คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง / วิมลเกียรตินิทเทสสูตร : เมื่อพระโพธิสัตว์ไปเยี่ยมเพื่อนพระโพธิสัตว์ที่ป่วย

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

เนื่องด้วยบรรยากาศที่ยังมีความหดหู่ ความกังวลกลัว และความไม่แน่ใจอะไรเลยท่ามกลางการระบาดของไวรัสโคโรนา ผมเองก็ต้องเปลี่ยนวิถีชีวิต ทำให้เบื่อหน่ายและกังวลกลัวไม่แพ้คนอื่นๆ เลย

ในเวลานี้ เพื่อนรักเจ้าเก่าวิจักขณ์ พานิช เตือนว่า ให้มองว่าความเจ็บป่วยครั้งนี้เป็นของ “ทุกคน” ไม่มีใครจะรอดพ้นไปได้ด้วยตัวคนเดียวแล้ว

ดังนั้น หากจะรอดจากวิกฤตครั้งนี้ ก็ควรจะรอดไปด้วยกัน ซึ่งนี่ก็คือทัศนะแบบเดียวกับทัศนะของ “มหายาน” นั่นเอง

ครูบาอาจารย์หลายท่านสอนว่า ให้ใช้เวลาที่วิกฤตแปรเปลี่ยนไปสู่ช่วงเวลาแห่งการปฏิบัติให้ได้ หรืออย่างน้อยๆ ก็ช่วยแปรเปลี่ยนญานทัศนะของเราให้แหลมคม และให้คุณลักษณะที่สำคัญ เช่น ความกรุณาเพิ่มพูนขึ้น

ด้วยเหตุนี้ วันนี้ผมจะขอลดความเกรี้ยวกราดลง แล้วหยิบเอาธรรมจากพระสูตรฝ่ายมหายานที่เข้ากับช่วงเวลานี้มาฝากท่านผู้อ่าน เพื่อจะได้เป็นกำลังใจให้กัน

แต่ทั้งนี้ สิ่งอันพึงถามผมก็ว่ายังควรถามอยู่ เช่น ตกลงเวชภัณฑ์และหน้ากากที่ต่างประเทศส่งมาให้เราอยู่ที่ไหน ดำเนินการอย่างไร และเหตุใดถึงมีผู้แจ้งว่า หน้ากากยี่ห้อของเราไปปรากฏอยู่ในต่างประเทศ เป็นต้น

 

วันนี้จะขอยกเรื่องราวจากพระสูตรฝ่ายมหายาน คือ “วิมลเกียรตินิทเทสสูตร” เพราะมีเรื่องราวเกี่ยวกับความเจ็บป่วย และมีข้ออรรถข้อธรรมที่เหมาะสม

ที่จริงผมมีความตั้งใจจะพูดถึงพระสูตรนี้นานแล้ว เพียงแต่ยังไม่สบโอกาส มาบัดนี้เหมือนบังเอิญ เพราะมีผู้รู้จักกันในเฟซบุ๊กเขียนถึงพระสูตรนี้พอดี จึงระลึกขึ้นมาได้

พระสูตรนี้เป็นพระสูตรฝ่ายมหายาน ไม่ปรากฏในพระไตรปิฎกฝ่ายเถรวาท แต่ท่านอาจารย์เสถียร โพธินันทะ ให้ข้อสังเกตว่า เรื่องเศรษฐี “วิมลเกียรติ” ซึ่งเป็นตัวละครสำคัญในพระสูตรนี้มีความคล้ายคลึง “จิตตคฤหบดี” ในพระสูตรฝ่ายเถรวาท

ต้นฉบับพระสูตรในภาษาสันสกฤตได้หายสาบสูญไปแล้ว มีเพียงที่เหลือในภาษาจีนและภาษาทิเบต โดยฉบับภาษาจีนนั้นมีหลายสำนวน แต่ที่ได้รับการยกย่องในเชิงวรรณศิลป์คือฉบับแปลของท่านกุมารชีพ

วิมลเกียรตินิทเทสสูตรได้รับการแปลสู่ภาษาไทยอย่างไพเราะงดงาม โดยท่านอาจารย์เสถียร โพธินันทะ ในปี พ.ศ.2506 ครบทุกบริเฉจ (บท) พิมพ์โดยมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ปัจจุบันยังสามารถหาซื้อในร้านของมหามกุฏฯ หรือมหาจุฬาฯ ได้อยู่

 

พระสูตรนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นพระสูตรที่แสดงคำสอนฝ่ายมหายานไว้อย่างลึกซึ้งครบถ้วน อีกทั้งมีแนวดำเนินเรื่องที่น่าสนใจ แต่ผู้ที่เคร่งครัดมติหรือท่าทีแบบเถรวาทอาจไม่ชอบใจพระสูตรนี้นัก อาจารย์บางท่านเล่าให้ผมฟังว่า เกิดดราม่าขึ้นทีเดียวเมื่อมีการตีพิมพ์พระสูตรนี้ขึ้น

เหตุที่ดราม่าก็เพราะพระสูตรนี้ยกย่องฆราวาสไว้มาก ฆราวาสมีปัญญายิ่งกว่าพระอรหันต์สาวกทั้งหลาย มีปัญญายิ่งกว่าเอตทัคคะด้านปัญญาเช่นพระสารีบุตรเสียอีก มีอีกหลายพระสูตรที่ท่านพระสารีบุตรถูกท้าทาย ถ้าจะตีความคือพระสารีบุตรเป็นตัวแทนปัญญาแบบเถรวาท คือปัญญาที่เน้นเหตุผลตรรกะ หรือความแม่นยำชัดเจนในอรรถข้อธรรม ส่วนปัญญาแบบมหายานนั้น ต้องมาจากความเข้าใจในศูนยตาและผสานกับกรุณาได้

เนื้อความโดยรวมจึงกล่าวถึงการเข้าใจในศูนยตา การละทิ้งข้อเข้มงวดที่เป็นไปแต่ในเชิงรูปแบบ อุดมการณ์โพธิสัตว์แบบมหายาน การให้เกียรติฆราวาสและสตรีว่าไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าพุทธสาวกนักบวช

เรื่องเริ่มต้นจาก มีเศรษฐีผู้หนึ่งชื่อวิมลเกียรติ ท่านผู้นี้มีคุณธรรมสูงส่ง มีความเข้าใจในธรรมอันลึกซึ้งไพศาล แต่แสดงตนอย่างคนธรรมดา

วันหนึ่งวิมลเกียรติป่วยนอนอยู่กับบ้าน ผู้คนทราบข่าวจึงมาเยี่ยม วิมลเกียรติแสดงธรรมว่าด้วยการป่วย และส่งข่าวไปยังพระพุทธะว่าน่าจะส่งใครมาเยี่ยมหน่อย

พระพุทธะถามสาวกคนไหนก็ไม่มีใครกล้าไปเยี่ยม ด้วยละอายว่าเคยถูกวิมลเกียรติ “แสดงธรรมย้อน” ในเรื่องที่ท่านนั้นๆ ต่างได้ถูกยกย่องว่าเป็นเอก

สุดท้ายโพธิสัตว์มัญชุศรียอมไป ซึ่งก็ไปพร้อมพระสาวกทั้งหลาย

เมื่อเหล่าพุทธสาวกมาถึง วิมลเกียรติจึงได้แสดงธรรม ตอบข้อซักถาม แสดงฤทธาภินิหารต่างๆ ตลอดจนแสดงให้เห็นโลกธาตุและพุทธเกษตรอื่นๆ

ผมจะขอยกเนื้อความบางส่วนของพระสูตรนี้จากฉบับแปลของท่านอาจารย์เสถียร โพธินันทะ (แปลและเรียบเรียงจากฉบับแปลของพระกุมารชีพในพากย์จีนโดยเสถียร โพธินันทะ พระนคร : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2506) โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับความเจ็บป่วยมาฝากครับ

 

สมัยหนึ่ง ท่านวิมลเกียรติสำแดงตนว่าบังเกิดอาพาธ ด้วยอุบายนี้จึงเป็นเหตุให้บรรดาราชา อำมาตย์ สมณพราหมณ์ คฤหบดีและชาวชนจำนวนหลายพันเป็นอเนก ต่างพากันมาเยี่ยมเยือนถามอาการไข้ถึงคฤหาสน์ ท่านจึงถือโอกาสที่คนเหล่านี้มาเยี่ยมแสดงธรรมว่า

“ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย อันสรีรกายนี้ไม่แท้เที่ยง ปราศจากความกล้าแข็ง ปราศจากพลัง ปราศจากแก่นสาร เป็นสภาพมีอันเสื่อมโทรมโดยรวดเร็ว ไม่เป็นที่ไว้วางใจได้ สรีรกายนี้เป็นทุกข์ เป็นที่เดือดร้อน เป็นที่ประชุมของโรค ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย สรีรกายดั่งนี้แล บัณฑิตผู้มีปัญญาย่อมไม่หลงใหลเพลิดเพลิน สรีระนี้อุปมาดั่งฟองน้ำ จักลูบคลำมิได้ สรีระนี้อุปมาดั่งต่อมน้ำ เพราะไม่สามารถตั้งมั่นได้นาน สรีระนี้อุปมาดั่งพยับแดด ฯลฯ”

ท่านวิมลเกียรติได้กล่าวถึงโทษแห่งสรีระไว้เป็นอเนกประการแล้ว จึงกล่าวสรุปว่า

“ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย สรีรกายนี้น่าเบื่อหน่ายเห็นปานฉะนี้ เพราะเหตุนั้นแล ท่านทั้งหลายพึงยินดีในพระพุทธสรีระ ข้อนั้นเพราะเหตุดังฤๅ? ก็เพราะว่า อันพระพุทธสรีรกายนั้น คือพระธรรมกายนั่นเอง ย่อมเกิดมาจากปัญญาและคุณสมบัติเป็นอันมากจักประมาณมิได้… ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ผู้ใดปรารถนาจักได้พระพุทธสรีรกายแลอาจตัดเสียซึ่งพยาธิโรคันตรายของสรรพสัตว์ได้ขาด ผู้นั้นพึงตั้งจิตปณิธานในพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเถิด”

 

พระมัญชุศรีถามว่า “ดูก่อนคฤหบดี ก็พระโพธิสัตว์ผู้อาพาธอยู่จักพึงฝึกฝนอบรมจิตใจอย่างไรหนอ?”

ท่านวิมลเกียรติตอบว่า “พระโพธิสัตว์ผู้อาพาธ พึงมนสิการในใจว่า ความเจ็บป่วยของเรานี้ แต่ละล้วนมีสมุฏฐานปัจจัยจากวิกัลปสัญญาพร้อมทั้งอาสวกิเลสในเบื้องอดีตชาติ โดยความจริงแล้ว ก็ไม่มีสภาวะที่ยืนยงใดๆ ใครเล่าที่เป็นผู้เสวยทุกข์จากความเจ็บป่วย (แท้จริงไม่มีผู้เจ็บป่วยเลย) ข้อนั้นเพราะเหตุเป็นไฉน? เพราะการประชุมแห่งมหาภูตรูปสี่ จึงบัญญัติเรียกว่าสรีระ… อนึ่ง ความเจ็บป่วยที่บังเกิดขึ้นเล่า ก็ล้วนมาจากความยึดถือใจตัวตนว่ามี (ฉัน) ดังนั้น จึงสมควรละความยึดถือในตัวตนเสียแล”

“มาตรแม้ว่าบังเกิดทุกขเวทนาเป็นไปเนื่องในสรีระอยู่ไซร้ ก็พึงมนสิการถึงสรรพสัตว์ในทุคติภูมิ ซึ่งต้องเสวยทุกข์อยู่เป็นอันมาก พระโพธิสัตว์นั้นพึงยังมหากรุณาจิตให้อุบัติขึ้น กล่าวคือ เมื่อตัวของตนสามารถบำราบกำจัดทุกข์ให้พ่ายแพ้สูญหายไปอย่างไรแล ก็พึงช่วยสงเคราะห์บำราบกำจัดทุกข์ภัยแห่งหมู่สัตว์ดุจเดียวกัน”

 

ก็โดยสมัยนั้นแล พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ได้ถามท่านวิมลเกียรติคฤหบดีว่า “พระโพธิสัตว์ผู้ไปเยี่ยมเยียนพระโพธิสัตว์ผู้อาพาธอยู่ จักพึงปลอบโยนให้โอวาทด้วยประการฉันใดหนอ?”

ท่านวิมลเกียรติตอบว่า

“พึงให้โอวาทถึงความอนิจจังแห่งสรีระ แต่อย่ากล่าวให้เกิดความรังเกียจเอือมระอาในสรีระ พึงให้โอวาทถึงความเป็นทุกขังแห่งสรีระ แต่อย่ากล่าวให้เกิดความยินดีในพระนิพพาน พึงให้โอวาทถึงความเป็นอนัตตาแห่งสรีระ แต่ให้กล่าวให้เกิดวิริยะในการโปรดสรรพสัตว์ พึงให้โอวาทถึงความเป็นสุญญตาแห่งสรีระ แต่อย่ากล่าวว่าโดยที่สุดสิ่งทั้งปวงเป็นสภาพดับรอบไม่เหลือ พึงให้โอวาทถึงการขมาโทษก่อน แต่อย่ากล่าวโทษเหล่านั้นว่าเป็นสิ่งที่ได้กระทำมาแล้วในอดีต พึงอาศัยความเจ็บป่วยของตนเอง เปรียบเทียบไปถึงความป่วยเจ็บของสรรพสัตว์ แล้วแลเกิดความกรุณาต่อสัตว์เหล่านั้น พึงย้อนระลึกถึงความทุกข์ที่ตนได้เสวยมาแต่เบื้องอดีตชาตินานไกล นับด้วยหลายอสงไขยกัลป์แล้วตั้งจิตให้มั่นอยู่ในกิจ ที่จักบำเพ็ญหิตานุหิตประโยชน์โปรดสรรพสัตว์ พึงระลึกถึงกุศลสมภารที่ตนได้สร้างสมมา ตั้งจิตอยู่ในวิสุทธิสัมมาอาชีวปฏิปทา อย่าให้เกิดความทุกข์โทมนัส พึงตั้งอยู่ในวิริยภาพดำรงตนเป็นจอมแพทย์ในอันจักรักษาบำบัดพยาธิภัยแก่ปวงสัตว์ พระโพธิสัตว์จึงปลอบโยนให้โอวาทแก่พระโพธิสัตว์ผู้อาพาธ ยังพระโพธิสัตว์ผู้อาพาธนั้นให้มีธรรมปีติบังเกิดขึ้นเป็นอยู่”

ด้วยประการดังกล่าวนี้