กาละแมร์ พัชรศรี : จุฬาฯ 100 ปี

ถ้าให้นึกถึงความภาคภูมิใจในชีวิต สิ่งหนึ่งที่ติดอันดับต้นๆ ในใจคือ “การได้เป็นนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”

เนื่องในครบรอบการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครบ 100 ปี และเพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งแรกของคนไทย

ในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ในโลกโซเชียลมีการโพสต์รูปสมัยวัยเรียนจุฬาฯ และล้อมกรอบ พร้อมติด tag #CU100 #จุฬา100ปี กันอย่างล้นหลามตั้งแต่รูปสมัยเรียนปี 1 รูปทำกิจกรรมกรรมจนไปถึงรูปรับปริญญา เป็นที่สนุกสนานและทำให้เรานึกย้อนไปถึงวันวาน 4 ปีที่ไม่เคยลืมเลือน

สำหรับฉันแล้ว การเพียรพยายามทำอะไรให้สำเร็จจนต้องจดจำ หนึ่งในนั้นคือการสอบเข้านิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ได้

เพราะอย่างที่รู้ๆ กัน สมัยนั้นนิเทศฯ คือที่สุดของแผนกศิลป์ คะแนนสอบเข้าสูง และอัตราการรับเมื่อเทียบกับจำนวนคนสอบเข้า หนึ่งต่อร้อยเห็นจะได้

ฉันยังจำวันที่ก้าวขาเข้ามาในรั้วมหาวิทยาลัยได้ มันตื่นเต้น หัวใจเต้นตึ้กตั้ก ทำตัวไม่ถูก เหมือนลูกนกที่เพิ่งเจอเพื่อนใหม่ กลัวๆ กล้าๆ เขาให้ไปทำอะไร มีกิจกรรมอะไรเราก็ไปทำหมด

การเป็นน้องใหม่หรือเฟรชชี่สำหรับเด็กนิเทศฯ จุฬาฯ แล้วถือว่าสนุกที่สุด ถ้าเป็นดาราต้องเรียกว่าคิวแน่นทุกวัน กิจกรรมเอี้ยดตั้งแต่เช้ายันดึก

กลับบ้านนอนพร้อมทั้งชุดนิสิตเป็นเรื่องปรกติไม่ใช่แค่ฉันค่ะ เพื่อนๆ ก็เป็น

นอกจากจะมีกิจกรรมในคณะซึ่งมากมายไม่เว้นวัน รับน้องจากรุ่นพี่ปี 2, 3, 4 รวมไปถึงพี่บัณฑิต ละครคณะ กีฬาคณะ เชียร์คณะ เรายังต้องไปผูกสัมพันธ์กับคณะอื่นๆ ในจุฬาฯ ด้วย วันนี้ไปสถาปัตย์ พรุ่งนี้ไปศิลปกรรม อีกวันไปวิศวะ ไปเรื่อยๆ น่ะค่ะ

เวลาไปหาเขาไม่ใช่เดินไปแล้วไปทักทาย “สวัสดีจ้ะ” เจ๊าะแจ๊ะแล้วจากไป มันไปเต้นใส่เขา ไปร้องเพลง ไปทำบ้าบอคอแตกใส่เขา คำว่า “อาย” ไม่มีในสารบบเด็กนิเทศฯ จุฬาฯ เป็นแน่แท้

ในมหาวิทยาลัยยังถือว่าเด็กๆ มันยังออกไปโน่นหน้าบันไดสยาม ซึ่งเมื่อก่อนถือเป็นแหล่งชุมนุมของเด็กวัยรุ่น มันไปเต้นกันตรงนั้น มันข้ามไปเกาะกลางถนน สี่แยกไฟแดง หน้ามาบุญครอง นี่ต้องด้านและบ้ามากถึงทำได้

หรืองานกีฬามหาวิทยาลัย ใครจะมีเชียร์ลีดเดอร์ที่สวยงามขนาดไหน แต่คณะนี้ก็มีลีดผีที่เชิดหน้าชูตา

นี่คือความภูมิใจของเราที่ได้เต้นต่อหน้าคนนับพันนับหมื่น

จุฬาฯ มีกิจกรรมให้เราทำมากมาย เพราะการทำกิจกรรมทำให้เรารู้จักการติดต่อสื่อสาร ทำงานกับคนอื่นๆ ทั้งผู้ใหญ่กว่าเรา เด็กกว่าเรา เพื่อนเรา

จุฬาฯ มีคนทุกฐานะความเป็นอยู่ จะรวยจะจนเราก็เรียนร่วมกัน ใช้ชีวิตด้วยกัน

จะให้เราไฮโซเข้าสังคม รู้กาลเทศะเราก็ทำได้ จะไปลำบากตรากตรำเราก็ฝึกฝนตนอยู่เสมอ

และที่สำคัญ จุฬาฯ สอนให้เรากตัญญูต่อแผ่นดินเสมอ

พวกเราตระหนักดีว่า เงินค่าเทอม ตึกเรียน สนามหญ้า อุปกรณ์การเรียนทั้งหลายนั้นมาจากภาษีของประชาชนทั้งสิ้น

ในรุ่นฉันนั้นค่าเทอมเพียงแค่ 3,000 บาท นั่นหมายความว่าที่เหลือคือเงินจากรัฐที่มาช่วยสนับสนุนเรา ซึ่งนั่นก็คือเงินภาษีจากประชาชนคนไทยที่ส่งเสียให้เราเรียน

เด็กจุฬาฯ จึงมีปณิธานที่แรงกล้าว่า “เกียรติภูมิจุฬาฯ คือเกียรติแห่งการรับใช้ประชาชน”

ในวันที่เราร้องเพลงมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะในวาระโอกาสใด เราจะขนลุก น้ำตาคลอ เพราะทุกเนื้อเพลง ท่วงทำนองมันเข้าไปในสายเลือด เข้าไปในจิตสำนึกของเรา และมันเป็นการตอกย้ำเราทุกครั้งว่า “เราจะไม่ลืม”

ระหว่างการเรียน ฉันเดินเข้าไปขอฝึกงานที่สถานีวิทยุจุฬาฯ เพื่อเพิ่มเติมประสบการณ์ในสิ่งที่เรียนและสนใจ จะมีอะไรดีไปกว่าการได้ลงมือทำและปฏิบัติของจริง แถมยังได้ค่าขนมไว้จ่ายค่าเทอมและมีเงินเก็บเป็นของตัวเองตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ฉันได้ติดต่อประสานงานกับนักการเมือง ข้าราชการ ครูอาจารย์ ผู้บริหาร รู้จักการพูดคุยกับผู้ใหญ่ มารยาท การต่อรอง การรอคอยและความอดทน

ฉันได้ออกไปทำข่าว รายงานข่าวกลับมาที่สถานีวิทยุจุฬาฯ ได้นั่งหาข้อมูลให้พี่ๆ ไว้จัดรายการ

ฉันจำได้ว่าที่วิทยุจุฬาฯ เปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองของฉันทีเดียว พี่ๆ ทุกคนน่ารัก ให้ความเมตตา สอนงานฉันเป็นอย่างดี ทำให้ฉันมีวิชาติดตัวมาจนถึงวันนี้

ตราบจนชีวิตจะหาไม่ เพลงมหาจุฬาลงกรณ์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงประพันธ์ทำนอง และท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา ร่วมกับ นายสุภร ผลชีวิน แต่งคำร้อง จะดังกึกก้องในใจและเป็นแสงนำทางในการดำเนินชีวิตฉันตลอดไป…

“น้ำใจน้องพี่สีชมพู ทุกคนไม่รู้ลืมบูชา พระคุณของแหล่งเรียนมา จุฬาลงกรณ์ ขอทูนขอเทิดพระนามไท พระองค์แนบไว้นิรันดร ขอองค์พระเอื้ออาทร หลั่งพรคุ้มครอง นิสิตพร้อมหน้า สัญญาประคอง ความดีทุกอย่างต่างปองผยองพระเกียรติเกริกไกร ขอนามพระเกี้ยวยั่งยืนยง นิสิตประสงค์เป็นธงไชย ถาวรยศอยู่คู่ไทย เชิดชัย ชโย…”