ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24 - 30 มีนาคม 2560 |
---|---|
คอลัมน์ | ต่างประเทศ |
เผยแพร่ |
“แชโบล” คำที่คนเกาหลีใช้เรียกกลุ่มธุรกิจครอบครัวขนาดใหญ่ ที่อยู่คู่กับเกาหลีใต้ยุคใหม่มานาน
นับจากยุคผู้นำเผด็จการ “ปาร์ก จุง ฮี” ก้าวขึ้นสู่อำนาจในปี 1961 ซึ่งได้รับการเชิดชูจากการทำให้เศรษฐกิจของประเทศเจริญรุ่งเรือง แม้ประชาชนจะตกอยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการทหารก็ตาม
นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้แชโบลกลายมาเป็นกระดูกสันหลังของชาติที่พึ่งพาการส่งออกและอุตสาหกรรมหนักเป็นหลักอย่างเกาหลีใต้ จนทำให้เศรษฐกิจของเกาหลีใต้เติบโตตัวอย่างรวดเร็ว
กลายเป็นที่กล่าวขวัญว่าเป็น “ปาฏิหาริย์แห่งแม่น้ำฮัน”
นับจากช่วงเวลานั้นจนถึงขณะนี้ แชโบลยังคงเป็นหนึ่งในองคาพยพสำคัญที่ทรงอิทธิพลครอบงำการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของเกาหลีใต้จนยากที่จะแยกออก
โดยเฉพาะอิทธิพลที่มีต่ออำนาจรัฐ ที่สมัยรัฐบาล ปาร์ก จุง ฮี ยึดโยงอยู่กับกลุ่มแชโบล ให้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ
นั่นทำให้แชโบลกลายมาเป็นกลุ่มที่มีบทบาทอย่างมากในการกำหนดอนาคตประเทศของเกาหลีใต้
จนจุดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วทั้งในบ้านและนอกบ้านที่ตั้งคำถามมากมายถึงระบบธรรมาภิบาล ความโปร่งใส การทุจริต ผลประโยชน์ทับซ้อน
ไปจนถึงการผูกขาดทางการค้า ที่เชื่อกันว่ากลุ่มแชโบลได้รับการเอื้อประโยชน์จากอำนาจรัฐอย่างเต็มๆ
ผู้นำรัฐบาลเกาหลีใต้หลายชุดนับจากการเปลี่ยนผ่านประเทศสู่วิถีประชาธิปไตยในช่วงทศวรรษ 1990 อย่างรัฐบาลของอดีตประธานาธิบดี คิม ยอง ซัม ที่ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งในปี 1993 ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะกำกับดูแลกลุ่มแชโบลไม่ให้ก้าวล่วงละเมิดอำนาจหรือกระทำนอกเหนือกรอบกฎหมาย
ทว่า ยังคงมีบุคคลที่กุมอำนาจบริหารในกลุ่มแชโบลยักษ์ใหญ่กระทำผิดกฎหมายเกิดขึ้นในหลายกรณี
ไม่ว่าจะเป็นการทุจริต ติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ และหลบเลี่ยงภาษี
แต่บุคคลเหล่านั้นกลับรอดพ้นเงื้อมมือของกฎหมายไปได้
ดังกรณีของ นายอี กุน ฮี ประธานบริษัท ซัมซุง กรุ๊ป ที่เป็นกลุ่มทุนรายใหญ่สุดของเกาหลีใต้ ถูกดำเนินคดีในกรณีติดสินบน
แม้เขาจะได้รับโทษจำคุก แต่ก็ได้รับการอภัยโทษในภายหลังจากประธานาธิบดี ลี มยอง บัค ในขณะนั้น
หรือกรณีของ นายเช แท วอน ประธานบริษัท เอสเค กรุ๊ป แชโบลยักษ์ใหญ่อันดับ 3 ที่ถูกดำเนินคดีในปี 2012 ข้อหายักยอกเงินบริษัทมูลค่ากว่า 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อนำไปปกปิดภาวะขาดทุนทางการค้า
ทว่า นายเช แท วอน ก็ได้รับการอภัยโทษไปในรัฐบาลของอดีตประธานาธิบดี ปาร์ก กึน เฮ ที่ตกเป็นข่าวทุจริตอื้อฉาวและเพิ่งถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งไปเมื่อเร็วๆ นี้
แต่แม้จะมีกรณีทุจริตอื้อฉาวของกลุ่มแชโบลเกิดขึ้น ที่ยังพัวพันกับอำนาจรัฐให้มัวหมองมาแล้วหลายกรณี ทว่าบทเรียนเหล่านั้นก็ไม่ได้ลดทอนอิทธิพลของกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่เหล่านี้ลงไปได้
คดีทุจริตอื้อฉาวเขย่าประเทศครั้งล่าสุดที่อดีตประธานาธิบดี ปาร์ก กึน เฮ เข้าไปเกี่ยวข้องและกำลังถูกสอบสวนอยู่ในขณะนี้ โดยมี ชเว ซุน ซิล เพื่อนหญิงคนสนิทของเธอ และผู้บริหารจากกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่หลายคน รวมถึง นายอี แจ ยอง ผู้นำซัมซุง กรุ๊ป รุ่นที่ 3 ตกเป็นผู้ต้องหาคนสำคัญ ได้ปลุกกระแสเรียกร้อง “ปฏิรูปกลุ่มแชโบล” ขึ้นมาอีกครั้ง
จากที่ผ่านมาก็เคยมีความพยายามจะทำกันมาแล้ว ย้อนไปในช่วงปี 1980 ที่รัฐบาลเกาหลีใต้ออกกฎระเบียบต่อต้านการผูกขาดทางการค้าและกฎหมายการค้าที่เป็นธรรมมาบังคับใช้ ซึ่งนำไปสู่การจัดตั้งหน่วยงานเฝ้าระวังการผูกขาดทางการค้าขึ้นมา
การเข็นกฎหมายดังกล่าวออกมาบังคับใช้ถูกมองว่าเป็นการตอบสนองต่อความหวั่นกลัวในสังคมที่มีเพิ่มมากขึ้นว่ากลุ่มทุนยักษ์ใหญ่จะขยายการแสวงหาผลกำไรในการทำธุรกิจที่อยู่นอกเหนือจากอุตสาหกรรมหลักที่ตนเองยึดครองในตลาดอยู่แล้ว
ซึ่งจะเป็นการคุกคามต่อกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ก็เป็นพลังหลักของการสร้างงานภายในประเทศเช่นกัน ให้ถูกบีบออกจากวงจรการทำธุรกิจได้ ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรม
แต่แม้จะมีความพยายามควบคุมอิทธิพลการดำเนินธุรกิจของกลุ่มแชโบลมากขึ้น แต่มาตรการดังกล่าวก็ทำอะไรไม่ได้มากนัก
เพราะกลุ่มแชโบลยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ทรงพลังของประเทศอยู่ดี
อย่างไรก็ดี กรณีทุจริตอื้อฉาวและใช้อำนาจโดยมิชอบที่รุมเร้าอดีตประธานาธิบดี ปาร์ก กึน เฮ จนนำไปสู่วิกฤตทางการเมืองและการถูกถอดถอนพ้นตำแหน่ง และการเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ที่ถูกกำหนดให้มีขึ้นในวันที่ 9 พฤษภาคมที่จะถึง
“การปฏิรูปแชโบล” ที่รวมถึงการปรับปรุงธรรมาภิบาลของภาคธุรกิจ การสกัดป้องกันการทุจริตติดสินบน และยกเครื่องผ่าตัดระบบกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ให้มีความโปร่งใส จะถูกเรียกร้องและถูกตั้งเป็นธงสำคัญ ให้มีการลงมือดำเนินการอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง
ไม่เช่นนั้นแล้วเกาหลีใต้คงไม่หลุดพ้นจากวงจรเดิมๆ
ที่อำนาจทุนฝังรากลึกอยู่ในอำนาจรัฐจนยากแยกออกและนำมาสู่ปัญหามากมายอย่างที่เห็น!