ชีวิตดนตรีหลายทศวรรษ ของ “ตุ่น พนเทพ” (1) จาก “วงแฟลช” ถึง “แกรมมี่”

ปีนี้ “ตุ่น-พนเทพ สุวรรณะบุณย์” จะมีอายุครบ 69 ปี

ปัจจุบัน หลายคนอาจรู้จักเขาในฐานะมือกีตาร์-นักร้องอาวุโสที่มีบุคลิกละม้ายคล้าย “เอริก แคลปตัน” แห่ง “วงนั่งเล่น” วงดนตรีรวมพยัคฆ์ซุ่มมังกรซ่อนจากวงการเพลงยุค 90 ที่ประสบความสำเร็จเกินคาดกับคลิปเล่นดนตรีและกิจกรรมการแสดงสดในยุคดิสรัปชั่นของอุตสาหกรรมบันเทิง

ขณะเดียวกัน หลายคนก็อาจรู้จักเขาในฐานะสมาชิกคนที่สาม ซึ่งเดินเคียงข้างไปกับสองนักร้องรุ่นเก๋า “แต๋ม-ชรัส เฟื่องอารมย์” และ “ปั่น-ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว” ในนามของ “ดึกดำบรรพ์บอยแบนด์” วงดนตรีที่เน้นการคัฟเวอร์เพลงเก่าๆ ของแต๋ม-ปั่น รวมถึงผลงานในอดีตจากมันสมองของตุ่น ด้วยลีลาการร้อง-เรียบเรียงใหม่ที่มีชีวิตชีวาน่าสนใจ

แต่ชีวิตยืนยาวเกือบ 7 ทศวรรษของพนเทพ ก็มีอะไรน่าสนใจและสลับซับซ้อนมากกว่านั้น

พนเทพถือกำเนิดในครอบครัวศิลปิน พ่อของเขาคือ “พนม สุวรรณะบุณย์” จิตรกร-นักวาดภาพประกอบเจ้าของนามปากกา “ตุ๊ดตู่”

อย่างไรก็ตาม พอมาถึงรุ่นลูกสามคน ทั้งหมดล้วนหันเหความสนใจมายังเรื่องเสียงเพลง

นอกจากพนเทพในฐานะลูกชายคนโต ที่เป็นโปรดิวเซอร์-นักแต่งทำนอง-นักเรียบเรียงดนตรีคนสำคัญของวงการเพลงไทยสากลมากว่าสามทศวรรษ

“เทพพนม” ลูกชายคนรอง ก็เป็นนักแต่งเพลงที่มีลายเซ็นโดดเด่นไม่แพ้กัน ด้วยการสร้างผลงานน่าจดจำจำนวนมากสมัยยังทำงานร่วมกับค่ายอาร์เอส

ส่วน “พรเทพ” น้องชายคนเล็ก แม้จะไม่ได้มีชื่อเสียงในฐานะนักแต่งเพลงมากเท่าพี่ชายสองคน แต่ก็ชอบเล่นดนตรี กระทั่งกลายมาเป็นมือกลองของ “วงนั่งเล่น” และ “ดึกดำบรรพ์บอยแบนด์” ในทุกวันนี้

พนเทพเล่าว่า สถานที่แรกที่ส่งอิทธิพลต่อการหลงใหลในเสียงดนตรีของเขาอย่างลึกซึ้ง คือ โรงเรียนเซนต์คาเบรียล เพราะที่นั่นเป็นแหล่งบ่มเพาะรสนิยมการชอบเล่นดนตรี-ชอบฟังเพลง พร้อมบรรยากาศการแข่งขันกันระหว่างเด็กหนุ่ม

สมัยพนเทพเรียนอยู่เซนต์คาเบรียล รุ่นพี่คนหนึ่งที่โดดเด่นในทางดนตรีเป็นอย่างมากก็คือ “เต๋อ-เรวัต พุทธินันทน์” ซึ่งทั้งสองจะได้กลับมาร่วมงานกันที่แกรมมี่

แต่เส้นทางดนตรีของพนเทพก็ไม่ได้มุ่งหน้าเป็น “เส้นตรง” หากเขาต้องเผชิญหน้ากับ “ทางเลือก” ระหว่างการเล่นดนตรีอย่างมีความสุขกับการทำงานหาเลี้ยงชีพ (และครอบครัว) อยู่เกือบตลอด

จากเซนต์คาเบรียล พนเทพไปเรียนจบสายวิชาชีพจากวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ หลังจบการศึกษา เขาเริ่มฝึกงานกับธนาคารกรุงเทพ แต่เพราะความรู้สึกว่าตัวเองยังไม่โตพอและยังอยากเล่นดนตรีอยู่ เขาจึงกลายเป็นหนุ่มออฟฟิศที่ไม่มีความสุขกับการทำงานและเอาแต่นั่งคิดเรื่องเพลงไปวันๆ

พนเทพตัดสินใจ “ยืดขยายช่วงชีวิตวัยรุ่น” ของตัวเอง ด้วยการไปลงทะเบียนเรียนเป็นนักศึกษารุ่นแรกของมหาวิทยาลัยรามคำแหง

ที่รามคำแหง เขาได้พบเพื่อนสองคน คือ “แต๋ม ชรัส” และ “ปั่น ไพบูลย์เกียรติ” ที่มีใจรักเสียงดนตรีเช่นเดียวกัน ทั้งหมดรวบรวมสมัครพรรคพวกก่อตั้งวงอาร์ยูแบนด์เป็นรุ่นแรก

แต่ท้ายสุด พนเทพก็ใช้ชีวิตเป็น “เด็กราม” อยู่แค่ปีเดียว เพราะเวลานั้น เขาอยากไปเรียนต่อ-ใช้ชีวิตที่อเมริกา และในมุมมองของคนหนุ่ม การหาเงินจากการเล่นดนตรีน่าจะช่วยให้ฝันดังกล่าวเป็นจริงได้

พนเทพเริ่มทำงานเป็นนักดนตรีอาชีพในสถานบันเทิงย่านคลองเตยตามคำแนะนำของชรัส โดยรับค่าจ้าง 80-100 บาทต่อคืน ก่อนจะกลายมาเป็นสมาชิกคนสำคัญของวง “แฟลช” ที่สร้างชื่อเสียงในยุคไนต์คลับเฟื่องฟู

ทว่าการก่อร่างสร้างชีวิตครอบครัว ก็กระตุ้นให้ “ทางเลือก” แบบเดิมๆ ย้อนกลับเข้ามาในใจเขาอีกครั้ง

นั่นคือทางสองแพร่งระหว่างอาชีพนักดนตรีที่อาจไม่มั่นคงกับการหาเงินมาเลี้ยงดูภรรยาและลูก

พนเทพตัดสินใจนับหนึ่งใหม่ ด้วยการออกตระเวนยื่นใบสมัครงาน แล้วในที่สุด เขาก็ได้งานที่บริษัทการบินไทย

ช่วงแรกๆ เขาเลือกจะทำงานประจำควบคู่กับการเล่นดนตรี

วงจรเลิกเล่นดนตรีตี 1 ตื่นนอนตี 4 เข้าเวรเช้าตี 5 ดำเนินซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่ได้ประมาณ 2 ปี พนเทพก็ตัดสินใจหันหลังให้การเล่นดนตรีกลางคืน แต่ยังรับงานแต่งเพลงอยู่บ้าง ในยุคก่อนอุตสาหกรรมเพลงไทยจะเข้มแข็ง

เขาปักหลักทำงานที่การบินไทยอยู่เกือบทศวรรษ แต่ “ทางเลือก” ที่คุ้นเคย ก็หวนกลับมาวนเวียนในจิตใจของพนเทพอีกคำรบ

“วันหนึ่งก็มานั่งมองตัวเองนะว่า เราตื่นเช้ามา นั่งรถบริษัทไปถึงบริษัท ตอกการ์ดเข้าทำงาน ไปนั่งออฟฟิศ ทำงานเสร็จ เย็นตอกการ์ดออก นั่งรถกลับบ้าน ตอนนั้น มีความรู้สึกเหมือนเป็นชิ้นส่วนเล็กๆ ในโรงงาน เป็นน็อตหรือเป็นอะไรสักตัว ซึ่งมันเหมือนเพื่ออะไร? ชีวิตมันไม่สนุกเลย คิดอยู่คืนเดียว พอตอนเช้ามาเขียนใบลาออกเลย”

“ช่วงก่อนที่เข้าการบินไทย รู้สึกว่าจะต้องหาความมั่นคงแล้ว แต่พอมาถึงวันหนึ่ง มันสูญเสียอะไรในตัวเราไปหมดเลย”

หลังอำลาการบินไทย พนเทพก็มุ่งมั่นทำงานเพลงที่เขารักอย่างเต็มตัว

อย่างไรก็ดี ชีวประวัติในการเป็นโปรดิวเซอร์-นักแต่งเพลงของตุ่น พนเทพ นั้นมีจุดกำเนิดย้อนไปได้ถึงช่วงที่เขายังคงเล่นดนตรีกับวงแฟลชและทำงานที่การบินไทย

ผลงานแรกสุดในฐานะ “คนเบื้องหลังกึ่งเบื้องหน้า” ก็คืออัลบั้มที่เขาทำกับเพื่อนร่วมรุ่นอย่าง “แต๋ม ชรัส” ในนาม “แฟลช และชรัส เฟื่องอารมย์”

เนื่องจากชรัสตระหนักถึงคุณสมบัติข้อหนึ่งที่เพื่อนรักมี

“แต๋มจะรู้ว่าพี่ชอบแกะเพลง คืออย่างในวง (แฟลช) พี่แกะทุกอย่าง มันเป็นเพราะว่าพี่อยากรู้ อย่างพี่แกะของตัวเอง แกะกีตาร์ของตัวเองแล้ว แต่มันได้ยินเสียงอื่น มันได้ยินเสียงคีย์บอร์ด แล้วมันคืออะไร ก็ไปแกะต่อ แกะคีย์บอร์ดเสร็จ แกะเบส แกะอะไรพวกนี้ เลยกลายเป็นนิสัยว่าเวลาที่เราแกะเพลง เราแกะทุกอย่าง”

“(พี่) ไม่ได้เรียน arrange (เรียบเรียงดนตรี) … แต่กลายเป็นว่าที่พี่ทำงานมาจนเดี๋ยวนี้ พี่ได้เพราะการแกะเพลง”

ในปี 2528 ชรัสชักชวนให้พนเทพมาร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานชุด “มาลีวัลย์และชรัส” ซึ่งได้ไปบันทึกเสียงกันถึงสหรัฐอเมริกา โดยมีนักดนตรีระดับพระกาฬ เช่น ยอดมือกีตาร์ “แลร์รี คาร์ลตัน” มาเป็นมือปืนรับจ้างในสตูดิโอ

“พี่ก็รู้สึกว่ามันแกะมาเยอะ มันอัดอั้น มันก็อยากจะปล่อยของ คือเมื่อก่อนเนี้ย นึกออกมั้ยว่าเพลงไทยเวลาที่แต่งมาร้องมาธรรมดา ก็จะเป็นเพลงไทยปกติถ้าเราไม่ได้นึกก้าวข้ามเขาไปอีก แต่เวลาที่พี่ฟังเพลง พี่ไม่อยากให้มันเป็นเหมือนทั่วๆ ไป เพราะว่าเราเล่นเพลงสากลมาตลอด แล้วเราก็รู้สึกว่าจริงๆ แล้ว ไอ้ตรงนี้มันเอามาใส่เพลงไทยได้ (ก็) ลองดู”

ต่อมา พนเทพ-ชรัสยังได้ทำงานร่วมกับอีกหนึ่งเพื่อนซี้ “ปั่น ไพบูลย์เกียรติ” อันเป็นที่มาของการก่อตั้งค่ายเพลงในตำนานอย่าง “ครีเอเทีย อาร์ติสต์”

ความสำเร็จเดินหน้าเข้ามาต่อเนื่อง เมื่อพนเทพรับหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์อัลบั้ม “รุ้งอ้วน” และเป็นผู้แต่งทำนองเพลงฮิตตลอดกาล “พี่ชายที่แสนดี” ของ “อุ้ย รวิวรรณ จินดา”

พอครีเอเทียร์ฯ ปิดตัว พนเทพ-ชรัสก็ผันตนเองไปเป็นทีมทำดนตรีฟรีแลนซ์ ที่คอยสรรหาศิลปินหน้าใหม่และผลิตงานเพลงป้อนขายให้แก่บริษัทต่างๆ

พวกเขาผลิตงานเปิดตัวของ “ผุสชา โทณะวณิก” และ “วิยะดา โกมารกุล ณ นคร” ป้อนค่ายแกรมมี่ แล้วทำงานเพลงชุดแรกของ “นีโน่-เมทนี บุรณศิริ” ให้ค่ายคีตาฯ

ก่อนที่พนเทพจะเข้าไปทำงานประจำกับสังกัดใหญ่ “แกรมมี่” ในช่วงกลางทศวรรษ 2530 ตามคำชักชวนของรุ่นพี่โรงเรียนเก่าอย่าง “เต๋อ เรวัต”

อย่างไรก็ตาม พนเทพไม่ได้เดินเข้าแกรมมี่ในฐานะสมาชิกใหม่ของทีมทำดนตรีชุดหลักชุดเดียวที่ควบคุมดูแลโดยเรวัต แต่เขามีสถานภาพเป็นหัวหน้าทีมทำเพลงชุดใหม่อีกหนึ่งทีม ซึ่งมีภารกิจในการเพิ่มผลิตภาพให้บริษัทที่กำลังเติบโต

“คือพี่เต๋อเซ็ตให้เลยว่าเข้าไปแล้วยูเป็นทีมหลักของยูหนึ่งทีมเลย ยูก็โปรดิวซ์งานตามทางที่ถนัด ของเขา (ทีมเต๋อ) ตามทางถนัดเขาก็จะออกร็อกออกอะไรพวกนี้ จากที่พี่ทำ (เพลง) คนเดียว ตอนนั้นมันเริ่มมี (ทีมทำเพลง) ประมาณ 6-7 คนแล้ว มันก็ต้องดูแลกัน แล้วก็มีความรู้สึกว่าถ้าเผื่อไปอยู่ตรงนั้น มันค่อนข้างชัดเจนในเรื่องของรายได้ คือส่วนแบ่งทุกอย่างมันเป็นระบบ เพราะงั้นมันอาจจะทำให้พรรคพวกเราแฮปปี้”

ที่แกรมมี่ พนเทพและทีมงาน อาทิ ธนา ชัยวรภัทร์ (เขียนคำร้อง) มณฑวรรณ ศรีวิเชียร (เขียนคำร้อง) เดอะ มัสต์ กฤชยศ เลิศประไพ (เขียนคำร้อง) เศกสิทธิ์ ฟูเกียรติสุทธิ์ (ทำดนตรี) ปานสรวง-ปวงสรร ชุมสาย ณ อยุธยา (ทำดนตรี) เป็นต้น ได้ร่วมกันผลิตผลงานแนว easy listening ให้ศิลปิน เช่น ชรัส ปั่น “มาลีวัลย์ เจมีน่า” และดาวรุ่งอย่าง “กบ-ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี”

แม้ผลงานเหล่านั้นจะไม่ได้มียอดขายสูงปรี๊ด (ระดับทะลุล้านตลับ) แต่ก็ตอบสนองเป้าหมายทางการตลาดอย่างน่าพึงพอใจทุกชุด

สถานการณ์ที่แลดูราบรื่นภายใต้การบรรจบกันระหว่าง “เสียงเพลง” กับ “ธุรกิจ” พลันต้องพบ “จุดเปลี่ยน” ภายหลังการเสียชีวิตของเรวัต