คนมองหนัง : “สันติ-วีณา” ประสบการณ์ “พิเศษ” ของคนดูหนัง

คนมองหนัง

สองเดือนที่แล้ว มีข่าวคราวสำคัญสำหรับวงการหนังไทย เมื่อ “สันติ-วีณา” ผลงานการกำกับของ “ครูมารุต” หรือ “ทวี ณ บางช้าง” ภาพยนตร์ไทยขนาดยาวเรื่องแรกที่ไปได้รางวัลจากงานประกวดระดับนานาชาติ และหนังไทยเรื่องแรกที่ถ่ายทำในระบบ 35 ม.ม. ได้รับคัดเลือกเข้าไปฉายในสาย “คานส์ คลาสสิคส์”

ถือเป็นตัวแทนหนึ่งเดียวของไทย ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ปีล่าสุด

หลังจากฟิล์มต้นฉบับของหนังที่ลงโรงฉายเมื่อ พ.ศ.2497 เรื่องนี้ หายสาบสูญไปนานหลายทศวรรษ ก่อนจะมีการค้นพบว่าฟิล์มชุดนั้นยังถูกจัดเก็บอยู่ โดยสถาบันภาพยนตร์แห่งสหราชอาณาจักร

กระบวนการฟื้นฟูบูรณะฟิล์มต้นฉบับดังกล่าวและการแปรรูปเป็นไฟล์ดิจิตอลจึงเริ่มขึ้น ผ่านการดำเนินงานของหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)

ล่าสุด “สันติ-วีณา” (ฉบับบูรณะ) จะได้ฤกษ์เข้าฉายแบบจำกัดโรงในเมืองไทย ระหว่างวันที่ 28-31 กรกฎาคมนี้ (แต่หากมีเสียงตอบรับที่ดีจากผู้ชม ก็น่าจะนำไปสู่การขยายรอบฉายเพิ่มเติมต่อไป) ณ โรงภาพยนตร์เอสเอฟ ซีเนม่า ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์

 

 

ผมมีโอกาสได้ชม “สันติ-วีณา” (ฉบับบูรณะ) ในรอบปฐมทัศน์ ณ โรงภาพยนตร์สกาล่า เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม และพบว่าหนังมีความน่าสนใจอยู่หลายประการ

เริ่มจากข้อแรก ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ชมหลายคนได้ตั้งข้อสังเกตไว้คล้ายๆ กัน นั่นคือ หากดูจากชื่อหนัง “สันติ-วีณา” คนส่วนใหญ่คงคาดเดาว่า พระเอกของหนังควรมีชื่อว่า “สันติ” ส่วนนางเอกน่าจะชื่อ “วีณา”

เมื่อได้รับชมภาพยนตร์ (ที่ใช้เสียงพากย์ต้นฉบับเช่นกัน) ก็ปรากฏว่านางเอกมีชื่อว่า “วีณา” จริงๆ ทว่าพระเอกกลับมีชื่อว่า “สันต์” ไม่ใช่ “สันติ”

เป็นไปได้ว่าชื่อภาษาไทยของหนัง คือ “สันติ-วีณา” นั้น ถูกแปลมาจากชื่อภาษาอังกฤษ “Santi-Vina” อีกต่อหนึ่ง

จากคำอธิบายผ่านเฟซบุ๊กของ “คุณก้อง ฤทธิ์ดี” ผู้ทำซับไตเติ้ลให้ภาพยนตร์ฉบับบูรณะ น่าเชื่อได้ว่าชื่อ “สันต์” ในบทภาพยนตร์ดั้งเดิมนั้น ถูกเขียนเป็น “Santi” ในชื่อเรื่องภาษาอังกฤษ (ด้วยวิธีการสะกดคำเลียนเสียงรากศัพท์)

แล้ว “Santi” จึงถูกแปล/แปรมาเป็น “สันติ” ในชื่อหนังภาคภาษาไทยอีกที

ภาวะแห่งการแลกเปลี่ยนหยิบยืมทางวัฒนธรรมระหว่างไทย-เทศ เช่นนี้ จะเชื่อมโยงไปยังแง่มุมโดดเด่นอื่นๆ ของ “สันติ-วีณา” ด้วย


“คุณพุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู” นักวิชาการประจำหอภาพยนตร์ แสดงความเห็นไว้อย่างน่าสนใจ (ผ่านทางเฟซบุ๊กเช่นกัน) ถึงความคลุมเครือในประวัติชีวิตของ “โรเบิร์ต จี นอร์ธ” ผู้เขียนบทประพันธ์ตั้งต้นของภาพยนตร์เรื่อง “สันติ-วีณา” รวมทั้งเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทฟาร์อีสต์ฟิล์มและโรงถ่ายหนุมานภาพยนตร์ ร่วมกับ “รัตน์ เปสตันยี”

นอร์ธยังเป็นผู้เข้าร่วมประชุมสมาพันธ์ผู้สร้างภาพยนตร์แห่งเอเชียอาคเนย์ ซึ่งได้มีมติให้จัดการประกวดภาพยนตร์นานาชาติแห่งเอเชียอาคเนย์ขึ้นในปี 2497 ที่ประเทศญี่ปุ่น

“สันติ-วีณา” ที่เป็นผลงานการสร้างของนอร์ธและรัตน์ ก็ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่องานนี้โดยเฉพาะ และสามารถคว้ารางวัลจากการประกวดไปครองได้ถึงสามสาขา คือ ถ่ายภาพยอดเยี่ยม กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม และรางวัลภาพยนตร์ที่แสดงออกถึงวัฒนธรรมของเอเชียได้เป็นอย่างดี จากสมาคมผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์อเมริกัน

แต่จากการศึกษาค้นคว้าของคุณพุทธพงษ์ พื้นเพความเป็นมาของโรเบิร์ต จี นอร์ธ ผู้เสียชีวิตก่อนหน้า “สันติ-วีณา” จะลงโรงฉายในเมืองไทยเมื่อปี 2497 กลับมีความสลับซับซ้อนยิ่งกว่านั้น

ด้านหนึ่ง ข้อมูลทางการชี้ว่านอร์ธคือผู้สร้างภาพยนตร์จากฮอลลีวู้ด แต่ข้อมูลจากอีกหลายแหล่งอ้างว่า เขาเป็น “ซีไอเอ” ที่แฝงตัวเข้ามาปฏิบัติภารกิจในเมืองไทยเมื่อปลายทศวรรษ 2490

หากเราเชื่อว่า “สันติ-วีณา” เป็นผลผลิตของซีไอเอหรือเป็นหนังโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายประชาธิปไตยในยุคสงครามเย็น เรื่องตลกร้ายที่ตามมาก็มีอยู่ว่า หลังจากนั้นไม่นาน หนังเรื่องนี้ได้ถูกซื้อไปฉายที่สหภาพโซเวียตและสาธารณรัฐประชาชนจีน อันเป็นสองแกนหลักของโลกคอมมิวนิสต์

อย่างไรก็ดี เมื่อมองพ้นไปจากประเด็นว่าด้วยซีไอเอและสงครามเย็น สิ่งที่คุณพุทธพงษ์เสนอไว้อย่างน่าสนใจอีกข้อ (โดยอ้างอิงจากข้อเขียนของรัตน์) ก็คือ สำหรับผู้คนยุคทศวรรษ 2490 นั้น “สันติ-วีณา” ดูคล้ายจะเป็น “หนังที่ทำมาให้ฝรั่งดูโดยเฉพาะ” (ไม่ใช่หนังไทยที่ทำให้คนไทยดู)

 

 

ผมค่อนข้างเห็นพ้องกับความคิดดังกล่าว

เพราะระหว่างนั่งชม “สันติ-วีณา” ผมรู้สึกว่านี่เป็นภาพยนตร์ที่ “คนใน” และ “คนนอก” ร่วมกันสร้างสรรค์ขึ้นมา เพื่อใช้มันเป็น “ภาพจำลอง/ภาพแทน” ให้คนนอกที่สนใจใคร่จะทำความรู้จัก “สังคมไทย” ได้รับชม

จะว่าไปแล้ว หนังเรื่องนี้ก็เทียบเคียงได้กับงานเขียนเชิง “ชาติพันธุ์วรรณนา” ที่ผลิตโดยนักวิชาการสายมานุษยวิทยา ในยุคสมัยเดียวกัน

เช่นเดียวกับเรื่องราวของหนังที่ดำเนินไปในกรอบวิธีคิดแบบ “โครงสร้างการหน้าที่นิยม” (structural-functionalism) อันทรงอิทธิพลในหมู่นักมานุษยวิทยายุคนั้น

โดยรวมแล้ว “สันติ-วีณา” คือการจำลองภาพหรือสร้างภาพแทนของสังคมไทย ผ่านการดำรงอยู่ของ “หมู่บ้านชนบท” แห่งหนึ่ง ที่ค่อนข้างโดดเดี่ยวและมิได้สัมพันธ์กับสังคมภายนอกมากนัก (พระประจำหมู่บ้านอาจออกธุดงค์ไปยังพื้นที่อื่นเพียงชั่วครั้งชั่วคราว หรือเมื่อหนุ่มสาวหัวใจขบถต้องการหลบหนีออกจากที่นี่ พวกเขาก็ไปไหนได้ไม่ไกล)

หมู่บ้านในหนังไม่มีแม้กระทั่งอำนาจแทรกแซงของรัฐราชการจากส่วนกลาง (แต่คนรุ่นพ่อแม่ได้ใช้ “อำนาจจารีต” มาบังคับควบคุม/สนับสนุนคนรุ่นลูกแทน)

มีเพียง “พุทธศาสนา” และวัฒนธรรมประเพณีต่างๆ เท่านั้น ซึ่งเป็น “อำนาจสากล” ที่แผ่ไผศาลเข้ามาเป็น “จุดศูนย์กลาง” ทางความเชื่อ และรายละเอียดปลีกย่อยรายล้อมวิถีชีวิตของผู้คนในหมู่บ้านหรืออนุจักรวาลแห่งนี้

ช่วงปลายทศวรรษ 2490 นักมานุษยวิทยาจาก “โลกตะวันตก” จำนวนไม่น้อย มักออกเดินทางมาทำการศึกษาวิถีชีวิตของผู้คนแปลกหน้า-ต่างวัฒนธรรม ที่อยู่ไกลโพ้นจากบ้านเกิดเมืองนอนของพวกเขา ก่อนจะได้ผลผลิตเป็นงานเขียนแนวชาติพันธุ์วรรณนา

ผู้คนในสังคมหมู่บ้านอันโดดเดี่ยวที่ปรากฏผ่านงานเขียนกลุ่มนั้น อาจมีภาวะของการเป็นปฏิปักษ์ระหว่างกัน ชีวิตตลอดจนสายสัมพันธ์ทางสังคม-การเมืองของพวกเขา ย่อมหลีกหนีไม่พ้นความเปลี่ยนแปลง หรือความสูญเสียนานัปการ

แต่พลังทางสังคมกลุ่มต่างๆ ในจักรวาลน้อยๆ จะช่วยกันขยับขับเคลื่อนและปรับเปลี่ยนตำแหน่งแห่งที่ของตัวเอง จนสามารถเสาะแสวงหาดุลยภาพ เสถียรภาพ รวมถึงความสงบสุข “ร่วมกัน” ได้ในท้ายที่สุด

เพราะเมื่อสมาชิกแต่ละคนในหมู่บ้านต่างปฏิบัติหน้าที่ที่ควรจะทำ โครงสร้างทางสังคมที่เปิดรับความยืดหยุ่นเปลี่ยนแปลงตามสมควร ก็ย่อมสามารถดำรงอยู่ตราบนานเท่านาน

เส้นเรื่องของ “สันติ-วีณา” ก็ดำเนินไปในทำนองนี้ กล่าวคือ แม้ในหมู่บ้านจะมีคนที่ “ถูกกระทำ” แทบตลอดชีวิต มีคนหัวสมัยใหม่เปี่ยมความฝัน ที่พลาดหวังครั้งใหญ่ในชีวิต มีความสูญเสีย และมีคนตาย

แต่ทุกคนที่หลงเหลืออยู่ต่างก็ต้องดำเนินชีวิตของตนเองให้เป็นปกติ หลังต่างฝ่ายต่างมีฉันทามติร่วมกัน เพื่อให้การรับรองดุลยภาพทางสังคมรูปแบบใหม่ ซึ่งจะใช้ประคับประคองหมู่บ้านแห่งนี้ต่อไป

 


นอกเหนือจากโครงเรื่องซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎีวิชาการร่วมสมัย องค์ประกอบที่โดดเด่นมากจริงๆ ของหนัง เห็นจะเป็นบุคลิกลักษณะของตัวละคร “วีณา” ที่ทั้งแคล่วคล่อง ปราดเปรียว เก่งกาจ กล้าหาญ และเป็น “ฝ่ายรุก” ในการสานสัมพันธ์ความรักระหว่างหนุ่มสาว

คนดูส่วนหนึ่งรู้สึกประทับใจและนำ “วีณา” ไปเทียบเคียงกับตัวละครนางเอกหนังในยุคเดียวกัน ที่ “ทัน/นำสมัย” ไม่ต่างกัน อาทิ “ยุพดี” จาก “ชั่วฟ้าดินสลาย” หรือ “เรียม” จาก “โรงแรมนรก”

อย่างไรก็ตาม ประเด็นหนึ่งซึ่งผมไม่ค่อยแน่ใจนัก คือ “วีณา” ก็ดี “ยุพดี” ก็ดี หรือ “เรียม” ก็ดี ถือเป็น “ผู้หญิงที่มาก่อนกาล” จริงหรือไม่?

หรือจริงๆ แล้ว บุคลิกลักษณะและวิธีคิดของผู้หญิง (คนชั้นกลาง-กรุงเทพฯ) ยุค 2480-2490 จะมีแนวโน้มเป็นเหมือนตัวละครเหล่านั้นอยู่แล้ว คือต้องขบถต่อปทัสถานเก่าๆ หรือหลักเกณฑ์การรักนวลสงวนตัวแบบเดิมๆ ต้องมีแนวคิดเสรีนิยม หรือกล้าเปิดเผยแสดงออกซึ่งความปรารถนาภายในให้มากขึ้น

อันเป็นผลมาจากบรรยากาศของสังคมหลังยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง และ/หรือบรรยากาศทางสังคมสมัยใหม่ที่เอื้อให้ผู้หญิงได้รับการศึกษา ตลอดจนมีที่ทาง “นอกบ้าน” มากขึ้น

เราสามารถสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงทำนองเดียวกันนี้ ได้จากงานเขียนของนักประพันธ์หญิง เช่น “ร. จันทพิมพะ” หรือกระทั่งหนังสืออัตชีวประวัติอันตรงไปตรงมาของ “คุณหญิงมณี สิริวรสาร”

หรือในอีกแง่หนึ่ง บทบาทของผู้หญิงไทยยุค 2490 และย้อนขึ้นไปก่อนหน้านั้น ก็อาจจะต้องทำหน้าที่เป็น “แกนกลางหลัก” ของครอบครัวอยู่แล้ว เห็นได้จากแม่วีณาและแม่ไกร ดาวร้ายของเรื่อง ซึ่งรับบทเป็นผู้อำนวยการ/จัดการเรื่องราวสำคัญๆ (รวมถึงเป็นปากเป็นเสียง-ทะเลาะถกเถียง) ว่าด้วยประเด็นเกี่ยวกับครัวเรือนทั้งหมด

ขณะที่ฝ่ายพ่อๆ จะเป็นผู้ลงมือลงแรงอยู่ข้างนอกบ้านมากกว่า (ยกเว้นพ่อของสันต์และหลวงพ่อที่ถ้ำ ผู้ต้องทำหน้าที่เป็นทั้งพ่อและแม่ในคราวเดียว)

ถ้ามองจากแง่มุมเหล่านี้ ผู้หญิงอย่าง “วีณา” จึงอาจมิใช่ “สตรีที่มาก่อนกาล” แต่กลับกลายเป็นว่าบริบทและยุคสมัยเฉพาะทางประวัติศาตร์ต่างหาก ที่เอื้อให้เธอสามารถแสดงบทบาท “สาวมั่น” ออกมา

ชนิดที่ช่วงเวลาถัดจากนั้นอีกหลายทศวรรษ ไม่สามารถเปิดโอกาสให้ผู้หญิงรุ่นต่อๆ มา สามารถแสดงบทบาทโดดเด่นทางสังคมได้เทียมเท่า

 

 

หลายคนอาจรู้สึกว่าเนื้อหาและโครงเรื่องของ “สันติ-วีณา” ไม่มีอะไรแปลกใหม่ (ซึ่งควรจะเป็นเช่นนั้นอยู่แล้ว) ขณะที่หลายคนกลับหัวเราะสนุกสนานกับบทสนทนา-การแสดง อันมีความตลกขบขันแบบ “ไทยๆ” ของหนัง

อย่างไรก็ดี การตีตั๋วเข้าไปชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ย่อมถือเป็นประสบการณ์ “พิเศษ” แน่นอน

เพียงแค่ข้อความเกริ่นนำว่าด้วยกระบวนการสืบค้นและบูรณะฟื้นฟูม้วนฟิล์มต้นฉบับของภาพยนตร์ พร้อมวรรคทองประเภท “60 ปี ที่สูญหาย, 3 ประเทศ ที่ค้นพบ, 1,700 ชั่วโมง ที่บูรณะซ่อมแซม” ก็ให้ความรู้สึกยิ่งใหญ่ไม่ต่างกับการได้อ่านบทเกริ่นนำเรื่องราวของหนังชุด “สตาร์วอร์ส”

ยิ่งกว่านั้น การกำกับภาพโดย รัตน์ เปสตันยี และลักษณะเฉพาะของโทนสีสันในหนัง ก็สวยงามแปลกตาเป็นอย่างมาก

ไปๆ มาๆ คนไทยในยุคปลายทศวรรษ 2550 ก็อาจไม่แตกต่างกับคนต่างชาติช่วงปลายทศวรรษ 2490 – ต้น 2500 ผู้พากันเพ่งมองจับจ้องไปยัง “ภาพจำลอง/ภาพแทน” ของสังคมหมู่บ้านไกลโพ้นแห่งหนึ่ง

ซึ่งมีชีวิตความเป็นอยู่ผิดแผกไปจากโลกทัศน์และประสบการณ์อันจำกัดจำเขี่ยของพวกเขา/เรา