ฉัตรสุมาลย์ : ไปพิพิธภัณฑ์เมืองรายปุร์

วันนี้เราจะพยายามเข้าเมืองเอง ตลอดเวลามีคนดูแล รับ-ส่งถึงที่ เลยไม่มีเรื่องเขียน อยากออกไปด้วยตัวเองดีกว่าเนอะ

ที่เราพักเที่ยวนี้ อยู่นอกเมืองประมาณ 20 ก.ม. วันนี้หลังอาหารเช้าแล้ว เตรียมเก็บของลงกระเป๋า เพราะจะกลับเมืองไทยวันรุ่งขึ้น

เรามีเวลาทั้งวัน จุดที่ต้องไปชม ไม่ว่าจะเป็นเมืองใด คือพิพิธภัณฑ์ เพราะถือเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญ

โดยเฉพาะเมื่อทราบว่า ของที่ขุดขึ้นมาได้จากศีรปุร์นั้น ส่วนหนึ่งอยู่ในพิพิธภัณฑ์ที่เมืองนี้

เราก็ต้องติดตามให้เห็นด้วยตาตนเอง

 

เราเดินไปที่สามแยก ที่เราทราบว่าสามารถเรียกรถออโต้ (คือที่บ้านเราเรียกตุ๊กตุ๊ก) ได้ เราเคยพยายามเมื่อตอนที่มาใหม่ รู้แล้วว่า ระยะทางเข้าเมืองสามารถไปได้ในราคา 200 รูปี

ค่อยๆ เดินไปจนถึงทางแยก มีรถออโต้ใหม่ๆ จอดรออยู่ เราเรียกเข้าไปในเมือง เขาคิดเพียง 20 รูปีต่อคน เราไปกันสองคน เพียง 40 รูปี (เท่ากับ 20 บาท)

ระหว่างทางเขาก็จอดรับผู้โดยสารมาเรื่อย เที่ยวนั้นเขาน่าจะได้ 120 รูปี

พอมาถึงในเมือง เนื่องจากเขาไม่รู้เรื่องกับเรา อ้อ จริงๆ แล้วเราไม่รู้เรื่องกับเขาเสียละมากกว่า ท่านธัมมนันทาเล็งหาคนที่น่าจะรู้ภาษาอังกฤษ เด็กหนุ่มคนหนึ่งกำลังสตาร์ตมอเตอร์ไซค์ ท่านโบกมือขอความช่วยเหลือ อะไรจะประมาณนั้น ไม่ใช่ว่าเขาพูดภาษาอังกฤษได้เท่านั้น เขายังเคยทำงานกับกรมการท่องเที่ยวของรัฐอีกด้วย

เขาให้ข้อมูลว่า ที่เราเรียกพิพิธภัณฑ์รายปุร์นั้น ไม่มีใครรู้จัก ที่นั่นเขาเรียก มหันต์ฆาลิทาสสังฆาลัย คือเรียกตามชื่อของคนที่อุทิศเงินสร้าง

คราวนี้สะดวกมาก ได้รถออโต้ราคาเพียง 60 รูปี นำเราส่งถึงที่เลย

 

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดเมื่อ 21 มีนาคม ค.ศ.1953 โดย ดร.ราเชนทรประสาท ประธานาธิบดีของอินเดียสมัยนั้น มาเป็นผู้ทำพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์เอง

ค่าเข้าชม 5 รูปี (10 สลึง) ค่ากล้องอีกตัวละ 5 รูปี กล้องวิดีโอแพงหน่อย 50 รูปี อินเดียเขามีประชากรที่ยากจนมาก หากคิดค่าเข้าชมแพง ประชาชนของเขาจะเข้าถึงไม่ได้ ที่อื่นเขาจะมีราคาพิเศษสำหรับต่างชาติ คือแพงกว่าประชาชนประมาณ 5 ถึง 10 เท่า อันนี้ก็สมควรอยู่นะ เพราะเราเป็นต่างชาติที่ไม่ได้เสียภาษีให้แก่ประเทศของเขา

แต่รายปุร์ไม่ใช่ประเทศที่มีนักท่องเที่ยว จึงยังคิดอัตราเดิมอยู่ เจ้าหน้าที่คงประทับใจท่านธัมมนันทา นอกจากจะเป็นพระผู้หญิงที่เขาไม่เคยเห็นมาก่อนแล้ว ยังเป็นผู้เฒ่าที่ให้ความสนใจกับการศึกษาเรื่องราวในพิพิธภัณฑ์อย่างมาก เลยนำหนังสือปกแข็งอย่างดีเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการสร้างพิพิธภัณฑ์นั้นมาถวายอีกหนึ่งเล่ม หากเป็นราคาตลาดน่าจะถึง 500 รูปี

รูปแรกที่สะดุดใจคือพระคเณศ แกะสลักจากหินทั้งก้อน รูปแบบเรียบง่าย แต่ขนาดใหญ่เป็นที่สองในประเทศ หน้าตักน่าจะถึงศอกครึ่ง นี่พูดแบบคนโบราณ สำหรับเด็กสมัยใหม่ประมาณ 18 นิ้วค่ะ องค์นี้กำหนดยุคสมัยว่าอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 11-12

อีกรูปหนึ่งที่เกี่ยวกับพระคเณศ เป็นรูปถ่าย พระคเณศอยู่บนยอดเขาทันเตวาท อยู่ในช่วงศตวรรษที่ 12 องค์นี้สัดส่วนงดงาม น่าจะขนาดใหญ่ทีเดียว ภาพที่เห็นถ่ายลงมาจากเครื่องบินได้บรรยากาศภูเขาสูง พระคเณศองค์นี้อยู่ในวิหาร แต่วิหารปรักหักพังไป เหลือแต่ฐาน

สิ่งที่เราสนใจคือของที่ขุดมาได้จากศีรปุร์ เป็นพระพุทธรูปหินแกะสลัก และพระมัญชุศรี พระโพธิสัตว์ทางปัญญา

ที่ว่าขุดได้ 79 ชิ้นนั้น ชิ้นที่สวยที่สุด เป็นพระนางตาราโพธิสัตว์อยู่ในซุ้ม รายละเอียดงดงามมาก

ตรงนี้สนใจอยากดู แต่ไม่ได้อยู่ในพิพิธภัณฑ์

 

ในช่วงศตวรรษที่ 7-8 ศีรปุร์เป็นศูนย์กลางการสร้างงานที่เป็นโลหะ พระพุทธรูปที่หายาก 25 องค์ ที่คนงานเคยขุดได้เมื่อ ค.ศ.1939 พนักงานที่เก็บภาษีได้มอบให้บุคคลต่างๆ ไป 6 องค์ มุนีขันติสาครได้ไป 2 องค์ องค์หนึ่งนั้นคือ พระนางตาราที่งดงามที่สุดนั้น มอบให้กับภารตวิทยาภวัน ในเมืองบอมเบย์ (ปัจจุบันเรียกมุมไบ)

แต่ปรากฏว่า พระนางตาราที่ว่านี้ ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ของเมืองลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา

ไปได้ยังไง น่าเสียดายไหม แต่ก็ยังดีที่ไม่ได้ไปอยู่ในครอบครองของเอกชน เรายังสามารถตามไปดูได้ คนที่ครองครองก็ไม่ได้สำนึกว่าเป็นสมบัติของชาติ ให้เขาไปง่ายๆ ยังงั้นแหละ เรียกว่าลิงได้แก้วแท้ๆ

อีก 11 องค์อยู่ที่พิพิธภัณฑ์ของเมืองรายปุร์ คือที่เราไปดูนี้ ในจำนวนนี้เป็นพระพุทธเจ้า 3 องค์ พระโพธิสัตว์ปัทมปาณิ 4 องค์ วัชรปาณี 1 องค์ พระมัญชุศรี 2 องค์ พระนางตารา 1 องค์ พระพุทธรูปปางภูมิผัสสะขนาดเล็กที่พบมีคุณภาพดีมากในแง่ของคุณค่าทางศิลปะ

ตรงกลางห้องแสดงงาน มีพระพุทธรูปที่แกะสลักจากหินก้อนเดียว หันพระพักตร์ออกสี่ทิศ เสาที่อยู่ประจำสี่ทิศนั้น เป็นนาคกัญญาประจำทั้งสี่ทิศ แม้ชำรุดไปบ้าง แต่ก็ยังคงความงามน่าประทับใจ

ในพิพิธภัณฑ์นี้ เรานำกล้องเข้ามาได้ ก็เสียเงิน 5 รูปีนั่นแหละ แต่คุ้มค่ามหาศาล เพราะบ่อยครั้ง หากไม่มีกล้อง เราเองก็จะลืมรายละเอียดของสิ่งที่เราได้เห็น

ในงานศิลปะที่แสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์นี้ มีลวดลายที่สะดุดตา คือสัตว์ที่ประดับอยู่ที่ฐานขององค์พระ เป็นสิงห์อยู่บนหลังช้าง หันหน้าออก สัดส่วนใหญ่เท่าๆ กัน อยู่ทั้งสองข้างของฐานพระ

อันนี้ไม่เคยเห็นมาก่อน

พิพิธภัณฑ์นี้ ไม่ค่อยมีผู้คนเข้าชมนัก หรืออาจจะเป็นวันธรรมดา ก็เลยทำให้เราได้มีโอกาสพิจารณางานที่มีคุณค่าทั้งทางประวัติศาสตร์ และศิลปะอย่างใกล้ชิด

แต่ละห้องมีเจ้าพนักงานนั่งตบยุงเฝ้า ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ใส่ส่าหรีตามสบาย ไม่ใช่เครื่องแบบ มองท่านธัมมนันทาแบบคอจะเคล็ด ท่านก็เลยต้องหันไปบอกเขาว่า ผู้หญิงนะ เขาก็แสดงความแปลกใจ ร้องว่า “อัจฉะ” ทำเสียงสูง เป็นเครื่องหมายคำถาม ประมาณว่า “เหรอ” ถ้ารับคำว่า “ใช่” ก็ใช่คำเดียวกันนี้ แต่ไม่ทำเสียงสูง

ขึ้นไปชั้นสอง คราวนี้เปลี่ยนเป็นเรื่องราวของวัฒนธรรมพื้นบ้าน จำลองกิจกรรม โดยเฉพาะในงานฉลองเทศกาลต่างๆ

เดินเข้าไปอีกในห้องถัดไป คราวนี้เขาจัดเป็นหน้าบ้านให้ดูว่า รูปทรงบ้านนั้นๆ เจ้าของทำอาชีพอะไร ก็จะแสดงทั้งหุ่น และเครื่องใช้ไม้สอยไว้ประกอบด้วย เด็กๆ น่าจะชอบมากเป็นพิเศษ

ห้องที่แสดงศิลาจารึกที่พบในแคว้นนี้ นอกจากจะมีศิลาจารึกต่างยุคต่างสมัยแล้ว ยังมีแผนภูมิแสดงถึงทั้งวิวัฒนาการของอักษรที่ใช้จารึกในศิลาจารึกและความแตกต่างของแต่ละภาษาด้วย

ตรงนี้สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องราวของประวัติศาสตร์จากศิลาจารึกน่าจะได้ประโยชน์เป็นพิเศษ

อีกอาคารหนึ่งที่เราไม่ได้ตามไปดู เป็นอาคารที่แสดงงานเหรียญที่ค้นพบ ทั้งที่เป็นโลหะ และดินเผา ที่เป็นวิธีการเก็บบันทึกประวัติศาสตร์ที่ดีที่สุดอีกแบบหนึ่ง ผู้เขียนเคยไปประชุมนักประวัติศาสตร์ร่วมกับนักวิชาการของอินเดียที่เมืองลัคเนาว์ จำได้ว่า เขาจัดเวลาการประชุมแยกห้องโดยเฉพาะให้เสนองานเกี่ยวกับเหรียญเท่านั้น

แสดงว่า ในเชิงประวัติศาสตร์และโบราณคดี อินเดียมีความก้าวหน้าเชิงวิชาการมากทีเดียว เพราะได้พบอาจารย์หลายท่านที่มาจากรัฐต่างๆ ของอินเดีย มาเสนองานเฉพาะ ทั้งเรื่องการค้นพบเหรียญ และการอ่านข้อความในเหรียญโบราณเหล่านั้น

เล่าไว้ตรงนี้ อาจจะมีท่านผู้อ่านที่บังเอิญเป็นนักประวัติศาสตร์ที่สนใจเรื่องเหรียญจะได้ตามงานได้

 

พิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งการเรียนรู้จริงๆ ขอบคุณรัฐบาลอินเดียที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ทำให้เราพลอยได้ประโยชน์ไปด้วย

ตอนนี้ ดูอะไรเริ่มไม่รู้เรื่อง เพราะได้เวลาอาหาร

ลงมาชั้นล่าง ถามเจ้าหน้าที่ผู้หญิงคนเดิมที่ถวายหนังสือให้ท่านภิกษุณี ว่า แถวนี้จะหาอาหารกลางวันได้ที่ไหน

เธอใจดีมาก แทบจะพาไปส่งจนถึงที่

ปรากฏว่า รัฐบาลเขาเห็นความสำคัญในการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่มาใช้บริการที่พิพิธภัณฑ์ คิดแทนว่า เมื่อใช้เวลาเดินอยู่ในพิพิธภัณฑ์แล้ว บริการถัดมาต้องเป็นร้านอาหาร

เป็นร้านอาหารของทางการค่ะ สะดวกมาก เราไปรับประทานอาหารกลางวันด้วยกันนะคะ ตามมาได้เลย มื้อนี้ขอเป็นเจ้าภาพค่ะ