ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 10 - 16 เมษายน 2563 |
---|---|
คอลัมน์ | รายงานพิเศษ |
เผยแพร่ |
รายงานพิเศษ
จาก ม.44 ถึง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และเคอร์ฟิว
ปฏิวัติซ่อนรูป – ‘บิ๊กตู่’ ยึดอำนาจ?
ทหารพรึบ! ทั่วเมือง จับตาบทบาท ‘บิ๊กป๊อก’
สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ COVID-19 ถูกยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ
และถูกเรียกว่าเป็นการทำสงครามกับข้าศึกที่มองไม่เห็น
“บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เป็นนายกรัฐมนตรี ที่เป็นทหารเก่า และยังควบเก้าอี้ รมว.กลาโหม คุมความมั่นคงเองทั้งหมด ประกาศตัวเองเป็น “แม่ทัพ” นำสู้ศึกครั้งนี้
จึงกุมบังเหียน ด้วยการประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 เพื่อรวบอำนาจ รวมศูนย์อำนาจ ที่นายกฯ คนเดียวในการทำศึกครั้งนี้
ด้วยการนั่งเป็นประธานศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ด้วยตนเอง
จากเดิมที่เคยเรียก ศอฉ.-ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ พล.อ.ประยุทธ์ก็เปลี่ยนใหม่ ไม่เรียก ศอฉ. เพราะไม่อยากให้ย้อนถึง ศอฉ.ในยุครัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ที่ตั้ง บก.ศอฉ. ที่ ร.11 รอ. บัญชาการกระชับพื้นที่คนเสื้อแดง ปี 2552-2553 ที่คนเสื้อแดงตายกันระนาว
อันเป็นยุคที่พี่น้อง 3 ป. อยู่ในอำนาจกันพร้อมหน้า บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่ เป็น รมว.กลาโหม บิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็น ผบ.ทบ. ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเสธ.ทบ. และรอง ผบ.ทบ.
พล.อ.ประยุทธ์จึงไม่อยากใช้คำว่า ศอฉ. หรือที่มีคำว่าฉุกเฉิน เพราะไม่ใช่สถานการณ์ทางการเมือง การจลาจล หรือปฏิวัติรัฐประหาร
จึงมาตั้งเป็น ศบค. นั่งเป็นประธานเอง และรวบอำนาจจาก รมต.ทุกกระทรวง จากกฎหมายที่มีอยู่ 38 ฉบับ
ทั้งนี้ เพื่อความเป็นเอกภาพในการสั่งการแบบ Single Command
แต่ก็ถูกมองว่า นี่เป็นเสมือนการยึดอำนาจอีกครั้งของ พล.อ.ประยุทธ์
ทว่าเป็นปฏิวัติซ่อนรูป รัฐประหารซ่อนพราง ในยุครัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และมีนายกฯ ที่เคยเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารมาก่อน และเคยเป็นนายกฯ ในรัฐบาลทหารมากว่า 5 ปี
ในยุค คสช. พล.อ.ประยุทธ์มีอำนาจมาตรา 44 ของหัวหน้า คสช.ในมือ
มาตอนนี้ ในยุคโควิด พล.อ.ประยุทธ์ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และรวบอำนาจมาไว้คนเดียว
จึงถูกมองว่าเป็นการรัฐประหารด้วยการยึดอำนาจในคณะรัฐมนตรีทั้งหมด
รวมทั้งยึดไมโครโฟน ห้ามไม่ให้มีการให้สัมภาษณ์ นอกจากตัวนายกฯ เอง และโฆษก ศบค. รวมทั้งคนที่ได้รับมอบหมาย แบบที่นายกฯ เรียกว่า ใช้ Single Voice
อีกทั้งโดยสถานการณ์การแพร่ระบาดที่เข้ามาถึงในทำเนียบรัฐบาล ก็เป็นใจให้สื่อและทำเนียบตกลงมาตรการในการงดสื่อมาทำข่าวใกล้ๆ นายกฯ หรือ รมต. โดยให้ฟังแถลงข่าวผ่านไลฟ์สด เฟซบุ๊ก และมี press release ทางไลน์
ไม่ต้องมีนักข่าวมาจ่อไมค์รุมล้อมสัมภาษณ์ให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ไม่มีคำถามสดให้รำคาญใจเช่นแต่ก่อน มีแต่คำถามที่สื่อส่งผ่านสำนักโฆษก มาถึงนายกฯ แต่ก็อยู่ที่ว่า นายกฯ จะตอบหรือไม่
ทุกอย่างจึงอยู่ในคอนโทรลของ พล.อ.ประยุทธ์…ยกเว้นเชื้อโรค
ด้วยความที่เป็น รมว.กลาโหม และเป็นทหารเก่าด้วยแล้ว พล.อ.ประยุทธ์จึงใช้การบริหารแบบทหาร
ทั้งการตั้ง 10 ศูนย์ ที่ดูแลแก้ปัญหาด้านต่างๆ โดยมีปลัดกระทรวงต่างๆ เป็นหัวหน้าศูนย์
ที่สำคัญคือ การตั้งบิ๊กกบ พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผบ.ทหารสูงสุด เป็นหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง หรือ ศปม. คุมทั้งทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ และตำรวจ
โดยที่แต่ละเหล่าทัพก็ไปตั้ง “ศปม.” เหล่าทัพขึ้น ทั้ง ศปม.ทบ., ศปม.ทร.,ศปม.ทอ. และ ศปม.ตำรวจ ที่มีผู้บัญชาการเหล่าทัพเป็นหัวหน้า ศปม.แต่ละเหล่าทัพ
รวมทั้งตั้งศูนย์ตอบโต้และแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ EOC แต่ละเหล่าทัพ ที่มีเสนาธิการเหล่าทัพเป็น ผอ.ศูนย์ EOC แต่ละเหล่าทัพ เพื่อรับคำสั่งจาก พล.อ.พรพิพัฒน์หัวหน้า ศปม.
กล่าวกันว่า เหตุผลหนึ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ตั้งบิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ที่คุมกำลังทหารมากที่สุดในมือ
นอกจากเพราะเป็นไปตามสายการบังคับบัญชาแล้ว เพราะ พล.อ.พรพิพัฒน์เป็น ผบ.ทหารสูงสุด ที่คุม 3 เหล่าทัพอยู่แล้วนั้น
เป็นเพราะสถานะพิเศษของ พล.อ.อภิรัชต์ที่ยังเป็น ผบ.หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904 (ผบ.ฉก.ทม.รอ.904) เป็นนายทหารคอแดงอีกด้วย
แม้จะมีกระแสข่าวลือว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังเคืองๆ พล.อ.อภิรัชต์ จากกรณีที่สนามมวยลุมพินีของ ทบ.เป็นแหล่งแพร่เชื้อ ที่ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดพุ่งสูงอยู่
จากที่ก่อนหน้านั้นก็เกิดเหตุจ่าทหารยิงกราดที่โคราชอีกด้วย จนเกิดข่าวลือในเวลานั้นว่าจะปลด ผบ.ทบ.แล้วให้ พล.อ.พรพิพัฒน์รักษาการแทน
ในระยะหลังจึงเกิดความห่างเหินระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.อภิรัชต์
รวมถึงการเรียกตัวบิ๊กเล็ก พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รอง ผบ.ทบ. มาช่วยงานที่ ศบค. เพื่อเป็น Think Tank และประสานสั่งการในส่วนของ ทบ. และเหล่าทัพ
แต่ในช่วงที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น พล.อ.ประยุทธ์ได้หารือกับ พล.อ.อภิรัชต์ในเรื่องการใช้กำลังทหาร ที่เป็นไปตามขั้นตอน โดยขั้นแรกยังไม่ใช้ทหาร
เมื่อเตรียมประกาศเคอร์ฟิว ห้ามออกนอกเคหสถาน พล.อ.ประยุทธ์ได้หารือกับ พล.อ.อภิรัชต์เรื่องการเตรียมนำกำลังทหารออกมาช่วยตำรวจ ในฐานะผู้ช่วยเจ้าพนักงานตาม กม. โดยเริ่มจากสารวัตรทหารและทหารมณฑลทหารบกก่อน แล้วในขั้นสุดท้ายจึงจะใช้กำลังทหารหน่วยรบ ยกเว้นทหารคอแดงที่ขึ้นกับ ฉก.ทม.รอ.904
ที่ปัจจุบันมีการใช้กำลังทหารวันละมากกว่า 2,600 นาย โดยที่ พล.อ.อภิรัชต์สั่งตั้งวอร์รูมที่กรมยุทธการทหารบก คุมเรื่องการใช้กำลัง
ในช่วงสถานการณ์โควิดนี้ พล.อ.อภิรัชต์ประชุมศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก (ศปก.ทบ.) ด้วยตนเองในทุกๆ เช้า ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังทุกหน่วย ทบ.ทั่วประเทศ เพื่อกำชับและสั่งการด้วยตนเอง
ที่สำคัญ พล.อ.อภิรัชต์ให้ข้อคิดว่า การนำกำลังทหารออกปฏิบัติการในครั้งนี้ ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็จริง แต่แตกต่างจากในอดีต เพราะเป็นการสู้กับเชื้อโรคที่มองไม่เห็น
ไม่ใช่การนำกำลังทหารออกไปแก้ไขสถานการณ์ทางการเมืองหรือการจลาจลเช่นในอดีต
นี่จึงเป็นที่มาของการเรียกกำลังทหารที่ออกมาดูแลความสงบเรียบร้อยในช่วงนี้ว่า “กองร้อยช่วยเหลือประชาชน” ไม่ใช่กองร้อยรักษาความสงบเรียบร้อย หรือกองร้อย รส. เช่นที่เคย
กระนั้น ในห้วงที่ผ่านมา ก็ไม่มีภาพ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.อภิรัชต์ร่วมเฟรมกันออกสื่อ
จนวันที่ พล.อ.ประยุทธ์พร้อมผู้บัญชาการเหล่าทัพเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระที่นั่งอัมพรสถาน เมื่อ 6 เมษายน 2563
และเมื่อ พล.อ.อภิรัชต์ไปทำเนียบรัฐบาล เพื่อร่วม พล.อ.ประยุทธ์ในการต้อนรับเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยคนใหม่ ที่เข้าพบเพื่อแนะนำตัว
ท่ามกลางความแปลกใจว่า เพราะเหตุใดที่ พล.อ.อภิรัชต์ต้องไปร่วมวงสนทนาหารือด้วย และสวมสูท ไม่ได้สวมเครื่องแบบทหาร แต่ก็เป็นโอกาสที่จะได้หารือกันส่วนตัวหลังจากนั้น
หากแต่การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในครั้งนี้ ทำให้ฝ่ายนักการเมืองมองว่าเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมถึงความเคลื่อนไหวของนักการเมือง เพราะมีการห้ามชุมนุมห้ามทำกิจกรรม
จนถึงขั้นที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ และแกนนำคณะก้าวหน้า เปรียบเทียบว่าเป็นการรัฐประหารโควิด
เพราะในเวลานี้ มองไปทางไหนก็เจอแต่ทหาร และไม่ว่าเรื่องใดก็ใช้ทหารในการปฏิบัติ ตามสไตล์นายกรัฐมนตรีที่เคยเป็นทหาร
รวมทั้งการที่ พล.อ.พรพิพัฒน์ในฐานะหัวหน้า ศปม. ส่งทหารเข้าไปดูแลและบริหารจัดการที่สนามบินสุวรรณภูมิ
จากเดิมที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้มอบหมายให้บิ๊กช้าง พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ส่งทหารไปประสานงานและอำนวยความสะดวกที่ศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข (Emergency Operation Center) หรือที่เรียกว่า EOC สนามบินสุวรรณภูมิ
เดิม EOC สธ.สนามบินสุวรรณภูมินั้น พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม ได้ส่งนายทหารไปประจำ เพื่อประสานงานและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ และร่วมทำหน้าที่จุดคัดกรองโรค
แต่ได้ปรากฏความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและเจ้าหน้าที่การท่าฯ กับฝ่ายทหาร จนเคยเกิดกรณีที่ ผอ.การท่าอากาศยานสุวรรณภูมิลาออก และลูกสาวโพสต์เฟซบุ๊กแฉเรื่องที่เกิดขึ้น
ขณะที่ฝ่ายทหารก็ไม่แฮปปี้กับฝ่ายสาธารณสุข ที่ประสานงานยาก ยิ่งในเวลาที่ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ต้องตัดสินใจ มักไม่มีระดับผู้ใหญ่มาอยู่ จนฝ่ายทหารต้องแก้ปัญหามาตลอด
จนเกิดกรณีการประท้วงไม่ยอมเข้ากักตัวของคนไทย 158 คนที่กลับจากต่างประเทศ เมื่อ 3 เมษายนที่ผ่านมา จนเสธ.โก้ พล.ต.โกศล ชูใจ และ น.อ.วิเชียร ชัยคำ นายทหารที่รับผิดชอบด้านการจัดรถและอำนวยความสะดวกต้องมาทำหน้าที่เจรจา
แต่ก็ถูกลงโทษ เรียกตัวกลับ และตั้งคณะกรรมการสอบสวน จากการที่ปล่อยตัวคนไทยเหล่านั้นกลับไปกักตัวที่บ้าน ทั้งๆ เป็นคำสั่งตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ว่าต้องกักตัวทุกคนที่กลับจากต่างประเทศ
แม้นายทหารทั้ง 2 นายจะให้ปากคำว่า โทรศัพท์ประสานงานกับผู้ใหญ่ใน EOC สนามบินสุวรรณภูมิ ที่ได้ตัดสินใจให้ปล่อยตัวกลับบ้านได้
แต่ปรากฏว่าเรื่องนี้ไม่มีผลสะเทือนใดๆ ถึง EOC สธ. หรือแม้แต่กระทรวงสาธารณสุข
จน พล.อ.พรพิพัฒน์มองว่า มีความผิดพลาดบกพร่องในหลายจุดในการบริหารจัดการ
จึงตั้งบิ๊กเบิร์ด พล.อ.ปริพัฒน์ ผลาสินธุ์ รองเสนาธิการทหาร เข้ากำกับดูแลการบังคับใช้ข้อกำหนดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ ศูนย์ EOC สธ.สุวรรณภูมิ และดอนเมือง เพื่อชี้แจงข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง รวดเร็ว พร้อมทั้งทำหน้าที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารที่ผ่านการคัดกรองและจำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการควบคุมโรคตามมาตรการของรัฐที่กำหนด (State Quarantine) เพื่อนำเข้าพื้นที่ควบคุมโรค ตามที่นายกฯ สั่งการว่า ต้องกักตัวทุกคน
และมอบหมายให้บิ๊กไก่ พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม รองเสนาธิการทหาร เป็นผู้รับผิดชอบในการติดตามตัวผู้โดยสารที่เดินทางกลับประเทศไทยและไม่ยินยอมเข้าสู่กระบวนการ State Quarantine มากักตัว ที่ในขณะนั้นออกประกาศให้คนไทย 158 คนมารายงานตัว จนในที่สุดก็มารายงานตัวครบทุกคน
จนถูกมองว่าเป็นการยึดอำนาจที่สนามบินสุวรรณภูมิ โดยส่งทหารเข้ายึดทั้งหมด
โดยเฉพาะ พล.อ.ปริพัฒน์และทีมนายทหาร บก.ทัพไทย ที่มาดูแลที่สนามบิน พร้อมทั้งทีม Negotiator ที่มาดูแลพูดคุยกับคนไทย ตั้งแต่ออกจากประตูเครื่องบิน
เรียกได้ว่า พล.อ.พรพิพัฒน์ทำงานเป็นทีม เพราะในฐานะหัว ศปม. ก็ยกทีมนายทหาร บก.ทัพไทยมาช่วยยกทีม นอกเหนือจากทีมนายทหารม้าที่อยู่ใน บก.กองทัพไทย
ทั้งบิ๊กแก้ว พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ เสนาธิการทหาร ที่คาดหมายกันว่าจะเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดคนต่อไปในเดือนตุลาคมนี้ แทน พล.อ.พรพิพัฒน์
และ พล.อ.สุพจน์ นายทหารม้า นักรบเหรียญรามา ที่เติบโตจากภาคเหนือ เตรียมทหารรุ่น 22 แต่เกษียณ 2566 พร้อม พล.อ.เฉลิมพล จึงไม่มีโอกาสลุ้นที่จะเป็น ผบ.ทหารสูงสุด พล.อ.พรพิพัฒน์ให้มาเล่นบทบู๊ในครั้งนี้
นอกจากนี้ ยังมี บิ๊กแอ๊ด พล.อ.ศิราวุฒิ วงศ์ขันตี หัวหน้าคณะนายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำ ผบ.ทหารสูงสุด
ไม่แค่นั้น พล.อ.ประยุทธ์ใช้กลไกของ กอ.รมน. ในการตรวจสอบการแก้ปัญหา ทั้งการดูแลความสงบเรียบร้อยในช่วงประกาศเคอร์ฟิว และการส่งรอง ผอ.รมน.จังหวัด หรือผู้ว่าฯ ฝ่ายทหาร ตรวจสอบยอดการแจกจ่ายหน้ากากอนามัยจากรัฐบาลไปตามโรงพยาบาลต่างๆ ป้องกันการตกหล่นและการทุจริต
ท่ามกลางกระแสข่าวสะพัดถึงการเมืองในช่วงปลายปีนี้และต้นปีหน้า เมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลายลง
พล.อ.ประยุทธ์จะยังคงเป็นนายกฯ ต่อได้หรือไม่ จะมีการปรับ ครม. และยุบสภาหรือไม่
เพราะการบริหารประเทศหลังยุคโควิดที่เต็มไปด้วยหนี้จากเงินกู้ และเศรษฐกิจที่พังยับเยิน ไม่ใช่เรื่องง่าย และดูเหมือนจะไม่มีใครอยากมาเป็นรัฐบาล หรือเป็นนายกรัฐมนตรี
พล.อ.ประยุทธ์จึงเป็นทางเลือกเดียวที่เหลืออยู่ในเวลานี้ในการแก้ปัญหาประเทศต่อเนื่องไป
แม้จะมีชื่อของนายกรัฐมนตรีสำรองถูกพูดถึงขึ้นมา ทั้งนายบัณฑูร ล่ำซำ นักธุรกิจการธนาคารชื่อดัง
และ พล.อ.อนุพงษ์ พี่รองแห่งพี่น้อง 3 ป.บูรพาพยัคฆ์ ที่มีบทบาทอยู่เบื้องหลัง พล.อ.ประยุทธ์มายาวนานตั้งแต่อยู่ในกองทัพจนปัจจุบัน
โดยเฉพาะตอนนี้มีบทบาทในการบัญชาการมหาดไทยและจังหวัดต่างๆ ในการออกมาตรการต่างๆ ในระดับพื้นที่และแต่ละจังหวัด
แล้วรู้กันดีว่า พล.อ.อนุพงษ์เป็นพี่ชายที่ทำหน้าที่กระซิบข้างหูแนะนำเรื่องต่างๆ ให้ พล.อ.ประยุทธ์มาโดยตลอด เรียกได้ว่าเป็นฝ่ายบุ๋น เป็นฝ่ายช่วยคิดมาตลอดจนทุกวันนี้
ที่สำคัญเป็นรัฐมนตรีที่ พล.อ.ประยุทธ์เกรงใจที่สุด เป็นพี่ชายที่ไว้วางใจ เพราะร่วมทุกข์ร่วมสุข ผ่านวิกฤตกันมาตั้งแต่เป็นนายทหารเสือฯ เด็กๆ
แต่ก่อนหน้านี้ พล.อ.อนุพงษ์พูดเสมอว่า ในชีวิตนี้ไม่เคยคิดอยากจะเป็นนายกรัฐมนตรีเลย
เพราะสไตล์ของ พล.อ.อนุพงษ์ชอบที่จะเป็นฝ่ายบุ๋น อยู่เบื้องหลังมากกว่าที่จะตกเป็นเป้าในเบื้องหน้า
หากไม่มีสถานการณ์พิเศษใดๆ
และหากถามใจ พล.อ.ประยุทธ์ ก็เชื่อว่าพร้อมที่จะสู้ต่อ ไม่ว่าจะ 4 ปีแรกนี้ และในอีก 4 ปีข้างหน้า
แม้โควิดจะทำให้ซวนเซและบอบช้ำหนักหนาสาหัสไม่น้อย
แต่หากผ่านวิกฤตนี้ไปได้ ก็จะเป็นการพิสูจน์การเป็นผู้นำในยามวิกฤตได้ แม้จะผ่านไปได้แบบบอบช้ำหนักก็ตามที