หลังเลนส์ในดงลึก / ปริญญากร วรวรรณ/’เสี้ยว’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
กระทิง - กระทิงฝูงนี้กำลังรื่นรมย์อยู่ในโป่งเทียม เป็นโป่งที่คนทำขึ้นเพื่อเป็นแหล่งอาหารให้สัตว์ป่า

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

‘เสี้ยว’

ผมมาถึงป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก ในเดือนมกราคม สิ่งที่สะดุดตาและทำให้ต้องแหงนหน้าขึ้นมองนานๆ คือต้นไม้ยืนต้นไร้ใบ มีเพียงก้านและดอกสีขาวบานสะพรั่งเต็ม ทุกกิ่ง

ดอกสีขาวกลิ่นหอมอ่อนๆ เชิญชวนนกนานาชนิดบินเข้ามาส่งเสียงจ๊อกแจ๊ก

นกกินปลี นกปลีกล้วย นกปรอด รวมทั้งนกแซงแซว เมื่อรวมกับต้นทองหลางที่กำลังออกดอกสีแดง

ดูเหมือนว่า รอบๆ สำนักงานเขต กำลังมีงานเลี้ยง ดอกสีขาวสะพรั่ง นั่นคือดอกเสี้ยว

งานเลี้ยงที่นกได้อาหาร ต้นไม้ได้ผู้นำพาเกสรไปผสม ไม่เฉพาะนก

กระรอก กระเล็น พวกสัตว์ฟันแทะเหล่านี้ย่อมไม่พลาดงานเลี้ยงนี้เช่นกัน

 

หลังผ่านฤดูฝนในป่าทุ่งใหญ่ด้านตะวันตกไป 3 ครั้ง ผมย้ายที่ทำงานมาอยู่ทางฝั่งตะวันออก

ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรเนื้อที่กว่า 2 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดตาก จึงถูกแบ่งการบริหารจัดการออกเป็นสองฝั่ง ด้านตะวันตกอยู่จังหวัดกาญจนบุรี ส่วนด้านตะวันออกอยู่กับจังหวัดตาก

จากฝั่งตะวันตก มาฝั่งตะวันออก แม้จะเป็นผืนป่าเดียวกัน เดินมาได้ แต่สันเขาสูงชันที่กั้นขวาง ทำให้ใช้เวลาหลายวัน ผ่านสภาพป่าอันสมบูรณ์ตอนกลางๆ ของป่าแห่งนี้ที่พื้นที่ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นเทือกเขาสูง และป่าดิบรกทึบ

กระนั้นก็เถอะ ในช่วงฤดูแล้งหลังไฟไหม้ทุ่งหญ้าใจกลางผืนป่า กลายเป็นทุ่งระบัด บริเวณนั้นเปรียบได้คล้ายเป็น “แดนสวรรค์” ของสัตว์ป่า

แดนสวรรค์ที่อาจกลายเป็นแดนสังหารได้ ความยากลำบากในการเข้าถึง ไม่ได้ทำให้คนรับจ้างล่าสัตว์ เพื่อเอาอวัยวะอย่างเขา หรือหนัง ย่อท้อ

คนรับจ้างฆ่าสัตว์ มุ่งหน้ามาคล้ายเป็นเรื่องธรรมดา คนรู้ดีเสมอว่า สินค้าที่ต้องการอยู่ที่ใด

กระทิงรวมฝูง ฝูงละไม่ต่ำกว่า 30 ตัว และแน่นอนว่า เมื่อมีสัตว์กินพืชมาชุมนุม สัตว์ผู้ล่าก็ถือเป็นหน้าที่ต้องมาวนเวียน

ท่ามกลางความอุดมสมบูรณ์ ความตายเกิดขึ้นบ่อยๆ

ทว่าการตายเพราะคมเขี้ยวของสัตว์ผู้ล่า นี่ย่อมไม่นับเป็นโศกนาฏกรรมแต่อย่างใด

 

หลังไฟไหม้ หน่วยพิทักษ์ป่าเงียบเหงา มีคนเฝ้าหน่วย 2 คน ชุดลาดตระเวนทั้งหมดไม่หยุดพัก พวกเขาจัดชุดเดินลาดตระเวนและเฝ้าตามจุดที่คนล่าสัตว์จะผ่านเข้า-ออก

การล่าสัตว์ พัฒนาไปไกล อวัยวะสัตว์ป่ามีมูลค่าสูง

ชุดลาดตระเวนก็ผ่านการฝึกฝนและพัฒนาไปไกลเช่นกัน

เฝ้าระวัง ลาดตระเวนอย่างเอาจริง คล้ายจะปกป้องชีวิตกระทิง หรือเสือโคร่งไว้ไม่ได้ทุกตัวหรอก

แต่มันทำให้ชีวิตสัตว์ป่าจำนวนมากได้ดำเนินไปตามวิถีที่ควรจะเป็น…

 

จากเมืองอุ้มผาง ระยะทางราว 60 กิโลเมตร ผมถึงสำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก ที่นี่มีชื่อว่า “กะแง่คี”

“คี” ภาษาถิ่นชาวกะเหรี่ยง หมายถึงต้นน้ำ

กะแง่คี เคยเป็นหมู่บ้านใหญ่ แต่ได้รับการโยกย้ายคนออกไปอยู่ด้านนอก

“เราย้ายคนออกไปหลายหมู่บ้านครับ เพราะป่าแห่งนี้ถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางของป่าด้านตะวันตก ถ้าให้ป่านี้กลับมาเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าได้อีก ผืนป่าด้านตะวันตกจะต่อเนื่องกันเป็นผืนยาวเลยครับ” สมโภชน์ มณีรัตน์ ในฐานะโฆษกกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชเล่าให้ฟัง

เขาทำหน้าที่หัวหน้าเขตทุ่งใหญ่ด้านตะวันออกคนแรก

“ตอนนั้นยังหนุ่มครับ” เขาพูดยิ้มๆ

งานอพยพคนออกมาไม่ง่ายดาย

“ผมรู้ครับว่า คนที่โดนให้ออกมา ขมขื่นแค่ไหน ผมเองก็เสียใจไม่น้อยกว่าหรอก” เขาบอกความในใจ

งานของเขาประสบผลสำเร็จ ผ่านไปกว่า 20 ปี ป่าฟื้นคืนสภาพ พื้นที่ซึ่งเคยโดนตัดฟันต้นไม้ เพื่อปลูกข้าว ปลูกขิง ถึงวันนี้ คือทุ่งหญ้าอันเป็นอาหารสัตว์ป่า

ผืนป่าที่ถูกทำลาย หากคิดว่าพื้นที่นั้น เหล่าสัตว์ป่าควรได้ใช้ประโยชน์ด้วย

คนช่วยได้ ด้วยการจัดการที่ดี อย่างเหมาะสม ที่นั่นกลายเป็นแหล่งอาศัยอันสมบูรณ์ของสัตว์ป่าได้

 

การเดินลาดตระเวนเชิงคุณภาพ มีข้อมูลการพบเจอสัตว์ป่ามาก ไม่ใช่เดินไปเรื่อยๆ แทบทุกตารางเมตร พวกเขาจะตรวจสอบหาร่องรอย ปัจจัยคุกคามอย่างละเอียด บันทึก จดพิกัด และนำมาเสนอในที่ประชุมเพื่อการตัดสินใจของหัวหน้า ในการที่จะเพิ่มความเข้มข้นบริเวณที่มีปัจจัยคุกคามมาก

ในเดือนมกราคม ผมไปที่หน่วยพิทักษ์ป่าที่อยู่ใกล้กับป่าดิบเขา สูงจากระดับน้ำทะเล 1,200 เมตร

จากกะแง่คี มีระยะทางราว 50 กิโลเมตร

นอกจากเป็นป่าผืนเดียวกัน ความเหมือนกันของป่าทุ่งใหญ่ 2 ฝั่ง คือ เส้นทางสัญจรระหว่างหน่วยพิทักษ์ป่า

ผมหวังว่าในช่วงแล้งๆ อย่างนี้ เจ้านิค พาหนะที่ใช้งานมา 3 ฤดูฝน ในฝั่งตะวันตก ย้ายมาฝั่งตะวันออก ด้วยตัวถังยับยู่ยี่ จะพบกับความสบายขึ้น

หน่วยน้ำเขียวต้อนรับผมด้วยความสะพรั่งของดอกเสี้ยว และอุณหภูมิ 7 องศาเซลเซียสในตอนเช้า…

 

ที่นี่ผมทำงานกับพิชิตและม่อเตหน่วย

วันแรกพวกเขาพาผมเดินดูรอบๆ เราเพิ่งพบกัน แต่ผมรู้ว่า เราต่างไม่ใช่คนแปลกหน้า ไม่ว่าจะอยู่ฝั่งตะวันตก หรือฝั่งตะวันออก ผมรู้ว่าเราไม่ต่างกัน

ม่อเตหน่วย ทำให้ผมนึกถึงอดิเทพ สำเนียงการพูดไทยแบบไม่แข็งแรง

 

เกือบแปดโมงเช้าแล้ว อุณหภูมิยังต่ำ แดดอ่อนๆ ไม่ช่วยให้อุ่นขึ้น

“กินข้าวกันก่อนครับเดี๋ยวค่อยไปป่า วันนี้ห่อไป เย็นเรากลับมานอนที่นี่” พิชิตบอก

“มีแกงส้มปลากระป๋องกับดอกเสี้ยว”

ผมมองดอกเสี้ยวกลิ่นหอมอ่อนๆ นกกินปลีบินโฉบไป-มา

ที่นี่ดอกเสี้ยวไม่เพียงเป็นดอกไม้ที่มีความงดงาม

แต่มันคืออาหาร

 

กว่า 20 ปีก่อน ผมมาที่นี่ครั้งแรก และเป็นครั้งแรกเช่นกันที่ผมเห็นความงามสะพรั่งของดอกเสี้ยว

วันนี้ผมรู้ว่า ดอกเสี้ยวแกงส้มกับปลากระป๋องรสชาติดี

ผมไม่รู้หรอกว่า จะต้องใช้เวลาเรียนอีกนานเท่าใด

เพราะที่ผ่านมา กับป่า ผมคิดว่าผมเพิ่งรู้จักเพียง “เสี้ยว” เดียว…