบบสภาเดี่ยวคือมีแค่สภาผู้แทนราษฎร เช่น นิวซีแลนด์ หรือบางประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย ที่เคยมีสภาคู่ก็กลับสู่สภาเดี่ยว

ท้ายที่สุดแล้ว เขามองว่าอย่างแรกคือการช่วยประหยัดงบประมาณของเราอยู่ที่ 1,200 ล้านบาทต่อปี การที่เรามีวุฒิสภา เฉพาะค่าตอบแทน ไม่นับค่าน้ำค่าไฟค่าสรรหาบุคลากร เพราะโลกมีความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วขึ้น มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา มีปัญหาใหม่ๆ เข้ามา ความคล่องตัวในการออกกฎหมายใหม่ถอนกฎหมายเก่า มันจำเป็นต้องคล่องตัวมากขึ้นกว่าเดิม

การที่เราลดกระบวนการร่างกฎหมายให้มีความคล่องตัวมากขึ้นมีความสำคัญต่อสถานการณ์มากขึ้นก็อาจจะช่วยได้

ท้ายที่สุดแล้วถ้าเรามองถึงหน้าที่ ส.ว.คือการตรวจสอบอำนาจฝ่ายบริหารเราก็ต้องถามเหมือนกันว่า ปัจจุบันในโลกที่มีตัวเชื่อมเทคโนโลยีที่เราสั่งให้เปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนเข้ามาตรวจสอบรัฐบาลได้มากขึ้น การตรวจสอบที่ดีที่สุดที่เข้มข้นที่สุด คือการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม ปลูกฝังให้เป็นประชาชนที่ตื่นตัวเป็น Active Citizen ที่พร้อมจะเข้ามาตรวจสอบรัฐบาลเปิดเผยข้อมูลที่ละเอียด เพิ่มกฎหมายคุ้มครองให้คนที่กล้าเข้ามาเปิดโปงข้อมูลทุจริตหรือข้อครหาต่างๆ

เพิ่มกฎหมายคุ้มครองคนอย่างแหม่มโพธิ์ดำ ที่กล้าลุกขึ้นมาเปิดโปงข้อมูลที่ไม่ชอบธรรมต่างๆ ตรงนี้มากกว่าที่น่าจะเป็นทางออกที่ดีหรือวิธีการตรวจสอบรัฐบาล ที่อาจจะมีประสิทธิภาพมากกว่า

การพึ่ง ส.ว. 250 คนที่มาทำหน้าที่แทน มันเป็นความคิดที่ตกยุคตกสมัยไปแล้ว

ชมคลิป