มนัส สัตยารักษ์ | ไวรัสจัดระเบียบเมือง

ซีรี่ส์จดหมายเหตุ สีจิ้นผิง กำกับ

เป็นบทสรุปการต่อสู้ของจีนกับโคโรนาไวรัส สงครามประชาชนครั้งนี้เริ่มแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ ในชื่อเรื่อง “นักรบเสื้อขาว”

สีจิ้นผิงเน้นคุณค่าและความสำคัญของบุคลากรทางการแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ ให้ความสำคัญกับปัญหาอุปกรณ์ที่ไม่เพียงพอ มีมาตรการในการรวบรวมผู้ป่วย ผู้เชี่ยวชาญ ทรัพยากรและการรักษาผู้ป่วย

รัฐบาลดูแลบุคลากรทางการแพทย์เป็นพิเศษ โดยเฉพาะพวกที่อยู่ในแนวหน้า เพราะพวกเขาเสียสละ

“พวกคุณถือได้ว่าเป็นวีรชนและมีความใจกว้าง” สีจิ้นผิงกล่าวในซีรี่ส์ “พวกคุณแต่ละคนสวมชุดป้องกันและใส่หน้ากาก ผมจึงมองไม่เห็นหน้าตาของพวกคุณ แต่ในใจของผม พวกคุณเป็นคนที่น่ารักที่สุด ขอแสดงความนับถือด้วยใจจริง”

วันที่ 10 มีนาคม โรงพยาบาลชั่วคราวที่อู่ฮั่น 14 แห่งได้ปิดตัวลง

มีบุคลากรทางการแพทย์เป็นแสนกว่าคนมาช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยที่อู่ฮั่นซึ่งมีมากกว่า 3 หมื่นคน หายป่วยและออกจากโรงพยาบาลแล้ว

“พวกคุณเป็นทูตมาจากสวรรค์” สีจิ้นผิง สรุป

วันที่ 10 มีนาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะประธาน “ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)” เรียกประชุม “อาจารย์หมอ” ราว 10 ท่าน พอตกเย็นวันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ก็ออกมาแถลงข่าวด้วยใบหน้าซีดเซียวและอาการทรุดโทรม ผิดกับทุกครั้งก่อนหน้านี้ที่กราดเกรี้ยวพร้อมจะออกแรงกับใครก็ได้

ทำท่าเหมือนกับเพิ่งรู้ตัวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลเดินผิดทาง ไม่ได้ต่อสู้กับวิกฤตโควิด-19 แม้แต่น้อย หากต่อสู้กับวิกฤตการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว

มาตรการ “เลี้ยง” ธุรกิจท่องเที่ยว จึงได้ผลเท่ากับเลี้ยงไวรัสให้แพร่ขยายการระบาดออกไปนั่นเอง

และเป็นเหตุให้จังหวัดบุรีรัมย์ อุทัยธานี รวมทั้งกรุงเทพมหานคร หรือ กทม. “ทะลุกลางปล้อง” ประกาศมาตรการเข้มข้นของตนเองเพื่อต่อต้านการระบาดของไวรัส

เกือบทุกประเทศทั่วโลกต่างใช้มาตรการต่อต้านและต่อสู้แตกต่างกันตามสภาวะ ตามความเชื่อและตามขีดความสามารถของตน

ที่ประเทศอังกฤษ นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบาย “ตัวใครตัวมัน” แบบสมัยโบราณ นั่นคือให้คนสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเองตามธรรมชาติ

บังเอิญช่วงเวลานั้นมีภาพผู้เข้าชมคอนเสิร์ตเป็นพันอย่างไม่แคร์การระบาดของไวรัส ทำให้เราค่อนข้างเข้าใจความ “ใจดำ” ของนายจอห์นสัน

แต่พระราชินีเอลิซาเบธไม่เห็นด้วยและท้วงติง นายจอห์สันจึงเปลี่ยนนโยบาย ออกคำสั่งห้ามประชาชนออกจากบ้าน ปิดผับ บาร์ คลับ ร้านอาหาร โรงหนัง ยิมและสถานบันเทิงต่างๆ โดยจะจ่ายค่าชดเชยให้พนักงานทุกคน 80% ของค่าจ้างปกติ

ที่อิตาลี รัฐบาลเริ่มตื่นตัวตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม มีคำแนะนำให้งดกิจกรรมรวมกลุ่ม พอถึงวันที่ 30 เริ่มระงับเที่ยวบินจากจีน วันที่ 23 กุมภาพันธ์ สั่ง “ปิดเมือง” แต่เอาไม่อยู่

นักการเมืองกังวลเรื่องเศรษฐกิจมากกว่า ผู้ว่าราชการเมืองมิลานประกาศ “เปิด” สถานที่ท่องเที่ยวตามปกติ รวมทั้งผับ บาร์ และคลับ

วันที่ 27 เดือนเดียวกัน รัฐมนตรีต่างประเทศแถลงว่า “การสื่อสารมากมายหลายทาง มีข้อมูลที่มากและบิดเบือน นำไปสู่ความสับสนของประชาชน”

ไทยเราก็มีสภาพมิต่างกับ 2 ประเทศข้างต้นนี้เท่าใดนัก

ประเทศไทย…หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ออกทีวีในลักษณะ “โทรม” ให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันในสื่อต่างๆ แล้วก็เงียบไป

วันที่ 22 มีนาคม พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการ กทม. โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อฯ กทม. ได้ประกาศ “แนวทางการควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19”

แนวทางทั้ง 7 ประการที่ผู้ว่าฯ ประกาศเป็นการ “ขอความร่วมมือ” ทั้งสิ้น เช่น ไม่เดินทางออกนอกพื้นที่ กทม. เก็บตัวอยู่ในที่พักอาศัย อยู่ห่างกันไม่น้อยกว่า 2-3 เมตร การใช้หน้ากากอนามัย การจัดจุดล้างมือด้วยเจล ฯลฯ และสุดท้าย ขอความร่วมมือขนส่งมวลชนลดความแออัดของผู้โดยสาร

ทั้งหมดเป็นมาตรการทางสาธารณสุข กระทบต่อธุรกิจและวิถีชีวิตประจำวันของคนใน กทม.ค่อนข้างมาก

โฆษกรัฐบาลออกมาแถลงว่า ข่าวการประกาศของผู้ว่าฯ กทม. เป็นข่าวปลอม ผู้ว่าฯ กทม.ต้องออกมาแถลงรายละเอียดของประกาศอีกรอบ รอบนี้ดูจะเข้มข้นกว่าเก่า

วันที่ 24 มีนาคม 14.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี แถลงข่าวด่วนว่าจะประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในวันที่ 26 แต่แล้วก็เลื่อนมาประกาศในวันที่ 25 มีนาคม

เนื้อหาของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้รัฐบาลมีอำนาจตามสถานการณ์ 2 ระดับ คือฉุกเฉินทั่วไปกับฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง รัฐบาลมีอำนาจอย่าง ศอฉ. (ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน) สามารถออกคำสั่งเรียกบุคคลมารายงานตัว ห้ามออกนอกราชอาณาจักร สามารถยึด อายัด รื้อถอน ทำลายซึ่งอาคาร ฯลฯ

มาตรการใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หลักๆ เป็นมาตรการทางความมั่นคงมากกว่าการสาธารณสุข

คราวนี้บุคลิกภาพของ พล.อ.ประยุทธ์ขณะแถลงข่าว “เนี้ยบ” ราวกับกลับไปเป็นหัวหน้า คสช. อันเป็นบทที่ชอบและถนัดอีกครั้งหนึ่ง

มาตรการของผู้ว่าฯ กทม. ที่ขอความร่วมมือ “ไม่เดินทางออกนอกพื้นที่ กทม.” ด้วยเหตุผลทางสาธารณสุข 3 ประการนั้น ปรากฏผลกลับเป็นตรงกันข้าม

เป็นเหตุให้สื่อบางรายวิพากษ์วิจารณ์รุนแรงว่าทำให้ไวรัสระบาดมากกว่าที่ควรจะเป็น

แต่ถ้าเรามองในอีกแง่มุมหนึ่งกลับเป็นตรงข้าม

ประการแรก เป็นการเปิดเผยความป่วยไข้ของผู้ติดเชื้อที่พยายามปกปิด อีกประการหนึ่งคือ เป็นการ “กระจายความรับผิดชอบ” เราจะเห็นว่าในบางจังหวัด เช่น ลำปาง ผู้ว่าราชการท่านเอาจริง ลำปางจึงเป็นจังหวัดหนึ่งที่ปลอดจากโควิด-19

ข่าวบางกระแสกล่าวว่า คนที่ออกจาก กทม.หนนี้ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยมุมมองที่ดี จะเห็นว่าเรามีโอกาสแก้ปัญหาแรงงานของเราเอง ปัญหาคนว่างงาน และปัญหา “ประชากรแฝง” ที่ทิ่มแทงตำรวจนครบาลอยู่

ได้เวลาที่เราจะคำนึงถึงปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” เสียที

วิกฤตไวรัสครั้งนี้ อาจจะทำให้เราได้จัดระเบียบเมืองเสียใหม่

หากมองด้วยสายตาของสีจิ้นผิง เราจะเห็นคุณค่าและความสำคัญของบุคลากรทางการแพทย์และนักวิทยาศาสตร์มากกว่านักการเมืองบางคนที่เงินเดือนแสน-สองแสนอีกด้วย