เศรษฐกิจ / ‘ครม.’ ใจป้ำอัด 1.9 ล้านล้าน อุ้มไทยฝ่าวิกฤตโควิด-19 เอกชนโวยรัฐจ่ายยาไม่ถูกโรค

เศรษฐกิจ

 

‘ครม.’ ใจป้ำอัด 1.9 ล้านล้าน

อุ้มไทยฝ่าวิกฤตโควิด-19

เอกชนโวยรัฐจ่ายยาไม่ถูกโรค

 

ผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) 7 เมษายน เห็นชอบมาตรการดูแลและเยียวยาโควิด-19 ระยะที่ 3 วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท ถือเป็นวงเงินดูแลเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา

แผนดำเนินงานแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจ 1 ล้านล้านบาท

แบ่งเป็น วงเงิน 6 แสนล้านบาทนำไปใช้ในแผนงานด้านสาธารณสุขและแผนงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ เช่น เยียวยาประชาชน 6 เดือน เยียวยาเกษตรกร ดูแลด้านสาธารณสุข

ส่วนวงเงินอีก 4 แสนล้านบาทนำไปใช้ในแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม เช่น สนับสนุนและสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจชุมชน สนับสนุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระดับพื้นที่

ส่วนที่เหลืออีก 9 แสนล้านบาทนั้น ได้มีการออก พ.ร.ก. 2 ฉบับ เพื่อให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกซอฟต์โลน ดูแลภาคธุรกิจวงเงิน 5 แสนล้านบาท และ พ.ร.ก.ดูแลเสถียรภาพภาคการเงิน 4 แสนล้านบาท

จากมติ ครม.ที่ออกมา มีมาตรการดูแลภาคธุรกิจ คือ ซอฟต์โลนจาก ธปท. 5 แสนล้านบาท ปล่อยกู้ในกลุ่มธุรกิจที่มีเงินกู้คงค้างไม่เกิน 500 ล้านบาทไม่ต้องชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน

นอกจากนี้ ครม.ยังขอให้แบงก์พาณิชย์และแบงก์รัฐพักชำระหนี้เดิมทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้เอสเอ็มอีที่มีวงเงินสินเชื้อไม่เกิน 100 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน

 

ในช่วงวิกฤตโควิด-19 รัฐพยายามออกมาตรการดูแลภาคธุรกิจมาตลอด โดยมาตรการดูแลและเยียวยาเศรษฐกิจชุดแรก เฉพาะที่ดูแลภาคธุรกิจ มีทั้งเสริมสภาพคล่อง คือ เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) 1.5 แสนล้านบาท ให้เอสเอ็มอีกู้สูงสุด 20 ล้านบาท ส่วนสำนักงานประกันสังคมจัดสรรวงเงินมาให้ 3 หมื่นล้านบาท มีข้อแม้คือผู้กู้ต้องรักษาการจ้างงาน

รวมถึงมาตรการพักชำระต้นเงินและดอกเบี้ย ล่าสุดแบงก์รัฐประกาศพักหนี้ 3 เดือน นอกจากนี้ กรมสรรพากรลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย เหลือ 1.5% จาก 3% เป็นเวลา 6 เดือน

ส่วนมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจในชุดที่ 2 อัดสินเชื่อช่วยเอสเอ็มอีภาคท่องเที่ยว 1 หมื่นล้านบาท ให้บริษัทเอกชนเลื่อนเวลาการชำระภาษี

อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หวังว่ามาตรการทั้งหมดจะทำให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ ช่วยรักษาการจ้างงานไว้

 

มาตรการรัฐที่ออกมาดูเหมือนจะยังไม่สอดคล้องกับความต้องการเอกชนมากนัก

สายการบินในไทยประกาศหยุดบินเป็นเวลา 1-2 เดือน เรียกร้องอยากได้ซอฟต์โลนมาเสริมสภาพคล่องเหมือนธุรกิจอื่นๆ ซึ่งธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) ยื่นหนังสือต่อกระทรวงการคลังเพื่อขอซอฟต์โลน 1.6 หมื่นล้านบาทไปแล้ว

ดังนั้น คงต้องตามดูว่าซอฟต์โลน 5 แสนล้านบาทของ ธปท.จะจัดสรรวงเงินมาช่วยสายการบินเป็นการเฉพาะหรือไม่

แม้ก่อนหน้านี้กระทรวงการคลังปรับลดภาษีน้ำมันเครื่องบินให้ธุรกิจการบิน แต่เมื่อธุรกิจการบินต้องหยุดบิน ภาษีที่ลดให้ก็ไร้ประโยชน์

ส่วนภาคท่องเที่ยวเป็นกลุ่มได้รับผลกระทบหนักที่สุด โดยเฉพาะในธุรกิจโรงแรมปิดกิจการไปแล้วกว่า 80%

ศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) ระบุว่า ขอให้ภาครัฐประกาศปิดโรงแรมทั่วประเทศชั่วคราว 1 เดือน เพื่อให้พนักงานใช้สิทธิประกันสังคม นอกจากนี้ อยากได้เงินเสริมสภาพคล่อง และขอให้ ธปท.ขยายหลักเกณฑ์ค้ำประกันให้สามารถนำหลักทรัพย์เดิมที่ค้ำประกันเงินกู้ไว้อยู่แล้ว มาขอสินเชื่อใหม่ได้ เช่น เคยกู้ 100 ล้านบาท ผ่อนจ่ายไปแล้วเหลือ 80 ล้านบาท สามารถใช้หลักทรัพย์เดิมค้ำขอสินเชื่ออีก 20 ล้านบาท

ด้านชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า ขอให้ภาครัฐช่วยผู้ประกอบการและแรงงานที่ปิดกิจการชั่วคราว ในลักษณะเดียวกับกรณีที่รัฐบาลสั่งปิด เพราะภาคท่องเที่ยวมีแรงงานกว่า 4 ล้านคน กำลังได้รับผลกระทบจากการว่างงาน หากภาครัฐไม่ช่วย ผู้ประกอบการภาคท่องเที่ยวทั้งหมดจะหยุดจ่าย ทั้งประกันสังคม, ภาษีทุกประเภท, เงินผ่อน, ดอกเบี้ย, ค่าน้ำ, ค่าไฟ และรายจ่ายต่างๆ ที่เป็นของหน่วยงานรัฐ

เหตุต้องหยุดจ่ายเพราะผู้ประกอบการไม่มีเงิน เนื่องจากได้รับผลกระทบมานานเกือบ 3 เดือนแล้ว กลุ่มเอสเอ็มอีที่เป็นกลุ่มธุรกิจเปราะบางที่สุด สิ่งที่ต้องการ หนีไม่พ้นภาษีและสภาพคล่อง

 

ในเรื่องนี้ พรชัย รัตนตรัยภพ ประธานเครือข่ายผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ระบุว่า เอสเอ็มอีต้องการพักหนี้ทั้งดอกเบี้ยและเงินต้น อยากให้แบงก์พาณิชย์พักหนี้เหมือนแบงก์รัฐ หวังว่าหลัง ครม.มีมาตรการพักหนี้ 6 เดือน แบงก์พาณิชย์จะช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม ถ้าแบงก์พาณิชย์ยังไม่ช่วย อีกไม่กี่เดือนน่าจะเกิดปัญหาหนี้เสียในกลุ่มเอสเอ็มอี กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลต้องตามแก้ไขภายหลัง

นอกจากนี้ ยังต้องการสภาพคล่อง แม้รัฐบาลมีซอฟต์โลน แต่เงินยังไม่ถึงเอสเอ็มอีรายเล็ก เพราะแบงก์ไม่กล้าปล่อยกู้ให้ในกลุ่มผิดนัดชำระหนี้แม้จะยังไม่เป็นหนี้เสียก็ตาม และแบงก์ไม่กล้าปล่อยให้บริษัทรายได้ลดลง ซึ่งในสถานการณ์แบบนี้คงไม่มีบริษัทไหนรายได้ดี

ดังนั้น รัฐต้องผ่อนปรนเงื่อนการกู้เงิน เพื่อให้เงินถึงมือเอสเอ็มอี รวมถึงกำหนดวงเงินช่วยเป็นพิเศษ เช่น ไม่เกิน 3 ล้านบาท ถ้ากำหนด 20 ล้านบาทหรือ 500 ล้านบาท รายใหญ่หรือบริษัทลูกในเครือบริษัทใหญ่จะได้เงินไปเกือบทั้งหมด เงินจะไม่ตกถึงมือเอสเอ็มอีอีก

 

ด้านผู้ประกอบการเอสเอ็มอี พิชญะ แย้มมีศรี กรรมการบริหาร บริษัท เซลโลกรีตไทย จำกัด เอสเอ็มอีผู้ผลิตแผ่นเส้นใยไม้ซีเมนต์อัดลดความร้อนในอาคาร กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลปรับลดภาษีช่วยเอสเอ็มอี ขอแนะนำในเรื่องภาษีการบริจาคช่วยโควิด-19 รัฐบาลควรจูงใจให้นำมาลดหย่อนภาษีให้มากขึ้น เอกชนบางรายพร้อมจะบริจาค แต่เมื่อคำนวณออกมาเป็นเม็ดเงินที่รัฐคืนให้แล้วไม่คุ้ม ทำให้บริจาคน้อยกว่าที่ตั้งใจไว้

ส่วนธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) ต้องการให้หยุดเชื้อไวรัสโดยเร็ว เพราะขณะนี้มีโรงงานต่างๆ ที่ยังไม่อยากปิด ผลิตสินค้าเก็บไว้เต็มโกดัง แต่ขายไม่ได้ ถ้าผลิตมาแล้วยังขายไม่ได้ในอีก 2-3 เดือนต่อไปคงต้องหยุดการผลิต กระทบต่อแรงงานและลูกจ้างตกงานเพิ่มขึ้น จากขณะนี้ตัวเลขว่างงานสูงขึ้น 6.5 ล้านคน เทียบกับช่วงปกติตัวเลขว่างงานในระดับ 4-5 แสนคน

ถ้าโรงงานปิดและบริษัทเจ๊งมากขึ้น ตัวเลขตกงานจะสูงกว่านี้

 

ส่วนธุรกิจรายใหญ่ยังไม่ได้รับผลกระทบเพราะยังมีสายป่านยาวเงินทุนหนา แต่ก็ยังไม่คลายใจกับสถานการณ์ขณะนี้

วิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) กังวลว่าปัญหาไวรัสโควิด-19 สร้างผลกระทบต่อภาคธุรกิจ เพราะไม่รู้ว่าจุดจบอยู่ตรงไหน

สิ่งที่เอกชนรายใหญ่อยากเห็นหลังจบปัญหาไวรัสคือ เพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน เพื่อดึงเงินลงทุนให้กลับมา นอกจากนี้ปัญหาการเมืองควรต้องจบด้วย ถ้าการเมืองกลับมาร้อนแรงเหมือนช่วงก่อนเกิดไวรัส ยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจ

ด้านเอกชนภาคอสังหาริมทรัพย์ เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ต้องการให้ควบคุมโควิด-19 ไม่ให้ลุกลาม เพื่อไม่ให้อดตายกันทั้งประเทศ เพราะถ้าอดตายเป็นวงกว้าง เกิดปัญหาลามไปกลุ่มธนาคาร หรือปัญหาลามไปยังกลุ่มธุรกิจอื่นๆ จะยิ่งทำให้แย่กันไปใหญ่

ในปีนี้ภาคอสังหาริมทรัพย์น่าจะแย่กว่าปีที่ผ่านมา เพราะโควิด-19 คนไม่ออกจากบ้านมาดูโครงการ ทำให้ปิดการขายใหม่ไม่ได้

 

รัฐออกมาตรการมา 3 ชุดนับรวมกันหลายสิบมาตรการ ยังมีเสียงสะท้อนจากเอกชนว่ายังไม่ตรงจุด ความช่วยเหลือยังไปไม่ถึงมือ

หลังประชุม ครม.ล่าสุด นายกฯ แถลงว่า พร้อมรับฟังและแก้ไข หลังจากนี้คงต้องดูว่าฝ่ายปฏิบัติจะรับสนองแค่ไหน ถ้ายังปล่อยให้เป็นแบบเดิมๆ อาจได้เห็นตัวเลขจีดีพีของไทยในปีนี้ลงเหว ติดลบมากกว่าลบ 10%

            คงใช้เงินอีกหลายล้านล้านบาทเพื่อดึงให้พ้นก้นเหว ก็ไม่รู้ตอนนั้นรัฐจะยังมีเงินไหม