หน้า 8 : นวัต “คำ”

“นวัตกรรม” ที่เห็นชัดที่สุดในรัฐบาลชุดนี้ คือ การประดิษฐ์คำ

สร้างวาทกรรมที่หรูและดูดี

ในทางเศรษฐกิจ ทีม “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ประดิษฐ์คำ “ไทยแลนด์ 4.0” และ “ประชารัฐ” ให้กลายเป็นคำฮิต

เป็น “นวัตคำ” ทางภาษาที่ทำให้โครงการของรัฐบาลดูเท่และทันสมัยขึ้น

ถ้าเป็นสินค้าก็ถือว่าสร้าง “แบรนด์” สำเร็จ

ส่วนในทางการเมือง คำว่า “อภินิหารทางกฎหมาย” ที่คนในรัฐบาลคิดค้นก็ถือเป็นหนึ่งใน “นวัตคำ”

ฟังเผินๆ แล้วดู “เท่”

แต่คิดดีๆ แล้วหลายคนก็เริ่มมีคำถามในใจ

รัฐบาลควรจะยึดหลักกฎหมาย

ใช้ “หลักการ” นำ โดยไม่สนใจว่าหลักการนี้จะใช้กับใคร

หรือเริ่มต้นคิดว่าจะจัดการกับ “คน” คนนี้อย่างไร

แล้วหาช่องทางทุกอย่างเพื่อดำเนินการกับคนคนนี้

ไม่สนใจว่าจะวิ่งบนถนนสายหลัก

หรือจะใช้อำนาจเปิด “ไซเรน”

และ “วิ่งสวนเลน” ดื้อๆ

แล้วเรียกวิธีการแบบนี้ว่า “อภินิหาร”

งงเด้-งงเด้

 

อาจเป็นเพราะความสำเร็จทางหน้าที่การงานจากการคิด “นวัตคำ” ของ “รุ่นพี่”

ทำให้ พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก เดินรอยตาม

เริ่มจากการยึดหลัก “ทหาร” ต้องไม่ผิด

เป็นแนวทางเดียวกับเมื่อครั้งที่ยืนกรานว่า “ทหาร” ไม่เกี่ยวในกรณีสังหารหมู่ 6 ศพในวัดปทุมวนาราม เมื่อปี 2553

ทั้งที่ภาพทหารบนรางรถไฟและวิถีกระสุนค่อนข้างชัดเจน

ดังนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เกิดเหตุวิสามัญฆาตกรรม “ชัยภูมิ ป่าแส” นักกิจกรรมชาวลาหู่วัย 17 ปี

พ.อ.วินธัย ออกมาให้สัมภาษณ์ทันทีว่าทหารไม่ผิด เพราะเป็นเหตุสุดวิสัย เนื่องจากนายชัยภูมิจะขว้างระเบิดใส่

แทนที่จะตั้งหลักและบอกว่ากองทัพบกจะตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเรื่องนี้

แต่ที่หนักที่สุดก็คือ เรื่องคลิปรถทหารเบียดรถจักรยานยนต์แล้วขับหนี

ทั้งที่ภาพในคลิปชัดเจนอย่างยิ่ง

แต่ พ.อ.วินธัย ก็ยึดหลักเดิม

และสร้าง “นวัตคำ” ใหม่เป็นระเบิดควันอำพราง

“ไม่ได้หนีเพราะเฉี่ยวชน แต่หนีอารมณ์ของคู่กรณี”

ฟังแล้วเป็นอย่างไร

งงเด้-งงเด้

 

“นวัตคำ” คือ “นวัตกรรม” ทางภาษา

“กรรม” เป็นเครื่องชี้เจตนา

คิด “คำ” แบบไหน

ก็แสดงถึง “เจตนา” แบบนั้น

งงเด้-งงเด้