หัวอกแรงงานบ้านนอก อยู่ก็อดตาย กลับก็โดนด่า แล้วฉันเลือกอะไรได้ไหม?

การรับมือสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในเมืองไทย น่าจะพูดได้ว่า เมื่อเราช้ากว่าสถานการณ์หนึ่งก้าว (หรือมากกว่าหนึ่ง) พอเราทำอะไร ออกมาตรการอะไรมา ผลที่ออกมาก็มักจะไม่เป็นไปตามที่ตั้งเป้าไว้

ในตอนแรกรัฐบาลเราไม่ตัดสินใจปิดประเทศ ออกคำสั่งห้ามเดินทางไปประเทศเสี่ยงก็ช้า แถมการตรวจคัดกรองขาเข้าก็ไม่เข้มพอ เป็นผลให้มีผู้ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ นั่นคือความผิดพลาดในช่วงแรกๆ

เรามีรัฐบาลที่สั่งยกเลิกวันหยุดสงกรานต์ในเดือนเมษายน เพื่อกันไม่ให้คนเดินทางออกต่างจังหวัด เป็นการสกัดการแพร่ระบาดไม่ให้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

แต่เราก็มีรัฐบาลเดียวกันนี้ที่ลืมคิดไปว่าการสั่งปิดร้าน สถานบริการ ห้าง ฯลฯ ที่จัดว่าเป็นสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดในเดือนมีนาคม มาตรการนี้จะส่งผลกระทบต่อผู้คนที่ทำงานในสถานประกอบการและห่วงโซ่ธุรกิจเหล่านี้

แล้วเมื่อพวกเขาขาดรายได้ พวกเขาก็ต้องกลับไปต่างจังหวัดที่พวกเขาสามารถอยู่ได้ด้วยค่าครองชีพที่น้อยกว่า และสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นก็เหมือนการเลื่อนวันสงกรานต์ให้เร็วขึ้น

นี่คือความผิดพลาดครั้งล่าสุดที่รุนแรงมาก

การที่คนขายแรงงานชาวต่างจังหวัด รวมทั้งชาวประเทศเพื่อนบ้านเดินทางกลับบ้าน เป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้การระบาดแพร่กระจายวงกว้างทั่วประเทศ ภาครัฐเองก็กังวล แต่มันป้องกันไม่ทันแล้ว เหลือแต่ตามแก้ปัญหาเท่านั้น

แม้จะยังมีการพูดเรื่อง “ปิดประเทศ” อยู่ในตอนนี้ แต่ในความเป็นจริง มันมีประโยชน์น้อยต่อประเทศเราน้อยแล้ว ณ สถานการณ์นี้ (แต่ก็มีประโยชน์ต่อคนประเทศอื่น) เพราะเรามีผู้ติดเชื้อในประเทศมากขนาดนี้ ต่อให้ปิดประเทศ ไม่มีใครเข้ามาในประเทศเราเลย ไวรัสก็จะระบาดของมันต่อไปจากคนในประเทศเราเองที่มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 1,000 คนแล้ว ซึ่งอัตราความสามารถในการแพร่ระบาดจากบุคคลหนึ่งไปยังบุคคลอื่นๆ ตามที่คณะแพทย์ให้ข้อมูลคือ 1:1.6 คน

และถ้ามองตามความเป็นจริง เมื่อบ้านเรามีผู้ติดเชื้อมากขนาดนี้ ก็ไม่มีใครอยากเข้ามาอยู่แล้ว ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ดังนั้น การพูดเรื่องปิดประเทศตอนนี้จึงช้าไปมาก

รัฐบาลไทยตัดสินใจช้ากว่าสถานการณ์มาตั้งแต่ต้น

กลับมาที่กรณีคนต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเดินทางกลับบ้าน ในสังคมมีความเห็นแบ่งเป็น 2 ฝั่ง

ฝั่งหนึ่ง คือคนที่เข้าใจและเห็นอกเห็นใจในความจำเป็นของคนใช้แรงงานที่ต้องเดินทางกลับบ้าน

และอีกฝั่งหนึ่ง คือคนที่ไม่เข้าใจ ไปจนถึงคนที่มองข้ามความเป็นมนุษย์ของคนเหล่านี้ไปเลยก็มี

ฝั่งที่เข้าใจและเห็นใจก็มีความเห็นไปในทางเดียวกันว่ารัฐบาลควรมีมาตรการมารองรับ เยียวยาคนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการประกาศปิดสถานที่ต่างๆ นี้

ฝั่งที่ไม่เข้าใจก็บอกว่า จะกลับไปทำไม ไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม พวกบ้านนอกนิสัยไม่ดี เห็นแก่ตัว เป็นพวกไม่จ่ายภาษีแล้วยังเป็นภาระสังคม ซึ่งได้ยินแล้วชวนเศร้าที่คนเรามองกันแบบนี้

คน (ส่วนหนึ่ง) ในสังคมเรามีมายด์เซ็ตแบบนี้กันมาเนิ่นนาน คือมองว่าพวกบ้านนอก จน โง่ ขี้เกียจ และเห็นแก่ตัว หรือที่ได้ยินกันบ่อยๆ ในวาทกรรม “โง่ จน เจ็บ” ซึ่งผู้ที่คิดแบบนี้หรือกล่าวถ้อยคำเหล่านี้ออกมาไม่ได้มองไปถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง และไม่ได้พยายามทำความเข้าใจว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้คนบ้านนอกต้องทำและต้องเป็นอย่างนั้น (ซึ่งก็ไม่ได้เป็นกันทุกคน จะเหมารวมไม่ได้)

สาเหตุต้นตอของสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นก็คือ “ความเหลื่อมล้ำ” คำที่ได้ยินบ่อยๆ เหมือนใช้กันเฝือๆ แต่มันเป็นความจริงที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำอยู่อันดับต้นๆ ของโลก

ความเหลื่อมล้ำ ความด้อยโอกาส เป็นสาเหตุที่ทำให้คนบ้านนอกเข้ามาใช้แรงงานในกรุงเทพฯ รวมทั้งคนที่เข้ามาทำงานที่ไม่ใช่งานใช้แรงงาน

การอยู่บ้านนอกมันด้อยโอกาส ทั้งด้อยโอกาสด้านการเข้าถึงบริการสาธารณสุข ด้อยโอกาสด้านการศึกษา ด้อยโอกาสในการเข้าถึงตลาดงาน ด้อยโอกาสที่จะยกระดับฐานะ ฯลฯ และไม่ต้องพูดถึงขั้นการยกระดับทางสังคม…มันไกลเกินไป

ทั้งหมดนี้ก็ล้วนแต่เกิดจากการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศแบบกระจุกอยู่ที่ศูนย์กลาง การจัดสรรงบประมาณที่ไม่ได้ให้ค่ากับประชากรทุกคนในประเทศอย่างเท่าเทียมกัน เน้นให้งบฯ ส่วนกลางสูง งบฯ ท้องถิ่นต่ำ ไม่เอื้อให้ส่วนท้องถิ่นได้พัฒนาท้องถิ่นของพวกเขาเอง

และที่สำคัญอย่างหนึ่งนอกจากงบประมาณก็คือ การพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่ไม่ทั่วถึง-เท่าเทียม เมื่อคุณภาพการศึกษาในต่างจังหวัดไม่ดี คุณภาพของคนในท้องถิ่นที่จะขับเคลื่อนพัฒนาท้องถิ่นก็มีน้อย เป็นวงจรความเหลื่อมล้ำ ความด้อยโอกาสที่วนลูปไม่สิ้นสุด

เมื่ออยู่บ้านนอกมันด้อยโอกาสทุกทาง คนต่างจังหวัดจึงเข้ามาทำงานในเมืองหลวงและปริมณฑลที่มีตำแหน่งงานมากกว่า ค่าแรงสูงกว่า

ในภาวะวิกฤตที่ไม่มีทางเลือกให้อยู่รอด พวกเขาจึงต้องกลับบ้าน นี่ไม่ใช่ความเลว ความเห็นแก่ตัวอย่างที่ด่ากัน แต่มันคือสัญชาตญาณการเอาตัวรอดของมนุษย์

ยกตัวอย่างกรณีของนางสาวเอ (นามสมมุติ) ชาวจังหวัดทางภาคอีสานที่เข้ามาทำงานร้านอาหารในกรุงเทพฯ เพราะคิดว่ารายได้มากกว่าที่จังหวัดบ้านเกิด เล่าถึงผลกระทบที่เธอได้รับในครั้งนี้ว่า ร้านอาหารที่เธอทำงานอยู่ได้รับผลกระทบมาระยะหนึ่ง ตั้งแต่ไวรัสเริ่มระบาดในเมืองไทยลูกค้าก็น้อยลงไปมาก

พอมาถึงช่วงที่รัฐบาลสั่งปิดร้านอาหาร เจ้าของร้านจึงถือโอกาสนี้บอกเลิกจ้างลูกจ้าง ในสถานการณ์ที่ไม่มีงาน ไม่มีเงิน และกลัวติดโรคระบาดก็มีทางเดียวคือกลับบ้าน

ที่มีบ้านให้อยู่โดยไม่ต้องเช่า ข้าว-อาหารก็ซื้อเพียงบางส่วน ไม่เหมือนอยู่กรุงเทพฯ ที่ต้องจ่ายและซื้อทุกอย่าง

จากการตามอ่านคอมเมนต์ในข่าวเกี่ยวกับคนจากต่างจังหวัดเดินทางกลับบ้าน มีคอมเมนต์มากมายที่ล้วนแต่มีใจความเดียวกันคือ ถ้าอยู่ก็อดตาย การกลับบ้านเป็นทางเลือกเดียวที่มีอยู่

ยกตัวอย่างความเห็นของนายบี (นามสมมุติ) คอมเมนต์ในข่าวของ “มติชนสุดสัปดาห์” ว่า “แล้วจะให้อยู่ที่ไหน งานก็ไม่มี ตังค์ก็หมด พวกมึ_มองคนอื่นบ้าง ชี้แต่นิ้ว ชอบออกคำสั่ง”

ใกล้เคียงกับความเห็นของนายซี (นามสมมุติ) ที่คอมเมนต์ใต้ลิงก์ข่าวของ “ข่าวสด” ว่า “ไม่กลับบ้านแล้วให้ไปอยู่ไหน งานไม่มี เงินก็หมด รัฐบาลเฮงซวย ไม่มีแผนการรับและป้องกันปัญหา เกาะแต่ตำแหน่งและอำนาจ ขาดการตัดสินใจที่ชัดเจน แล้วจะให้ ปชช.ทำอย่างไร”

ปัญหาที่คนหลั่งไหลกลับบ้านจะไม่เกิด หรือเกิดก็น้อย หากรัฐบาลคิดมาตรการมารองรับแล้วประกาศออกมาพร้อมหรือก่อนการมีมาตรการปิดสถานที่เสี่ยง

ในหลายๆ ประเทศเขามีมาตรการเยียวยาที่ดูเข้าท่าดี อย่างเช่นที่จีน รัฐบาลจ่ายเงินอุดหนุนการจ้างงานให้บริษัทจ้างพนักงาน-ลูกจ้างต่อไป, เนเธอร์แลนด์ รัฐช่วยออกค่าจ้าง 75% ให้ลูกจ้างที่ถูกลดเวลาทำงาน, นิวซีแลนด์ รัฐช่วยนายจ้างจ่ายค่าจ้างพนักงานที่ต้องกักตัวหรือลดชั่วโมงทำงาน ฯลฯ

ส่วนรัฐบาลไทยประกาศจะให้เงินคนที่ได้รับผลกระทบ 5 พันบาทสามเดือน ซึ่งก็มีคนแห่ลงทะเบียนจำนวนมาก การแจกจ่ายจะทั่วถึงหรือไม่ยังเป็นคำถาม

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือ รัฐบาลประกาศมาตรการที่คาดการณ์ได้ว่าจะเกิดผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก โดยที่ไม่มีมาตรการมารองรับผู้ได้รับผลกระทบได้ทันท่วงที พอเกิดปัญหาขึ้นแล้วจึงคิดได้ว่า “ต้องทำ” แล้วนำเข้า ครม. หลังจากที่คนแห่กลับบ้านกันไปแล้ว

ถ้าจะหาคนผิด คนที่ผิดและคนที่ควรถูกด่าทอต้องไม่ใช่ประชาชนที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบ แต่ต้องเป็นผู้มีหน้าที่บริหารจัดการสถานการณ์และแก้ปัญหาวิกฤตของชาติ ซึ่งทำหน้าที่ได้ไม่ดีอย่างที่ควรจะเป็น