กรองกระแส / ข่าวลือ ข่าวปล่อย สัญญาณในทางการเมือง ก่อนเปลี่ยนแปลง

กรองกระแส

 

ข่าวลือ ข่าวปล่อย

สัญญาณในทางการเมือง

ก่อนเปลี่ยนแปลง

 

ข่าวลือที่ว่า “นายธนาคาร” คนหนึ่งจะเป็น “ตัวเลือกใหม่” ในทางการเมือง ปรากฏขึ้นจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของธนาคารเก่าแก่ธนาคารหนึ่งของประเทศ

เหมือนกับเป็นเรื่องธรรมดาอย่างปกติยิ่งของสังคมไทย

เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยมีข่าวลือว่าจะมีคนสำคัญในแวดวง “ตุลาการ” จะมีคนสำคัญในแวดวง “ทหาร” จะมีคนสำคัญจาก “องคมนตรี” เข้ามาในฐานะเป็น “ตัวเลือกใหม่” ในทางการเมือง

ไม่ว่าจะก่อนหรือภายหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562

จึงอาจมิได้เป็นเรื่องแปลกที่ “ข่าวลือ” ในลักษณาการเดียวกันนี้จะปะทุขึ้นและขยายตัวอย่างกว้างขวางในท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส

การทำความเข้าใจต่อ “ข่าวลือ” จึงมีความสำคัญ

 

รากฐานข่าวลือ

มาจากภายใน

 

ต้องยอมรับว่า เส้นทางของข่าวลือมิได้มาจาก “ภายนอก” อันหมายถึงกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงกันข้าม หากแต่มาจาก “ภายใน” อันเป็นกลุ่มการเมืองเดียวกันหรือใกล้ชิดกับที่กุมอำนาจ

ไม่ว่าจะเป็นประเภท “ป้าอุ๊” ไม่ว่าจะเป็นประเภท “ลุงเสรี”

แม้จะรู้อยู่เป็นอย่างดีว่า แนวโน้มและความเป็นไปได้ยากลำบากอย่างยิ่ง เนื่องจากกฎกติกาที่วางเอาไว้ผ่านรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ได้สร้างข้อจำกัดขึ้น

นั่นก็คือ สงวนอำนาจไว้แต่เฉพาะในกลุ่ม “รัฐประหาร” เท่านั้น

ที่น่าสนใจก็คือ เมื่อประสบเข้ากับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส ภาวะเร่งเร้าให้มีการเปลี่ยนตัวเลือกในทางการเมือง ยิ่งเกิดขึ้นอย่างเร่งรัดและรวดเร็ว

สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาจาก “ภายใน” รุนแรง ล้ำลึกยิ่ง

 

ปัญหาการเมือง

ปัญหาของไวรัส

 

สังคมประเทศไทยติดหล่มปัญหาความขัดแย้ง แตกแยกในทางความคิด ในทางการเมืองมาตั้งแต่ก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 และต่อเนื่องมายังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

เป็นปัญหาที่ไม่ว่าจะวางกฎกติกาอย่างไรก็ไม่สามารถบริหารจัดการได้

เห็นได้จากการเลือกตั้งที่พ่ายแพ้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเมื่อเดือนธันวาคม 2550 ไม่ว่าจะเป็นเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 หรือแม้กระทั่งเมื่อเดือนมีนาคม 2562

ชัยชนะที่ได้มาก็ชัยชนะบนพื้นฐานของ “อภินิหาร” แห่งกฎหมาย

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ “ตัวเลือก” ทางการเมืองไม่ว่าหลังรัฐประหาร 2549 ไม่ว่าหลังรัฐประหาร 2557 ล้วนก่อให้เกิดการเสียของ ประสบความล้มเหลวในทางเศรษฐกิจ ในทางการเมือง

เมื่อมาถึงปัญหา “ไวรัส” ยิ่งไม่สามารถสร้าง “ความเชื่อมั่น”

 

ข่าวลือ ตัวเลือกใหม่

ปัญหาจากภายใน

 

ปรากฏการณ์ของ “ข่าวลือ” จึงสะท้อนปัญหาที่ดำรงอยู่โดยที่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ไม่สามารถให้คำตอบได้จึงนำไปสู่ความเรียกร้องต้องการ “ใหม่”

นั่นก็คือ ความเรียกร้องต้องการในการเสาะหา “ตัวเลือก”

ยิ่งเมื่อเผชิญเข้ากับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสซึ่งจะส่งผลสะเทือนอย่างล้ำลึก กว้างขวาง ในทางเศรษฐกิจ ยิ่งทำให้มีความจำเป็นต้องหา “ตัวเลือก” ใหม่ในทางการเมือง

เพราะว่าผลงานหลังรัฐประหารก็เห็นอย่างเด่นชัดว่าเป็นอย่างไร

ความเด่นชัดในที่นี้เป็นปัญหาของผลงาน เพราะหากมีผลงานอย่างยอดเยี่ยมคงไม่ประสบความพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้งจนต้องใช้ “อภินิหาร” ทางกฎหมายมาช่วงชิงและสร้างโอกาส

เป็นปัญหาในเรื่องเศรษฐกิจ เป็นปัญหาในเรื่องการเมือง

ทีมทางเศรษฐกิจที่เดินแนวทาง “ประชารัฐ” ไม่สามารถสร้างความมั่นใจ ไม่สามารถสร้างผลงาน จึงยิ่งทำให้หมดความมั่นใจเมื่อปะทะเข้ากับแรงสะเทือนจากไวรัส

เพราะในเมื่อ 5 ปีแทบไม่มีความหวัง แล้วปีต่อไปจะปลุกความหวังได้อย่างไร

 

ความหวังอนาคต

เป้าอยู่ที่เศรษฐกิจ

 

เหตุใดเป้าหมายของ “ข่าวลือ” จึงอยู่ที่ “นายธนาคาร” เพราะมองเห็นว่า มีแต่นายธนาคารซึ่งประสบผลสำเร็จในการบริหารจึงจะสามารถรับมือกับกระแสคลื่นในทางเศรษฐกิจได้

บทเรียนรัฐประหาร 2549 บทเรียนรัฐประหาร 2557 นับว่าเด่นชัด

เด่นชัดว่าการใช้บริการของ “ทหาร” มิได้เป็นคำตอบ เพราะหากประสบผลสำเร็จหลังรัฐประหารปี 2549 คงไม่ต้องมีรัฐประหารปี 2557

และหากหลังรัฐประหารปี 2557 ประสบผลสำเร็จคงไม่ปรากฏ “ข่าวลือ”

เป็น “ข่าวลือ” จากภายในคนที่เคยเป็นกองเชียร์ของรัฐประหารมาก่อน ไม่ว่าจะเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าจะเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

บทเรียนที่ผ่านมา ข่าวลือในลักษณะนี้มักจะปรากฏเป็นจริงเสมอ

ไม่ว่าจะก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าจะก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ก็จะเป็นเช่นนี้

            นี่คือเสียงเตือนในทางการเมือง นี่คือสัญญาณในทางการเมือง