วางบิล/ เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ /สำนักงานหนังสือพิมพ์สมบูรณ์แบบ

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์  

สำนักงานหนังสือพิมพ์สมบูรณ์แบบ

 

การจัดตั้งสำนักงานหนังสือพิมพ์ถาวร บริษัท มติชน จำกัด ณ บริเวณติดกับสนามกีฬาหมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 เป็นความตั้งใจของขรรค์ชัย บุนปาน สุจิตต์ วงษ์เทศ มาตั้งแต่ครั้งมีดำริจัดทำหนังสือพิมพ์รายวันที่ว่า การทำหนังสือพิมพ์ต้องมีโรงพิมพ์เพื่อผลิตหนังสือพิมพ์เป็นของตัวเอง

ในชั้นต้น เมื่อเดือนสิงหาคม 2515 ทั้งสองและหุ้นส่วน อาทิ สุพล เตชะธาดา แห่งสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น กับเพื่อนอีกบางคน จัดตั้งโรงพิมพ์ชื่อพิฆเณศ ที่ห้องแถวซอยแพร่งสรรพศาสตร์ ขณะที่ขรรค์ชัยประจำที่กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และรับต้นฉบับหนังสือบางเล่มจากภายนอก ให้สุจิตต์ วงษ์เทศ เป็นผู้จัดการ เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ กับประเสริฐ สว่างเกษม เป็นผู้ดูแลทั่วไป

นับแต่สุจิตต์จัดส่งต้นฉบับให้ช่างเรียง เราทั้งสองคนเป็นผู้ตรวจพิสูจน์อักษรจากช่างเรียง ตรวจความเรียบร้อยจากช่างพิมพ์ การจัดพับเก็บเล่มและเข้าเล่มจากช่างเข้าเล่ม ติดปกทั้งจากเย็บเล่มและไสกาวกระทั่งหนังสือเป็นเล่ม สุดท้ายจัดส่งให้เจ้าของหนังสือ

ขณะนั้น อรุณ วัชระสวัสดิ์ ยังเรียนที่คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มาประจำการเป็นฝ่ายศิลป์จัดเล่มหนังสือและดูแลภาพประกอบ

ดังนั้น เมื่อเริ่มต้นสำนักงานชั่วคราวตึกแถวตรงข้ามวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ถนนเพื่องนคร ขรรค์ชัยกับพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ซึ่งร่วมงานมาสมัยหนังสือพิมพ์ประชาชาติรายวันและรวมประชาชาติ กระทั่งถูกคณะปฏิวัติปิดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่สำนักชั่วคราวที่อาคารถนนศรีอยุธยา จึงคิดกับขรรค์ชัย จัดซื้อเครื่องพิมพ์หนังสือพิมพ์ชนิดเวบ (เครื่องพิมพ์ใช้กระดาษม้วน) มาจัดซ่อมบำรุงเอง ดังกล่าวแล้ว

กระทั่งเริ่มจัดพิมพ์หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน และมติชนสุดสัปดาห์ฉบับไม่เย็บเล่มและหน้าปกใช้กระดาษปรู๊ฟในตัว พิมพ์ 2 สี ราคา 5 บาท ขณะที่โรงพิมพ์พิฆเณศจัดพิมพ์หนังสือเข็มทิศธุรกิจ (ต่อมาคือประชาชาติธุรกิจ) และรับจ้างพิมพ์หนังสือเล่ม

 

ก่อนจะมีการย้ายสำนักงานไปอยู่ที่หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 ไพโรจน์ ปรีชา ผู้ดูแลฝ่ายการผลิต กับผม ได้รับคำสั่งให้ย้ายเครื่องพิมพ์กระดาษม้วน 2 ยูนิตครึ่ง สามารถพิมพ์ 2 สีได้ ไปที่สถานที่ใหม่ด้วย

บริเวณที่ดินตั้งอาคารโรงเรียนนิเวศน์วิทยา ตึกสามชั้น ด้านข้างทิศตะวันออก เป็นประตูทางเข้าโรงเรียน มีอาคารชั้นเดียว ลักษณะเป็นห้องประชุมและโรงอาหาร ตรงนี้แหละคือเป็นที่ตั้งเครื่องพิมพ์ซึ่งจะย้ายมาจากอาคารถนนเฟื่องนคร

ระหว่างที่เราสองคน ไพโรจน์ ปรีชา กับผมมาสำรวจพร้อมช่างที่จะติดตั้งเครื่องพิมพ์ว่าเดินสายไฟฟ้าตรงไหน เครื่องพิมพ์สองเครื่องจะตั้งอย่างไร เป็นผังไว้แล้วเจาะเสาเข็มรองรับเครื่องพิมพ์

แต่แล้ว… เรื่องนี้ต้องมีแต่… ขรรค์ชัยกับพงษ์ศักดิ์ตัดสินใจหลังจากพิจารณาทั้งปัจจุบันและอนาคตของบริษัท มติชน จำกัด แล้วเห็นว่า น่าจะสั่งเครื่องพิมพ์ขนาดสองยูนิตใหม่มาจัดตั้งเองจากเยอรมนี ยี่ห้อยูนิแมน (UNIMAN ของ MANROLAND) ซึ่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐใช้เครื่องยี่ห้อนี้หลายยูนิต และมีข่าวว่าจะสั่งซื้ออีกหลายยูนิตเพื่อรองรับการขยายหน้าและพิมพ์สี่สี

ก่อนหน้านั้น น้าเติม-ทองเติม เสมรสุต ผู้จัดการฝ่ายผลิต และเป็นผู้ออกแบบตัวพาดหัวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ได้รับเชิญจากขรรค์ชัยให้มาเป็นที่ปรึกษาด้านการผลิตด้วย ทั้งหากมีอะไรขัดข้องจะได้พึ่งพากันได้

ขณะเดียวกัน ขรรค์ชัยทำงานเป็นนักข่าวไทยรัฐ และทั้งกับผมมีเพื่อนสนิทตั้งแต่เรียนมัธยมที่วัดนวลนรดิศ ประจำการฝ่ายผลิต คือ กิตติ ยิ้มละมัย (หลานป๊ะกำพล วัชรพล) เป็นผู้แนะนำและช่วยเหลือด้านการติดตั้งเครื่อง หากมีการซ่อมภายหลังจะได้มาช่วยเหลือปรึกษาเป็นอย่างดี

เมื่อตัดสินใจสั่งเครื่องพิมพ์ใหม่ “ยูนิแมน” ขนาด 2 ยูนิตมาติดตั้ง จึงต้องสร้างอาคารใหม่ถัดจากอาคารเดิม 3 ชั้น บนที่ดินทิศตะวันตก เป็นอาคารชั้นครึ่งเพื่อติดตั้งเครื่องพิมพ์ ส่วนเครื่องมือสองเดิมยังเป็นเครื่องพิมพ์หนังสือพิมพ์มติชนรายวันและมติชนสุดสัปดาห์ในที่เดิมจนกว่าเครื่องใหม่จะมาติดตั้งเสร็จ

 

วันทำสัญญาระหว่างบริษัท แมนโรแลนด์ เยอรมัน กับบริษัท มติชน จำกัด ช่วงบ่ายวันนั้น พงษ์ศักดิ์มีโอกาสพูดคุยกับผู้จัดการแมนโรแลนด์ บนชั้น 2 ด้านหลังอาคาร มีหน้าต่างมองลงไปเห็นสนามฟุตบอลของหมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 ถัดจากนั้นเป็นวิทยาลัยธุรกิจของเอกชน

ผมยืนฟังการพูดคุยเป็นภาษาอังกฤษซึ่งรู้ฟังมั่งไม่รู้ฟังมั่ง ตอนหนึ่งของการสนทนาอาจารย์ป๋องชี้มือไปที่สนาม แล้วบอกเป็นภาษาอังกฤษว่า ตรงนั้นเป็นสนามฟุตบอลของมติชน แต่ยกให้เทศบาลกรุงเทพฯ ไปแล้ว ผู้จัดการชาวเยอรมันพยักหน้าหงึกหงักพร้อมแสดงความชื่นชมกับพงษ์ศักดิ์ที่คุยกับเจ้าของบริษัทจำหน่ายเครื่องพิมพ์ได้คล่องแคล่วชนิดกลอนพาไปได้ขนาดนั้น

ระหว่างการลงนามในสัญญาทั้งสองฝ่าย มติชนมีที่ปรึกษาสองสามคนเป็นสักขีพยาน คือ ศักดิชัย “เสนีย์ เสาวพงศ์” บำรุงพงศ์ “เจ๊” เสริมศรี “สนทะเล” เอกชัย อุดม สีสุวรรณ ทวีป วรดิลก กับผู้ใหญ่ในกองบรรณาธิการอีกคนสองคน และผมร่วมด้วย

หลังเซ็นสัญญาเสร็จ ต่างแสดงความยินดี แลกหนังสือสัญญาซึ่งกันและกัน แล้วฝ่ายขายเครื่องพิมพ์พาไปเลี้ยงฉลองความสำเร็จครั้งนี้ที่ภัตตาคารนอร์มังดี กริลล์ โรงแรมโอเรียนเต็ล

 

ภัตตาคารแห่งนี้ มีระเบียบปฏิบัติคือ ผู้จะเข้าไปรับประทานอาหารได้นอกจากต้องจองโต๊ะแล้ว ผู้ชายยังต้องแต่งชุดสากล ผูกเน็กไท ผู้หญิงแต่งตัวราวกับไปงานราตรีสโมสร ทั้งในกลุ่มของเราคือ อุดม สีสุวรรณ แต่งชุดไทย ซึ่งเป็นที่นิยมขณะนั้น กับคนหนึ่งสวมเสื้อนอก ไม่ผูกเน็กไท

ครั้งแรก เจ้าหน้าที่เกือบจะไม่ให้ผ่านเข้าไปในห้อง ต้องเชิญผู้จัดการมาไต่ถาม ปรากฏว่าชุดไทยของอุดมอนุญาตผ่านไปได้ แต่ผู้สวมเสื้อนอกต้องผูกเน็กไท ซึ่งทางห้องอาหารเตรียมไว้ให้เรียบร้อย

ขณะนั้นไพโรจน์ต้องไปเรียนรู้เรื่องเครื่องพิมพ์ หรือ “พีเทสต์” ที่โรงงานในเยอรมนี จึงไม่ได้ร่วมงานเลี้ยงฉลองด้วย ยังบ่นเสียดายถึงทุกวันนี้

และหลังจากงานเลี้ยงที่ “นอร์มังดี กริลล์” ค่ำวันนั้นแล้ว ผมยังไม่มีโอกาสไป “กิน” อีกเลย เคยแต่ไปร่วมงานแต่งงานที่โรงแรมโอเรียนเต็ลแห่งนี้บ่อยครั้ง

อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นความตั้งใจของพวกเราตลอดมาคือ การจัดพิมพ์หนังสือเล่ม นิตยสาร ทั้งต้องการให้ “มติชน” มีหนังสือหลากหลาย ด้วยก่อนมี “มติชน” มีนิตยสารพาทีรายเดือน จากนั้นมีนิตยสาร “ดอกเบี้ย” เมื่อย้ายสำนักงาน รัฐกร อัสดรธีรยุทธ์ บรรณาธิการ ขอหัวหนังสือและแยกตัวจากขรรค์ชัยไปทำเอง