ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 10 - 16 เมษายน 2563 |
---|---|
คอลัมน์ | แมลงวันในไร่ส้ม |
เผยแพร่ |
แมลงวันในไร่ส้ม
เคอร์ฟิวสกัด ‘โควิด-19’
ส่องผลกระทบ ‘สื่อ’
ต่อรองขอรายงานข่าว
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ธุรกิจหลายอย่างต้องยุติไป บางแห่งปิดกิจการ หลายแห่งเริ่มลดเงินเดือนพนักงาน หรือมีมาตรการให้หยุดงานโดยไม่จ่ายค่าจ้าง
กิจการสื่อเกือบทุกแห่งรับผลกระทบ เพราะเมื่อธุรกิจต่างๆ หยุดไป การลงโฆษณาสินค้าต่างๆ จึงพลอยยุติไปด้วย
มีกระแสข่าวว่า ในเดือนเมษายนจะมีการยุติการออกหนังสือพิมพ์รายวัน 1 ฉบับ และมีการปรับเปลี่ยนในสื่อค่ายเดียวกับหนังสือพิมพ์รายวันที่จะหยุดตัวเองไปด้วย
ในช่วงต้นของการระบาด Business Today Thai รายสัปดาห์ได้ประกาศ “พัก” การออกจำหน่าย
ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 27 มีนาคม เพจ Business Today Thai ได้โพสต์ข้อความว่า ด้วยช่องทางการจัดจำหน่ายที่ถูกปิด และเงื่อนไขการทำงานที่ทุกๆ คนต้องปรับตัว ทำให้ต้อง “พัก” การตีพิมพ์ Business Today เป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน
แม้ส่วนสิ่งพิมพ์ต้องพัก แต่ส่วนอื่นๆ ยังคงทำงานอย่างขะมักเขม้น และเตรียมพบกับ Content ในรูปแบบใหม่ๆ และแตกต่างของ Business Today ต่อไป
นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ผู้บริหารบิสซิเนส ทูเดย์ ได้โพสต์ลงในเฟซบุ๊ก Adisak Limparungpatanakij ว่า เศร้าใจอย่างที่สุด หนังสือพิมพ์ธุรกิจรายสัปดาห์ Business Today ฉบับที่ 30 วางร้านซีเอ็ดและร้านนายอินทร์เฉพาะในจังหวัดใหญ่ๆ ที่ไม่ได้ถูก Lockdown ที่เหลืออยู่ไม่กี่จังหวัด
ตอนเช้าวันเสาร์ที่ 28 มีนาคม เป็นฉบับสุดท้าย #พักหลบไวรัสcovid19 #Socialdistancing เว้นระยะห่างทางสังคมไปอย่างน้อย 3 เดือน
นั่นคือผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสื่อ ถึงขั้นที่ต้องยุติหรือพักการผลิตเพื่อออกจำหน่ายไป
ส่วนสื่อที่ยังดำเนินการต่อไป คือ หนังสือพิมพ์รายวันที่ยังเหลืออยู่จำนวนหนึ่ง กับสื่อที่หันไปเน้นการเสนอข่าวทางออนไลน์
แต่การทำงานก็ไม่ได้ราบรื่น เพราะการเข้าพื้นที่ต่างๆ เพื่อทำข่าว เป็นความเสี่ยงสำหรับผู้สื่อข่าวและช่างภาพ
ดังที่มีข่าวว่า พบเจ้าหน้าที่ติดเชื้อโควิด ซึ่งได้เข้าไปปฏิบัติงานในทำเนียบรัฐบาล ทำให้ผู้สื่อข่าวหลายสำนัก ต้องไปกักตัวเอง 14 วัน
หรือก่อนหน้านั้น มีข่าวตำรวจติดเชื้อที่ สน.ตลิ่งชัน หรือแม้แต่ข่าวดาราดังที่ไปทำหน้าที่ในสนามมวยลุมพินี และต่อมาไปบันทึกรายการที่ช่อง 3 ก็ทำให้ต้องนำผู้สื่อข่าว ช่างภาพ เข้าสู่มาตรการกักตัวเอง 14 วันมาแล้วเช่นกัน
และล่าสุดคือ การประกาศเคอร์ฟิวระหว่าง 22.00-04.00 น. ที่เริ่มต้นเมื่อ 3 เมษายนที่ผ่านมา ก็เป็นอีกข้อจำกัดที่เกิดขึ้น
แม้ว่าทางรัฐบาลผ่อนปรนให้คนทำงานสื่อกลับบ้านเกินเวลาที่กำหนดได้ โดยมีหนังสือรับรองของบรรณาธิการ แต่ก็ไม่ได้อนุญาตให้ทำข่าว
ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวต่อรองจากองค์กรสื่อบางแห่ง
สําหรับการจำกัดมิให้สื่อทำข่าว 22.00-04.00 น. เริ่มต้นจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มีผลตั้งแต่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา โดยรัฐบาลได้ออกข้อกำหนดฉบับที่ 1 ออกมาพร้อมกัน
และต่อมาวันที่ 3 เมษายน ได้มีการออกข้อกำหนดฉบับที่ 2 ระบุห้ามออกนอกเคหสถาน ระหว่างเวลา 22.00-04.00 น. หรือเคอร์ฟิว ซึ่งหมายถึงการห้ามออกจากบ้าน
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้แถลงข่าวเมื่อวันที่ 3 เมษายน ชี้แจงว่า การประกาศเคอร์ฟิวไม่ได้หมายถึงการปิดประเทศ
เพราะการปิดประเทศหมายถึงต้องปิดสนามบินไม่ให้มีการบินขึ้น-ลง แต่ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่ได้ปิดประเทศในความหมายนั้น แต่ได้เข้มงวดและเคร่งครัด กรณีคนไทยอยู่นอกประเทศยังสามารถกลับเข้าสู่ประเทศไทยได้เพราะเป็นสิทธิตามกฎหมาย
และอนุญาตให้กลุ่มคนไทยบางกลุ่มที่กำลังจะเดินทางเข้าประเทศไทยอยู่แล้ว ดังนั้น สนามบินจะปิดไม่ได้ เช่น คนไทยจากสหรัฐอเมริกา มาเลเซีย อินโดนีเซีย ยุโรป ซึ่งเป็นนักเรียนไทยที่ไปเรียนช่วงสั้นๆ ที่จำเป็นต้องกลับมาหลายร้อยคน แต่ก็ต้องเจอมาตรการกับการคุมตัวเพื่อสังเกตอาการ 14 วัน
ส่วนกรณีเคอร์ฟิว ห้ามบุคคลทุกคนทั่วราชอาณาจักรออกนอกเคหสถานในเวลาที่กำหนด ตั้งแต่สี่ทุ่มจนถึงตีสี่ของวันรุ่งขึ้น รวม 6 ชั่วโมง
แต่ถ้ามาตรการนี้ยังมีผู้ฝ่าฝืน ยังไม่ได้ผลหรือพิสูจน์ว่าดีและเป็นการป้องกันว่าดีก็จะประเมินเหตุการณ์วันต่อวัน อาจจะขยับขึ้นเป็น 8 ชั่วโมงหรือ 10 ชั่วโมงต่อไปก็ได้
นายวิษณุระบุว่า ข้อกำหนดเคอร์ฟิว มีข้อยกเว้น 2 ประเภท คือ หนึ่ง ผู้ที่มีภารกิจหรือปฏิบัติหน้าที่ด้านการแพทย์ หมายถึง คนไข้ คนเจ็บ คนป่วย หมอ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ คลินิก โรงพยาบาล
สอง กลุ่มผู้ที่มีอาชีพหรือมีหน้าที่ที่จะต้องทำการขนส่งสินค้า อุปโภคบริโภค รวมถึงการขนส่งหนังสือพิมพ์ที่จะต้องส่งไปยังภาคต่างๆ ในเวลากลางคืน อนุญาตให้ทำได้
ทุกคนจะต้องมีเอกสาร เช่น บัตรประจำตัวประชาชน เอกสารแสดงว่าเป็นรถที่มารับคนโดยสาร รับสินค้า ขนส่ง หนังสือพิมพ์ ต้องมีหนังสือรับรองจากบริษัทนั้นๆ ซึ่งบรรณาธิการสามารถออกหนังสือให้ได้ และขอให้ถ่ายเอกสารเก็บไว้ เผื่อเจ้าหน้าที่จะขอยึดไว้ตรวจสอบภายหลัง หรือถ่ายเก็บไว้ในโทรศัพท์มือถือ เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า สื่อมวลชนสามารถออกไปทำข่าวในช่วงเวลาเคอร์ฟิวได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ได้เด็ดขาด เว้นแต่จะขออนุญาตเฉพาะราย
และต่อมาวันที่ 6 เมษายน สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย หรือเอฟซีซีที (FCCT) ซึ่งมีเกว็น โรบินสัน เป็นประธาน ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เสนอให้รัฐบาลอนุญาตให้สื่อมวลชนปฏิบัติงานในช่วงเคอร์ฟิวได้ เนื่องจากเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน
เนื้อหาของหนังสือระบุว่า ทางองค์กรเชื่อว่าทั้งสื่อไทยและสื่อต่างชาติที่ประจำในประเทศไทย มีหน้าที่รายงานสถานการณ์ในช่วงวิกฤตครั้งนี้ให้ทั่วโลกได้รับทราบและเข้าใจ
ทางองค์กรได้รับทราบถึงเหตุผลที่รัฐบาลจำเป็นประกาศเคอร์ฟิวเพื่อหยุดการระบาดของโรคโควิด-19 แต่ขณะเดียวกัน องค์กรเห็นว่ารัฐบาลควรอนุญาตให้สื่อมวลชนสามารถปฏิบัติงานได้ภายใต้สถานการณ์เคอร์ฟิวด้วย
เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงสามารถตรวจสอบและระบุตัวตนผู้สื่อข่าวได้ด้วยการขอดูบัตรผู้สื่อข่าวที่ออกโดยกรมประชาสัมพันธ์
ยังไม่มีคำตอบจากทางรัฐบาลว่า ได้พิจารณาผ่อนปรนข้อเสนอจากเอฟซีซีที อย่างไรหรือไม่