เพ็ญสุภา สุขคตะ : พระญาสววาธิสิทธิ ต้นแบบธรรมิกราชาบนแผ่นดินสยาม (จบ)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ยังเหลือค้างอีกสองประเด็นสำคัญ

ที่เป็นเครื่องยืนยันว่า “พระญาสววาธิสิทธิ” แห่งหริภุญไชยนคร

เป็นต้นแบบธรรมิกราชาบนแผ่นดินสยามอย่างแท้จริง

 

ศาสนูปถัมภกการก่อสร้างเสนาสนะ

ข้อความในจารึกอักษรมอญโบราณ ลพ.1 (วัดดอนแก้ว) และ ลพ.2 (วัดจามเทวี) บ่งบอกว่ามีการสร้างเสนาสนะมากมาย

หลัก ลพ.1 ระบุว่า ณ วัดเชตวนาราม มีการสร้าง “อุโปสถาคาร วรมโนรม” แปลจากภาษาบาลีได้ว่า “พระอุโบสถอันงามประเสริฐ” สันนิษฐานว่ายุคนั้น อุโบสถมีฐานะเป็นอาคารประธานในเขตพระอารามหลวง

นอกจากพระอุโบสถแล้ว ยังระบุว่าได้สร้างศาลา วิหาร กุฏิ เสนาสนะ ถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ผู้ทรงศีลอยู่พำนัก จึงเชื่อได้ว่าวัดเชตวนารามต้องเป็นวัดที่ใหญ่โตโอ่อ่ามาก เพราะวัดเพียงแห่งเดียวสามารถรองรับพระภิกษุสามเณรให้จำพรรษาได้มากถึง 182 รูป

สอดรับกับจารึกอักษรมอญโบราณหลัก ลพ.2 ของพระญาสววาธิสิทธิ ที่กล่าวว่า มีการสร้างสถานที่สรงน้ำของพระภิกษุสงฆ์เป็นจำนวน 25 แห่งตรงริมฝั่งแม่น้ำหรือคลอง รวมทั้งพนังกันน้ำจำนวนมากถึง 125 พนัง

ในส่วนของปูชนียวัตถุนั้น มีการหล่อพระพุทธรูปบรรจุไว้ในคูหา มีการถวายฉัตรกั้นพระพุทธรูป

 

ต้นแบบเจดีย์สามองค์สู่ปราสาท 3 หลัง

ข้อสำคัญคือมีการสร้าง “พระเจดีย์สามองค์” ตั้งอยู่ทางด้านหน้าของพระอุโบสถวัดเชตวัน พระเจดีย์สามองค์นั้น ระบุว่า พระญาสววาธสิทธิทรงสร้างองค์หนึ่ง พระชายสร้างองค์หนึ่ง และพระโอรสทั้งสองพระองค์ (มีนามตามจารึกว่า พระมหานามและพระกัจจายน์) สร้างอีกองค์หนึ่ง โดยสร้างเรียงกัน 3 องค์ จากทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตก

แนวคิดเรื่องการสร้างพระเจดีย์เรียงรายสามองค์นี้ เป็นคติดั้งเดิมที่มีมานาน อย่างน้อยราวต้นพุทธศตวรรษที่ 17 สมัยหริภุญไชย หลักฐานนี้เก่ากว่าการสร้างพระปรางค์สามยอดที่เมืองละโว้ โดยขอมมหายานที่เน้นลัทธิ “ตรีกาย” ร่วม 1 ศตวรรษ

ต่อมาแนวคิดดังกล่าวได้คลี่คลายไปสู่คติการสร้างพระเจดีย์สามองค์เรียงกันในคติทางพระพุทธศาสนาหินยานลัทธิลังกาวงศ์ เช่น ที่พระเจดีย์ศรีสรรเพชญดาญาณแห่งพระนครศรีอยุธยา สืบมาจนถึงพระที่นั่งสามองค์ยอดปราสาทในเขตพระราชฐานชั้นกลาง ของบรมมหาราชวังแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ล้วนมีต้นแบบมาจากหริภุญไชยทั้งสิ้น

โบราณสถานของวัดเชตวนาราม ที่กล่าวถึงในจารึกนั้น ปัจจุบันไม่เหลือร่องรอยปรากฏให้ได้เห็นอีกแล้ว

จากการสำรวจวัดร้างดอนแก้วของข้าหลวงสยามราวหลายสิบปีก่อน ได้พบพระพุทธรูปหินทรายประทับนั่งขัดสมาธิเพชร จำนวน 3 องค์

ต่อมาได้นำมาประดิษฐานอยู่ที่ฐานเจดีย์ปทุมวดีเจดีย์ ภายในวัดพระธาตุหริภุญชัย

ต่อมาในปี พ.ศ.2534 ผศ.ดร.ผาสุข อินทราวุธ และคณาจารย์จากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ทำการขุดศึกษาทางโบราณคดีภายในบริเวณวัดร้างดอนแก้ว ณ ส่วนของโรงเรียนบ้านเวียงยอง ผลการขุดค้นได้พบเศียรพระพุทธรูปประทับนอนทำจากหินชนวน ปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย เป็นศิลปะสมัยหริภุญไชยที่มีอิทธิพลศิลปะทวารวดีอย่างชัดเจน

ปี พ.ศ.2548 สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ ได้ทำการขุดตรวจแหล่งโบราณคดีในเขตพื้นที่สนามหน้าโรงเรียนบ้านเวียงยองอีกครั้ง ได้พบร่องรอยซากฐานอาคารจำนวนมาก มีท่อน้ำ ถนน ทางเดินเชื่อมไปยังห้องต่างๆ ซึ่งเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าบริเวณนี้ ในอดีตเคยเป็นที่ตั้งของวัดเชตวนาราม

ในกรณีของเจดีย์ต้นก๊อ ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวัดต้นแก้วนั้น ไม่มีการบันทึกประวัติความเป็นมา ทราบกันแต่เพียงว่ารูปแบบที่เห็นในปัจจุบันนั้น เป็นศิลปะที่ทำขึ้นในสมัยล้านนา คือเป็นเจดีย์ทรงระฆังฐานแปดเหลี่ยมวางบนฐานย่อเก็จ ไม่ปรากฏว่าใครเป็นผู้สร้าง

มีผู้สันนิษฐานว่าภายในของพระเจดีย์องค์นี้ อาจเป็นหนึ่งในพระเจดีย์สามองค์ที่สร้างขึ้นในสมัยพระญาสววาธิสิทธิก็เป็นได้

ส่วนอีกสององค์นั้น ผู้วิจัยเคยเดินสำรวจค้นหาอยู่ เมื่อได้สอบถามชาวบ้าน กล่าวกันว่า ส่วนเนินดินบริเวณโรงเรียนบ้านเวียงยองเดิมนั้นเคยเป็นเนินเจดีย์ขนาดใหญ่ ต่อมาถูกรื้อถอนสร้างเป็นโรงเรียนบ้านเวียงยองทับ และอีกจุดหนึ่งที่สันนิษฐานว่าน่าจะเคยเป็นฐานพระเจดีย์อีกองค์หนึ่ง คือบริเวณที่ปัจจุบันเป็นร้านค้าขายของตั้งอยู่ที่สี่แยกวัดต้นแก้วทางไปซอยเล็กๆ ขนานลำน้ำแม่กวง

 

วัดพี่วัดน้องมหาวัน-เชตวัน

นอกจากจะสร้างวัดเชตวันแล้ว พระญาสววาธิสิทธิยังสร้างวัดมหาวัน หรือมหาวนารามอีกด้วย ดังที่ปรากฏในตำนานมูลศาสนาว่า

“เมื่อใหญ่ได้ 10 ปี ให้สร้างวัดมหาวันกับทั้งเจดีย์ เมื่อสร้างเสร็จแล้วก็ให้ฉลองและถวายทานเป็นอันมาก แล้วให้สร้างพระพุทธรูปองค์หนึ่งไว้ในมหาวันนั้น”

เห็นได้ว่าพระญาสววาธิสิทธิสร้างวัดมหาวันเมื่อมีพระชันษาได้เพียง 10 ชันษา ขณะนั้นอยู่ในระหว่างเพศบรรพชิต ย่อมถือว่าวัดมหาวันสร้างมาก่อนหน้าวัดเชตวันหรือเชตวนารามนานถึง 16 ปี

ส่วนการระบุถึงพระพุทธรูปองค์หนึ่งในวัดมหาวันนั้น ปัจจุบันมีพระพุทธรูปหินที่ชาวบ้านเรียกว่า “พระรอดหลวง” หรือ “แม่พระรอด” ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นต้นแบบให้แก่การแกะพิมพ์สร้างพระเครื่องรุ่นที่เรียกกันว่า “พระรอดวัดมหาวัน” พระพุทธรูปองค์นี้ยังคงประดิษฐานอยู่ภายในพระวิหาร

แต่ก็มีบางท่านเห็นว่า หรืออาจจะเป็น “พระสิกขีปฏิมาศิลาดำ” องค์ที่พระนางจามเทวีได้อัญเชิญมาจากละโว้ก็เป็นได้ ประเด็นเรื่องข้อถกเถียงระหว่าง “พระรอดหลวง” กับ “พระสิกขีปฏิมาศิลาดำ” นี้ยังไม่มีข้อยุติ

เช่นเดียวกับความเชื่อเดิมๆ ว่าวัดมหาวันสร้างขึ้นในสมัยพระนางจามเทวี ในฐานะวัดสี่มุมเมือง หรือจัตุรพุทธปราการ แต่จากตำนานมูลศาสนาก็ระบุว่าสร้างขึ้นในสมัยพระญาสววาธิสิทธิ ซึ่งสันนิษฐานว่าในสมัยพระนางจามเทวีนั้น บริเวณวัดมหาวันอาจเคยเป็นพื้นที่ของวัดสี่มุมเมืองทางทิศตะวันตกจริง แต่ต่อมาได้รับการเฉลิมนามใหม่ หรือบูรณปฏิสังขรณ์อีกครั้งในสมัยพระญาสววาธิสิทธิ

 

การเสด็จออกผนวช
ของพระมหากษัตริย์และพระประยูรราช

การทรงผนวชของพระญาสววาธิสิทธิพร้อมพระประยูรราช ได้แก่พระมเหสีและพระราชโอรสทั้งสองพระองค์

แสดงให้เห็นถึงขัตติยราชประเพณี แห่งการผนวชของกษัตริย์ในคติพระพุทธศาสนาอย่างเถรวาท ดุจเดียวกับพระเจ้าอโศกมหาราช

จึงอาจกล่าวได้ว่า พระญาสววาธิสิทธิน่าจะเป็นกษัตริย์พระองค์แรกบนแผ่นดินสยาม (ที่ปรากฏหลักฐานเป็นลายลักษณ์ ณ ขณะนี้) ในฐานะผู้ทรงผนวชขณะครองราชย์ และเป็นต้นแบบให้แก่พระญาลิไท สมัยกรุงสุโขทัย หรือพระเจ้าบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา รวมมาถึงพระมหากษัตริย์อีกหลายพระองค์ในราชวงศ์จักรีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

สิ่งที่น่าสนใจคือการที่พระญาสววาธิสิทธิทรงครองเพศสมณะถึงสองครั้ง ครั้งแรกบรรพชาเป็นสามเณรในวัย 7 พรรษา บวชอยู่นานถึง 10 ปี และเมื่อมีพระชนมายุระหว่าง 31-32 พรรษา ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุอีกครั้ง

โดยครั้งหลังนี้ได้ให้พระราชโอรสทั้งสองพระองค์ร่วมบรรพชาเป็นสามเณรด้วย คงเป็นไปในลักษณะให้เดินตามรอยพระองค์ ซึ่งก็เคยครองเพศบรรพชิตตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์

จะเห็นได้ว่าการส่งเสริมให้เด็กผู้ชายล้านนาบวชเป็นสามเณรระหว่างช่วงอายุ 7-12 ขวบนั้น ยังคงเป็นธรรมเนียมปฏิบัติอย่างเหนียวแน่นสืบมาในสังคมล้านนา ดังประเพณีที่เรียกว่า “บวชลูกแก้ว” หรือ “ปอยส่างลอง”

อนึ่ง คำว่า “ส่างลอง” เป็นภาษาของชาวไทยใหญ่ มีความหมายตรงกันกับคำว่า “ลูกแก้ว” ในภาษาล้านนา คือคนล้านนามองสภาวะของความเป็นสามเณรว่าเป็นสิ่งสูงค่าดั่งแก้วตาดวงใจ เทียบได้กับเทวบุตรเทวดา

เหตุเพราะเชื่อว่าการบวชของลูกชายในวัยที่ก่อนจะมีครอบครัวนั้น บุญกุศลย่อมตกถึงบิดามารดาผู้ให้กำเนิดเลี้ยงดูมากกว่าการบวชตอนเป็นหนุ่ม

ด้วยบุญอานิสงส์ในการบวชทั้งหมดนั้นอาจตกเป็นของภรรยามากกว่าบุพการี

ด้วยเหตุนี้ ประเพณี “ปอยส่างลอง” หรือ “บวชลูกแก้ว” ชาวล้านนาจึงจัดอย่างยิ่งใหญ่อลังการมากกว่าการบวชเป็นพระภิกษุ

ประเพณีดังกล่าวสามารถอธิบายความยิ่งใหญ่และความสำคัญของการเป็นเณรน้อยในมุมมองของชาวล้านนาไว้อย่างชัดแจ้ง ว่าเปรียบเสมือนการบวชเณรให้แก่ลูกของเทวดาหรือพระเจ้าผู้เป็นใหญ่เหนือมนุษย์

 

ที่น่าสนใจคือ ฝ่ายพระมเหสีของพระญาสววาธิสิทธิก็ทรงออกผนวชด้วยเช่นเดียวกัน การทรงผนวชของพระนางในที่นี้ สามารถตีความว่าได้ทรงบวชเป็น “ภิกษุณี” มากกว่าการถือศีลแปดนุ่งขาวห่มขาวแบบแม่ชีหรือภาคเหนือเรียก “แม่ขาว” ธรรมดา

เพราะการบวชชีพราหมณ์ก็ดี หรือการบวชเป็นแม่ขาวก็ดี ถือเป็นเรื่องสามัญ อุโบสถศีลถือเป็นวัตรปฏิบัติในวันธรรมสวนะของพุทธมามกะอยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องที่ยิ่งใหญ่พอถึงขั้นต้องประกาศไว้ในจารึก ฉะนั้น การผนวชในที่นี้จึงหมายถึงการบวชแบบภิกษุณีมากกว่า

ภายในวัดพระธาตุหริภุญชัย มีหลักฐานชิ้นสำคัญเป็นเครื่องยืนยันว่าในอดีตเมืองลำพูนเคยมีการบวชภิกษุณีอยู่จริง นั่นคือพระอุโบสถหลังหนึ่งมีชื่อว่า “โบสถ์ภิกษุณี” หรือ “อุโบสถภิกขุณี” ตั้งอยู่ระหว่างมณฑปพระอัฏฐารส และวิหารพระกัจจายนะ ที่มุมด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ อันเป็นเขตของคณะสงฆ์อัฏฐารส

ตำแหน่งของโบสถ์ภิกษุณีนั้นอยู่กึ่งกลางระหว่างพระเจดีย์ของฝ่ายสตรีสององค์ องค์แรกคือสุวรรณเจดีย์ที่สร้างโดยพระนางปทุมวดี (พระอัครมเหสีของพระญาอาทิตยราช) อีกองค์หนึ่งคือเจดีย์เชียงยันหรือเจดีย์แม่ครัว สร้างโดยกลุ่มมหาอุบาสิกา อันเป็นเขตพื้นที่ติดต่อเชื่อมโยงกัน ในฐานะเป็นที่ประกอบสังฆกรรมให้แก่ภิกษุณี และเป็นโบสถ์สำหรับฝ่ายหญิง

ไม่มีข้อมูลประวัติความเป็นมาของโบสถ์ภิกษุณีหลังนี้แน่ชัดนักว่าใครสร้าง เมื่อไหร่ ทำไม อย่างไร

แต่รูปแบบสถาปัตยกรรมที่เห็นในปัจจุบันได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ในช่วง 80 ปีที่ผ่านมาโดยครูบาเจ้าศรีวิชัย ซึ่งเรื่องนี้จำเป็นต้องมีการศึกษาค้นคว้ากันต่อไป

อย่างน้อยที่สุด จารึก ลพ.1วัดดอนแก้วสะท้อนให้เห็นว่า พระมหากษัตริย์ผู้เป็นธรรมิกราชา ย่อมต้องสถาปนาให้พระมเหสีหรือพระชายามีบทบาทสำคัญในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ในฐานะ “มหาอุบาสิกา” เคียงข้างพระองค์ด้วยเช่นกัน จึงได้ให้โอกาสแก่ขัตติยนารีทำบุญอย่างเต็มที่ ทั้งบุญแห่งการสร้างพระสถูปเจดีย์ และบุญแห่งการผนวชเป็นภิกษุณี เพื่อแสดงออกถึงความศรัทธาอันสูงสุดต่อพระพุทธศาสนา

อันที่จริงบทบาทของสตรีต่อการอุปถัมภ์ค้ำจุนพระพุทธศาสนา เริ่มต้นมีมาแล้วอย่างเด่นชัดจากการที่พระนางจามเทวี ปฐมกษัตรีย์ศรีหริภุญไชย ทรงวางรากฐานไว้เป็นแบบแผนให้แก่แว่นแคว้นลุ่มแม่ระมิงค์ ก่อให้เกิดคุณูปการและสร้างแรงบันดาลใจอย่างใหญ่หลวงต่อยอดขัตติยนารีจวบจนถึงอาณาประชาราษฎรในยุคต่อๆ มา ยิ่งเมื่อเขาสู่สมัยล้านนาแห่งราชวงศ์มังราย บทบาทของพระอัครมเหสีและพระมหาเทวีหลายพระองค์ได้มีส่วนส่งเสริมอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาจนเป็นที่เลื่องลือ

กล่าวโดยสรุป แม้ในวงการประวัติศาสตร์สยามจะไม่ถวายพระราชสมัญญานาม “มหาราช” ให้แก่กษัตริย์ท้องถิ่นแว่นแคว้นแดนใด ที่นอกเหนือไปจากรัฐหลักๆ แค่สุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์ แต่ในทางวิชาการ

นักโบราณคดีรู้ดีว่า บทบาทของกษัตริย์ท้องถิ่นหลายพระองค์สมควรได้รับการถวายพระราชสมัญญาว่า “ธรรมิกราชา” อย่างเต็มภาคภูมิ